มัลลิกา

กรณีของ มัลลิกา

( Mallika Aroumougam )

แผนที่ประกอบ : Vellore , Madras ; Tamilnadu , India

เรื่องราวของผู้ที่จำอดีตชาติได้รายนี้มีอยู่ว่า นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที อยู่ที่เมืองเวลเลอร์(Vellore) ป่วยด้วยโรคไข้รากสาดและถึงแก่ความตายเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ขณะอายุได้ ๒๘ ปี เธอมีพี่ชายคนหนึ่งและมีน้องสาวสองคน

ต่อมาน้องสาวของเธอผู้หนึ่งที่ชื่อ ศริมะตี แต่งงานกับ นายศรี โมโรกัสสิกะมะนี มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ ห้องสมุดเทศบาล จังหวัดปอนดิเชอรี่ และมีบ้านพักอยู่ในจังหวัดปอนดิเชอรี่นั้นเอง

ทั้งสองสามีภรรยาอาศัยอยู่ในบ้านสองชั้น พวกเขาปรึกษากันเห็นว่า ลำพังสองคนผัวเมียอยู่ชั้นบนชั้นเดียวก็พอ ส่วนห้องข้างล่างให้เช่าเสียจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงบอกข่าวแบ่งให้เช่า

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ ก็มีครอบครัวหนึ่งมาเช่าบ้านชั้นล่างของเธออยู่ คือครอบครัวของ นายศรี อะโรโมกัม และภรรยา มีบุตรผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ มัลลิกา อะโรโมกัม อายุเพิ่งได้ ๘ เดือน เกิดเมื่อวันที่ ๔ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๘ ครอบครัวนี้ย้ายมาจากเมืองมัดราส(Madras) และ เด็กหญิงมัลลิกา ได้กำเนิดที่เมืองมัดราสนั้น เมืองเวลเลอร์อยู่ห่างจากเมืองมัดราสประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร

เมื่อ เด็กหญิงมัลลิกา เติบโตขึ้น ก็มีความผูกพันอยากใกล้ชิดกับกับ นางศริมะตีมากขึ้นตามวัย ตอนอายุเกือบครบ ๔ ขวบ เด็กหญิงมัลลิกาได้ขึ้นไปชั้นบนของบ้านเป็นครั้งแรก เธอมองไปยังหมอนปักที่อยู่บนเก้าอี้ในห้องของ นางศริมะตี แล้วชี้บอกว่า “หมอนนี้ฉันทำเอง”

หมอนใบนั้นปรากฏว่าผู้ปักคือ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที พี่สาวของ นางศริมะติ ซึ่งตายไปแล้วด้วยโรคไข้รากสาด ณ เมืองเวลเลอร์นั่นเอง นางศริมะตี จึงบอกเด็กว่า หมอนนี้คนปักตายไปแล้วกว่า ๑๐ ปี เด็กหญิงมัลลิกา พยักหน้าบอกว่า “นั่นแหละคือฉันเอง” เด็กหญิงมัลลิกา เรียก นางศริมะตี ว่าน้องสาว แต่นางศริมะตีไม่อยากคิดถึงพี่สาวที่ตายไปแล้วจึงห้ามไม่ให้เด็กเรียก ให้เรียกว่าน้าแทน

แต่เด็กหญิงมัลลิกาก็ยังมีความผูกพันกับนางศริมะตีอยู่เรื่อยๆไปจนเติบโต มีโอกาสเมื่อใดเธอก็จะขึ้นบันไดไปหา นางสศริมะตี แล้วช่วยทำงานให้ เธออยากอยู่กับนางศริมะตีนานๆ

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๕ บิดามารดาได้พา เด็กหญิงมัลลิกา ไปเที่ยวพักผ่อนที่เมืองมัดราส นางศริมะตีและสามีก็ไปเที่ยวที่เมืองมัดราสเหมือนกันและเวะไปหา เด็กหญิงมัลลิกา ยังอยากจะตาม นางศริมะตี กลับมาที่เมืองปอนดิเชอรี่

นางศริมะตี ได้สังเกตเห็นว่า เด็กหญิงมัลลิกามีลักษณะนิสัยเหมือนกับพี่สาวของเธอที่ตายไปแล้วหลายประการ เช่น ท่าทางตอนอาบน้ำ การยิ้ม ท่วงทีในการเดิน คือชอบเดินนำหน้าคนอื่น และชอบหุงข้าวต้มแกง

