ปาระโมท ชาระมา

กรณีของ ปาระโมท ชาระมา

( Parmod Sharma )

แผนที่ประกอบ : Bisauli,Moradabad,Saharanpur ; India

นายปาระโมท ชาระมา เป็นบุตรคนที่สองของ ศาสตราจารย์ บังคีเบฮารี ลาล ชาระมา เกิดในจังหวัดพิเสาลี(Bisauli) แคว้นอุตตรประเทศ(Uttar Pradesh) เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ บิดาของเด็กชายปาระโมท เป็นอาจารย์สอนภาษาสันสกฤต ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

เรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของนายปาระโมท เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาอายุได้ประมาณ ๒ ขวบครึ่ง วันหนึ่ง นายปาระโมท หรือ เด็กชายปาระโมท ในขณะนั้นบอกมารดาว่า “แม่ไม่ต้องหุงหาอาหารหรอก เพราะเขามีภรรยาอยู่ที่โมราดาบัด มาช่วยได้” มารดาได้ยินแต่ไม่ได้สนใจคิดว่าเด็กพูดเล่นไปเองตามประสาเด็ก

ต่อมาเมื่อเขาอายุได้ประมาณ ๓-๔ ขวบ จู่ๆเขาก็พูดขึ้นมาเองว่า ที่เมืองโมราดาบัดเขามีโรงงานขนมปัง และโรงงานทำน้ำโซดา เขาเป็นคนหนึ่งในพวก โมฮันบราเดอส์(Mohan Borthers) ซึ่งมั่งมี มีห้างร้านอยู่ที่สะหะรานปูร์ เขาป่วยหนักแล้วเสียชีวิตเพราะกินนมเปรี้ยวมากเกินไป และบอกด้วยว่า เขาตายในอ่างอาบน้ำ ตอนแรกๆบิดาของเด็กชายปาระโมทได้ยิน แต่ก็ไม่ได้สนใจกับคำพูดเหล่านั้นมากนัก

เด็กชายปาระโมท ยังคงพูดถึงเรื่องราวแปลกๆอยู่เสมอกับหลายๆคน เขายังบอกด้วยว่าเขามีภรรยาและมีบุตรชาย ๔ คน บุตรสาว ๑ คน มารดาของเขาก็อยู่ที่เมืองสะหะรานปูร์(Saharanpur) เขามีกิจการงานห้างร้าน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงทำน้ำโซดา โรงทำขนมปัง

ข่าวคราวเรื่องที่เด็กชายปาระโมทน่าจะพูดถึงเรื่องราวในชาติก่อน ก็แพร่ออกไปทุกทีๆ จนรู้ไปถึงหูของพวกสกุล เมห์รา แห่งเมืองโมราดาบัด ซึ่งพวกพี่น้องสกุลดังกล่าวมีโรงน้ำโซดา โรงทำขนมปังชื่อว่า “โมฮันบราเดอส์” และยังมีห้างร้านอีกแห่งหนึ่ง ที่สะหะรานปูร์ สกุลนี้มีพี่น้องคนหนึ่งชื่อ ปาระมะนันท์ เมห์รา

ปาระมะนันท์ เมห์รา เป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้อักเสบอย่างร้ายแรง ด้วยเหตุที่เขาดื่มนมเปรี้ยวเกินขนาด แล้วถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๖ ที่เมืองสะหะรานปูร์

นายปาระมะนันท์ มีธุรกิจร่วมกับพี่น้องสามคน และลูกพี่ลูกน้องอีกคนหนึ่ง ที่เมืองโมราดับัดและสะหะรานปูร์ มีโรงแรมสองแห่ง ห้างขายของสองแห่ง โรงภาพยนตร์หนึ่งโรง ปาระมะนันท์ยังมีโรงทำขนมปัง โรงทำน้ำโซดาส่วนตัว ควบคุมกิจการเองเป็นเวลานานหลายปี ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องตรงกันกับที่ เด็กชายปาระโมท พูดถึง

