รัตนา วงศ์สมบัติ

กรณีของ รัตนา วงศ์สมบัติ

ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๑ พาดหัวว่า

เด็กหญิงระลึกชาติได้ เผยในอดีตเป็นเศรษฐี พูดแต่หนึ่งขวบ พ่อแม่ตลึง อัศจรรย์ใจ

พบเด็กระลึกชาติได้รายใหม่ เป็นเด็กหญิงวัย ๑๔ ปี ชาตินี้เป็นลูกของ อาจารย์ร้านเสริมสวย “สุณิสา” ชาติก่อนเป็นเศรษฐีนี เจ้าของโรงงาน โรงแรม และที่ดินมหาศาลที่ชลบุรี พบเพื่อนเก่าซึ่งเป็นแม่ชีอยู่ในวัดมหาธาตุ ทักทายและเล่าประวัติชาติก่อนให้ฟัง พ่อแม่ตะลึง สอบถามปรากฏว่า ตรงกับประวัติชาติก่อน

เด็กระลึกชาติผู้นี้คือ เด็กหญิงรัตนา อรรถพรพิศาล อายุ ๑๔ ปี เป็นบุตรบุญธรรมของ นายสำนวน วงศ์สมบัติ ทนายความกับ นางจรูญ วงศ์สมบัติ อยู่บ้านเลขที่ ๕๗/๓๖๒ ซอยโรงงานธานินทร์ ถนนสุขุมวิท ๑๐๑/๑ บางนา กรุงเทพฯ ขณะเรียนอยู่ชั้น มศ.๓ โรงเรียนวัฒนศึกษา เยื้องปากซอยวัดทุ่งสาธิต

นายสำนวน ได้เล่าประวัติของ เด็กหญิงรัตนา ให้ผู้สื่อข่าวไทยรัฐฟังเมื่อวานนี้ว่า เดิม เด็กหญิงรัตนา เป็นบุตรสาวของ นางสุณิสา อรรถพรพิศาล เจ้าของโรงเรียนเสริมสวย “สุณิสา” ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนเช่นกัน แต่หลังจากคลอดแล้วได้ยก เด็กหญิงรัตนา ให้เป็นบุตรบุญธรรมอีก

นายสำนวนเล่าต่อไปว่า เด็กหญิงรัตนา ผู้นี้เป็นเด็กที่ผิดปกติกว่าเด็กอื่น คือเมื่ออายุได้ประมาณขวบเศษ ก็สามารถพูดได้ แต่ไม่ค่อยชัดถ้อยชัดคำนัก นายสำนวนเล่าว่า เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ ตอนนั้น เด็กหญิงรัตนา อายุได้ ๒ ขวบ ตนเองได้พาครอบครัวและ เด็กหญิงรัตนา ไปที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เพื่อนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ปรากฏว่าก่อนที่ตนจะไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น เด็กหญิงรัตนา ได้ปวดปัสสาวะขึ้นมา ตนจึงพาเข้าไปถ่ายที่หลังกุฏิพระ ขณะนั้นได้มีกลุ่มแม่ชีกลุ่มหนึ่งเดินผ่านไป เมื่อ เด็กหญิงรัตนา เหลือบเห็นก็บอกว่า “นั่นแม่ชีจันทร์นี่” พร้อมกับร้องเรียกว่า “แม่จันทร์ แม่จันทร์” และจะวิ่งไปหา แต่ตนเองจับเอาไว้ พร้อมกับสั่งสอนว่า เป็นเด็กเป็นเล็กควรจะนับถือผู้ใหญ่

ฝ่าย เด็กหญิงรัตนา ก็โต้ว่า เคยรู้จักกันมาก่อนจึงได้ทักทายกัน พร้อมกันนั้นเด็กได้เล่าประวัติความเป็นมาว่า เมื่อก่อนนี้ ตัวเธอเคยไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ โดยมีแม่ชีจันทร์เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ และนับถือกันเหมือนเพื่อน จึงทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์มาก

นายสำนวนจึงซักถาม เด็กหญิงรัตนา ไปทีละขั้นๆ เด็กก็บอกว่า เมื่อชาติก่อนเธอเองชื่อ นางกิมลั้น ประยูรศุภมิตร เป็นเศรษฐีนี มีที่ดิน มีโรงแรม และมีโรงงานมันสำปะหลังอยู่ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีลูกสาวชื่อ นางอนันต์ ซึ่งในตอนนี้เป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาเมืองชลบุรี

เมื่อทราบดังนั้น นายสำนวนจึงได้พาไปหา นางอนันต์ ที่ศรีราชา สอบถามนางอนันต์ก็ได้รับการเปิดเผยว่า นางอนันต์มีมารดาชื่อ นางกิมลั้นจริง แต่ได้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ ที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ขณะอายุได้ ๖๙ ปี หลังจากนั้น นายสำนวนได้ไปสอบถามแม่ชีจันทร์ ที่วัดมหาธาตุ ก็ได้รับคำตอบว่า เมื่อก่อนนี้ นางกิมลั้น ได้เคยไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานที่วัดนี้จริง โดยแม่ชีเองเรียก นางกิมลั้น ว่า “ป้ากิมลั้น”

ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ได้ไปพบ เด็กหญิงรัตนา อรรถพรพิศาล เมื่อเช้าวานนี้(๘ พฤษภาคม ๒๕๒๑) ที่โรงเรียนสอนตัดเสื้อสุณิสา ถนนสุขุมวิท ก็ได้รับการเปิดเผยว่า เท่าที่เธอจำได้ ชาติก่อนเคยเป็นเศรษฐีนี อยู่ที่ศรีราชา มีลูกสาวชื่อ นางอนันต์ ตัวเธอหรือนางกิมลั้นในชาติก่อนได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคกระเพาะ ที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา หลังการผ่าตัด เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ เธอได้ไปทำบุญที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ไว้มาก ได้รู้จักกับ แม่ชีจันทร์ เมื่อครั้งไปนั่งกรรมฐานด้วยกันในเรือนเขียว ซึ่งเธอเองเป็นคนออกเงินสร้าง

เด็กหญิงรัตนา เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เคยเดินทางไปหา นางอนันต์ ลูกสาวในชาติก่อนที่ศรีราชา เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้ เมื่อเล่าเรื่องเก่าๆให้ฟัง นางอนันต์ก็เชื่อและดีใจที่ได้พบว่าแม่ของตัวเองมาเกิดใหม่...นี่คือข้อความตอนหนึ่งที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๑

