คัมภีร์อัลกุรอาน

อัลลอฮฺ ได้ทรงประทานคัมภีร์อัลกรุอานแก่ นบีมุหัมมัด (ศ) ซึ่งเป็นศาสนทูตคนสุดท้าย และคัมภีร์นี้ก็เป็นคัมภีร์สุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้ส่งมาให้แก่มวลมนุษยชาติ หลังจากนี้แล้วจะไม่มีคัมภีร์ใด ๆ จากพระผู้เป็นเจ้าอีก คัมภีร์กรุอานนี้ได้ประทานมาเพื่อยกเลิกคัมภีร์เก่า ๆ ที่เคยได้ทรงประทานมาในอดีตนั่นคือคัมภีร์เตารอฮฺ (Torah) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดามูซา (Moses) คัมภีร์ซะบูร (Psalm) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาดาวูด (David) และ คัมภีร์อินญีล (Evangels) ที่เคยทรงประทานมาแก่ศาสดาอีซา (Jesus) เป็นคัมภีร์ที่บริบูรณ์ไม่มีการเพี้ยนเปลี่ยนแปลง ภาษาของอัลกุรอานนั้นคือภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาของศาสดามุหัมมัด (ศ)

การศรัทธาในคัมภีร์อัลกุรอานทั้งเล่มเป็นหลักการหนึ่งที่มุสลิมทุกคนต้องศรัทธา นั่นก็หมายความว่าหากไม่ศรัทธาในอัลกุรอาน หรือศรัทธาเพียงบางส่วนก็จะเป็นมุสลิมไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ต้องศรัทธาว่าคัมภีร์อัลกุรอาน ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้มีความบริบูรณ์ภายใต้การพิทักษ์ของอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการสังคายนาอัลกุรอานเลย ตั้งแต่วันที่ท่านนบีเสียชีวิตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺภาษาอาหรับจึงเป็นภาษาโบราณภาษาเดียว ที่มีชีวิตอยู่จนกระทั่งวันนี้ได้ และได้กลายเป็นภาษามาตรฐานของประเทศอาหรับทั้งหลาย เป็นภาษาวิชาการของอิสลาม และเป็นภาษาที่ใช้ในการปฏิบัติศาสนพิธีของมุสลิมทุกคนทั่วโลก

การประทานคัมภีร์

ในราวปี ค.ศ. 610 เมื่อนบีมุหัมมัด (ศ) นั่งบำเพ็ญตนอยู่ในถ้ำบนยอดเขาฮิรออ์อย่างที่เคยทำเป็นประจำ ญิบรีลทูตแห่งอัลลอฮฺก็ปรากฏตนขึ้น และนำพระโองการจากพระผู้เป็นเจ้ามีความว่า

{96:1} จงอ่าน ด้วยพระนามแห่งพระเจ้าของเธอผู้ทรงบังเกิด

{96:2} ทรงบังเกิดมนุษย์จากก้อนเลือด

{96:3} จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเธอนั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง

{96:4} ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา

{96:5} ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้

ตั้งแต่นั้นมา มุหัมมัด (ศ) ก็ได้กลายเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ ที่ต้องรับหน้าที่ประกาศศาสนาของอัลลอฮฺ นั่นคือศาสนาอิสลาม ที่ตั้งอยู่บนหลักการไม่บูชาสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ การวิวรณ์ การเปิดเผยสำแดง การรับสาส์น หรือโองการจากอัลลอฮฺนั้นเรียกในภาษาอาหรับว่า วะฮีย์ ศาสดามุหัมมัดได้รับวะฮีย์เป็นคราว ๆ ทะยอยลงมาเรื่อย ๆ จากวะฮีย์แรกถึงวะฮีย์สุดท้ายใช้เวลา 23 ปี ทุกครั้งที่วะฮีย์ลงมา ท่านศาสนทูตจะประกาศให้สาวกของท่านทราบ เพื่อจะได้ไปประกาศให้คนอื่นทราบอีกต่อไป สาวกจะพยายามท่องจำวะฮีย์ที่ลงมานั้นจนขึ้นใจ และท่านศาสดาจะสั่งให้อาลักษณ์ของท่านบันทึกลงในสมุดที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือสิ่งอื่น ๆ ที่สามารถเก็บรักษาไว้ได้

ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า ที่กะอฺบะฮฺนั้นก็มีบทกวีที่แต่งโดยเจ็ดยอดกวีอาหรับ เขียนด้วยน้ำทองคำแขวนอยู่ ในงานแสดงสินค้าประจำปีที่ อุกาซ ในอาราเบีย ที่จัดให้อาหรับทุกเผ่าพันธุ์มาพบปะแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรม ก็จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่สุดร่วมอยู่ด้วยนั่นคือการประชันบทกวี

อันลักษณะของคัมภีร์อัลกรุอานนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างร้อยแก้วและร้อยกรอง คัมภีร์อัลกรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วมีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่ได้อย่างมุหัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัลกุรอานเป็นแน่

