คณานะติเลกะ

กรณีของ คณานะติลเลกะ ภัทเทวิถานะ

( Gnanatilleka Baddewithana)

แผนที่ประกอบ : Talawakele , Nuwara Eliya ; Sri Lanka

คณานะติลเลกะ ภัทเทวิถานะ เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ ใกล้ตำบลเฮดูนะเววะ(Hedunawewa) ตอนกลางของประเทศศรีลังกา(Sri Lanka) บิดาชื่อ นายดี เอภัทเทวิถานะ มารดาชื่อ นาดี พี ภัทเทวิถานะ

อายุได้หนึ่งขวบเริ่มพูดได้ คณานะติลเลกะ หรือ เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ในขณะนั้นก็พูดถึงบิดามารดาในชาติก่อนของเธอ พออายุได้สองขวบเธอก็พูดถึงเรื่องราวในชาติก่อนเป็นเรื่องเป็นราว เธอเล่าว่าเธอเคยมีบิดามารดาอยู่ที่อื่น มีพีชายสองคน และมีพี่สาวหลายคน

ตอนแรกๆเธอไม่ได้กล่าวออกชื่อ ตำบลตลวากีลี ที่เธอเคยอยู่ในชาติก่อนนี้ มาออกชื่อถึงก็เมื่อ มีคนตำบลเฮดูนะเววะผู้หนึ่งซึ่งเดิมเป็นชาว ตำบลตลวากีลี เดินทางไปเยี่ยมบ้านเดิมของเขาที่ ตำบลตลวากีลี(Talawakele) แล้วกลับมา เขาเป็นคนรู้จักกับบิดามารดาของเด็กหญิงคณานะติลเลกะ เมื่อพวกเขาคุยกันก็ออกชื่อตำบล ตลวากีลี ต่อหน้า เด็กหญิงคณานะติลเลกะ พอได้ยินชื่อตำบลดังกล่าว เธอก็บอกบิดามารดาของเธอว่า “เมื่อก่อนหนูเคยอยู่ที่ ตำบลตววากีลี”

เธอบอกกับบิดามารดาว่าเธออยากไป ตำบลตลวากีลี ไปหาบิดามารดาคนก่อนของเธอ และได้ออกชื่อบุคคลในครอบครัวเมื่อชาติก่อนเป็นอันมาก ตลอดจนบ้านเดิมอยู่ตรงไหน ความทราบไปถึง พระปิยทัสสี เถระ และ นายนิสสังกะ ที่จังหวัดแคนดี จึงได้สืบเสาะเรื่องราว ก็ได้ความว่าเรื่องราวตรงกับครอบครัวหนึ่งที่ ตำบลตลวากีลี มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ เด็กชายติลเลเกรัตนี ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗

ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ บิดามารดาของ เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ได้พาเด็กไปยังตำบลตลวากีลี เธอจำบ้านช่องต่างๆที่อยู่บริเวณบ้านของเธอในชาติก่อนได้ แต่ด้วยเหตุที่บ้านเดิมของเธอซึ่งเป็นบ้านของ เด็กชายติลเลเกรัตนี ได้รื้อไปแล้วเธอจึงบอกแต่เพียงว่า บ้านของเธอเคยอยู่แถวนั้น

ได้ความว่า เด็กชายติลเลเกรัตนี ตายขณะอายุได้ ๑๒ ขวบ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๗ หลังจากนั้นบิดามารดาของ เด็กชายติลเลเกรัตนี ก็ย้ายไปที่อื่น ครั้งนั้นทั้งสองครอบครัวจึงไม่ได้พบกัน

ต่อมามีครู ๓ คน สอนอยู่ที่ วิทยาลัยศรีปทะ ซึ่ง เด็กชายติลเลเกรัตนี เคยเล่าเรียนอยู่ มาดูตัว เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ที่บ้าน