ข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๑ หัวข้อข่าวว่า

เด็กระลึกชาติพบหน้าลูก ยอมรับมีจิตใจผูกพัน พูดคุยกันอย่างสนิทสนม

ชี้สถานที่ในอดีตถูก จำชื่อเดิมลูกสาวได้

พิสูจน์เด็กระลึกชาติได้ เผชิญหน้ากับคนที่เคยเป็นลูกสาวของตนขณะยังมีชีวิตอยู่ ชี้สถานที่ต่างๆที่ตนเคยเกี่ยวข้องได้ถูกต้องแม่นยำ ศาสตราจารย์นักค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการระลึกชาติได้พิสูจน์แล้วทึ่ง นำโครงร่างของผู้เสียชีวิตไปแล้ว เปรียบเทียบจุดที่เป็นแผลเป็นกับเด็กหญิงที่กลับชาติมาเกิด ปรากฏว่ามีร่องรอยแผลเป็นตรงกัน บุตรสาวยืนยันเด็กหญิงที่ระลึกชาติได้คือ มารดาของตนที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมาเกิดใหม่แล้วระลึกชาติได้

เกี่ยวกับการระลึกชาติได้ซึ่ง เด็กหญิงรัตนา อรรถพรพิศาล บุตรบุญธรรมของ นายสำนวนและนางจรูญ วงศ์สมบัติ ได้อ้างว่า ตนนั้น ในชาติก่อนเป็นมารดาของ นางอนันต์ ประยูรศุภมิตร(สุทธิถวิล) และมีชื่อว่า กิมลั้น ประยูรศุภมิตร เป็นเจ้าของที่ดิน โรงแรม และโรงงานแป้งมันที่ศรีราชา ชลบุรี ซึ่ง”ไทยรัฐ”ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ต่อมานายสำนวนพา เด็กหญิงรัตนา พบนางอนันต์ที่ศรีราชา ได้มีการตรวจสอบระหว่างนางอนันต์กับเด็กหญิงรัตนา ปรากฏว่า เด็กหญิงรัตนา ได้ทบทวนความทรงจำแต่ชาติปางก่อนได้เป็นอย่างดี ซ้ำยังได้ไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งขณะที่ตนเป็นนางกิมลั้นเคย ตลอดทั้งห้องนอนที่ตนเคยอยู่เมื่อชาติปางก่อน โดยไปชี้สถานที่ได้ถูกต้อง และยังบอกว่า ห้องนอนของตนขณะที่เป็นนางกิมลั้นนั้นได้ทาสีใหม่ และสร้างห้องน้ำให้อยู่ใกล้ห้องนอน เมื่อเด็กหญิงรัตนาได้ทักทายเช่นนั้น นางอนันต์ก็ยืนยันว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับห้องนอนของนางกิมลั้นจริง เพราะต้องการให้นางกิมลั้น ซึ่งป่วยนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลได้มาพักฟื้นที่ห้องนอนแห่งนั้น หลังจากออกมาจากโรงพยาบาลแล้ว และการย้ายห้องน้ำมาอยู่ใกล้ห้องนอนก็เพื่อความสะดวก...

นางอนันต์ ได้เล่าเรื่องโดยเปิดเผยว่า มีข้อสังเกตหลายอย่างเพราะมีอยู่ครั้งหนึ่ง ได้มีคนมาบอกว่าบิดาของเด็กจะพา เด็กหญิงรัตนาไปพบกับตนที่ศรีราชา ขณะนั้นตนทำงานอยู่ที่ธนาคารที่ศรีราชา บิดาของเด็กหญิงรัตนาก็ได้ไปหา และไปที่คณะชีอนันต์ฝึกสมาธิ ซึ่งนางอนันต์ได้สร้างเอาไว้ ขณะที่อยู่ที่สำนักชีแห่งนั้น มีพระภิกษุและนางชีและคนอื่นๆอีกหลายคน เมื่อพบกันพร้อมหน้าแล้ว นายสำนวนได้แนะนำให้ เด็กหญิงรัตนาไหว้คนโน้นคนนี้ เด็กหญิงรัตนาก็ยกมือไหว้ แต่เมื่อแนะนำให้ไหว้นางอนันต์ เด็กหญิงรัตนาไม่ยอมไหว้ แล้วก็เดินดูสิ่งต่างๆในสำนักชีและบ่นว่าอยากอยู่ที่สำนักชีแห่งนั้น(จะไม่ยอมกลับกรุงเทพฯ) ในวันนั้นตนได้พาเด็กหญิงรัตนา ไปที่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ปรากฏว่าเมื่อถึงต้นมะม่วง เด็กหญิงรัตนาก็วิ่งตัดสนามหญ้าไปที่ชายทะเล แล้ววิ่งไปที่ร้านกาแฟชายทะเล ซึ่งเป็นร้านที่นางกิมลั้นไปนั่งดื่มกาแฟทุกเช้า ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก

มีครั้งหนึ่ง ดร.เอียน สตีเวนสัน ซึ่งสนใจการค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้บินมาจากอเมริกา แล้วเดินทางไปหานางอนันต์ที่ศรีราชา เมื่อพบกันแล้ว ก็เอากระดาษมาวาดเป็นร่างคน แล้วถามนางอนันต์ว่า ขณะที่นางกิมลั้นมีชีวิตอยู่นั้น มีแผลเป็นอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งนางอนันต์ซึ่งนางอนันต์ได้เล่าว่า “ดิฉันขีดรอยแผลเป็นของแม่ เท่าที่จำได้ลงไปในภาพร่างนั้น ซึ่งคุณแม่ได้เข้าผ่าตัดที่โรงพยาบาลสามครั้ง แล้วส่งให้ ดร.เอียน สตีเวนสัน ดู แกก็ร้องออกมาด้วยความตื่นเต้นดีใจ แล้วหยิบโครงร่างแผลเป็นของ เด็กหญิงรัตนาที่เตรียมมาแล้วให้ดิฉันดู เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ตรงกับรอยแผลเป็นของคุณแม่ ดิฉันจึงมั่นใจว่า เด็กหญิงรัตนาจะต้องเป็นคุณแม่ของดิฉันกลับชาติมาเกิด” นางอนันต์กล่าว และยังได้เล่าต่อไปว่า ดร.เอียน ได้บอกกับตนว่า เมื่อตอนที่เขาสัมภาษณ์ เด็กหญิงรัตนานั้น เด็กหญิงรัตนาบอกว่า ลูกสาวของเธอที่อยู่ศรีราชานั้น เมื่อตอนเด็กๆมีอีกชื่อหนึ่งว่า “มาลี”