เมื่อครอบครัวของปาระมะนันท์ได้ข่าวเรื่องเด็กชายปาระโมท พูดถึงเรื่องในชาติก่อนที่น่าจะเกี่ยวพันกันกับสกุลของพวกเขาและนายปาระมะนันท์ที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็พากันเดินทางมาดูเด็กที่เมืองพิเสาลี ในฤดูแล้ง ปี พ.ศ.๒๔๙๒ ตอนนั้นเด็กชายปาระโมทอายุเกือบจะ ๕ ขวบแล้ว แต่ไม่ได้พบกัน

เมื่อมีสกุลอื่นที่มีความเป็นมาเหมือนกับที่เด็กชายปาระโมทมาสอบถามหา ถึงตอนนี้ฝ่ายบิดามารดาของเด็กชายปาระโมทก็เริ่มจะเข้าใจ ถึงสิ่งที่เด็กชายปาระโมทเคยพูดให้ฟัง ว่าเขาน่าจะจำอดีตชาติได้ และ เด็กชายปาระโมท เองก็รบเร้าให้พาเขาไปบ้านที่โมราดาบัดอยู่เสมอ จนกระทั่งบิดามารดาทนเด็กรบเร้าไม่ไหว โดยเฉพาะผู้เป็นบิดาก็อยากพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ให้กระจ่าง จึงพาเขาไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านของสกุล เมห์รา ที่เมืองโมราดาบัด โดยทางรถไฟ ซึ่งเมืองโมราดาบัดอยู่ห่างจากเมืองพิเสาลีไปทางเหนือประมาณ ๑๔๔ กิโลเมตร

เมื่อไปถึงที่สถานีรถไฟเมืองโมราดาบัด พอลงจากรถไฟ เด็กเห็น นายศรี การามจันท์ เมห์รา ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายปาระมะนันท์ ที่มาต้อนรับก็เข้าไปกอดคอแล้วร้องไห้ เรียกว่า “พี่ พี่”

จากนั้นทั้งหมดก็ได้พากันขึ้นรถสองล้อเทียมม้าแบบชาวอินเดีย เพื่อไปยังบ้านของ สกุลเมห์รา และเพื่อเป็นการพิสูจน์ความจริง บิดาของเด็กชายปาระโมทและคนอื่นๆ บอกให้เด็กชายปาระโมทเป็นคนบอกทาง และบอกกับคนขับรถให้ไปตามทางที่เด็กชายปาระโมทบอก ระหว่างทาง เด็กชายปาระโมทก็ให้คนขับเลี้ยวไปทางโน้นทางนี้ ได้อย่างถูกต้อง พวกผู้ใหญ่ทางฝ่ายสกุลเมห์ราที่มารับแกล้งหลอกว่าไม่ใช่ทางนี้ ไปทางโน้น เด็กชายปาระโมทก็ไม่ยอมตามที่เขาหลอก เขาบอกทางได้อย่างคุ้นเคยและถูกต้อง ทั้งๆที่เพิ่งมาที่เมืองโมราดาบัดแห่งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ขณะที่ผ่านหอประชุมของเมืองโมราดาบัด แม้จะไม่มีป้ายบอกไว้ เห็นเป็นแต่เพียงตึกรูปเหมือนสุเหร่า เด็กยังจำได้ บอกว่าเป็นหอประชุมเมืองโมราดาบัด โดยเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษอีกต่างหาก ทั้งๆที่เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกและไม่มีป้ายชื่อสถานที่บอกด้วยซ้ำ

เด็กชายปาระโมท บอกนำทาง จนกระทั่งมาถึงบ้านที่ นายปาระมะนันท์ เคยอยู่ เด็กชายปาระโมทจำทางที่จะไปยังบ้านของสกุลเมห์ราได้ตั้งแต่ที่สถานีรถไฟ จนถึงร้านโมฮันบราเดอส์ของสกุลเมห์รา ซึ่งเป็นบ้านที่นายปาระมะนันท์เคยอยู่