คราวหนึ่ง นางศริมะตีและสามีพา เด็กหญิงมัลลิกา ไปเที่ยวที่เมืองเวลเลอร์ และได้พาเธอไปยังบ้านพี่ชายของ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที

เด็กหญิงมัลลิกา เห็นรูปผู้ใหญ่สองคนก็ชี้มือบอกว่า เป็นรูปบิดามารดาของเธอ ซึ่งรูปนั้นเป็นรูปบิดามารดาของ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที ในชาติก่อน

เด็กหญิงมัลลิกา ดูรูปหมู่แล้วชี้ไปที่รูปพี่ชายของ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที บอกว่าเป็นรูปพี่ชายของเธอแล้วบอกว่า เขาไม่ค่อยอยู่บ้านเลย ปรากฏว่าเป็นความจริง เพราะพี่ชายของ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที มีกิจธุรการงานต้องเดินทางจากบ้านเสมอๆ

นางศริมะตีเล่าว่า เมื่อ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที ยังไม่ตาย เธอมีวัวตัวหนึ่งเธอรักวัวตัวนั้นมาก เทงวีตั้งชื่อมันว่า จันเทวี วัวตัวนี้ตายก่อนที่ เด็กหญิงมัลลิกา หลายปี วันหนึ่ง นางศริมะตี คุยกันเรื่องวัว จันเทวีตัวนี้ และออกชื่อวัวต่อหน้า เด็กหญิงมัลลิกา เธอได้ยินเข้าก็กล่าวขึ้นทันใดว่า “ฉันจำได้ เรื่องเจ้าวัวตัวนั้น มันยอมให้ลูกสุนัขกินนมมันด้วย”

ทุกคนก็นึกขึ้นได้ว่า เป็นความจริงตามที่เธอพูด เมื่อวัวจันเทวีมีลูกมันยอมให้ลูกสุนัขกินนมมันและก็ไม่มีผู้ใดได้เล่าเรื่องนี้ให้ เด็กหญิงมัลลิกา ได้ฟังมาก่อนเลย

เมื่อ เด็กหญิงมัลลิกา ได้พบพี่ชายของ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที ก็ร้องทักว่า ”พี่ชาย” ทันที ได้แสดงความรักความอาลัยเช่นเดียวกันกับที่รัก นางศริมะตี และไม่ยอมออกห่างเว้นแต่จะไปโรงเรียน เธอได้เรียกเขาว่าพี่ชาย จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๕ ก็ยังเรียกอย่างนี้อยู่ ตอนนั้น เด็กหญิงมัลลิกา อายุ ๗ ขวบ พี่ชายของเทวีอายุ ๕๕ ปี ใครเห็นก็แปลกใจว่า ชายอายุ ๕๕ ปีมีน้องสาวเป็นเด็กเล็กๆ ทั้งอยู่ในสกุลอื่นด้วย

พี่ชายของเทวีได้แยกอยู่ต่างหากจากบ้านเดิม วันหนึ่งเด็กหญิงมัลลิกาพูดกับเขาว่า ทำไมจึงไปอยู่ทึ่อื่น ไม่อยู่บ้าน

เด็กหญิงมัลลิกา มีใจผูกพันรักใคร่กับครอบครัวของ นางศริมะตี มาก ไม่ยอมห่างและดูจะรักมากกว่าบิดามารดาที่แท้จริงของเธอเสียอีก แต่บิดามารดาของเธอก็ไม่รู้สึกเสียใจหรืออิจฉาแต่ประการใด คงสนิทสนมกลมเกลียวกับครอบครัวของ นางศริมะตี ดังเดิม

การจำอดีตชาติได้ของ เด็กหญิงมัลลิกา ผู้นี้ ไม่เหมือนรายอื่นๆ คือเด็กไม่เล่าเรื่องราวในชาติก่อน นอกจากจะพบเหตุการณ์ หรือสิ่งของอะไรที่เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกนึกถึงจึงจะจำขึ้นมาได้ เช่น พบบุคคล เห็นสิ่งของ เป็นต้นว่าหมอนหรือใครออกชื่อวัวที่ นางสาวกุมารี เทวี สภาพาที เคยรัก เป็นต้น

(สิ่งซึ่งเป็นเครื่องให้ระลึกถึงอดีตชาติได้นั้น เรียกว่า “สารชาติ”..TK )