บงกช พรหมศิลป

บงกช พรหมศิลป์ จำอดีตชาติได้


เรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ บงกช พรหมศิลป์ หรือ เด็กชายบงกช พรหมศิลป์ ในขณะนั้นได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๘ โดยหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวติดต่อกันอยู่หลายวันว่า พบเด็ก ๓ ขวบ ระลึกอดีตชาติได้ ที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อชาติก่อนถูกแทงตายแล้วเกิดใหม่รบเร้าบิดามารดาให้พาตนไปหาบิดามารดาของตนในชาติก่อน เมื่อไปถึงก็จำได้ ยังได้ซักถามสิ่งของเรื่องราวต่างๆได้เหมือนเป็นชายหนุ่มคนเก่า

บงกช พรหมศิลป์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นบุตรของ นายภมร พรหมศิลป์ ครูใหญ่โรงเรียนบ้านวังแรง ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มารดาชื่อ นางไสว พรหมศิลป์ มีพี่น้องทั้งหมด ๑๐ คน ๒ คนเกิดหลังนางช่อทิพย์ แต่เสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด จึงเหลือ ๘ คนพี่น้อง คือ

๑. นางสุพิศ สวรรค์เพชร ๕. นางสุภาพ พรหมศิลป์

๒. นางสุภัทรา อ่อนคง ๖. นางช่อทิพย์ ประสาทแก้ว

๓. นายสมภพ พรหมศิลป์ ๗. นายบงกช พรหมศิลป์

๔. นางสมเพชร์ แป้นเพชร ๘. นางสุภางค์ พรหมศิลป์

(ข้อมูลล่าสุดแก้ไขเมื่อ ๒๔ พ.ย. ๒๕๕๓)

ครูภมร , นางสุพิศ , นางสุภัทรา , นายสมภพ , นางสมเพช , นายบงกช , น.ส.สุภางค์ , นางไสว

หนังสือพิมพ์หลายฉบับในสมัยนั้นลงข่าวการจำอดีตชาติได้ ของ ด.ช.บงกช พรหมศิลป์ ติดต่อกันหลายวันประมวลความได้ว่า พบเด็ก ๓ ขวบระลึกชาติได้ เป็นลูกชายครูใหญ่ อ้างเมื่อชาติก่อนอายุ ๑๙ ปี เพื่อนแทงตายขณะกลับจากเที่ยวงาน และรบเร้าให้แม่คนปัจจุบันพาไปเยี่ยมบ้านเดิมซึ่งห่างกันเกือบ ๑๐ กิโลเมตร พอเด็กพบแม่ในชาติก่อน ร้องถามเรื่องทรัพย์สินที่เคยใช้ในสมัยก่อน ซึ่งแม่คนเดิมก็รับรองว่าตรงกันทุกอย่าง รวมทั้งเรื่องเดิมของเด็กชายผู้ระลึกชาติก็ตรงกันกับลูกชายที่ถูกแทงตายเมื่อหลายปีมาแล้ว

ข่าวลือเกี่ยวกับเด็กชายผู้จำอดีตชาติปางก่อนได้ ได้แพร่สะพัดออกไป ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้ไปถามข้อเท็จจริงจากปากคำของญาตินางไสว ผู้เป็นมารดาของ ด.ช.บงกช ที่บ้านเลขที่ ๑๘๗ หมู่ที่ ๑ ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และได้รับคำชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง คือเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ด.ช.บงกชได้รบเร้านางไสวมารดาคนปัจจุบันให้พาไปที่บ้านของตนเองซึ่งอยู่บ้านหมู่ ๔ ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดเดียวกัน ซึ่งห่างจากบ้านถึง ๑๐ กิโลเมตร

โดย ด.ช.บงกช ได้เล่าว่า เมื่อชาติก่อนนั้นชื่อ จำรัส เป็นบุตรคนโตของ นางศรีนวลและอาจารย์ม่าน และก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น ตอนนั้นอายุได้ ๑๙ ปี ขณะที่กลับจากเที่ยวงานวัดหัวถนนมากับเพื่อนสองคน ระหว่างทางได้นั่งปัสสาวะ ได้ถูกเพื่อนสองคนกลุ้มรุมเอามีดแทงถูกบริเวณท้องทะลุสิ้นใจตายคาที่ ด.ช.บงกชได้บอกตัวคนแทงด้วย โดยคนหนึ่งในสองคนร้ายที่ถูกระบุนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ได้ตายไปแล้วหนึ่งคนเมื่อ ๕ ปีก่อน

สำหรับอาจารย์ม่าน และนางศรีนวล ซึ่ง ด.ช.บงกช อ้างเป็นพ่อแม่เดิมแต่ชาติก่อน ปรากฏว่าเป็นคนทางภาคอีสาน แต่ต่อมาได้อพยพมาอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์

เมื่อนางไสวได้พา ด.ช.บงกช ไปถึงบ้านของนางศรีนวลแม่คนเดิมแล้ว ด.ช.บงกช ได้พูดเรื่อง รถจักรยาน แหวน และนาฬิกา ซึ่งเป็นสมบัติของตนเมื่อชาติก่อนนางศรีนวลก็ยอมรับว่าของเหล่านั้นมีจริง โดยเฉพาะในข้อสำคัญคือนางศรีนวลได้บอกว่าบุตรคนโตของนางที่ถูกฆ่าตายนั้นก็ชื่อตรงกับที่ ด.ช.บงกช อ้าง คือ ชื่อนายจำรัส และถูกแทงตายเมื่ออายุ ๑๙ ปี ตรงกันกับที่ ด.ช.บงกช ได้บอกไว้ก่อนทุกประการ

นอกจากนั้นปรากฏว่าขณะที่ ด.ช.บงกชไปเยี่ยมบ้านนางสะอาดซึ่งเป็นน้องสาวของนายจำรัส ได้พาลูกมาเยี่ยมนางศรีนวลผู้เป็นมารดา พอ ด.ช.บงกชเห็นเข้า ก็ร้องบอกเป็นภาษาอีสานว่า ให้น้องสาวนำตัวหลานไปอาบน้ำเสีย เนื้อตัวมอมแมมเหลือเกิน เป็นเรื่องน่าประหลาดมาก เพราะเป็นเรื่องปรากฏต่อหน้าผู้สื่อข่าว