เมื่อมาถึงหน้าบ้านของสกุลเมห์รา เด็กชายปาระโมทก็ถามขึ้นก่อนว่า "ใครดูแลบ้านนี้" เขามองหาที่นั่งที่เขาหรือนายปาระมะนันท์เคยใช้นั่งคอยรับลูกค้าแต่ไม่พบ ซึ่งปรากฏว่าเมื่อนายปาระนันท์เสียชีวิตแล้ว พวกพี่น้องได้ย้ายที่นั่งนั้นไปไว้ที่อื่นเสียแล้ว

จากนั้น เด็กชายปาระโมท ก็เดินเข้าไปในบ้าน เมื่อเห็นมารดาของนายปาระมะนันท์ เขาก็ร้องทักมารดาของนายปาระมะนันท์ว่า “แม่” ก่อนที่ใครจะแนะนำ เมื่อมองเห็นลูกสาวของนายปาระมะนันท์ ก็ร้องทักขึ้นว่า “ลูก” ในห้องนั้นมีหญิงนั่งรวมกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ มีคนถามว่า "จำภรรยาได้ไหม" เขามองไปทางภรรยาของนายปาระมะนันท์ แล้วก็ยืนเขินอาย ภรรยาของปาระมะนันท์ก็จับเด็กขึ้นนั่งบนตัก เด็กชายปาระโมทบอกว่า “ฉันกลับมาหาเธอแล้ว ทำไมเธอจึงไม่แต้มพินทิ” ซึ่งตามธรรมเนียมผู้หญิงมีสามีจะต้องแต้มพินทิเป็นสีแดง ที่หน้าผาก แต่ถ้าเป็นแม่หม้ายก็ไม่ต้องแต้ม วันนั้นภรรยาของนายปาระมะนันท์ใส่ผ้าส่าหรีสีขาว นุ่งห่มตามแบบธรรมเนียมของหญิงหม้าย เด็กชายปาระโมทบอกว่า ทำไมจึงนุ่งสีขาวไม่ดีเลย

ลูกชายคนหัวปีของนายปาระมะนันท์ ได้เรียกเด็กชายปาระโมทโดยออกชื่อตัวเขา เขาก็บอกว่าอย่าเรียกชื่อ เพราะตามธรรมเนียมของชาวอินเดีย เขาไม่ให้เรียกชื่อบิดามารดา เขาบอกว่าเขาเป็นพ่อ แต่เวลานี้ตัวเล็กไปหน่อยเท่านั้น

ตอนนั้นบุตรชายคนเล็กของ นายปาระมะนันท์ กลับจากโรงเรียนเข้ามาในบ้านพอดี มีคนถามว่า ใครมา เด็กชายปาระโมทตอบว่า “ลูกฉันมา” และเรียกชื่อเด็กได้ถูกต้อง

จากนั้น เด็กชายปาระโมท ได้เดินไปดูเครื่องทำน้ำโซดา ซึ่งพวกสกุลเมห์ราแกล้งถอดท่อน้ำออกตั้งแต่ก่อนที่เขาจะไปถึงโรงทำโซดา เมื่อเขาเห็นก็บอกขึ้นเองว่า “ท่อน้ำหลุดให้จัดการต่อเสีย” แล้วเดินเข้าไปในห้องนอน ที่ปาระมะนันท์เคยนอน เขาเห็นมีม่านกั้นห้อง ก็ถามนายศรี เมห์รา ว่า “พี่กั้นม่านนี้หรือ” นายเมห์ราก็ถามว่า “ทำไมถามอย่างนั้นล่ะ” เด็กชายปาระโมทบอกว่า “ตอนที่ฉันอยู่ยังไม่ได้กั้นม่านนี่นา” เด็กชายปาระโมทชี้ตู้ในห้อง บอกว่าเคยเก็บของในตู้นั้น และเมื่อเขาเห็นโต๊ะชนิดขาสั้นตัวหนึ่ง ก็ชี้บอกว่า เป็นโต๊ะของเขา สำหรับไว้นั่งกินอาหาร ซึ่งก็เป็นความจริง

