อูต๋าลาซื่อต๋า

กรณีของ อุทธารา ฮับดาร จำอดีตชาติได้

ที่มหาวิทยาลัยนาคปุระ ประเทศอินเดีย(University of Nagpur) มีอาจารย์สาวคนหนึ่งอายุประมาณ 37 ปี ชื่อว่า อุทธารา ฮับดาร (Uttara Hubdar) ปกติอาจารย์คนนี้จะเป็นคนที่เงียบเฉยไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจากับใคร แต่มีบางครั้งที่ปรากฎว่านิสัยแตกต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง พูดภาษาที่มีสำเนียงแปลกๆและเรียกตัวเองว่า ชารดา (Sharda) ในปี ค.ศ. 1973 อาจารย์อุทธารา ฮับดาร ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล และก็เริ่มรู้สึกว่าตนเองนั้นเหมือนเป็นคนสองคนในร่างเดียว และก็ไม่แน่ใจว่าที่แท้ตนเองนั้นเป็นใครกันแน่

วันหนึ่งมีอาจารย์คนหนึ่งมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และสอนให้หล่อนรู้จักการผ่อนคลายอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง หล่อนเรียนรู้ได้สักพัก ก็ค่อยๆ ผ่อนคลายร่างกายของตนเอง จนในที่สุด หล่อนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร แล้วก็จำได้ขึ้นมาว่าตัวเองนั้นชื่อว่า "ชารดา” เป็นสาวชาวบ้านคนหนึ่ง พ่อของอาจารย์สาวมาเยี่ยม เห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกสาว เมื่อเขามาเห็นหน้าหล่อน หล่อนก็ทำสีหน้าตกใจกลัว รีบหนีไปอยู่มุมห้อง นั่งขดตัวอยู่ที่นั่น พร้อมทั้งพูดอะไรออกมาเป็นภาษาที่แปลกๆ พ่อของหล่อนฟังไม่เข้าใจแม้แต่ประโยคเดียวพ่อแม่ของอาจารย์สาวตกใจ ก็พาหล่อนไปยังโรงพยาบาลประสาทเพื่อตรวจดู แพทย์ทางประสาทกล่าวว่าหล่อนนั้นปกติดี ไม่ได้เป็นโรคใดๆเลย

อาจารย์สอนภาษาอังกฤษชื่อว่า ไหลอี้มาเยี่ยมหล่อน อาจารย์คนนี้เป็น ชาวเบงกอล (Bengal) ได้ยินภาษาที่หล่อนพูด ก็รู้ว่าเป็นภาษาเบงกาลี ตระกูลของอาจารย์สาวเป็นชาว มาราธี (Marathi) หล่อนสามารถพูดได้ 2 ภาษาคือ ภาษามาราธีและภาษาอังกฤษ หล่อนไม่เคยเรียนภาษาเบงกาลีแล้วหล่อนสามารถพูดภาษาเบงกาลีอย่างคล่องแคล่วได้อย่างไร ? อาจารย์ไหลอี้ใช้ภาษาเบงกาลีพูดคุยกับหล่อน และแปลทุกคำพูดที่หล่อนพูดออกมาให้ทุกคนฟัง ทุกคนจึงได้รู้ว่าหล่อนได้เปลี่ยนเป็นคนละคนแล้ว หล่อนกล่าวว่า หล่อนคือ ชาวเบงกอล อาศัยอยู่ที่หมู่บ้าน บานสเดเรีย (Bansderia) หล่อนสามารถบรรยายสภาพของหมู่บ้านออกมาได้อย่างละเอียด รวมทั้งวัฒนธรรมประเพณี หล่อนกล่าวว่า หล่อนถูกงูกัดตายเมื่อปีค.ศ.1832 หล่อนยังกล่าวว่าพ่อของหล่อนคือหมอผีประจำหมู่บ้าน อาจารย์สาวเล่าเรื่องชาติก่อนของหล่อนออกมาอย่างมากมาย ผ่านไปครู่ใหญ่ หล่อนก็ลืมเรื่อง ชาติก่อนหมดสิ้น กลับกลายเป็นอาจารย์สาวที่มีความรู้ในชาตินี้

นักจิตวิทยาหลายท่านกล่าวว่า หล่อนเป็นโรคที่เรียกว่า "คนสองบุคลิก” ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการกลับชาติมาเกิดแต่อย่างใด พวกเขากล่าวว่า "จิตใจของหล่อนนั้นเชื่อในเรื่องชาติก่อน” นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่งกล่าวว่า "อาการแบบนี้เจอได้บ่อยมาก สาเหตุเป็นเพราะไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง จิตสำนึกจึงได้เปลี่ยนบุคลิกให้ต่างไปจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง” ตลอดระยะเวลา 6 ปี บางครั้งหล่อนก็เป็นเพียงอาจารย์สาวธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่สอนหนังสือแก่นักศึกษา แต่บางครั้งก็เป็นสาวชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ พูดภาษาเบงกาลีแต่งตัวเป็นสาวเบงกอลบุคลิกก็แปลกออกไป กลายเป็นสาวแรกรุ่น

