ปริศนาธรรมข้อที่ ๘

ปริศนาธรรมข้อที่ ๘

ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหาปริศนาคำรบ ๘ ว่า ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย นั้น อธิบายว่า ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียจึงจะรู้คัมภีร์โหรา ถ้ามิฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียมิรู้จักคัมภีร์โหรา อันว่าคัมภีร์โหรานั้นคือ ไตรวิชา* ๓ ประการ คือ ทิพพจักขุญาณ ๑ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ อันว่าคัมภีร์โหรานั้นย่อมให้รู้จักผล บาปเคราะห์* แลสมเคราะห์* ว่าครั้นบาปเคราะห์มาถึงในกาลเมื่อใด ก็บังเกิดสุขในกาลเมื่อนั้น

แลอุปมาดุจใด อันว่าทิพพจักขุญาณก็ย่อมเล็งเห็นวิบากแห่งกุศลธรรม แลอกุศลธรรมดังนี้ อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นจุติก็ไปบังเกิดในอบายทั้ง ๔ คือเปรต แลนรก แลดิรัจฉาน แลอสุรกายนั้น ก็มีอุปมัยดุจคัมภีร์โหรา อันรู้จักบาปเคราะห์ แลสมเคราะห์นั้นแล ประการหนึ่ง อันว่าคัมภีร์โหรานั้น บอกให้รู้จักสุข แลทุกข์ในอดีตกาล แลอนาคตกาลดังนี้ว่า จำเดิมแต่ท่านแรกเกิดนั้นท่านได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้แล้ว เมื่อท่านใหญ่มานี้ อายุถึงเท่านี้ ท่านได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ ๆ แลแต่นี้ไปข้างหน้า เมื่ออายุท่านถึงเท่านั้น ๆ ท่านจะได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ แลอุปมาดุจใด อันว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็รู้จักสัตว์ อันเสวยสุข ทุกข์ ในอดีตชาติ แลอนาคตชาติ ดังนี้ อันว่าหมู่สัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ เมื่อชาติก่อนโพ้นได้เสวยสุข ทุกข์ ดังนี้ ๆ แล้ว แลสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ จะบังเกิดสืบไปในอนาคตชาติ ก็จะได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ ก็มีอุปมาดุจคัมภีร์โหรา อันให้รู้สุข ทุกข์ ในอดีตกาลนั้นแล ประการหนึ่ง อันว่าคัมภีร์อันตัดอายุนั้น ก็ให้จักรู้ว่าบุคคลหมู่นี้มีอายุสิ้นแล้วมิได้สืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าบุคคลผู้นี้มีอายุยังมิสิ้น แลยังสืบไปภายหน้า แลอุปมาดุจใด อันว่าอาสวักขยญาณ ก็รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้มีอาสวะ*ทั้ง ๔ ประการ คือ กามสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ แลอวิชาสวะสิ้นแล้ว แลจะนิพพานบมิเกิดสืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้มีอาสวะทั้ง ๔ ประการ ยังไปมิสิ้น ยังจะเกิดในสงสารสืบไป

ก็มีอุปมัยดุจคัมภีร์โหรา อันตัดอายุ แลรู้ว่าอายุยังไปมิได้ฉะนี้นั้นแล เหตุดังนั้นจึงว่าคัมภีร์โหรานั้น คือไตรวิชาทั้ง ๓ ประการนั้นแล อันว่าอาจารย์ทั้ง ๔ นั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ* นั้น อันว่ากุศลทั้ง ๔ นี้บังเกิดในทวารทั้งหลาย มีจักขุทวารเป็นอาทิแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้น แล้วก็ครอบงำ ข่มเหง สั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำบาปกรรมทั้งปวงดังนี้

อันว่าโลภะนั้น บังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโลภะ อันยินดีในกามคุณทั้ง ๕ ประการนั้น อันว่าโทสะ บังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายนั้น ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโทสะ อันยินดีในอาฆาตวัตถุ ๙ ประการนั้น อันว่าโมหะ อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโมหะ อันมิรู้จักอริยสัจทั้ง ๔ ประการนั้น อันว่ามานะ อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งมานะด้วยมทะ*ทั้งหลาย มีชาติมโทเป็นอาทิ ดุจกล่าวในขุททกวัตถุนิกายวิภังค์นั้น เหตุดังนี้จึงว่า อกุศลทั้ง ๔ ตัวนี้เป็นอาจารย์แล

สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาในสังยุตตนิกายดังนี้ ฯ อนนฺเตวาสิกมิทํ ภิกฺขเว พฺรหฺม-จริยํ วุสฺสติ อนาจริยกํ สานฺเตวาสิโก ภิกฺขเว ภิกฺขุ สาจริยโก ทุกฺขํ น ผาสุ วิหรติ…อนนฺเตวาสิโก อนาจริยโก สุขํ ผาสุ วิหรติ? อิธ ภิกฺขเว ภิกขุโน จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา น อุปชฺชนฺติ ปาปกา อกุสลา ธมฺมา สรสงฺกปฺปา สญฺโญชนิยา ตฺยาสฺส น อนฺโต วสนฺติ…ตสฺมา อนนฺเตวาสิโกติ วุจฺจติ เต นํ สมุทาจรนฺติ…ตสฺมา อนาจริยโกติ วุจฺจติ ฯ๒๕ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายอันว่าภิกษุในศาสนานี้พึงเจริญสมณธรรม ด้วยอันหาลูกศิษย์สืบไปมิได้ ด้วยอันหาอาจารย์มิได้นั้นเถิด

ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุรูปใด อันอยู่กอปรด้วยลูกศิษย์ กอปรอาจารย์ อันว่าภิกษุนั้นอยู่เป็นทุกข์บ่มิสบาย อันว่า ภิกษุรูปใดอันอยู่หาลูกศิษย์บ่มิได้ หาอาจารบ่มิได้นั้น อันว่าภิกษุรูปนั้น ๆ อยู่เป็นสุข อยู่เป็นอันสบายยิ่งนักหนา จะปรารถนาธรรมสิ่งใดก็ได้ตามแต่จะปรารถนาเที่ยงแท้แล จึงตรัสปุจฉาว่าดังนี้ อันว่าลูกศิษย์นั้นคือสิ่งใด อันว่าอาจารย์นั้นคือสิ่งใด จึงตรัสวิสัชนาดังนี้ ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายอันว่าภิกษุในศาสนานี้ เล็งเห็นรูปารมณ์ด้วยจักษุนั้นก็ดี ได้ฟังสัททารมณ์ด้วยโสตะนั้นก็ดี ได้สูดดมคันทารมณ์ด้วยฆานะก็ดี ได้ลิ้มเลียรสารมณ์ด้วยชิวหาก็ดี ได้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ด้วยกายก็ดี ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนวิญญาณก็ดี อันว่าธรรมเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่ใด แลบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งภิกษุรูปนั้น อันว่าธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งอยู่ภายในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น พระตถาคตตรัสเทศนาชื่อว่าเป็นลูกศิษย์แห่งภิกษุรูปนั้น เหตุว่าธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งอยู่ภายในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น ประการหนึ่ง พระตถาคตตรัสเทศนาธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ได้ชื่อว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ ข่มเหงสั่งสอนภิกษุรูปนั้น ให้กระทำผิดธรรมนั้นแล สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้

นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทั้ง ๔ นี้หามิได้แล้ว อกุศลทั้งปวงก็หามิได้ เหตุดังนั้นจึงว่า ให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียจึงรู้คัมภีร์โหรานั้นแล อธิบายดังนี้ อันว่าพระอรหันต์ทั้งปวงอันทรงไตรวิชาทั้ง ๓ นั้น ก็ย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันกอปรด้วยทิฏฐิ แลโมหจิตอันกอปรด้วยวิจิกิจฉานั้นให้พินาศ ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณแล้ว ก็ย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันปราศจากทิฏฐิ อันเป็นกามราคะอันหยาบ แลโทสจิตอันเป็นพยาบาทอันหยาบนั้น ให้พินาศด้วย สกิทาคามิมรรคญาณ

แล้วก็จะฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันเป็นกามราคะอันสุขุม แลโทสจิตอันเป็นพยาบาทอันสุขุมนั้น ให้พินาศด้วยอนาคามิมรรคญาณแล้ว ก็ฆ่าเสียซึ่งมานะ แลโมหะ อันกอปรด้วยอุทธัจจะ*นั้นให้พินาศด้วยอรหัตตมรรคญาณ จึงได้ตรัสรู้ไตรวิชา ๓ ประการ คือ ทิพจักขุญาณ ปุพเพนิวาสญาณ อาสวักขยญาณ เหตุฆ่าเสียซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทั้ง ๔ ประการนี้ให้พินาศด้วยสมุจเฉทปหาน* ก็ได้ชื่อว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเรียนโหรา แลฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียนั้นแล

เหตุการณ์ดังนั้นอันว่านักปราชญ์ผู้ประเสริฐ แลบังเกิดทรงนามบัญญัติชื่อโยคาวจร เหตุกอปรด้วยความเพียรในสมถภาวนา* แลวิปัสนาภาวนา* ด้วยปณิธานปรารถนาจะข้ามมหรรณพสงสาร ให้ถึงอัมฤตยนิพพานด้วยอรหัตตมรรคญาณ อันตรัสรู้ไตรวิชาทั้ง ๓ ประการ ก็พึงฆ่าเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ด้วยมรรคญาณทั้ง ๔ โดยอันดับกัน ดุจกล่าวมานั้นแล โยคาวจรผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ก็ลุถึงอรหัตตมรรคญาณ อันทรงไตรวิชา ๓ ประการ ดุจพระอาจารย์อรหันต์เจ้าทั้งปวงอันทรงไตรวิชานั้นแล

อาตมาภาพถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนา อันมีสภาวะดังนี้ ขอจงเป็นต้นหน แลนายเข็ม สำหรับสำเภาเภตราคือบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาอัฏฐปัญหาคำรบ ๘ สำเร็จแต่เท่านี้แล

ขอถวายพระพร ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชกระแสรับสั่งว่าจะขอความรู้ อาตมาภาพยินดีนักหนา ด้วยอาตมาภาพได้วิสัชนาถวายมาแต่ก่อนบ้างแล้ว บัดนี้อาตมาภาพชราแล้ว จะขอถวายครั้งนี้เป็นปริโยสาน*ให้ทราบพระญาณจงยังแล้วด้วยพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ จะแสวงหานิพพานอันดับสังขารทุกข์เที่ยงแท้ แลในพระธรรมเทศนาในปรมัตถธรรม*มี ๕๗ ประการ คือขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒* ธาตุ ๑๘* อินทรีย์ ๒๒* นั้นเป็น ๕๗ ประการดังนี้ เมื่อจะผ่อนให้น้อยปรมัตถธรรมนี้แต่ ๒ ประการคือ นามธรรม ๑ รูปธรรม ๑

ในอินทรีย์ ๒๒ ประการนั้น อันว่าจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ รูปชีวิตินทรีย์ ๘ ประการนี้เป็นรูปธรรม อันเหลือ ๑๔ นั้นเป็นนามธรรม

ในธาตุ ๑๘ นั้น อันว่าจักขุธาตุ รูปธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ ฆานธาตุ คันทธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพธาตุ ๑๐ ประการเป็นรูปธรรม สัตตวิญญาณธาตุทั้ง ๗ นั้นเป็นนามธรรม อันว่าธรรมธาตุเป็นทั้งนามธรรม แลรูปธรรม

ในอายตนะ ๑๒ นั้น อันว่าจักขวายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ ประการนี้เป็นรูปธรรม มนายตนะ เป็นนามธรรม ธรรมายตนะนั้นเป็นทั้งนามธรรม แลรูปธรรม

ในขันธ์ ๕ ประการนั้น อันว่ารูปขันธ์นั้นเป็นรูปธรรม เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขัน ทั้ง ๔ นั้นเป็นนามธรรม เหตุดังนั้นเมื่อโยคาวจร เจริญวิปัสนาภาวนา ก็ผ่อนเอา ปรมัตถธรรมทั้ง ๕๗ นั้นเข้ามาแต่ นามธรรมแล รูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้แล เจริญบริกรรมภาวนาว่าดังนี้ ฯ นามรูปํอนิจฺจํ นามรูปํทุกฺขํ นามรูปํอนตฺตา ฯ แลไตรลักษณญาณทั้ง ๓ ครั้นพิจารณาเป็นอนิจจัง ก็เห็นด้วยกันทั้ง ๓ เหตุว่า ครั้นอนิจจลักขณปรากฏในปัญญาแห่งโยคาวจร ทุกขลักขณ อนัตตลักขณ ก็ปรากฏด้วย ครั้นทุกขลักขณปรากฏอนิจจลักขณ อนัตตลักขณก็ปรากฏด้วย เอาแต่นามธรรม แลรูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นบาทแห่งวิปัสนาก็เจริญไปได้ลุถึงอรหัตเป็นอันมาก ประการหนึ่ง

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เมื่อจุตินั้นก็พิจารณาแต่นามธรรม แลรูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอารมณ์ตราบเท่าถึงจุติจิต*อันกรรมนิมิต*ก็ดี คตินิมิต*ก็ดี มิได้บังเกิดปรากฏแก่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เหตุดังนั้นครั้นจุติจิต รูปธรรม แลนามธรรม ทั้งปวงนั้นก็ดับพร้อมกัน ดุจเปลวประทีป อันมีไส้ประทีป แลน้ำมัน สิ้นพร้อมกัน เหตุดังนั้นปฏิสนธิจิต*ก็หามิได้แก่พระอรหันต์ ก็ได้ชื่อว่า อนุปทิเสสนิพพานธาตุพ้นจากสังขารทุกข์แท้แล

อาตมาภาพเห็นว่าความรู้ดังนี้ เป็นที่สุดความรู้ทั้งปวง เป็นยอดความรู้ทั้งปวง จึงขอถวายประดับพระปัญญาบารมี สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระองค์ผู้ประเสริฐแล ฯลฯ