จากนั้นพวกสกุลเมห์ราก็พา เด็กชายปาระโมทไปพิสูจน์ต่อที่โรงแรมของสกุลเมห์รา ซึ่งครอบครัวของนายปาระมะนันท์ มีกิจการโรงแรมอยู่สองแห่ง ชื่อ เชอชิลโฮเตล และ วิคตอรี่โฮเตล ซึ่งวิคตอรี่โฮเตลนั้นสร้างขึ้นทีหลัง เชอชิลโฮเตล เมื่อเด็กชายปาระโมทไปถึงวิคตอรี่โฮเตล เขาได้ชี้มือไปยังตู้ใบหนึ่ง แล้วบอกว่า “ตู้ใบนี้ฉันซื้อมาตั้งไว้ที่เชอชิลโฮเตล ไม่ใช่ที่นี่” ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะพวกพี่น้องได้ย้ายตู้ใบนั้นจากเชอชิลโฮเตล ถึงตอนนี้พวกสกุลเมห์ราเริ่มเชื่ออย่างสนิทใจว่า เด็กชายปาระโมท ชาระมา คือ นายปาระมะนันท์ เมห์รา กลับชาติมาเกิดใหม่

จากนั้นพวกสกุลเมห์รา ได้พาเด็กชายปาระโมทเดินทางต่อไปยังเมืองสะหะรานปูร์ ที่อยู่เหนือเมืองโมราดาบัดขึ้นไปอีกเกือบสองร้อยกิโลเมตร ซึ่งนายปาระมะนันท์มีห้างร้านอยู่ที่นั่น และเป็นที่อยู่ของนายปาระมะนันท์ ก่อนที่จะเสียชีวิต

ที่เมืองสะหะรานปูร์ เด็กชายปาระโมทมองเห็นผู้ชายคนหนึ่งยืนอยู่ ก็บอกว่าคนนั้นเป็นหมอและเป็นเพื่อนกันกับเขา(ปาระมะนันท์)ด้วย ซึ่งก็เป็นความจริง เขาได้เห็นคนขับรถบรรทุก ก็ร้องเรียกชื่อคนขับรถได้ถูกต้อง

ต่อมาเขาได้พบกับชายชาวมุสลิมผู้หนึ่ง ชื่อ ยามิน เขาได้ชี้ไปยังชายชาวมุสลิมคนนั้นบอกว่าชายคนนั้นเป็นหนี้เขาอยู่ ให้เอาเงินมาใช้ด้วย ทีแรกชายคนนั้นปฏิเสธ เด็กชายปาระโมทก็ยืนยันว่า ชายคนนั้นยืมเงินเขาไปจริงๆ พวกผู้ใหญ่บอกกับชายคนนั้นว่า ไม่เป็นไรหรอกเรื่องเงินทองน่ะพวกเขาไม่ติดใจที่จะเอาคืน ยามินจึงยอมรับว่าเขาได้ยืมเงินของปาระมะนันท์ไปจริง

จากการพิสูจน์ในครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวของทั้งสองสกุลต่างก็เชื่ออย่างสนิทใจว่า เด็กชายปาระโมท ชาระมา คือ นายปาระมะนันท์ เมห์รา กลับชาติมาเกิดใหม่จริงๆและหลังจากการพิสูจน์ในครั้งนั้น ทั้งสองสกุลก็ติดต่อไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ

มีครั้งหนึ่งบิดามารดาได้พาเด็กชายปาระโมทไปเที่ยวที่เดลฮี เด็กชายปาระโมทจดจำสถานที่ต่างๆในเมืองเดลฮีได้หลายแห่ง เขาบอกว่าเมื่อก่อนเคยมาเที่ยว ปรากฏว่าเมื่อสอบถามไปยังสกุลเมห์รา ก็ได้รับคำตอบว่านายปาระมะนันท์เคยไปเที่ยวที่เดลฮีก่อนเสียชีวิตจริงๆ