นายภมรและนางไสวซึ่งเป็นบิดามารดาของ ด.ช.บงกช ก็ไม่เคยอยู่ทางภาคอีสานและพูดสำเนียงอีสานไม่เป็นเลย แต่ขณะที่ ด.ช.บงกชไปพบนางศรีนวลแม่คนเดิมซึ่งเป็นคนภาคอีสาน ก็ส่งภาษาอีสานตามนางศรีนวลอย่างชัดเจนอีกด้วย ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไต่ถามเรื่องราว ด.ช.บงกช และให้ ด.ช.บงกชตอบเป็นภาษาอีสาน ด.ช.บงกชก็ตอบเป็นภาษาอีสานได้อย่างชัดเจนทุกคำ

ผู้สื่อข่าวได้ไปพบกับนางไสว และ ด.ช.บงกชเด็กน้อยอายุ ๓ ขวบที่ บ้านพานิชวัฒนา ในตลาดท่าตะโก ซึ่งนางไสวได้ไปช่วยพี่สาวขายของอยู่ นางไสวได้เปิดเผยถึงเรื่องน่าอัศจรรย์และความแปลกประหลาดของบุตรชายว่า เธอเกิดที่ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโกนั้นเอง จนเมื่ออายุ ๑๙ ปี ก็ได้แต่งงานกับ นายภมร พรหมศิลป์ ซึ่งปัจจุบันอายุได้ ๔๖ ปีแล้ว เป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านวังแรง ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก

หลังจากแต่งงานแล้วก็มีบุตรกับนายภมร ๑๐ คนด้วยกัน คนโตเป็นหญิงชื่อสุพิศ อายุ ๑๘ ปี คนที่ ๒ เป็นหญิงชื่อสุพัฒน์ คนที่ ๓ ชื่อสมภพ เป็นชาย คนที่ ๔ เป็นหญิงชื่อสมเพชร์ คนที่ ๕ เป็นหญิงชื่อสุภาพ คนที่ ๖ เป็นหญิงชื่อช่อทิพย์ คนที่ ๗ และคนที่ ๘ พอเกิดมาก็ตายทั้งคู่ จนกระทั่งต่อมาได้เกิดบุตรชายชื่อ ด.ช.บงกช ปัจจุบันอายุ ๓ ขวบ ซึ่งปรากฏว่าระลึกชาติก่อนของตัวเองได้อย่างมหัศจรรย์ ส่วนคนที่ ๑๐ นั้นเธอกำลังตั้งท้องได้ ๗ เดือนแล้ว(ขณะผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์)

เมื่อก่อนที่นางไสวจะตั้งท้องก็ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ และไม่เคยฝันเห็นอะไรด้วย แต่ที่มีอาการแพ้ท้องมากที่สุดก็คืออยากจะกินก๋วยเตี๋ยวและกะปิ ซึ่งปกติแล้วเธอยืนยันว่าไม่ชอบกินกะปิเลย จนกระทั่งคลอด ด.ช.บงกชออกมาและเริ่มพูดได้ลูกชายก็เริ่มพูดบ่นอู้อี้และร้องไห้เสมอว่าจะไปหาพ่อแม่ เธอก็ดุเอาเพราะเคืองว่าพ่อแม่ก็อยู่ด้วยกันแล้ว แต่เด็กกลับว่าไม่ใช่พ่อแม่ของแก เลยเกิดโมโหถึงกับตีด้วยไม้ก็มี เพราะเคืองว่าเด็กบอกว่าไม่ใช่แม่ของแก

เวลาล่วงมาอีกหลายเดือน ด.ช.บงกชก็ไปพูดกับคนข้างบ้านว่า เขาไม่ใช่ลูกของนางไสว เขาคือนายจำรัส ลูกชายของอาจารย์ม่านและนางศรีนวล พุภูเขียว บ้านอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก เขาถูกแทงตาย เขาอยากจะไปพบพ่อแม่ของเขาขอให้พาไปด้วย เมื่อทราบข่าวจากชาวบ้าน นางไสวกับสามีก็เกิดเอะใจขึ้นมา จึงลองถาม ด.ช.บงกชดู ด.ช.บงกชก็บอกว่าเขาชื่อจำรัสไม่ใช่ชื่อบงกชที่พ่อแม่ตั้งให้ เขาถูกแทงตายที่ข้างศาลเจ้า ตำบลหัวถนน และคนแทงเขา เขาก็บอกว่าเขารู้จักมันดี ชื่อ นายแบนและนายมา มันช่วยกันแทงเขาจนตาย แล้วเอาสร้อยคอทองคำหนัก ๓ บาท แหวนทองนาค ๒ วง พร้อมนาฬิกาข้อมือของเขาไป

ตั้งแต่เกิดมา ด.ช.บงกชเด็กประหลาดผู้นี้ชอบกินปลาร้าและก๋วยเตี๋ยวผิดจากพี่น้องอื่นๆ ที่บ้านของสามีภรรยา บิดามารดาของ ด.ช.บงกชไม่กินปลาร้า ด.ช.บงกชไปกินกับคนข้างๆบ้าน และยิ่งกว่านั้นยังพูดภาษาอีสานได้อย่างดีอีกด้วย ทั้งๆที่ในหมู่บ้านนั้นไม่มีชาวอีสานเลย และบางครั้ง ด.ช.บงกชยังขอร้องมารดาให้บวชให้ซึ่งเป็นที่ประหลาดใจมาก เพราะอายุ ด.ช.บงกชเพิ่งจะได้ ๓ ขวบเท่านั้น

นางไสวยังเปิดเผยต่อไปว่า จากคำพูดของบุตรชายทุกๆวันนั้น ทำให้นางกับสามีกลุ้มใจ เพราะคิดว่าบุตรคงเป็นอะไรไป บางครั้ง ด.ช.บงกชไปตัดผมที่ร้านลุงบัวในตลาดท่าตะโก ด.ช.บงกชยังบอกให้ลุงบัวช่างตัดผมโกนหนวดให้เขา ซึ่งลุงบัวเองก็งง

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นได้ไปพบกับลุงบัวช่างตัดผม ลุงบัวได้เปิดเผยว่า แกก็งงเหมือนกัน เด็กตัวเท่ากำปั้น ทำไมมันพูดได้เหมือนผู้ใหญ่ และเวลาตัดผมก็ต้องคอยแต่งให้เรียบร้อย