นางอนันต์ กล่าวว่า “เมื่อดิฉันได้ยิน ดร.เอียน สตีเวนสัน บอกเล่าให้ฟังเช่นนั้นก็สะดุ้ง เพราะเป็นความจริง คือเมื่อตอนเด็กๆนั้น คุณแม่กิมลั้นท่านเรียกตนว่า “มาลี” จึงเป็นข้อยืนยันจากการพิสูจน์ต่างๆที่ผ่านมาว่า เด็กหญิงรัตนาก็คือ คุณแม่กิมลั้นมารดาของตนกลับชาติมาเกิดอย่างไม่มีข้อสงสัย”...นี่คือข้อความตอนหนึ่งที่ได้มาจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๑

เด็กหญิงรัตนา วงศ์สมบัติ จำอดีตชาติได้

เด็กหญิงรัตนา วงศ์สมบัติ เป็นบุตรบุญธรรมของ นายสำนวน วงศ์สมบัติ เช่นเดียวกันกับแม่แท้ๆของเธอ คือ นางสุณิสา อรรถพรพิศาล เจ้าของโรงเรียนเสริมสวย “สุณิสา” ซึ่งนายสำนวนได้ออกปากขอไว้ตั้งแต่ เด็กหญิงรัตนา ยังอยู่ในท้อง นางสุณิสาก็ตกลง ดังนั้นเธอจึงใช้นามสกุลของ นายสำนวน แทนนามสกุลของแม่แท้ๆของเธอ

นายสำนวน วงศ์สมบัติ อดีตนักหนังสือพิมพ์และทนายความชื่อดัง เล่าให้ฟังว่า เด็กหญิงรัตนา บุตรบุญธรรมของตน เกิดเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๗ เมื่อก่อนตอนที่ เด็กหญิงรัตนา ยังเป็นเด็กนั้น ตนและครอบครัวมักจะไปรักษาศีลภาวนาที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ กันอยู่เป็นประจำ มีวันหนึ่งตนได้พา เด็กหญิงรัตนา ไปที่วัดมหาธาตุฯด้วยเป็นครั้งแรก ตอนนั้น เด็กหญิงรัตนา เธออายุได้ประมาณ ๑ ขวบกับ ๒ เดือน พูดได้ชัดถ้อยชัดคำแล้ว

วันนั้นตนสังเกตเห็นว่า เด็กหญิงรัตนาดูจะคุ้นเคยกับวัดมหาธาตุฯแห่งนี้อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งๆที่เธอเพิ่งจะมาที่นี่เป็นครั้งแรก คือ ทันทีที่ย่างเข้าไปในประตูวัด เธอก็บอกให้ตนกับภรรยาไปไหว้พระธาตุเสียก่อน แล้วเธอก็ออกเดินนำหน้าไป เหมือนกับว่าเธอเคยมาที่นี่มาก่อน เมื่อถึงพระธาตุเธอก็ก้มลงกราบเหมือนกับผู้ใหญ่ เมื่อไหว้พระธาตุเสร็จแล้ว เธอก็เดินนำหน้าต่อไปยังพระอุโบสถ แล้วจัดแจงนำธูปเทียนไปปักในกระถางใหญ่ตามขั้นตอนที่ผู้ใหญ่มักจะทำกัน ได้อย่างถูกต้อง ไม่มีการเคอะเขินหรือถามใครแต่อย่างใด เสร็จแล้วก็ก้มลงกราบ ๓ ครั้ง เหมือนกับผู้ใหญ่ สร้างความประหลาดใจให้กับตนเองและผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก นั้นเป็นครั้งแรกที่ ตนเองเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของ เด็กหญิงรัตนา

หลังจากนั้น เด็กหญิงรัตนา ก็ได้ติดตามตนกับภรรยาไปที่วัดมหาธาตุอีกหลายครั้ง มีครั้งหนึ่ง เธอบอกกับตนและภรรยาว่า “หนูเคยอยู่ที่วัดนี้ หนูเคยพักอยู่ที่เรือนเขียว” แต่ตอนนั้นพวกตนไม่ได้คิดอะไร คิดว่าเธอพูดเล่นตามประสาเด็ก

ต่อมามีอยู่วันหนึ่งตอนนั้น เด็กหญิงรัตนา อายุได้ประมาณ ๒ ขวบ ตนกับภรรยาก็พาเธอไปที่วัดมหาธาตุฯด้วยเหมือนเคย วันนั้น เด็กหญิงรัตนา เกิดปวดปัสสาวะขึ้นมา ตนก็พาไปปัสสาวะที่ใต้ถุนกุฏิพระ ขณะนั้นมีญาติโยมอุบาสิกาและแม่ชีกลุ่มใหญ่เดินผ่านไป พร้อมคุยกันเสียงขรม เด็กหญิงรัตนาเหลือบเห็นแม่ชีคนหนึ่งในกลุ่มนั้นก็ลุกพรวดขึ้นมาแล้วพูดขึ้นมาว่า “นั่นแม่ชีจันทร์นี่” แล้วก็ตะโกนเรียกว่า “แม่จันทร์ แม่จันทร์” เสียงดังแล้วทำท่าจะวิ่งเข้าไปหา แต่ตนเองจับเอาไว้ พร้อมกับสอนว่า อย่าตะโกนเสียงดังและเป็นเด็กเป็นเล็กไม่ควรเรียกชื่อผู้ใหญ่เฉยๆแบบนั้น ตนถามว่า “ลูกรู้จักเขาหรือ” เธอตอบว่า “รู้จัก ทำไมจะไม่รู้จัก ก็เคยอยู่เรือนเขียวมาด้วยกัน” แล้วก็บ่นพึมพำว่า “แม่จันทร์นี่เรียกก็ไม่ตอบ” นั่นเป็นอีกวันหนึ่งที่เธอพูดและแสดงออกมาให้รู้สึกประหลาดใจมากยิ่งขึ้น และหลังจากวันนั้น เด็กหญิงรัตนาก็ยังพูดถึง แม่ชีจันทร์ อยู่บ่อยๆ