มีหมอชาวอินเดียคนหนึ่งชื่อว่า ดร.ราเมมทรา ซินฮา (Dr. Ramemdra Sinha) ไม่เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง คิดว่าหล่อนสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อต้องการชื่อเสียง เขาเดินทางไปยังหมู่บ้านที่อาจารย์สาวกล่าวถึง เขาต้องการพิสูจน์ว่าหล่อนโกหก ดร.ซิงฮา อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และพ่อแม่ที่หล่อนพูดออกมา เขาตามไปตรวจสอบ ลูกหลานของพ่อแม่หล่อนยังคงอาศัยอยู่ที่นั่น และเป็นความจริง เมื่อ 150 ปีก่อนเคยมีหมอผีประจำหมู่บ้านจริง แต่ปัจจุบันนี้ตำหนักที่ใช้ประกอบพิธีพังไปแล้ว เหลือเพียงซากปรักหักพัง ดร.ซิงฮาใช้เวลาตรวจสอบอยู่หลายปี ในที่สุดก็พบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่หล่อนกล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องจริง เคยมีคนถูกงูกัดตายจริงๆ เรื่องราวที่หล่อนกล่าวถึงทุกเรื่องต่างมีหลักฐานยืนยันได้

ดร.ซิงฮากล่าวว่า "เดิมทีนั้นต้องการที่จะจับผิดหล่อน คิดไม่ถึงว่าเมื่อทำการตรวจสอบไปเรื่อยๆ กลับพบว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ตลอดชีวิตหล่อนไม่เคยเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งนั้นเลย แล้วหล่อนจะรู้ถึงสภาพแวดล้อมอย่างละเอียดได้อย่างไร ? ไม่สามารถที่จะคิดไปเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกเสียจากว่าหล่อนคือสาวชาวบ้านที่ถูกงูกัดตายคนนั้นกลับชาติมาเกิด” ดร.ประนาเดนู ปาล (Dr.Pranadenu Pal) นักจิตวิทยาชาวอินเดียศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้เป็นเวลานาน เขากล่าวว่า "ผมได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้และได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ขอยืนยันว่าเรื่องของอาจารย์สาวนั้นเป็นเรื่องจริงอย่างแน่นอน และสิ่งที่หล่อนพูดถึงเรื่อง "ชาติก่อน นั้นเป็นเรื่องจริงเช่นกัน”

ดร.เอียน สตีเวนสัน (Dr.Ian Stevenson) เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ก็เดินทางมายังอินเดียเพื่อค้นคว้าในเรื่องนี้ เขาศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด และนำเรื่องนี้รายงานต่อสมาคมจิตวิทยาสหรัฐอเมริกา ดร.เอียน สตีเวนสัน กล่าวว่า "ระลึกชาติได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราไม่สามารถปักใจเชื่อในเรื่องการระลึกชาติได้ แต่ว่า เรื่องของอาจารย์อุทธารา ฮับดาร ทำให้ทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพงงงวย หล่อนไม่เคยได้เรียนรู้ภาษาเบงกาลีซึ่งมีโครงสร้างภาษาที่ยากและซับซ้อน แต่จู่ๆ หล่อนก็สามารถเข้าใจภาษานี้ได้ ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะ "พลังจิต” ของหล่อนเอง เรื่องนี้สามารถใช้เรื่อง "จิตใต้สำนึก” มาอธิบายได้อย่างเดียวเท่านั้น” หล่อน "ระลึกชาติ” ได้หรือไม่ ? ตามความเห็นของหลักวิทยาศาสตร์ หล่อนไม่ได้ "ระลึกชาติ” หล่อนเป็นเพียงบุคคล 2 บุคลิกเท่านั้น แต่เราจะเอาหลักวิทยาศาสตร์ข้อไหนที่สามารถอธิบายว่าเหตุใดหล่อนถึงรู้เรื่องของ "ชารดา” (สาวชาวบ้าน) และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านแห่งนั้นได้

แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง "อินตู้เตอฮั้วเซินหนี่เจี่ยงซรือ” ของ "หยูหลิง"

ที่มาของข้อมูล : Blog My Opera

แปลคำภาษาจีนที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ให้เป็นภาษาไทย โดย : เว็บมาสเตอร์