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้คุยกับ ด.ช.บงกชขณะที่กำลังเล่นอยู่ว่า เมื่อถูกแทงตายแล้วไปอยู่ที่ไหน ด.ช.บงกชวัย ๓ ขวบ ตอบอย่างฉาดฉานเหมือนผู้ใหญ่ว่าก็อยู่ข้างกอไผ่นั่นแหละ ถามว่า อยู่คนเดียวหรือ ด.ช.บงกชตอบว่า อยู่คนเดียวสบายดีข้าวปลาก็ไม่ต้องกิน อิ่มดี จะไปบ้านหาพ่อแม่ไปไม่ถูก เลยเดินเที่ยวอยู่จนพบพ่อเขาซึ่งหมายถึง นายภมร พ่อคนปัจจุบัน นั่งรถกลับจากประชุมครู ผ่านตำบลหัวถนนจะไปบ้านที่ตำบลดอนคา เขาเลยกระโดดเกาะท้ายรถพ่อมา ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้ถามว่า แล้วมาอยู่กับแม่ใหม่เมื่อไร ด.ช.บงกชไม่ตอบได้แต่พูดว่า “ถามไม่เข้าเรื่อง พอเสียทีซิ” แล้วหันไปเล่นกับเพื่อนเด็กๆด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้ถามหาความจริงต่อไปว่า แล้วใครฆ่าหนูตายเล่าถึงได้มาเกิดที่นี่ ด.ช.บงกชมองหน้าแล้วตอบอย่างฉุนๆว่า “ก็อ้ายแบนกับอ้ายมาซิ มันมาแทงข้างหลังแล้วแทงตรงพุงนี่ และตรงนี้” ด.ช.บงกชเอามือชี้ไปที่ท้องและสีข้าง ทำท่าอย่างทะมัดทะแมงพร้อมกับแสดงถึงถูกมือฆาตกรล็อคคอไว้แล้วแทงที่ท้อง ทำให้คนฟังหัวเราะกันครื้นเครง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ถามว่า เมื่อเขาแทงตายแล้วทำไมไม่ไปบอกตำรวจ ด.ช.บงกชบอกว่า เขาหลับไปไม่รู้เรื่อง รู้แต่ว่าอยู่เฉยๆไม่หิวอะไรเลย จากการสังเกตของคนข่าวหนังสือพิมพ์รู้สึกว่าการพูดจาของ ด.ช.บงกชเป็นการพูดที่เกินวัย ๓ ขวบ ของเขาอย่างมาก และบางครั้งก็จะหยุดพูดไปเฉยๆโดยไม่สนใจต่ออะไรทั้งสิ้น แม้ว่าใครจะถามก็ไม่ยอมพูด

เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีที่เกี่ยวกับเรื่องราวที่ ด.ช.บงกชพูดให้ฟัง ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นได้รุดไปพบกับ นายไชยศิริ ธีรัทธานนท์ นายอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ นายอำเภอได้เปิดเผยว่า เรื่องนี้ได้ทราบแล้ว มีพระภิกษุหลายรูปได้มาเล่าให้ฟัง นายอำเภอก็สงสัยอยู่เหมือนกัน เพราะเด็กอายุ ๓ ขวบพูดจาได้อย่างนี้ แม้แต่เรื่องที่นายจำรัสถูกฆ่า นายอำเภอเองยังไม่รู้เรื่องเลย เพราะเพิ่งจะมารับหน้าที่ได้เพียง ๓ ปีเท่านั้น แต่เมื่อสอบถามคนเก่าๆเขาดูแล้วก็ว่ามีจริง และเด็กตัวขนาดนี้ก็ไม่น่าจะจดจำได้อย่างตาเห็นเลย มันเรื่องมหัศจรรย์จริงๆ นายอำเภอเองก็งงเหมือนกัน พร้อมกันนั้นนายไชยศิริ นายอำเภอท่าตะโก ได้ให้พนักงานเปิดดูทะเบียนคดีอาญา จึงทราบว่าเรื่องนี้มีจริงนายจำรัสอายุ ๑๘ ปีบุตรของ นายม่านหรือสิงห์ พุภูเขียว และนางศรีนวล บ้านอยู่เลขที่ ๑๐๒ หมู่ที่ ๒ ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก ถูกแทงตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๔๙๖ เหตุเกิดที่บริเวณงานวัดหัวถนน อำเภอท่าตะโก ซึ่งเป็นเรื่องจริงทุกอย่าง และเหตุการณ์ครั้งนั้น อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน มีนายอำเภอเทิ้ม ช่างเรียน เป็นนายอำเภออยู่ และมีปลัดเลี่ยมเป็นปลัดอำเภอ ส.ต.ต.เจริญ และพลฯภู่เป็นผู้ไปชันสูตรพลิกศพ “ผมคิดว่าหลักฐานเหล่านี้ เด็กๆขนาดนี้ไม่น่าจะรู้รายละเอียด แต่ก็น่าอัศจรรย์จริงๆ ที่เด็กรู้ขนาดนี้ รู้อย่างละเอียดและถูกต้องเสียด้วย” นายอำเภอกล่าวด้วยความอัศจรรย์ใจ

จากนั้นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นได้เดินทางไปพบกับนายม่านหรือสิงห์ พุภูเขียว อายุ ๖๑ ปี และนางศรีนวลภรรยาวัยไล่เลี่ยกัน ซึ่งอยู่บ้านเลขที่ ๑๐๒ หมู่ ๒ ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก ซึ่งด.ช.บงกชระบุว่าเป็นพ่อเก่าและแม่เก่าของตนในชาติก่อนนั้น นายม่านซึ่งเคยเป็นอาจารย์สักชื่อดังได้เปิดเผยถึงเรื่องราวของลูกชายที่ตายไปแล้วมาเกี่ยวพันกับ ด.ช.บงกชด้วยน้ำตานองหน้าว่า “ผมไม่ทราบว่าจะเล่าอย่างไรคุณเอ๋ย มันตรงกับลูกของผมทุกอย่าง ผมมีอะไรอยู่มันก็รู้หมด จะไม่ให้ผมเชื่อได้อย่างไร” โดยที่นายม่านได้เปิดเผยว่า ตัวเขาเองเกิดที่บ้านคำประกอบ ตำบลคำประกอบ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี แต่ทว่าต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่อำเภอสว่างดินแดน จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งอายุได้ ๓๐ ปี ก็ได้มาเป็นลูกจ้างเขาอยู่ที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ จนกระทั่งได้มาอยู่กินกับนางศรีนวลแม่ของเด็กเขานี่แหละ