มีอยู่วันหนึ่ง เด็กหญิงรัตนาพูดรำพึงรำพันขึ้นมาว่า “แม่จันทร์เป็นอะไร เรียกก็ไม่ตอบ” คุณสำนวนได้ยินเข้าก็เข้าใจว่า เด็กหญิงรัตนา ต้องจำอดีตชาติได้แน่จึงลองถามว่า “หนูเป็นใครลูก แล้วลูกรู้จักเขาได้ยังไงล่ะ” เด็กหญิงรัตนาก็พูดให้ฟังความว่า “หนูชื่อกิมลั้น บ้านหนูอยู่ศรีราชา หนูรู้จักกับแม่จันทร์ เคยอยู่เรือนเขียวที่วัดด้วยกัน หนูมีลูกสาวคนเดียว“ ถึงตอนนี้คุณสำนวนเริ่มเข้าใจชัดแจ้งแล้วว่า เด็กหญิงรัตนาน่าจะจำอดีตชาติได้จริงๆ หลังจากนั้นคุณสำนวนก็เรียบเคียงถามถึงเรื่องราวในอดีตชาติ เด็กหญิงรัตนา ก็บอกให้ฟังว่า เมื่อชาติก่อนเธอ ชื่อ “กิมลั้น” เธอมีที่ดิน มีโรงแรม และโรงงานมันสำปะหลังอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เธอมีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ “อนันต์” และเธอก็ได้รบเร้าขอให้คุณสำนวนพาไปหาลูกสาวที่ศรีราชา

ตอนนั้น คุณสำนวน เริ่มอยากจะทราบเรื่องราวความจริงให้มากกว่านี้ จึงไปถามหาแม่ชีจันทร์ที่วัดมหาธาตุ แต่บังเอิญแม่ชีจันทร์ไม่อยู่ คุณสำนวนไปหาแม่ชีจันทร์ที่วัดมหาธาตุฯถึงสามครั้งจึงได้พบกับแม่ชีจันทร์ เมื่อได้พบกัน คุณสำนวนได้เล่าเรื่องที่ เด็กหญิงรัตนาพูดให้แม่ชีฟัง แม่ชีจันทร์ก็ยอมรับว่าเมื่อก่อนแม่ชีเคยได้รู้จักกับอุบาสิกาที่ชื่อ กิมลั้น และเคยอยู่ด้วยกันที่บ้านพักหลังสีเขียวในวัดมหาธาตุฯจริง และแม่ชียังบอกด้วยว่า เมื่อก่อนแม่ชีเองได้รับการอุปการะจากอุบาสิกากิมลั้นหลายอย่าง วันนั้นคุณสำนวนบอกกับแม่ชีจันทร์ว่าเพื่อพิสูจน์ความจริง เดี๋ยววันหลังเขาจะพา เด็กหญิงรัตนามาด้วยและขอให้แม่ชีทำเหมือนไม่รู้เรื่องมาก่อน ทำเฉยๆไม่ต้องแสดงให้รู้ว่าแม่ชีเป็นใคร แล้วก็นัดวันกับแม่ชีไว้ล่วงหน้า

ถึงวัน คุณสำนวน ได้พา เด็กหญิงรัตนา มาด้วยเพื่อพิสูจน์ความจริงที่วัดมหาธาตุฯ ตอนนั้นแม่ชีจันทร์กำลังจัดภัตตาหารเพลถวายพระอยู่กับแม่ชีอีกหลายคน เมื่อ คุณสำนวนพาเด็กหญิงรัตนา เข้ามาถึง เด็กหญิงรัตนาเห็นแม่ชีจันทร์ก็เดินเข้าไปหาแล้วเรียกแม่ชีจันทร์เสียงดังว่า “แม่จันทร์ แม่จันทร์” แม่ชีจันทร์ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เห็น คุณสำนวนเดินเข้ามากับ เด็กหญิงรัตนาแล้วแต่ทำทีเป็นไม่สนใจ และไม่แสดงอาการอะไรให้ผิดปกติ แต่พอ เด็กหญิงรัตนา ร้องเรียกขึ้นมาอย่างนั้นแม่ชีก็รู้สึกทึ่ง ด้วยเพราะได้ทราบเรื่องราวจากคุณสำนวนมาบ้างแล้ว แม่ชีจันทร์ถามว่า “ทำไมหนูรู้จักชื่อฉันล่ะ” เด็กหญิงรัตนาก็บอกว่า “ทำไมจะไม่รู้จัก ก็เราเคยอยู่ด้วยกัน แม่จันทร์กับฉันเคยอยู่เรือนเขียวด้วยกันไงล่ะ ฉันจำได้” ตอนนั้นแม่ชีจันทร์รู้สึกประหลาดใจมาก ที่เด็กหญิงวัยเพียง 2 ขวบกว่าๆ ซึ่งไม่เคยพบกันมาก่อน(สำหรับแม่ชีจันทร์) เข้ามาทักทายและพูดถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตว่าแม่ชีเคยอยู่ที่เรือนเขียวในวัด ซึ่งก็เป็นความจริง จากนั้น คุณสำนวนได้พา เด็กหญิงรัตนาไปกราบ ท่านเจ้าคุณสุวิมล ซึ่งอุบาสิกากิมลั้นให้ความเคารพอย่างสูงท่านหนึ่ง เมื่อไปถึง เด็กหญิงรัตนาได้ก้มลงกราบท่านเจ้าคุณด้วยความนอบน้อม แล้วเรียกท่านว่า “หลวงพ่อ” เหมือนอย่างที่อุบาสิกากิมลั้นเคยเรียกท่าน โดยที่ไม่เคยมีใครสอนให้เรียกมาก่อน

หลังจากได้พิสูจน์กันในวันนั้น เด็กหญิงรัตนา ก็มักจะอ้อนวอนขอให้ คุณสำนวนพาไปหาลูกสาวในอดีตชาติที่ศรีราชาอยู่เสมอ แต่คุณสำนวนยังไม่มีเวลาว่างจึงยังไม่ได้พาไป ตอนนั้นเด็กหญิงรัตนาจะแสดงอาการซึมเศร้าเหงาหงอยผิดกว่าปกติ ที่เป็นเด็กร่าเริง จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณสำนวนมีเวลาว่างจากการงาน จึงพา เด็กหญิงรัตนา ไปพิสูจน์ความจริงที่ศรีราชา ที่ที่เด็กอ้างว่าเป็นบ้านในอดีตชาติของเธอ โดยนิมนต์ท่านเจ้าคุณสุวิมล ซึ่งรู้จักคุ้นเคยกันดีกับครอบครัวของอุบาสิกากิมลั้น และได้ชวนแม่ชีจันทร์ร่วมคณะไปด้วย ส่วนแม่ชีจันทร์ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับ แม่ชีสมจิต ซึ่งเป็นแม่ชีใน สำนักอนันตริกสมาธิ ที่คุณอนันต์บุตรสาวของอุบาสิกากิมลั้นเป็นผู้สร้าง โดยจะพากันไปที่สำนักอนันตริกสมาธิและให้แม่ชีสมจิตต้อนรับคณะที่มาไปก่อน แล้วคุณอนันต์จะตามไปทีหลัง เพื่อแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่องทั้งหมด