ดร.สตีเวนสัน ได้ไปสอบเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ และปี พ.ศ.๒๕๐๗ ปรากฏว่าความทรงจำในอดีตชาติของ เด็กชายปาระโมท เลือนรางไปมากแล้ว แต่ก็ยังพอจำได้บางอย่าง ต่างจากเมื่อตอนที่เขาอายุได้ ๕-๗ ขวบ เด็กชายปาระโมทจำอะไรได้มากทีเดียว พอเติบโตขึ้นก็ค่อยๆเลือนรางไป แต่ยังมีนิสัยใจคอเดิมติดตัวอยู่ คือตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ เด็กชายปาระโมทชอบเล่นสร้างตึก ต่อสายไฟฟ้าเข้าไปใช้ ชอบเอาดินมาปั้นเป็นขนมปัง เอาแก้วใส่น้ำต่างน้ำชา แล้วเล่นกินเลี้ยงกัน

เขาชอบกินขนมปังกับน้ำชา และชอบน้ำโซดามาก เขาชอบพูดถึงน้ำโซดาเสมอๆ อย่างที่ทราบมาแล้วว่า นายปาระมะนันท์ เสียชีวิตเพราะกินนมเปรี้ยวเกินขนาด เมื่อเกิดมาในชาติใหม่ ปรากฏว่าเด็กชายปาระโมทไม่ชอบดื่มนม ยิ่งนมเปรี้ยวยิ่งเกลียดนัก เขาเคยบอกบิดาของเขาว่า “อย่ากินนมเปรี้ยวเพราะมันให้โทษมาก” แต่เมื่อเขาอายุได้ประมาณ ๑๗-๑๘ ปี เขาก็พอจะรับประทานนมเปรี้ยวได้บ้าง แต่ไม่ชอบผิดจากลักษณะของชาวอินเดียที่ชอบนักหนา

ส่วนเรื่องที่เด็กชายปาระโมทบอกว่า เขาตายในอ่างน้ำนั้น พวกญาติของ นายปาระมะนันท์ บอกว่า ความจริงก่อนที่นายปาระมะนันท์จะเสียชีวิต คนในครอบครัวได้ให้นายปาระมะนันท์อาบน้ำ นายปาระมะนันท์อาบน้ำเสร็จแล้วก็เสียชีวิต และมาในชาติใหม่นี้ ปรากฏว่า เด็กชายปาระโมท กลัวน้ำ เขาไม่กล้าดำน้ำ แม้แต่อาบน้ำก็ยังไม่กล้าเอาน้ำราดหัวเลย

มีลักษณะพิเศษของเด็กชายปาระโมท คือตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ เขาไม่ใคร่สุงสิงกับเด็กรุ่นเดียวกัน ชอบอยู่คนเดียว

ตอนเด็กๆเขามักจะรบเร้าให้บิดามารดาให้พาเขาไปยังเมืองโมราดาบัด บางทีถึงกับร้องไห้จะให้พาไป มารดาต้องหลอกว่าให้เรียนหนังสือเสียก่อน เมื่ออ่านหนังสือออกแล้ว จะพาไป เด็กชายปาระโมทบอกว่า "ไม่เห็นจะต้องเรียนหนังสือเลย" เด็กบอกด้วยว่า "บ้านนี้จน บ้านก่อนรวยกว่านี้มาก"

ตั้งแต่ตอนเด็กๆ เด็กชายปาระโมทมีความโน้มเอียงไปในทางศรัทธาในการศาสนา เหมือนกับนายปาระมะนันท์ ซึ่งนายปาระมะนันท์เคยบวชมาแล้วครั้งหนึ่ง

ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ขณะที่นายปาระโมทอายุได้ ๒๐ ปี เขามีความสนใจเรื่องดูลายมือมาก ซึ่งปรากฏว่านายปาระมะนันท์ก็เคยเป็นนักดูลายมือสมัครเล่น นายปาระมะนันท์ เคยทายวันที่จะเสียชีวิตของน้องสะใภ้ได้อย่างแม่นยำ