นายม่านเล่าแล้วชี้ไปทางเมียคู่ทุกข์คู่ยากซึ่งอยู่ข้างๆ พร้อมกับเล่าต่อไปว่า “ผมก็เริ่มทำนาเป็นลูกจ้างเขา มีเงินก็ซื้อนาเป็นของตัวเองจนกระทั่งซื้อนาของตัวเองไว้ได้ ๕๐ กว่าไร่ ผมแต่งกันเดือน ๖ พอเดือน ๗ เมียก็ตั้งท้อง พอเดือน ๓ เมียก็คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย ผมตั้งชื่อว่าจำรัส ต่อมามีบุตรอีกชื่อสวัสดิ์และสอาด คนหลังนี่เป็นผู้หญิง และคนที่ ๔ เป็นชายชื่อสมจิต ก็มีเท่านี้แหละ แต่เจ้าสวัสดิ์ลูกคนที่ ๒ มันตายเสียก่อนเพราะป่วยเป็นไข้บวมตาย ส่วนเจ้าจำรัสลูกชายคนโตของผม เมื่อเล็กๆผมก็ให้เข้าเรียนอยู่โรงเรียนวัดหัวถนนจนจบ ป.๔ ก็ได้ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา มันทำนาเก่ง จนกระทั่งมันครบเกณฑ์ทหาร ผมก็พามันไปอำเภอเพื่อรับหมายเกณฑ์ พอรับหมายเกณฑ์มาได้ ๒ เดือน มันก็มาถูกแทงตายเมื่อ ๙ ปีมาแล้ว” นายม่านหยุดเล่าเอาผ้าขาวม้าเช็ดน้ำตา“วันนั้นผมก็จำไม่ได้ว่าเป็นวันอะไร เขามีงานวัดที่หัวถนน มันก็บอกกับผมว่าจะไปเที่ยว ผมก็ไม่ว่าเพราะมันเป็นคนหนุ่ม จนกระทั่ง ๒ ยามเศษ จึงมีตำรวจมาบอกกับผมว่า ลูกชายถูกฆ่าตาย ตอนมันไปมันใส่ทองหนัก ๓ บาท นาฬิกา ๑ เรือน แหวนทองนาค ๒ วง พอผมไปถึงก็ไม่มี ตำรวจว่าถูกคนร้ายแทงชิงทรัพย์ไปหมด ตอนนั้นผมยังจำได้ มันใส่เสื้อขาวแขนสั้น นุ่งกางเกงสีกากีขาสั้น มันนอนตายอยู่โคนต้นตะโกข้างศาลเจ้าติดกับที่นา จนกระทั่งรุ่งขึ้นตอนบ่ายเขาพลิกศพเสร็จแล้ว ผมก็ได้เอาไปวัดเผาเลย ตอนนั้นดูเหมือนจะ ๓ โมงเย็น ผมก็ทำบุญ ๗ วันและ ๑๐๐ วันให้ และไม่เคยมาเข้าฝันหรือให้พบเห็นเป็นลางอะไรเลย พอเขาตายได้ ๓ เดือน ผมก็เอาจักรยานของเขาไปขายให้ทิดมีคนหมู่บ้านหนองเนินไป แต่พอกลางคืนเจ้าลูกชายคนเล็กของผมมันร้องไห้จนไม่ต้องนอนกันทั้งคืน ผมเลยไปจุดธูปเทียนบอกถึงจำรัส บอกเรื่องรถจักรยานของเขา เจ้าลูกคนเล็กก็หยุดร้อง ผมเลยต้องไปซื้อรถจักรยานคืนมาเก็บไว้ทุกวันนี้ แต่เสื้อผ้าของเขาผมได้ให้ทานไปหมด เก็บไว้แต่มีดพกและกางเกงขายาวดำอีกหนึ่งตัวยังเก็บไว้เพราะไม่มีคนใส่” นายม่านเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้ไปพบกับ ด.ช.บงกชครั้งแรกว่า “ผมเองก็รู้เรื่องเมื่อต้นปีนี้เอง มีคนเขาลือกันว่าลูกผมไปเกิดที่ ตำบลดอนคา ผมก็อุตส่าไปกับเมียของผมเพื่อจะไปดูให้แน่ พอผมถามเขาไปก็ไปพบนางไสวแม่ของ ด.ช.บงกชเข้า พอผมเข้าบ้าน ด.ช.บงกชก็วิ่งมาหา ดูหมาให้ผมแล้วพูดภาษาอีสานกับผม ผมนึกเอะใจก็ลองถามเขาถึงเรื่องสีของรถจักรจานและมีดพก เขาก็บอกว่าช่วยเก็บไว้ให้เขาด้วยเขาเอามีดพกเสียบไว้ข้างฝา ผมก็งงเป็นไก่ตาแตก ยิ่งคุยถามไปเด็กก็ตอบได้อย่างถูกต้อง เขาต่อว่าผมไม่ไปหาเขาเลย เขาคิดถึงผมตลอดเวลา เด็กตัวเล็กๆพูดจาเหลือเชื่อ จนกระทั่งผมสังเกตดูนิ้วมือ นิ้วเท้า ก็เหมือนจำรัสลูกชายของผมทุกอย่างเว้นแต่ใบหน้าไม่เหมือน จนกระทั่งผมถามว่าเวลาตายใส่เสื้ออะไรไป เขาก็ตอบว่าใส่เสื้อขาวแขนสั้นนุ่งกางเกงขาสั้นสีกากี ก็พ่อเป็นคนใส่ให้จำไม่ได้หรือ ผมเองถึงกับน้ำตาไหลแม่ของเขาเองก็ร้องโฮ เจ้าเด็กชายบงกชก็เข้าไปหาจะขอมาอยู่ด้วย แล้วเขาก็ถามถึงเรื่องเกวียนที่ผมเคยซื้อตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ ผมบอกว่าได้ขายไปแล้ว เขาก็ไม่ว่าอะไร และยังถามถึงน้องๆของเขาที่อยู่ด้วยกันอย่างถูกต้อง ผมร้องไห้เพราะผมเชื่อแน่ว่า ลูกของผมแน่ครับ มันเคยตีน้องมันยังเล่าถูกต้อง ผมกลับมาถึงบ้านได้ปรึกษากับเมียว่าจะขายที่นาสัก ๓๐ ไร่ แล้วเอาเงินไปขอซื้อตัวลูกคืนมา แต่ปรากฏว่าทางฝ่ายครูอมรและนางไสวซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยเขาไม่ยอม เขายังกลัวว่าผมจะเอาลูกคืนมา เขาไม่ยอมพามาหาเลย และเด็กมันก็จะมาอยู่กับผมด้วย” นายม่านพูดไปพลางน้ำตาก็ไหลยกผ้าขาวม้าเช็ดน้ำตาอยู่ตลอดเวลา