เมื่อคณะของ คุณสำนวน ไปถึงสำนักชีอนันตริกสมาธิ ที่ศรีราชา แม่ชีสมจิต ก็ออกมาต้อนรับและคุณอนันต์ก็ตามมาทีหลังเมื่อมาถึงคุณอนันต์ก็เข้าไปกราบท่านเจ้าคุณสุวิมลจากนั้นก็ทักทายพูดคุยกับคนนั้นคนนี้ และแสร้งทำเป็นไม่สนใจ เด็กหญิงรัตนา ต่อมาคุณสำนวนได้บอกให้ เด็กหญิงรัตนา ไหว้แม่ชีสมจิต เธอก็ยกมือไหว้ แต่เมื่อบอกให้ไหว้คุณอนันต์ เธอกลับเฉยๆไม่ยอมไหว้ เมื่อเด็กหญิงรัตนาเห็นคุณอนันต์ไม่สนใจลุกเดินไปดูบริเวณรอบๆสำนักชี คนขับรถของคุณอนันต์เดินตามไปและถามว่า “หนูมาศรีราชาทำไมจ๊ะ” เด็กหญิงรัตนาตอบว่า “มาหาลูก” คนขับรถถามว่า “ไหน ลูกหนูอยู่ไหน” เด็กหญิงรัตนาบุ้ยหน้าไปทางคุณอนันต์ คนขับรถถามว่า “ลูกหนูชื่ออะไรล่ะ” เด็กหญิงรัตนาตอบอย่างน้อยใจเสียงอ่อยๆว่า “ชื่ออนันต์” (สงสัยจะน้อยใจที่คุณอนันต์จำไม่ได้ไม่ทักทายและพูดคุยด้วย) จากนั้นคุณสำนวนได้เรียกเด็กหญิงรัตนาให้เข้าไปหาท่านเจ้าคุณสุวิมล ท่านเจ้าคุณท่านถามว่า “ไหนเราบอกว่าจะเอาของมาฝากลูกยังไงล่ะ” เด็กหญิงรัตนาเดินไปหยิบขนมปังตุ๊กตาห่อหนึ่งกับหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง มาให้คุณอนันต์แล้วเข้ามาคลอเคลียอยู่กับคุณอนันต์อย่างสนิทสนม

คุณอนันต์ ประยูรศุภมิตร(สุทธิถวิล)

ต่อมาคุณอนันต์ได้พา เด็กหญิงรัตนา เดินทางไปที่ โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ซึ่งอุบาสิกากิมลั้นเคยป่วย ผ่าตัด และเสียชีวิตที่นั่น ระหว่างทางแม่ชีสมจิตถาม เด็กหญิงรัตนา ว่า “เมื่อก่อนหนูผ่าตัดที่ไหน” เด็กหญิงรัตนาตอบว่า “ที่โรงพยาบาล” แม่ชีสมจิตถามว่า “โรงพยาบาลไหน” เด็กหญิงรัตนา ตอบว่า “โรงพยาบาลสมเด็จฯ”

เมื่อไปถึง โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา คุณอนันต์ ได้พาเด็กหญิงรัตนาไปที่ตึกสว่างที่ อุบาสิกากิมลั้น เคยนอนป่วยอยู่ เมื่อไปถึงบริเวณต้นมะม่วงใหญ่ที่คุณอนันต์ได้พบกับคุณแม่กิมลั้นในตอนเช้าของวันนั้นก่อนที่จะเข้าผ่าตัดและเสียชีวิต เด็กหญิงรัตนาก็วิ่งลัดสนามหญ้าออกไปที่ร้านกาแฟที่อยู่ชายทะเล ซึ่งเป็นร้านที่อุบาสิกากิมลั้นเคยไปนั่งดื่มกาแฟทุกเช้า ตอนช่วงที่อยู่โรงพยาบาลแห่งนี้ นับว่าเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับเด็กที่เพิ่งเคยมา ณ ที่นี้เป็นครั้งแรก

คืนนั้นคณะของ คุณสำนวน ตกลงค้างคืนที่โรงแรมที่ คุณอนันต์ ได้จัดไว้ให้ แม่ชีจันทร์ไปพักที่สำนักชี ส่วนท่านเจ้าคุณสุวิมลได้ไปพักที่เรือนพักรับรองสงฆ์นอกสำนักชี ถึงตอนกลางคืน เด็กหญิงรัตนาไม่ยอมนอน เธอพูดรำพึงรำพันขึ้นมาว่า “มาหาลูกเขาก็เฉยๆ ไม่สนใจ บ้านช่องที่อยู่ก็เปลี่ยนไปหมด” แล้วเธอก็ร้องไห้ คุณสำนวนต้องปลอบโยนอยู่นานจึงได้นอนหลับ

ดร.เอียน สตีเวนสัน ผู้ศึกษาวิจัยผู้ที่จำอดีตชาติได้ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้มาสอบกรณีของ เด็กหญิงรัตนา วงศ์สมบัติ หลายครั้ง ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เด็กหญิงรัตนาอายุได้ประมาณ 5 ขวบ เมื่อปี พ.ศ.2512 จนถึง พ.ศ.2521

มีครั้งหนึ่ง ดร.เอียน ได้มาพบกับคุณอนันต์ที่ศรีราชา พร้อมกับนำกระดาษมาวาดเป็นรู้โครงร่างคน แล้วให้คุณอนันต์เขียนตำแหน่งแผลเป็นของ คุณแม่กิมลั้นเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ว่ามีแผลเป็นอยู่ที่ตำแหน่งไหนบ้าง ซึ่งคุณอนันต์จำได้ว่าแม่กิลั้นเคยผ่าตัดมาแล้ว 3 ครั้ง เมื่อคุณอนันต์เขียนเสร็จก็ยื่นให้ดร.เอียนดู ตอนนั้น ดร.เอียนถึงกับอุทานออกมาด้วยความตื่นเต้นดีใจ และหยิบโครงร่างคนอีกแผ่นหนึ่ง ที่ท่านได้ขีดตำแหน่งรอยแผลเป็นที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดของเด็กหญิงรัตนาไว้ เมื่อตอนที่ไปพบและสัมภาษณ์เด็กหญิงรัตนามาก่อนหน้าที่จะมาพบคุณอนันต์แล้ว ซึ่งปรากฏว่ารอยแผลเป็นของทั้งสองคนคือของ แม่กิมลั้น กับของ เด็กหญิงรัตนา ตรงกัน