ปาระโมทพูดภาษาอังกฤษได้หลายคำ ซึ่งเป็นคำที่ใครๆในครอบครัวของเขาไม่เคยพูดเลย เช่น คำว่าร้านทำขนมปัง อ่างอาบน้ำ หอประชุมจังหวัด และชื่อบริษัทหลายบริษัทในอินเดีย ซึ่งเขาพูดหรือเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตของนายปาระมะนันท์ ซึ่งเขาพูดภาษาอังกฤษได้

ความผูกพันกับครอบครัวในชาติก่อนของปาระโมทนั้น มีมากทีเดียว คราวหนึ่งลูกชายของนายปาระมะนันท์แต่งงาน ปาระโมทไม่ได้ไปงานนั้น เขาก็แสดงความหงุดหงิดกระวนกระวายใจมาก

ลูกสาวคนเดียวของนายปาระมะนันท์ที่ชื่อ กุมารี เปรมละทา เมห์รา ทำงานอยู่ที่จังหวัดบูดาวน์ใกล้เมืองพิเสาลี เปรมละทามาเยี่ยมเยียนปาระโมทเสมอ และมีความรักปาระโมทมาก เมื่อเปรมละทาหายไปนานๆ ปาระโมท ก็จะบ่นถึง เหมือนกับบิดาบ่นถึงบุตรสาวเมื่อไม่ค่อยได้พบกัน และอากัปกิริยาที่ปาระโมทแสดงต่อหน้าเธอ ก็เป็นเช่นเดียวกันกับบิดาแสดงต่อบุตร ต่อมาเธอได้บอกกับปาระโมทว่า เรื่องในชาติก่อนเป็นอันจบไปแล้ว ขอให้ติดต่อกันอย่างพี่สาวกับน้องชายจะดีกว่าซึ่งปาระโมทก็เห็นด้วยตามนั้น

เมื่อยิ่งเติบโตขึ้น ความทรงจำในชาติก่อนของปาระโมท ก็ยิ่งเลือนรางลงไปทุกที เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ ปรากฏว่า ปาระโมท ลืมเรื่องในชาติก่อนไปมาก จะจำได้ก็ต่อเมื่อได้พบบุคคล สิ่งของ หรือสถานที่ จึงจะนึกย้อนไปถึงชาติก่อนได้ หรือเมื่อมีคนถามขึ้นก็พอจะนึกทบทวนขึ้นมาได้บ้าง

บิดามารดาของปาระโมทบอกกับ ดร.สตีเวนสัน ว่า เมื่อตอนเด็กๆปาระโมทเรียนหนังสือเก่ง แต่พอเติบโตขึ้นก็เรียนไม่ใคร่ดี ซึ่งมารดาของปาระโมท มีความเห็นว่าคงเป็นเพราะเด็กจำอดีตชาติได้เอง ทำให้สติปัญญาไม่ใคร่ดีเมื่อโตขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปาระโมทจะไม่เก่งเรื่องเรียนหนังสือ แต่เรื่องงานแล้ว ปาระโมทเก่งทีเดียว เช่น คราวหนึ่งญาติของเขามีร้านค้าขายเล็กๆอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาจะต้องทิ้งร้านไปทำธุระที่ต่างจังหวัดชั่วคราว จึงมอบหมายให้ปาระโมทช่วยดูแลร้านให้ ปรากฏว่าปาระโมททำได้เรียบร้อยทีเดียว เป็นที่แปลกใจของบิดามารดา

บิดาของเขาจึงเห็นว่า ปาระโมท ควรจะศึกษาในทางธุรกิจการค้า แต่ปาระโมทคัดค้านว่า เขาบอกว่าอาชีพธุรกิจการค้าไม่เหมาะกับกาลสมัยของอินเดียเสียแล้ว ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ เขาสนใจศึกษาในวิชาเคมี

นี่เป็นเรื่องการสืบเนื่องชีวิต ของนักธุรกิจที่มาเกิดใหม่เป็นบุตรของอาจารย์สอนภาษาสันสกฤตในมหาวิทยาลัย แต่ในชาติใหม่นี้เขาไม่ได้สนใจเรื่องการทำธุรกิจเหมือนในชาติก่อนแต่อย่างใด