สุขลา คุปตะ

กรณี สุขลา คุปตะ

( Sukla Gupta )

แผนที่ประกอบ : Bhatpara,Kampa West Bengal, India

สุขลา คุปตะ เป็นบุตรสาวของ นายศรีเซ็น คุปตะ อยู่ที่ตำบลกัมปา(Kampa) ซึ่งอยู่ทางเบงกอลตะวันตก(West Bengal) เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗

เมื่อครั้งที่ สุขลา หรือ เด็กหญิงสุขลา อายุได้ ๑ ขวบกับ ๖ เดือน พอจะพูดได้บ้างแล้ว เธอได้นำหมอนหรือท่อนไม้ตามแต่จะหาได้ มาใส่เปลแล้วแกว่งไปมาคล้ายกับการไกวเปลเด็ก แล้วก็ออกชื่อว่า “มินู มินู” เมื่อมีคนถามว่า มินู คือใคร เธอก็จะตอบว่า “ลูกฉัน”

สามปีต่อมา เด็กหญิงสุขลา ก็เล่าเรื่องเกี่ยวกับ มินู และเขาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นสามีของเธอในชาติก่อน ซึ่งตามธรรมเนียมของอินเดียจะไม่นิยมเรียกชื่อสามีหรือญาติผู้ใหญ่ตรงๆ อย่างเช่นสามีก็มักจะเรียกว่า “เขา” หรือพ่อของลูก อย่างกรณีนี้สุขลาเรียกเขาคนนั้นว่า “พ่อมินู” แทนการเรียกชื่อตรงๆ

สุขลายังพูดถึงชื่อของคนอีก ๒ คน คือ ”เคตู” และ “กรุณา” ซึ่งเป็นน้องชายของสามีในชาติก่อน

สุขลาบอกว่าเธอเคยอยู่กับสามี ลูก และญาติพี่น้องที่บ้านรัถทะละ ตำบลภัทภารา(Bhatpara) สำหรับตำบลภัทภารานั้นอยู่ห่างจากตำบลกัมปาประมาณ ๑๘ กิโลเมตร

เมื่อเด็กหญิงสุขลาเติบโตขึ้น ก็มักจะบอกว่าอยากจะไปที่ตำบลภัทภารา บางครั้งถึงกับว่า ถ้าไม่มีใครพาไปก็จะไปเอง เพราะเธอไปถูก

บิดาของสุขลา เล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆที่ทำงานเป็นพนักงานรถไฟด้วยกันฟัง และหนึ่งในนั้นมีเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งที่ชื่อว่า นายศรี ปาละ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับตำบลภัทภารา และมีญาติอยู่ที่ภัทภาราอีกด้วย จึงได้มีการสืบเสาะเรื่องราวกันขึ้น

จากการสอบถามของ นายศรี ปาละ ได้ความว่า มีชายคนหนึ่งชื่อว่า เคตู อยู่ที่บ้านรัถทะละ ตำบลภัทภารา มีพี่สะใภ้ชื่อว่า มานา มานามีบุตรสาวคนหนึ่งชื่อว่า มินู มานาเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๙๑

เมื่อบิดาของสุขลาทราบเรื่องนี้ ก็อยากจะพาสุขลาไปพิสูจน์ความจริง ที่ตำบลภัทภารา และทางฝ่ายบ้านของ มานาเองเมื่อได้ทราบข่าวก็อยากพิสูจน์ความจริงเช่นกัน พ่อสามีของมานาที่ชื่อ นายศรีอมฤตาลาล จักรวารตี จึงได้นัดแนะให้บิดาของสุขลาไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านของเขาที่ภัทภารา

ในฤดูแล้งปี พ.ศ.๒๕๐๒ ตอนนั้นสุขลาอายุได้ ๕ ขวบเศษ บิดามารดา ญาติพี่น้องก็พาสุขลาไปยังตำบลภัทภารา พอไปถึงตำบลภัทภารา สุขลาก็เดินนำหน้าตรงไปยังบ้านพ่อสามีในชาติก่อนของเธอ คือ บ้านของ นายศรีอมฤตาลาล จักรวารตี

ที่บ้านหลังนี้ สุขลาจำบุคคล สิ่งของ และเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก เช่น เธอจำได้ว่า เธอ(มานา)และสามีของเธอที่ชื่อ นายศรีหริทัน จักรวารตี เคยไปดูภาพยนตร์ด้วยกันครั้งหนึ่ง แล้วพากันไปหาอะไรกินด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจว่าสุขลารู้ได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์นั้นเป็นครั้งเดียวในชีวิต ที่มานาและสามีไปชมภาพยนตร์กัน และเมื่อกลับมาถึงบ้านมานายังถูกแม่ของสามีดุด่าว่ากล่าวเอาด้วย

สุขลาจำบิดาของสามีในชาติก่อนได้ จำลูกสาวที่ชื่อ “มินู” ได้ และจำสามีของมานาในชาติก่อนได้ ทั้งๆที่เพิ่งจะได้พบเจอกันเป็นครั้งแรกที่บ้านพ่อสามีของมานา

วันนั้น เมื่อไปถึงบ้านพ่อของสามีในชาติก่อน สุขลาเห็น นายศรี หริทัน จักรวารตี สามีของมานาเธอก็ทำความเคารพ และเมื่อได้พบกับ มินู ลูกสาวในชาติก่อนก็แสดงความรักใคร่แล้วก็ร้องไห้ ในห้องนั้นมีญาติพี่น้องของ มานา มาร่วมพิสูจน์กันเกือบ ๓๐ คน มีคนถามว่า ชี้ตัวสามีของเธอได้ไหม สุขลาก็ชี้ไปยังนายศรี หริทัน จักรวารตี แล้วบอกว่า “พ่อมินู” ซึ่งตามธรรมเนียมของชาวอินเดีย จะไม่เรียกชื่อสามีตรงๆ