และอีกอย่างหนึ่งคือ ดร.เอียน ได้สอบถาม คุณอนันต์ ว่า เด็กหญิงรัตนาเล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนเด็กๆคุณอนันต์มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “มาลี” เป็นความจริงหรือไม่ คราวนี้เป็นคุณอนันต์ที่ต้องตกใจเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง และที่สำคัญคือแทบจะไม่มีใครรู้เลยว่าคุณอนันต์ตอนเด็กๆมีชื่อว่า “มาลี” ตอนนั้นด้วยความที่เป็นคนขี้โรคเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่บ่อยๆ ท่านเจ้าคุณสำนึก ณ เชียงใหม่ ซึ่งมีความชำนาญเรื่องไสยศาสตร์ได้แนะนำให้แม่กิมลั้นเปลี่ยนชื่อลูกสาวเสียใหม่เป็น “อนันต์” นับแต่นั้นโรคภัยต่างๆก็หายไปอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะพูดได้ว่าไม่น่าจะมีใครรู้เลยนอกจาก คุณแม่กิมลั้น เพราะตอนนั้นคุณอนันต์ยังเด็กมากยังไม่เข้าโรงเรียน แม้แต่ตัวคุณอนันต์เองก็ยังลืมๆไปแล้วด้วยซ้ำ คุณอนันต์ยอมรับว่า เมื่อถึงตอนนั้นเธอเชื่ออย่างสนิทใจว่า เด็กหญิงรัตนาจะต้องเป็นแม่ของตนกลับชาติมาเกิดอย่างแน่นอน

คุณอนันต์เล่าให้ฟังว่า นอกจากเรื่องการพิสูจน์การจำอดีตชาติได้ของ เด็กหญิงรัตนาแล้วยังมีเรื่องประหลาดที่น่าสนใจเกี่ยวกับ คุณแม่กิมลั้นอีกหลายเหตุการณ์ คือ เมื่อตอนที่แม่กิมลั้นมาปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ แถวสนามหลวง ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯนั้น แม่กิมลั้นได้เคยไปพักอยู่กับ แม่ชีจันทร์ ที่เรือนเขียวหรือกุฏิเขียวที่วัดมหาธาตุฯ ตอนนั้นคุณอนันต์เป็นผู้จัดการธนาคารกรุงเทพ สาขาชลบุรี และจะเดินทางมาเยี่ยมแม่กิมลั้นที่วัดทุกวันพระ พร้อมกับนำของกินของใช้ไปให้ด้วย ซึ่งระหว่างที่พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด แม่กิมลั้นจะคอยดูแลอาหารและเครื่องบริโภคของพระสงฆ์และแม่ชีที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันอยู่เสมอ ด้วยเงินส่วนตัวของท่านเอง ต่อมาทางวัดเห็นว่ามีคนนอกที่ไม่ใช่พระสงฆ์รวมทั้งพวกขี้ยามาอยู่มามั่วสุมในวัดมากโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน จึงจัดระเบียบใหม่ โดยให้พักอยู่ได้เฉพาะพระภิกษุ สามเณร และแม่ชีเท่านั้น แม่กิมลั้นจึงต้องออกไปเช่าบ้านอยู่ข้างนอก จะเข้ามาในวัดเฉพาะช่วงตอนกลางวันเท่านั้น ตอนนั้นคุณอนันต์เห็นว่าไม่สะดวกสำหรับคุณแม่ จึงได้ขอร้องให้แม่กิมลั้นกลับไปอยู่ที่ศรีราชาก่อน ซึ่งแม่กิมลั้นก็ยอมกลับไปที่ศรีราชา

แต่กลับมาที่ศรีราชาได้ไม่นานท่านก็ป่วยและต้องมีการผ่าตัด ซึ่งช่วงที่อยู่โรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา เพื่อรอการผ่าตัดนี้เอง ที่แม่กิมลั้นได้ไปนั่งที่ร้านกาแฟชายหาดนอกโรงพยาบาลเป็นประจำทุกวัน และได้บริจาคทุนทรัพย์ให้กับโรงพยาบาลเพื่อสร้างตึก สร้างห้องผู้ป่วยและซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้ทันสมัยขึ้นด้วย และช่วงก่อนการเข้าผ่าตัดนี้เองที่เกิดเรื่องราวที่น่าประหลาดขึ้น คือก่อนที่จะผ่าตัดหนึ่งวัน ท่านพระครูเขียวที่สนิทกันได้มาบอกคุณอนันต์ว่า ให้เลื่อนการผ่าตัดของแม่กิมลั้นออกไปก่อน เพราะวันที่กำหนดนั้นเป็นวันไม่ดี เป็นวันตัวของแม่กิมลั้นด้วย ซึ่งคุณอนันต์ก็พยายามขอให้แม่กิมลั้นเลื่อนวันผ่าตัดออกไปเป็นวันอื่น แต่แม่กิมลั้นไม่ยอมบอกว่า “คนเรามันถึงที่ตาย ผ่าพรุ่งนี้หรือวันไหนๆมันก็ต้องตาย ถ้ามันจะรอด ผ่าวันนี้หรือพรุ่งนี้มันก็รอด” ซึ่งวันนั้นแม่กิมลั้นก็เข้ารับการผ่าตัดจนได้ แล้วเกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด จนต้องเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา คุณแม่กิมลั้นเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๕ เวลา ๑๙ นาฬิกา

จะเห็นได้ว่าด้วยความที่เป็นผู้เข้าใจในธรรมะท่านจึงมีจิตใจห้าวหาญไม่ได้กลัวตาย เหมือนอย่างคนทั่วไป และเพื่อความไม่ประมาทก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดแม่กิมลั้นได้เขียนจดหมายพินัยกรรมใส่ซองไว้หนึ่งฉบับพร้อมกับเงิน 500 บาท ความว่า