ขณะเดียวกันก็ได้เปิดเผยต่อไปว่า “สำหรับเรื่องมือมีดที่แทงลูกชายผมตายนั้น ปรากฏว่าตำรวจเขาได้จับตัวมาได้ ส่วนนายแบนได้หนีไปยังจับไม่ได้ แต่เมื่อฟ้องร้องถึงศาลแล้ว ศาลได้ตัดสินปล่อยเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ปรากฏว่านายมาถูกขังอยู่เพียง ๓เดือนเท่านั้น” และนายม่านยังได้เล่าต่อไปว่า “สำหรับนายมานั้นเคยเป็นลูกจ้างของผม อยู่ช่วยทำไร่ข้าวโพดได้หนึ่งปีเศษก็ออกไป เป็นคนแถวหัวถนนนี้เอง เขาโกรธผมหาว่าผมไล่เขาออก เขาจึงคิดแก้แค้นฆ่าลูกผมเสีย ผมน่ะเชื่อแน่ว่าเป็นลูกชายของผมอย่างแน่นอน เขายังสั่งผมว่า ช่วยดูแลน้องให้ดีด้วย เขาบวชเสียก่อนเขาจะมาช่วยผมทำนา เด็กตัวแค่นี้พูดได้อย่างไร” นายม่านเล่าให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฟังอย่างเศร้าๆ

หลังจากที่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ได้เดินทางไปพิสูจน์และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิด ที่ทราบเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ ด.ช.บงกช พรหมศิลป์ เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๘ ในครั้งนั้นแล้ว ต่อมา คุณเต็ม สุวิกรม อดีตเลขาธิการพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ได้เดินทางไปพิสูจน์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๘ หลังจากทราบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ๙ เดือน พร้อมกับเพื่อนๆอีกหลายคน มีคุณสาย รัตนสมบัติ หัวหน้ากองสุรากรมสรรพสามิต ในขณะนั้น คุณกริตย์ ผลทอง สรรพสามิตจังหวัดนครสวรรค์ในขณะนั้น เป็นต้น

คณะของคุณเต็ม สุวิกรม เดินทางไปพิสูจน์ ด.ช.บงกช (พ.ศ.๒๕๐๘)

คณะของ คุณเต็ม สุวิกรม ได้เดินทางไปยังบ้านของนายม่านและนางศรีนวล บิดามารดาของนายจำรัสเป็นแห่งแรก พบว่าเป็นบ้านเรือนไม้ ใต้ถุนสูง หลังคามุงสังกะสี ตัวบ้านเปิดโล่ง แบบบ้านชาวนาตามชนบททั่วไป เมื่อไปถึงก็ได้พบนายม่าน นางศรีนวล และนางสอาด น้องสาวของนายจำรัสอยู่พร้อมหน้า ส่วนน้องชายของนายจำรัสที่ชื่อ ด.ช.สมจิตนั้นไปโรงเรียน ตอนที่คณะของคุณเต็มไปถึงนั้นนางศรีนวลมารดาของนายจำรัสกำลังนอนป่วยอยู่ เมื่อสอบถามก็ทราบว่าเป็นวัณโรค อาการน่าเป็นห่วง ด.ช.บงกชก็ทราบข่าวและนายอมรกับนางไสวบิดามารดาได้พามาเยี่ยมอาการป่วยของมารดาในอดีตชาติของเขาก่อนหน้าที่คณะของคุณเต็มจะเดินทางไปแล้ว ซึ่งความผูกพันระหว่าง ด.ช.บงกชกับมารดาในชาติก่อนยังมีอยู่แน่นแฟ้น ตอนขากลับมีคนถาม ด.ช.บงกชว่าไปไหนมา ด.ช.บงกชร้องไห้ตอบว่า “ไปเยี่ยมแม่ศรีนวลมา”

วันนั้นคุณเต็ม ได้สอบถามนายม่านและนางศรีนวลเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาในอดีตจนกระทั่งเสียชีวิตของนายจำรัส ซึ่งนายม่านและนางศรีนวลก็ได้เล่าให้ฟังความว่า

นายจำรัส พุภูเขียว เป็นบุตรคนแรกของนายม่านกับนางศรีนวล เขามีน้องสาวคนหนึ่ง ชื่อนางสอาด และน้องชายคนหนึ่งชื่อ ด.ช.สมจิต นายจำรัสขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นคนไม่ชอบทำบาป เรียนจบ ป.๔ นายม่านและนางศรีนวลก็ให้ออกโรงเรียนมาช่วยทำนา นายจำรัสมีนิสัยเป็นคนพูดน้อย แต่ขี้โอ่ ชอบแต่งตัว ก่อนเสียชีวิตเขาสวมสร้อยคอทองคำหนัก ๓ บาท สวมนาฬิกาข้อมือเรือนทอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เขาถูกฆ่าเพื่อชิงทรัพย์ก็เป็นได้ นายจำรัสชอบรับประทานอาหารอีสาน พวกปลาร้า ชอบก๋วยเตี๋ยว และจำพวกขนมหวาน เหมือนกับ ด.ช.บงกชที่ชอบรับประทานปลาร้าและก๋วยเตี๋ยวผิดจากบิดามารดาและพี่น้องคนอื่นๆ ก่อนเสียชีวิตนายจำรัสมีหญิงคนรักอยู่คนหนึ่งชื่อว่า นางเทียน บ้านอยู่ใกล้ๆกัน ซึ่งขณะที่คุณเต็มไปสัมภาษณ์เธอแต่งงานมีครอบครัวแล้ว เรื่องของนางเทียนคนรักเก่าของนายจำรัสนี้ ดูแล้ว ด.ช.บงกชยังผูกใจอยู่มาก

มีครั้งหนึ่ง ด.ช.บงกชมาเยี่ยมมารดาในอดีตชาติและได้พบกับนางเทียน ด.ช.บงกชมองดูนางเทียนแต่ไม่ยอมพูดด้วย มีคนถามว่าทำไมไม่พูดกับนางเทียน ด.ช.บงกชบอกว่า “อีเถี่ยนมีผัวแล้ว อีเถี่ยนบ่ดี” เขาพูดออกมาเป็นสำเนียงภาษาอีสาน ซึ่งไม่มีใครในครอบครัวปัจจุบันของเขาพูดได้