พอ เด็กหญิงคณานะติลเลกะ เห็นครูทั้งสามคน ก็ร้องทักจดจำได้ และยังได้เล่าถึงสิ่งของในห้องเรียน ตลอดจนเรื่องราวต่างๆในโรงเรียนได้ ดังนั้นตอนต้นปี พ.ศ.๒๕๐๔ จึงได้มีการนำตัวเด็กไปยัง ตำบลตลวากีลี อีกครั้งให้ได้พบญาติพี่น้องของเด็กชายติลเลเกรัตนี หลายคนและคนอื่นๆอีก ทั้งนี้ต่อหน้า พระปิยทัสสี เถระ นายนิสสังกะ และ นายดี วี สมิถปาละ ครูโรงเรียนซึ่ง เด็กชายติลเลเกรัตนี เคยเล่าเรียน

เด็กหญิงคณานะติเลกะ จดจำญาติพี่น้องของ เด็กชายติลเลเกรัตนี ได้ถึง ๗ คน และจำคนอื่นๆในตำบลนั้นได้อีก ๒ คน

ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ ดร.เอียน สตีเวนสัน ได้ไปสอบเรื่องนี้ ขณะนั้นเด็กหญิงคณานะติลเลกะ อายุได้ ๕ ขวบ

ตำบลตลวากีลี และ ตำบลเฮดูนะเววะ อยู่ที่ช่องหว่างเขา ทางติดต่อไม่สะดวกไปมายาก ทั้งสองครอบครัวนี้ จึงไม่รู้จักกันเลย

การจำอดีตชาติได้และความเป็นไปของเด็กทั้งสองกล่าวโดยย่อที่สำคัญๆมีดังนี้

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ เล่าว่า เมื่อชาติก่อนเธอเคยเห็นพระราชินีของอังกฤษเสด็จทางรถไฟ ซึ่งก็เป็นความจริง คือเมื่อครั้งที่ เด็กชายติลเลเกรัตนี ยังมีชีวิตอยู่นั้น พระราชินีอังกฤษเสด็จมายังศรีลังกา และได้เสด็จโดยทางรถไฟและได้ผ่านตำบลตลวากีลีด้วย

เธอบอกว่าในชาติก่อนมารดาของเธอต้องซื้อฟืนใช้ ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะบ้านเดิมของ เด็กชายติลเลเกรัตนี เป็นเมืองที่อยู่บนเขา หาไม้ทำฟืนยากต้องซื้อใช้

ในชาติก่อนเธอขึ้นรถไฟไปโรงเรียน ผ่านอุโมงค์ด้วย ซึ่งเป็นความจริงถูกต้อง ในชาติก่อน มารดาของเธอรูปร่างใหญ่ ซึ่งปรากฏว่าเป็นความจริง คือมารดาของ เด็กชายติลเลเกรัตนี ตัวใหญ่กว่ามารดาของ เด็กหญิงคณานะติลเลกะ

เมื่อนำไปหาบ้านเดิมครั้งแรก เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ชี้บ้านของคนซักผ้าได้ถูกต้อง เธอบอกว่าครูชื่อว่า นายดี วี สุมิถปาละ ไม่เคยตีเธอเลย ซึ่งก็เป็นความจริง เธอจำครูได้ตั้งแต่เมื่อครูไปพบเธอที่บ้าน พอเด็กเห็นก็จำได้ และครูคนนี้ดุนัก แต่ไม่เคยตี เด็กชายติลเลเกรัตนี เลย

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ เล่านิทานชาดกได้ละเอียดลออทั้งๆที่ไม่มีใครเคยเล่าให้ฟังเลย ปรากฏว่า ครูสุมิถปาละ ได้เคยสอนนิทานชาดกให้กับ เด็กชายติลเลเกรัตนี

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ บอกว่าเธอเคยขึ้นยอดเขา อาดามส์ พีค พร้อมกับพระภิกษหลายองค์ อาดามส์ พีค เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในศรีลังกา ชาวลังกาถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ จำญาติน้องของ เด็กชายติลเลเกรัตนี ได้มากมาย เธอเคยร้องทักชายแก่ผู้หนึ่งว่าเขาเคยสอน เด็กชายติลเลเกรัตนี ที่โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ และร้องทักแม่ชีคนหนึ่งที่อยู่ในหมู่คน แล้วบอกว่า แม่ชีคนนั้นเคยไปวัดที่ตำบลตลวากีลี ด้วยกัน แม่ชีรับว่าเคยไปกับ เด็กชายติลเลเก จริง