เขียนที่ รพ. ๑๑ ก.ย. ๐๕

เพื่อความไม่ประมาท

เรียนคุณหมอที่เคารพทราบ ดิฉันฝากเงินห้าร้อยบาทไว้ด้วย พร้อมกับรูปถ่ายด้วย ฉันได้ให้ศพไว้ที่ศิริราช เพื่อให้นักศึกษาเรียน ถ้าฉันหมดลมแล้ว ขอให้คุณหมอจัดส่งภายใน ๒๔ ชั่วโมง ด้วยเงินห้าร้อยที่ฝากไว้ ถ้าขาดไม่พอกรุณาเรียกที่อนันต์ได้ ฉันขอให้อนันต์ทำตามทุกอย่างที่ฉันขอ ห้ามอาบน้ำศพเพราะเวลามีน้อย ห้ามแต่งดำเพราะไม่จำเป็น ฉันไม่ชอบให้ใครไว้ทุกข์ให้ฉัน ไม่ควรให้ใครๆทราบเรื่องนี้ รวมทั้งวรวิทย์ด้วย ที่ฉันชอบมากถ้าทำได้คือ เมื่อ รพ.ศิริราชเขาใช้เรียนแล้ว ให้เงินเขาสองพันบาท ให้เขาทำกระดูกให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือป่นได้ยิ่งดี ห้ามไม่ให้เผา เอาดิบๆ รับมาแล้วไปฝังไว้ที่โคนโพธิ์ลังกา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ขุดดินให้รอบลึกสัก ๑ เมตร เอากระดูกที่ป่นโรยให้รอบต้น กลบให้เรียบร้อย แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล เรื่องนี้ฉันเรียนท่านเจ้าอาวาสวัดไว้แล้ว ท่านรับปากว่าดีจะเป็นปุ๋ยกับต้นโพธิ์ เพื่อเห็นแก่ฉันจงทำตามที่ขอนี้ ฉันจะยินดีมากที่เธอทำหน้าที่ได้ครบถ้วน

เมื่อ แม่กิมลั้น เสียชีวิตแล้ว คุณอนันต์ ลูกสาวก็ได้ทำตามที่คุณแม่กิมลั้นได้เขียนสั่งไว้ก่อนเสียชีวิต คือรีบนำศพของท่านไปมอบให้กับ โรงพยาบาลศิริราชภายใน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ประโยชน์ในศึกษาเล่าเรียน ซึ่งช่วงเช้าของวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๕ ที่นำศพเข้ากรุงเทพไปส่งมอบให้ศิริราชก็ได้เกิดเรื่องประหลาดขึ้น คือคนขับรถ ได้ขับรถไปอ้อมผ่านหน้าวัดมหาธาตุฯ โดยไม่ทราบสาเหตุ แทนที่จะขับตรงไปข้ามฝั่งที่สะพานพุทธฯไปยังศิริราช ตอนนั้นสะพานพระปิ่นเกล้ายังไม่ได้สร้าง คุณอนันต์เองก็รู้สึกงงว่าคนขับรถอ้อมไปทางนั้นทำไม

ที่ประหลาดมากกว่านั้นก็คือ ในวันหนึ่ง คุณอนันต์ ได้พบกับ คุณสมจิต(ตอนนั้นยังไม่บวชชี) ซึ่งเคยไปฝึกสมาธิปฏิบัติกรรมฐานด้วยกันกับคุณแม่กิมลั้นที่วัดมหาธาตุฯ และรู้จักสนิทสนมกันกับคุณอนันต์เมื่อครั้งที่คุณอนันต์แวะไปเยี่ยมแม่กิมลั้นที่วัดอยู่บ่อยๆ และได้บอกข่าวการเสียชีวิตของแม่กิมลั้นให้คุณสมจิตทราบ คุณสมจิตรู้สึกตกใจและเสียใจ เพราะมีความสนิทสนมกันกับแม่กิมลั้นมาก จากนั้นได้มีการซักถามวันเวลาที่แม่กิมลั้นเสียชีวิต เมื่อคุณสมจิตทราบก็ถึงกับนิ่งอึ้งไป พยายามทบทวนความจำอยู่ครู่หนึ่ง ก็รู้สึกขนลุกแล้วเอามือลูบแขนไปมาแล้วเล่าให้ คุณอนันต์ ฟังว่า ตอนเช้าของวันที่ ๑๓ นั้น (น่าจะเป็นเวลาใกล้เคียงกันกับที่รถบรรทุกศพของแม่กิมลั้นผ่าไปแถววัดมหาธาตุ)ขณะที่คุณสมจิตกำลังนั่งปฏิบัติสมาธิอยู่นั้น แม่กิมลั้นไม่รู้มาจากไหน ได้เข้ามากอดคุณสมจิต และพูดอะไรหลายคำ คุณสมจิตจำไม่ได้ว่าพูดว่าอะไรบ้าง แต่จำได้ว่าตอนนั้นแม่กิมลั้นตัวเย็นผิดปกติ คุณสมจิตยังคิดในใจว่าทำไมเนื้อตัวของแม่กิมลั้นถึงได้เย็นอย่างนั้น และเมื่อได้ทราบวันเวลาที่ชัดเจนจากคุณอนันต์จึงพอจะเข้าใจได้ว่า วันนั้นวิญญาณของแม่กิมลั้นได้ไปหาและเข้าไปกอดคุณสมจิตถึงในวัดมหาธาตุฯ

และอีกเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นหลังจาก แม่กิมลั้น เสียชีวิตไปนานพอสมควร วันหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่งมาพบคุณอนันต์ที่บ้าน ซึ่งพระรูปนี้คุณอนันต์ไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน มาบอกกับคุณอนันต์ว่า ท่านมาจากวัดไร่ขิง มาเพื่อตามหาลูกสาวของแม่กิมลั้น เพื่อจะบอกเล่าถึงความฝันประหลาดของท่านเกี่ยวกับแม่กิมลั้นว่า ท่านฝันเห็นแม่กิมลั้นมาขอฝาก กล่องห่อผ้าสีแดง ไว้กับท่าน ในฝันท่านไม่ได้รับไว้และบอกไปว่า ท่านเป็นพระและกำลังจะออกธุดงค์ท่านรับของนั้นไว้ไม่ได้ แม่กิมลั้นก็พยายามขอร้องแต่ท่านก็ปฏิเสธ คืนต่อมาท่านก็ฝันคล้ายๆกันอีก แต่ในฝันท่านก็ยังไม่รับฝากของนั้นไว้ ต่อมาคืนที่สามท่านก็ฝันแบบเดิมอีก แต่คราวนี้หลังจากอ้อนวอนอยู่นาน แม่กิมลั้นได้ขอให้ท่านรับฝากกล่องห่อผ้าแดงกล่องนั้นเอาไว้แล้วขอให้ช่วยนำไปให้ลูกสาวอีกทีหนึ่ง พอรุ่งเช้าท่านก็ได้สอบถามท่านเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า รู้จักโยมลั้นหรือเปล่า ท่านก็บอกรู้จักเพราะโยมลั้นมาทำบุญที่วัดไร่ขิงอยู่บ่อยๆ ลูกสาวทำงานธนาคารอยู่ที่ศรีราชา ท่านก็เลยมาสืบหาจนได้พบ เพื่อที่จะบอกเรื่องความฝันนี้ให้ทราบ ตอนนั้น คุณอนันต์ ก็คิดถึงเรื่องกระดูกของแม่กิมลั้น ที่ท่านสั่งไว้ก่อนเสียชีวิตว่าให้นำไปทำให้เล็กแล้วนำไปฝังดินไว้ใต้โคนต้นโพธิ์ลังกาที่วัดมหาธาตุฯ ซึ่งคุณอนันต์ยังไม่ได้จัดการให้ พระรูปนั้นท่านก็เห็นด้วยว่าน่าจะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อมาคุณอนันต์ก็ได้จัดการให้ตามที่แม่กิมลั้นสั่งไว้ทุกอย่าง ยกเว้นแต่ที่สั่งไม่ให้เผากระดูกเพราะคุณหมอท่านบอกว่าถ้าจะทุบกระดูกสดๆให้ป่นนั้นทำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเผาเสียก่อน