นายม่าน เล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่นายจำรัสบุตรชายเสียชีวิต ให้คณะของคุณเต็มฟังว่า บริเวณที่นายจำรัสบุตรชายถูกฆ่าตายนั้นชาวบ้านเรียกว่าบ้านหัวถนนเหนือ ส่วนหมู่บ้านของตนนั้นชาวบ้านเรียกว่าบ้านหัวถนนใต้ ซึ่งสองหมู่บ้านนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ บ้านหัวถนนใต้นั้นผู้คนเป็นชาวอีสานทั้งหมด ส่วนบ้านหัวถนนเหนือนั้นผู้คนทั้งหมดเป็นชาวภาคกลาง ในวันที่เกิดเหตุ คืนนั้นมีงานบวชที่บ้านหัวถนนเหนือซึ่งเป็นหมู่บ้านของคนภาคกลาง พร้อมกัน ๒ งาน อยู่คนละแห่งกัน นายจำรัสได้ไปเที่ยวงานบวชแห่งหนึ่ง แล้วได้พบกับนายมาและนายแบนเพื่อนของนายมา (นายมาเคยเป็นลูกจ้างทำงานในไร่ของนายม่านมาก่อน แต่นายม่านได้ให้ออกไป ก่อนหน้านี้) ต่อมานายมาและนายแบนได้ชวน นายจำรัสไปเที่ยวที่งานบวชอีกงานหนึ่งซึ่งอยู่คนละแห่งกัน พอถึงกลางทาง นายจำรัสได้หยุดนั่งปัสสาวะที่ข้างทางใกล้กับศาลเจ้า ก็ถูกนายมาและนายแบนช่วยกันแทงนายจำรัส ถูกที่หลังหนึ่งแผลและที่ท้องหนึ่งแผลจนเสียชีวิต

นายจำรัส ถูกอดีตลูกจ้างในไร่ที่นายม่านบิดาของเขาไล่ออกไปร่วมกับเพื่อน ใช้มีดแทงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่บ้านหัวถนนเหนือ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ขณะอายุได้ ๑๘ ย่าง ๑๙ ปี ศพของนายจำรัสถูกนำไปฌาปนกิจที่วัดหัวถนนเหนือ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่นายจำรัสเสียชีวิต

ตามหลักฐานทางคดีของทางอำเภอระบุว่า เหตุเกิดเมื่อเวลา ๒๒.๐๐น. ของวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๙๗ ที่ตำบลหัวถนน อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เสียชีวิตคือ นายจำรัส พุภูเขียว อายุ ๑๘ ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ที่อยู่หมู่ ๖ ตำบลหัวถนน

เกี่ยวกับคดีความ นายม่านเล่าให้คณะของคุณเต็มฟังว่า หลังจากที่นายจำรัสบุตรชายเสียชีวิตได้ไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับตัวนายมาได้ แต่สุดท้ายศาลได้ตัดสินให้ปล่อยตัวไป เพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ นายมาให้การว่าเขาได้แทงนายจำรัสจริงแต่เขาแทงตอนที่นายจำรัสเสียชีวิตแล้ว เพราะเขาถูกนายแบนบังคับให้แทง เพื่อที่จะได้มีความผิดร่วมกัน

นายม่านได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า สำหรับนิสัยใจคอของนายจำรัสบุตรชายนั้น ก่อนเสียชีวิตนายจำรัสบ่นว่าอยากจะบวชอยู่เสมอ และเคยปรารภกับนายม่านว่าอยากจะบวชเณรมาก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ๒ ปี แต่นายม่านกับนางศรีนวลทัดทานไว้ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่มีใครช่วยทำนา โดยบอกว่าอย่าบวชเป็นเณรก่อนเลย รอให้อายุครบบวชแล้วค่อยบวชเป็นพระเลยทีเดียว

ในเรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า น่าจะเป็นความปรารถนาที่ต่อเนื่องมาจากอดีตชาติจนถึงชาติปัจจุบัน เพราะ ด.ช.บงกชเองก็บ่นกับนายภมรและนางไสวเสมอว่า อยากบวช บางครั้ง ด.ช.บงกชก็เอาผ้าคลุมหัวแล้วทำท่าเป็นพระ บางครั้งก็บอกกับนางไสวมารดาว่า ตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะบวชละ

พระชยาดอ อู โสภณ(พระพม่า) , บงกช , ครูภมร


เมื่อสอบถามข้อมูลจากนายม่านและนางศรีนวลซึ่งเป็นข้อมูลในอดีตชาติจนเป็นที่พอใจแล้ว คณะของคุณเต็มได้เดินทางไปดูบริเวณที่นายจำรัสเสียชีวิต ที่บ้านหัวถนนเหนือ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของนายม่านประมาณ ๒ กิโลเมตร พบว่าบริเวณศาลเจ้าที่กล่าวถึง ไม่มีกอไผ่เหมือนเมื่อตอนที่นายจำรัสเสียชีวิตแล้ว จากนั้นคณะของคุณเต็มได้เดินทางไปยัง บ้านดอนคา บ้านเกิดของ ด.ช.บงกช พรหมศิลป์ เมื่อไปถึงได้พบกับนางไสวมารดาพร้อมด้วยพี่น้องของ ด.ช.บงกช ขาดก็แต่ นายภมร พรหมศิลป์ ผู้เป็นบิดาเท่านั้น ที่ติดงานต้องฝึกสอนกีฬาให้เด็กนักเรียนที่โรงเรียน

นางไสว ได้เล่าประวัติและเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของ ด.ช.บงกชให้กับคณะของคุณเต็ม สุวิกรม ฟังว่า ด.ช.บงกช เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ เวลา ๒๑.๒๒ น. ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู เป็นบุตรคนที่ ๙ ในบรรดาลูกทั้งหมด ๑๐ คน ของตนกับนายภมร พรหมศิลป์ แต่บุตรคนที่ ๗ และคนที่ ๘ ที่เกิดมาก่อนหน้า ด.ช.บงกชได้เสียชีวิตไปเสียตั้งแต่แรกเกิด จึงเหลือลูกเพียง ๘ คนเท่านั้น

นางไสวเล่าต่อไปว่า เมื่อตอนตั้งท้อง ด.ช.บงกชได้ประมาณ ๖ เดือน ตนฝันว่ามีชีปะขาวมาเข้าฝันบอกว่า เด็กคนนี้จะแปลกกว่าเด็กคนอื่นขอให้คอยดูไปก็แล้วกัน ชีปะขาวยังบอกด้วยว่า เมื่อเด็กเกิดมาแล้วให้ตั้งชื่อว่า “บงกช” เมื่อคลอดลูกออกมาตนและนายภมรจึงตั้งชื่อบุตรชายคนนี้ว่า “บงกช” ตามที่ชีปะขาวมาเข้าฝันแนะนำไว้