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ทักเพื่อนบ้านที่เคยทะเลาะกับมารดาของ เด็กชายติเลเก ว่าคนผู้นี้เคยทะเลาะกับมารดาของเธอ ซึ่งเพี่อนบ้านผู้นั้นยอมรับว่าจริง แต่เวลานี้ดีกันแล้ว

เด็กชายติลเลเก กลับชาติจากชายมาเกิดเป็นหญิง และเมื่อเด็กหญิงได้พบกับบิดามารดาในชาติก่อนก็ได้แสดงความรักใคร่ปรากฏออกมา มารดาของ เด็กชายติเลเก ถึงกับร้องไห้ส่วนบิดาก็ตื้นตันใจมาก เมื่อ ดร.สตีเวนสัน ไปสอบถามนางก็ยังแสดงความสะเทือนใจอยู่

สำหรับคนในครอบครัวของ เด็กชายติเลเกรัตนี นี้ เด็กชายติเลเกรัตนี ไม่ได้สนิทสนมกับใครเลย เพราะพี่ชายคนโตก็ไม่ใคร่จะอยู่บ้าน ส่วนพี่ชายคนรองลงมาก็ไม่ใคร่จะถูกกัน แม้บิดาก็ไม่ใคร่จะสนิทกันนัก แต่เด็กชายติลเลเกจะมีความสนิทสนมกับผู้เป็นมารดามาก ซึ่งมารดาก็รักบุตรชายคนสุดท้องนี้มากเช่นกัน ความผูกพันทางจิตใจของเด็กชายผู้นี้จึงเหินห่างจากพี่ชายและพวกผู้ชายมากจนกระทั่งตาย ส่วนใหญ่ เด็กชายติลเลเก จะมีความใกล้ชิดอยู่กับเพศหญิง

เช่นเมื่อมีการประชุมมีทั้งเด็กหญิงและเด็กชายปะปนกัน เด็กชายติลเลเกรัตนี จะไปนั่งรวมกลุ่มกับเด็กผู้หญิง และยังชอบเย็บผ้า ชอบผ้าไหม และชอบทาเล็บ เหมือนผู้หญิง ส่วน เด็กหญิงคณานะติลเลกะ จะมีจิตใจไปทางผู้ชายมาก คือมีความกล้า ไม่ค่อยกลัวอะไร เมื่อตอนเด็กๆก่อนเข้าโรงเรียน เธอชอบพูดอะไรยาวๆไม่เหมือนพี่น้องคนอื่น เธอบอกกับพ่อแม่ของเธอว่า เธอเคยเป็นผู้ชายแต่ตอนนี้เป็นผู้หญิงแล้ว และเธอได้บอกกับ ดร.เอียน สตีเวนสัน ผู้สอบเรื่องนี้ว่า เมื่อตอนที่เป็นผู้ชาย เธออยากเป็นผู้หญิง ดร.สตีเวนสันถามว่า ตอนที่เป็นผู้หญิงกับตอนที่เป็นผู้ชายอย่างไหนมีความสุขกว่ากัน เธอตอบว่า เป็นผู้หญิงสบายกว่า

เด็กหญิงคณานะติลเลกะ ชอบผ้าสีน้ำเงิน บอกว่าเมื่อก่อนก็เคยชอบ บิดาของเด็กชายติลเลเกรัตนีบอกว่า เด็กชายติลเลเกรัตนี ก็ชอบใส่เสื้อเชิตสีน้ำเงิน

เด็กชายติลเลเกรัตนี เสียชีวิตเนื่องจากพลัดตกเก้าอี้และมีอาการช้ำใน ขณะอายุได้ ๑๒ ปี บิดามารดาพาส่งโรงพยาบาล ปรากฏว่าต่อมาประมาณสัปดาห์กว่าๆก็ถึงแก่ความตาย

ในชาตินี้ เด็กหญิงคณานะติลเลกะ กลัวโรงพยาบาล กลัวหมอ และกลัวที่สูงมากไม่กล้าปีนป่ายอะไร เพราะกลัวจะตกลงมา