เนื้อหาสาระของอัลกุรอาน

อัลกุรอานแบ่งออกเป็นบท เรียกว่า ซูเราะฮฺ ซึ่งมีทั้งหมด 114 ซูเราะฮฺ แต่ละซูเราะฮฺ แบ่งเป็นวรรคสั้นยาวไม่เท่ากัน เรียกว่า อายะฮฺ (แปลว่า สัญลักษณ์) ซึ่งอัลกรุอานมีอายะฮฺทั้งหมด 3236 อายะฮฺ ตามการนับมาตรฐาน (ดู คัมภีร์มาตรฐานที่พิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดิอารเบีย) เนื้อหาในอัลกุรอานนั้นแบ่งได้สามหมวดคือ หนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า ความเร้นลับที่มีอยู่ในและนอกกาละและเทศะ หมวดที่สองคือพงศาวดารของประชาติก่อนอิสลาม และคำพยากรณ์สำหรับอนาคตกาล หมวดที่สามเป็นนิติบัญญัติสำหรับมนุษย์ที่จะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในแต่ละซูเราะฮฺหรือแม้ในแต่ละวรรคอาจจะมีที่ระบุถึงสามหมวดในเวลาเดียวกัน

คัมภีร์อัลกรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง ประการแรกก็คือความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยอมสยบ ประการที่สองคือการเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้ ดั่งเช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น

การที่ภาษาอาหรับเป็นภาษาที่ไม่แก่เฒ่าหรือตายเหมือนภาษาอื่น ๆ และการที่วิทยาการที่มีระบุในคัมภีร์อัลกรุอานไม่เคยล้าสมัย อีกทั้งคำสั่งสอนของอัลกุรอานก็เอาหลักตรรกวิทยาและปัญญาเป็นพื้นฐาน ชนมุสลิมเชื่อว่า คัมภีร์ที่เก่าแก่นานถึง 1400 ปีนี้จึงไม่ได้เก่าแก่ตามอายุ ทว่ายังใช้การได้ประดุจดังคัมภีร์นี้เพิ่งลงมาเมื่อวันนี้นี่เอง อัลกุรอานจึงเป็นโองการของพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงไม่ใช่กวีนิพนธ์ของมนุษย์

{2:23} และถ้าหากพวกเธอยังแคลงใจในสิ่งที่เราได้ประทานมาแก่บ่าวของเรา พวกเธอก็จงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงนั้น และจงเรียกบรรดาผู้ช่วยเหลือของพวกเธอมา นอกจากอัลลอฮฺ ถ้าหากพวกเธอแน่จริง(ศ)

หลังจากศาสดามุหัมมัดประกอบพิธีหัจญ์ในมักกะฮฺ อัลลอฮฺก็ได้ทรงประทานโองการอันสุดท้าย นั่นคือ

{5:3} ... วันนี้บรรดาผู้ปฏิเสธการศรัทธา หมดหวังในศาสนาของพวกเธอแล้ว ดังนั้นพวกเธอจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวฉันเถิด วันนี้ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเธอสมบูรณ์เพื่อพวกเธอ และฉันได้ทำให้ความโปรดปรานของฉันที่มีต่อพวกเธอนั้นบริบูรณ์ และฉันได้เลือกให้อิสลามเป็นศาสนาของพวกเธอ ...

การเรียบเรียงโองการนั้นไม่ได้ถือหลักระดับก่อนหลังเป็นหลัก ทว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงกำหนดวิธีการเรียง โองการที่ลงมาตอนท่านศาสดาอพยพ ซึ่งที่เรียกว่า มักกียะฮฺ ก็อาจจะเข้าไปอยู่ในบทที่มีโองการที่ลงมาหลังอพยพไปมะดีนะฮฺ คือทีเรียกว่า มะดะนียะฮฺ ก่อนญิบรีลจะมาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนโองการที่ได้รับปีละครั้งทุก ๆ ปี แต่ในปีสุดท้ายก่อนท่านศาสดาจะเสียชีวิตนั้น ญิบรีลได้มาฟังท่านศาสดาอ่านทบทวนอัลกุรอานสองครั้งเพื่อความมั่นใจว่าท่านศาสดาได้จดจำโองการทั้งหมด โดยไม่มีที่ตกบกพร่อง ท่านศาสดาเสียชีวิตหลังจากโองการอัลกุรอานได้ถุกประทานลงมาจนครบบริบูรณ์

เนื่องด้วยอัลกุรอานเป็นธรรมนูญของอิสลาม จึงเกิดมีวิทยาการใหญ่ ๆ แตกแขนงมาจากอัลกุรอานหลายสาขา เช่น วิชาตัจญ์วีด ซึ่งเป็นวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานให้ถูกต้อง วิชาอุลูมอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า อุศูลอัลกุรอาน เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาของอัลกุรอาน ศึกษาว่าโองการแต่ละโองการลงมาที่ไหนเมื่อไหร่และเหตุใด อันเป็นส่วนช่วยในการตีความหมายอัลกุรอาน หรือที่เรียกว่า ตัฟสีรอัลกุรอาน

ตั้งอดีตจนกระทั่งปัจจุบันได้มีนักปราชญ์อิสลามหลายสิบคนที่ได้แต่งหนังสือตีความหมายอัลกุรอาน เรียกหนังสืออรรถาธิบายนี้ว่า หนังสือตัฟสีร และเรียกผู้แต่งว่า มุฟัสสิร การตีความหมายอัลกุรอานจะใช้หลักของอุลูมอัลกุรอานดังกล่าวบวกเข้ากับพระวจนะของศาสดา ภาษาศาสตร์ และวิทยาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมจะอ้างอิงหนังสือตัฟสีรเก่า ๆ เป็นหลักในการเขียนตัฟสีรใหม่ หรือในการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาอื่น ๆ