น้องชายของสามี แม่เลี้ยงของสามี สุขลาจำได้หมด โดยเฉพาะน้องชายของสามีมานา สุขลายังเรียกชื่อเล่นที่เรียกกันเฉพาะในบ้านได้ถูกต้อง

มีคนถามว่า สุขลามีบุตรชื่อ มินู คนเดียวหรือ สุขลาบอกว่า เธอยังมีลูกชายอีกคนหนึ่ง แต่ตายเสียก่อนที่ มินู จะเกิด ซึ่งก็ถูกต้อง

สุขลาบอกว่า เธอมีผ้านุ่งส่าหรีอยู่สามผืน เมื่อครั้งที่เป็นมานา ซึ่งเก็บอยู่ในหีบเสื้อผ้า มีสองผืนเป็นผ้าจากพาราณสี ซึ่งเป็นผ้าอย่างดีมียี่ห้อ ก็ถูกต้องตามนั้น

สุขลาบอกว่าที่บ้านของสามี มีวัวอยู่สองตัว เธอบอกสีได้ถูกต้อง แล้วยังมีนกแก้วอีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็เป็นความจริง วัวและนกแก้วที่สุขลาพูดถึงนั้น หลังจากที่มานาตายไปไม่นาน วัวตัวนั้นก็ตาย ส่วนนกแก้วก็บินหนีไป

ต่อมาเมื่อ สุขลา เห็นจักรเย็บผ้าเธอก็น้ำตาคลอหน่วย เธอบอกว่าเมื่อครั้งที่เป็นมานานั้น ได้ใช้จักรเย็บผ้านี้เป็นประจำ

ดร.สตีเวนสัน ได้ไปสอบเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ ปรากฏว่า การจำอดีตชาติได้ของเด็กหญิงสุขลา ไม่ได้เป็นการร่ำร้องจะกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมในชาติก่อน เหมือนอย่างกรณีของกรณีของ ประกาศ แต่เธอแค่อยากไปเห็นเท่านั้น ในส่วนของความผูกพันอาลัยกับสามีและบุตรในชาติก่อนของเธอนั้น สุขลาแค่อยากให้สามีในชาติก่อนมาเยี่ยมเยียนเธอบ้าง ถ้าสามีในชาติก่อนไม่มาหาเธอก็จะบ่นถึง

เมื่อสุขลาเห็นมินูลูกสาวในชาติก่อน สุขลาพูดว่า “มินูสูงขึ้น ส่วนตัวฉันนั้นเล็กลง” แต่สุขลาก็แสดงอากัปกิริยาต่อมินู เหมือนอย่างมารดามีต่อบุตรที่รัก

มีคราวหนึ่ง มีคนมาแกล้งหลอกสุขลาว่า มินู ป่วยหนัก เด็กหญิงสุขลาก็ร้องไห้เสียใหญ่ ปลอบกันนาน ต้องบอกว่าเวลามินูนี้หายดีแล้วเธอจึงหยุดร้องไห้

ต่อมา มินู เกิดล้มป่วยขึ้นมาจริงๆ พอสุขลารู้เข้าก็วุ่นวายใจ เธอขอร้องให้พาเธอไปยังตำบลภัทภาราเพื่อจะไปเยี่ยมมินูให้ได้ บิดามารดาปลอบอย่างไรก็ไม่ยอม ในที่สุดก็ต้องพาเธอไปเยี่ยมในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่า มินู เองก็ค่อยยังชั่วแล้ว สุขลาจึงได้สบายใจ

สำหรับความเกี่ยวพันกับสามีในชาติก่อนของเธอ คือ นายศรี หริทัน จักรวารตี นั้น เด็กหญิงสุขลาปฏิบัติต่อเขาเช่นเดียวกับภรรยาชาวฮินดูปฏิบัติกับสามี เธอกินอาหารเหลือจากสามีจานเดียวกันได้ แต่กับคนอื่นเธอไม่ยอมกิน

เด็กหญิงสุขลา รู้ว่าสามีในชาติก่อนชอบกินอะไร เมื่อ นายศรี หริทัน มาเยี่ยมที่บ้าน เธอก็จะบอกให้คนในบ้านจัดหาอาหารที่เขาชอบมาให้กิน ซึ่ง นายศรี หริทัน ก็ชอบอาหารเหล่านั้นจริงๆ

เด็กหญิงสุขลา มักจะชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ชอบเล่นอยู่คนเดียว แม้แต่ตอนกินอาหาร ก็ไม่ชอบกินร่วมกับคนอื่นๆ

บิดาของสุขลาเล่าว่า เมื่อสุขลาอายุได้ประมาณ ๓ ขวบ เธอเคยพูดกับเด็กๆด้วยกันว่า เธอจะกินร่วมกับเด็กพวกนั้นได้อย่างไร เพราะว่าเธอเป็นพราหมณ์ ก็ถูกต้องตามนั้น เพราะตระกูลจักรวารตีอยู่ในวรรณพราหมณ์ ส่วนตระกูลคุปทาสไม่ใช่พราหมณ์

สำหรับนิสัยใจคอของสุขลาออกจะเป็นคนหัวรั้น ซึ่งตรงกันกับมานา ซึ่งเธอเป็นคนหัวรั้นเช่นเดียวกัน