ส่วนเรื่องประหลาดเรื่องสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ เด็กหญิงรัตนา อายุได้ประมาณ ๖-๗ ขวบ คุณสำนวน พ่อบุญธรรมของเด็กหญิงรัตนาเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นคุณสำนวนได้พาเด็กหญิงรัตนาไปเที่ยวหาพี่สาวซึ่งไปเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วเธอเกิดชอบบรรยากาศของเมืองเชียงใหม่และได้อ้อนวอนคุณสำนวนขอเรียนหนังสือที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งคุณสำนวนก็อนุญาต ในช่วงที่เด็กหญิงรัตนาเรียนอยู่ที่เชียงใหม่นี้ คุณสำนวนจะเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่เป็นประจำ มีครั้งหนึ่งขณะที่คุณสำนวนกำลังเตรียมตัวจะเดินกลับจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯด้วยรถโดยสารประจำทางซึ่งจะออกจาก ท่ารถ บขส.เชียงใหม่ในตอนหัวค่ำและจะถึงกรุงเทพฯในตอนเช้าของอีกวันหนึ่ง แต่ก่อนจะถึงเวลาที่จะต้องไปขึ้นรถโดยสารประจำทาง บ่ายวันนั้นเด็กหญิงรัตนา(ขณะอายุ ๗ ขวบ)รีบวิ่งมาบอกกับคุณสำนวนว่า “พ่อ นาต้องไปกรุงเทพฯกับพ่อด้วย ถ้านาไม่ไปด้วยชีวิตพ่อจะไม่รอด นาต้องไปด้วย” คุณสำนวนถามว่าทำไมถึงพูดอย่างนั้น มีอะไรหรือ ตอนนั้นเธอไม่ตอบอะไร แต่แสดงอาการวิตกกังวลตลอดเวลาแล้วก็ไปหยิบธูปมาจุดไหว้ๆอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเธอก็แสดงอาการดีใจกระโดดโลดเต้นและบอกว่า “พ่อไม่ตายแล้ว พ่อไม่ตายแล้ว” ตอนนั้นคุณสำนวนคิดว่าเธอพูดเพราะเป็นห่วงการเดินทางพ่อจึงพูดและแสดงออกมาตามภาษาเด็ก ตกลงค่ำวันนั้นคุณสำนวนพาเด็กหญิงรัตนากลับกรุงเทพฯด้วย เมื่อรถประจำทางออกจากเชียงใหม่มาจอดเติมน้ำมันที่ลำปาง ระหว่างที่รถเติมน้ำมัน เด็กหญิงรัตนาบอกกับคุณสำนวนว่า “พ่อระวังนะ รถจะคว่ำ” แต่คุณสำนวนก็ไม่ได้สนใจอะไรมากคิดว่าเธอพูดไปตามประสาเด็ก ได้แต่บอกให้เธอนอนหลับ พอรถออกจากลำปางเด็กหญิงรัตนาก็พูดขึ้นมาอีกว่า “พ่อระวังตัวนะ รถจะคว่ำ” รถวิ่งผ่านมาเรื่อยๆจนกระทั่งเข้าเขตอำเภอเถิน จู่ๆเด็กหญิงรัตนาซึ่งกำลังกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเบาะที่ปรับเอนไปด้านหลังก็ลุกขึ้นมานั่งเต็มตัวแล้วบอกว่า “พ่อ เตรียมตัวระวัง รถกำลังจะคว่ำแล้ว” เมื่อได้ฟังคำเตือนครั้งที่ ๓ คุณสำนวนก็รู้สึกสังหรณ์ จึงตั้งสติมองออกไปดูเหตุการณ์บนถนนด้านหน้ารถ เมื่อรถวิ่งมาถึงโค้งด้วยความเร็วปรากฏว่ามีควาย ๔ ตัวเดินนำหน้าอยู่ในช่องทางที่รถวิ่ง ด้วยความเร็วขนาดนั้นรถไม่สามารถเบรกหรือหักหลบควายได้พ้น เมื่อเห็นดังนั้นด้วยความตกใจคุณสำนวนได้คว้าตัวของเด็กหญิงรัตนากดลงกับตักแล้วเอามือยันพนักพิงข้างหน้า คุณสำนวนตะโกนบอกคนขับรถว่า “ควาย” พร้อมกับมีความรู้สึกลางๆว่ามีผู้หญิงมาฉุดเอาร่างของเด็กหญิงรัตนาออกจากอ้อมแขนไป พร้อมกับเสียงรถชนควายดังสนั่น จากนั้นก็หมดสติไป อุบัติเหตุในครั้งนั้นทำให้คุณสำนวนบาดเจ็บต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า ๒ เดือน ส่วนตัวของเด็กหญิงรัตนาไม่ปรากฏแม้แต่รอยฟกช้ำใดๆเลย ทั้งๆที่รถโดยสารคันนั้นชนควายแล้วพลิกคว่ำล้อชี้ฟ้าเสียหายยับเยินเป็นที่น่าประหลาดใจ และที่สำคัญคือเด็กหญิงรัตนารู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้อย่างไร

นางสาวรัตนา อรรถพรพิศาล(วงศ์สมบัติ)

ขอบคุณภาพประกอบจาก 3 นาทีคดีดัง : ด.ญ.รัตนา คนระลึกชาติ

https://www.thairath.co.th/scoop/1960280