ต่อมาเมื่อ ด.ช.บงกชโตขึ้นนางไสวสังเกตเห็นว่า ด.ช.บงกชเป็นคนไม่ค่อยพูด พูดน้อย รักสวยรักงาม(เหมือนกับลักษณะนิสัยของ นายจำรัสที่นายม่านเล่าให้ฟังก่อนหน้านี้) เวลาตัดผมก็จะต้องสั่งช่างให้โกนหนวดให้ด้วย เขาบอกว่าเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องโกนหนวดให้เรียบร้อย บางครั้ง ด.ช.บงกชแต่งตัวอย่างประณีตบรรจง สวมกางเกงใส่เสื้อเชิ้ตอย่างเรียบร้อยแบบผู้ใหญ่เลยทีเดียว และที่น่าสังเกตคือ ด.ช.บงกช ชอบรับประทานอาหารแบบอีสาน คือปั้นข้าวเหนียวจิ้มกับข้าวรับประทาน ซึ่งตามธรรมดาของการรับประทานข้าวเหนียวของคนภาคกลางก็คือ รับประทานกับน้ำตาล หรือเป็นขนมหวาน แต่ ด.ช.บงกชจะหาเป็นกับข้าวมารับประทานกับข้าวเหนียว ยิ่งปลาร้ายิ่งชอบมาก ซึ่งแปลกไปจากบิดามารดาและพี่น้องคนอื่นๆในบ้าน หรือแม้กระทั่งคนในตำบลดอนคา เพราะในตำบลดอนคาไม่มีชาวอีสานมาปะปนอยู่เลย คิดว่าน่าจะเป็นนิสัยที่ติดมาจากชาติก่อนโดยแท้ จะสงสัยในทำนองได้แบบอย่างหรือใครเสี้ยมสอนย่อมเป็นไปไม่ได้

ส่วนคำพูดภาษาที่เขาพูด เป็นสำเนียงและภาษาอีสาน นางไสวเล่าให้ฟังว่า นอกจาก ด.ช.บงกชจะชอบรับประทานอาหารอีสานแล้ว เขายังชอบฟังวิทยุที่เขาพูดภาษาอีสาน ฟังคนพูดภาษาอีสานได้เข้าใจ และยังสามารถพูดสำเนียงและภาษาอีสานได้อีกด้วย มีครั้งหนึ่งนางไสวพาไปตลาดด้วย ด.ช.บงกชมองเห็นฝรั่งเกิดอยากรับประทานขึ้นมา จึงบอกกับนางไสวมารดาว่า “อยากกินหมากสีดา” แต่นางไสวมารดาไม่เข้าใจ ด.ช.บงกชจึงชี้ให้ดูผลฝรั่ง จึงรู้ว่าคนอีสานเขาเรียก “ฝรั่ง” ว่า “หมากสีดา” และถ้าไปเห็นคนมากๆ ด.ช.บงกชจะบอกว่า “คนหลาย” และเมื่อครั้งที่นายม่านกับนางศรีนวลมาพบครั้งแรก ด.ช.บงกชก็พูดโต้ตอบเป็นภาษาอีสานได้อย่างดี

อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องที่ ด.ช.บงกชมักจะบ่นกับนางไสวมารดาอยู่เสมอว่าอยากบวช เขาบอกว่าตัวเขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาอยากบวช นางไสวแกล้งถามว่าบวชแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ด.ช.บงกชตอบว่า “จะไปอยู่วัด” สังเกตว่าใกล้ๆวันพระ ด.ช.บงกชมักมีจิตที่เป็นกุศล มักปรารภว่าอยากบวช

ด.ช.บงกชได้แสดงถึงความผูกพัน และเป็นห่วงนางศรีนวลมารดาในอดีตชาติหลายครั้ง เช่น ถ้ามีขนมหรือของรับประทานก็จะขอให้นางไสวเอาไปฝากแม่ศรีนวลอยู่เสมอ และมีครั้งหนึ่ง ด.ช.บงกชทราบข่าวจากเพื่อนบ้านที่หมู่บ้านหัวถนน ว่านางศรีนวลมารดาในชาติก่อนป่วย ด.ช.บงกชทราบดังนั้นก็รบเร้าให้นายอมรและนางไสวพาไปเยี่ยมอาการป่วยของแม่ในชาติก่อน นายภมรและนางไสวจึงพาไป เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ระหว่างทางรถที่นั่งไปผ่านตลาดท่าตะโก ด.ช.บงกชได้บอกให้นายภมรกับนางไสวลงไปซื้อของฝากให้แม่ในชาติก่อน นายภมรและนางไสวจึงลงรถไปซื้อให้ที่ร้านพานิชวัฒนาของนางแกะพี่สาวของนางไสว ซึ่งเป็นป้าของ ด.ช.บงกชนั่นเอง ด.ช.บงกชให้ซื้อนมข้นสองกระป๋องไปฝากนางศรีนวล แต่เมื่อไปถึงบ้านของนายม่านและนางศรีนวล บังเอิญ ด.ช.บงกชเหยียบขั้นบันไดพลาดคางแตก จึงไม่ได้พูดอะไรกับบิดามารดาในชาติก่อนมากนัก ได้แต่เอามือไพล่หลังเดินไปมา แหงนหน้ามองดูหลังคาที่ตัวเขาเมื่อครั้งที่เป็นนายจำรัสเคยมุงไว้เอง

คณะของคุณเต็ม สุวิกรม โชคดีที่มีโอกาสได้ยิน ด.ช.บงกชพูดถึงอดีตชาติของเขาขณะที่ล้อมวงนั่งคุยกันอยู่ ยังไม่ทันที่จะมีใครถามอะไร ด.ช.บงกชซึ่งนั่งอยู่กลางวงก็พูดขึ้นมาเองด้วยเสียงอันดังว่า “อ้ายแบน อ้ายมา อ้ายแบน อ้ายมา” มีคนถามว่า “อ้ายแบน อ้ายมามันทำอะไร” ด.ช.บงกชบอกว่า “มันแทง มันแทง” ถามว่า “มันแทงที่ไหน” ด.ช.บงกชบอกว่า “มันแทงที่นี่” เขาพูดพร้อมเอานิ้วชี้ไปที่หลังใต้คอแห่งหนึ่ง และที่ท้องอีกแห่งหนึ่ง แล้วพูดอีกว่า “มันแทง” “อ้ายแบน อ้ายมามันแทงที่นี่” ตอนนั้นได้ยินได้ฟังกันถ้วนหน้า นับว่าคณะที่มาไม่เสียเที่ยว เพื่อนคุณเต็มที่ไปด้วยถามว่า “เราจะฆ่ามันไหม” ด.ช.บงกชบอกว่า “จะเอาปืนไปยิงมัน” แล้วก็วิ่งไปหยิบปืน พลาสติกมาให้ดู ว่าจะเอาปืนนี้ไปยิงมัน

นายจำรัสเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๘ ด.ช.บงกชเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๕ นับเวลาตั้งแต่ตายไปจนได้เกิดมาอีกครั้ง เป็นเวลา ๗ ปี ๑๐ เดือน กับอีก ๗ วัน เมื่อหักลบเวลาที่อยู่ในครรภ์เสีย ๑๐ เดือน เป็นอันว่าวิญญาณของนายจำรัส ได้ท่องเที่ยวอยู่บริเวณที่เสียชีวิต เป็นเวลา ๗ ปี กับ ๗ เดือน จึงได้สืบชาติมาเกิดใหม่อีกครั้ง

เป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อคณะของคุณเต็มเดินทางกลับไปไม่นาน นางศรีนวลมารดาของนายจำรัส ซึ่งป่วยด้วยโรควัณโรค ก็เสียชีวิตลง เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๐๘

หลังจากที่ คุณเต็ม สุวิกรม และคณะได้ไปพิสูจน์ความจริงในครั้งนั้นแล้ว หลังจากนั้นคุณเต็มก็ได้พา ศาสตราจารย์นายแพทย์ เอียน สตีเวนสัน และคณะศึกษาวิจัยผู้ที่จำอดีตชาติได้ จากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปพิสูจน์และเก็บข้อมูลของ ด.ช.บงกชอีกครั้งและร่วมศึกษาผู้ที่จำอดีตชาติได้อีกหลายราย จนปรากฏชื่อของท่านอยู่ในกิตติกรรมประกาศ(Acknowledgments) ในหนังสือ Reincarnation and Biology ของท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ เอียน สตีเวนสัน เพื่อจารึกไว้เป็นเกียรติประวัติตลอดไป

ดร.เอียน สตีเวนสัน และทีมงาน เข้าไปพบกับ ด.ช.บงกช

อีกหลายครั้ง เพื่อติดตามผลและสังเกตความเปลี่ยนแปลง

อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อ วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ !!

ข้อมูลล่าสุดจากการสัมภาษณ์ คุณสุพิศ สวรรค์เพชร คุณสุภัทรา อ่อนคง และคุณช่อทิพย์ ประสาทแก้ว พี่สาวทั้ง ๓ คนของ คุณบงกช พรหมศิลป์ ที่บ้านดอนคา ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ และจากการสัมภาษณ์ คุณบงกช พรหมศิลป์ ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ โดย เว็บมาสเตอร์ ทำให้ทราบข้อมูลใหม่ว่า คุณพ่อของคุณบงกช มีชื่อว่า ครูภมร พรหมศิลป์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านวังแรง ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ไม่ใช่ ครูอมร พรหมศิลป ครูใหญ่โรงเรียนวัดแรง ตามที่พบในข้อมูลเรื่องราวของคุณบงกช ที่นำเสนอกันในหลายๆแห่ง

ประวัติชีวิตของ คุณบงกช พรหมศิลป์

ประวัติชีวิตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันของ คุณบงกช พรหมศิลป์ เริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๘ ที่หนังสือพิมพ์รายวันในขณะนั้นหลายฉบับ ได้ลงข่าวการระลึกชาติได้ของ ด.ช.บงกช พรหมศิลป์ เด็กชายวัย ๓ ขวบ จนนำพาผู้คนมากมายเข้ามาสอบถามถึงเรื่องราวการระลึกชาติได้ของเขา เช่น

- คณะของ อาจารย์เต็ม สุวิกรม คุณสาย รัตนสมบัติ และคุณกริตย์ ผลทอง เข้าไปสอบถามเรื่องราวของคุณบงกชเมื่อ เดือนธันวาคม ๒๕๐๘

- คณะของ ดร.เอียน สตีเวนสัน เข้าไปสอบเรื่องราวของคุณบงกชครั้งแรกเมื่อ ๒๕๐๙ โดยได้รับข้อมูลจาก คุณเต็ม สุวิกรม จากนั้นก็ได้เข้ามา

ติดตามข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของคุณบงกชอีกหลายครั้ง เช่น เมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๑๗ ดร.เอียน มาพร้อมกับ ดร.คลุ้ม วัชโรบล และ

พระภิกษุชาวพม่าชื่อ พระชยาดอ อู โสภณ (Sayadaw U Sobhana) สอนบาลีและสอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดโพธิ์ นครสวรรค์ และเท่าที่ทราบ

ข้อมูล ดร.เจอร์เก้น ไคล์ ทีมงานของ ดร.เอียน ได้เข้ามาติดตามความเปลี่ยนแปลงของคุณบงกช ล่าสุดเมื่อปี ๒๕๓๘

- ช่อง ๓ เคยนำเรื่องราวของคุณบงกช ไปทำเป็นสกู๊ปข่าว(ตอนที่เปิดช่อง ๓ ใหม่ๆ ๒๕๑๓)

- รายการ โบโซ่เดอะคราวน์ รายการเด็กตอนเย็นทางช่อง ๗ ได้พาคุณบงกช ไปออกรายการ เมื่อเดือน กันยายน ๒๕๒๔

- คณะของ อาจารย์พร รัตนสุวรรณ เข้าไปสอบถามเรื่องราวของคุณบงกช เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๒๙

- เมื่อต้นปี ๒๕๕๓ ทีมงานของ รายการตีสิบ ได้ติดต่อให้คุณบงกช ไปออกรายการ แต่คุณบงกชได้ตอบปฏิเสธไป เพราะรู้สึกกังวล

กลัวว่าเมื่อไปออกรายการทีวีแล้ว จะถูกวิพากวิจารณ์ไปในทางที่ไม่ดี เป็นต้น

ประวัติการศึกษาและการทำงาน

- คุณบงกช พรหมศิลป์ จบการศึกษา ปกส.สูง ที่วิทยาลัยพละศึกษา จังหวัดสุโขทัย

- เคยเป็น ครูโรงเรียนเอกชน ที่โรงเรียนบูรพาศึกษา อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

- เคยเป็น ครูของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(ก.ศ.น.)จังหวัดนครสวรรค์ ประจำที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอลาดยาว และเคยประจำที่

ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ด้วย

- เคยเป็น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

- และได้สอบเข้าเป็น สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ประจำอำเภอชุมตาบง จังหวัดนครสวรรค์

- คุณบงกช พรหมศิลป์ จบการศึกษา ปริญญาตรี ศิลปะศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เมื่อปี ๒๕๕๐

- ปัจจุบันนี้(๒๕๕๓) ทำงานเป็น สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน และมีตำแหน่งเป็น หน้าห้องของนายอำเภอ ประจำอำเภอลาดยาว

จังหวัดนครสวรรค์

เรียบเรียงโดย เว็บมาสเตอร์

ธวัชชัย ขำชะยันจะ

โทร. 085-8886204

E-Mail : tk2513@gmail.com