พืช โคกหนองนาจำลอง กศน.อำเภอหาดใหญ่


สะตอ


• วงศ์ : Leguminosae

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia speciosa Hassk.

• ชื่อสามัญ :

– Bitter bean

– Twisted cluster bean

– Stink bean

• ชื่อท้องถิ่น :

– สะตอ (ภาคกลาง และภาคใต้)

– ปะตา, ปัตเต๊าะ (จังหวัดชายแดนภาคใต้)

– ปาไต (สตูล)

– ตอ (ระนอง)

• ถิ่นกำเนิด : ภาคใต้ของไทย พม่าตอนล่าง มาเลเชีย และอินโดนีเชีย

สะตอ (Twisted cluster bean) เป็นไม้ตะกูลถั่วที่ชาวใต้นิยมปลูก และนำเมล็ดมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงนิยมรับประทานกับน้ำพริกเป็นหลัก ทั้งนี้ ราคาสะตอในปัจจุบันประมาณ 200-400 บาท/100 ฝัก ขึ้นกับฤดูว่ามีฝักสะตอออกสู่ตลาดมากน้อยเพียงใด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น

สะตอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงได้มากถึง 30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน รูปทรงลำต้นเพราตรง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ผิวเปลือกแตกสะเก็ดขนาดเล็กหรือเป็นร่องตื้นๆขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างน้อยจึงแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง กิ่งแตกมากบริเวณเรือนยอด

ใบ

ใบสะตอเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น คือ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยก้านใบย่อย 14-24 คู่ แต่ละก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร มีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 30-38 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นขอบขนาน สีเขียวสดถึงเขียวเข้มตามอายุใบ แผ่นใบเรียบ ปลายใบมน มีติ่งเล็กตรงกลางของปลายใบ

ดอก

ดอกสะตอออกดอกเป็นช่อ ยาว 30-50 เซนติเมตร ขนาดช่อ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนดอกจะยาว 5-7 เซนติเมตร ขนาดดอก 2-4 เซนติเมตร ดอกประกอบด้วยกลีบดอกที่มีลักษณะเป็นหลอดเรียงติดกันในแนวตั้ง โคนดอกเป็นเกสรตัวผู้ ส่วนถัดมาเป็นเกสรชนิดสมบูรณ์เพศ ดอกจะเริ่มออกประมาณเดือนเมษายน และอีกประมาณ 70 วัน ก็สามารถเก็บฝักได้ และจะให้ฝักต่อเนื่องจนถึงอายุ 15-20 ปี

ผล และเมล็ด

ผลสะตอมักเรียกว่า ฝัก ที่มีลักษณะแบน มีทั้งชนิดที่เป็นฝักบิดเป็นเกลียว และชนิดที่แบนตรง ฝักยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร เปลือกฝักอ่อนมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ตรงกลางฝักเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่เรียงซ้อนกันเป็นตุ่มนูน เมล็ดมีลักษณะคล้ายหัวแม่มือ หรือรูปรีค่อนข้างกลม ขนาดเมล็ดทั่วไป กว้างประมาณ 2.2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นฉุน และเมื่อแก่จะเริ่มเหลือง และดำในที่สุด ทั้งนี้ สะตอจะให้ฝักมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

พันธุ์สะตอ

พันธุ์สะตอที่นิยมรับประทานมี 2 พันธุ์ คือ สะตอข้าว และสะตอดาน แต่แบ่งได้ 3 พันธุ์ คือ

1. สะตอข้าว (Figure 1A)

สะตอข้าวมีลักษณะเด่น คือ ฝักบิดเป็นเกลียว อาจเป็นฝักสั้นหรือยาว ความยาวฝักประมาณ 30-35 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมีฝักประมาณ 5-20 ฝัก แต่ละฝักมีจำนวนเมล็ด 10-20 เมล็ด/ฝัก เนื้อ เมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อกรอบ ไม่แข็ง ให้รสหวานมัน หลังจากปลูก 3-5 ปี จึงเริ่มติดฝัก

2. สะตอดาน (Figure 1B)

สะตอดานมีลักษณะเด่น คือ ฝักจะค่อนข้างแบน และตรง ไม่บิดเป็นเกลียวเหมือนสะตอข้าว ฝักยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3.8-4.2 เซนติเมตร แต่ละช่อมีฝักประมาณ 5-15 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 10-20 เมล็ด เนื้อเมล็ดมีกลิ่นค่อนข้างฉุน และฉุนมากกว่าสะตอข้าว รวมถึงเนื้อเมล็ดมีรสเผ็ด เนื้อค่อนข้างแน่นแน่นมากกว่าสะตอข้าว หลังปลูกแล้ว 5-7 ปี จึงเริ่มติดฝัก

3. สะตอแตหรือสะตอป่า

สะตอแตหรือสะตอป่า เป็นสะตอที่พบได้ในป่าลึก ไม่ค่อยพบตามสวนหรือตามบ้านเรือน เพราะไม่นิยมปลูก แต่เชื่อว่าเป็นพันธุ์สะตอดั้งเดิมของสะตอข้าว และสะตอดาน ฝักมีลักษณะ เล็ก และสั้น เนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เนื้อให้รสไม่อร่อย

ประโยชน์ของสะตอ

1. เมล็ดสะตอนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก

2. สะตอนอกจากปลูกไว้สำหรับนำเมล็ดมาประกอบอาหารแล้วยังช่วยเป็นร่มเงาได้ด้วย และที่สำคัญเป็นไม้ที่สร้างรายได้งามของชาวสวนในภาคใต้

3. เมล็ดใช้ผสมกับผักหรือเศษอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสุกร

คุณค่าทางโภชนาการของสะตอ (เมล็ดสะตอ 100 กรัม)

– พลังงาน 130.00 กิโลแครอรี่

– น้ำ 70.70 กรัม

– คาร์โฐไฮเดรต 15.50 กรัม

– โปรตีน 8.00 กรัม

– ไขมัน 4.00 กรัม

– เส้นใย 0.50 กรัม

– เถ้า 1.30 กรัม

– แคลเซียม 76.00 มิลลิกรัม

– ฟอสฟอรัส 83.00 มิลลิกรัม

– เหล็ก 0.70 มิลลิกรัม

– วิตามินเอ 9.00 I.U.

– วิตามินบี1 0.10 มิลลิกรัม

– วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม

– วิตามินซี 6.00 มิลลิกรัม

– Niacin 1.00 mg

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (2535)

สาระสำคัญที่พบ

เมล็ดสะตอ

1. กรดอะมิโน และสารประกอบไกลโคโปรตีน ได้แก่

– dichrostachnic acid

– djenkolic acid

– thaizolidine-4-carboxylic acid

– glycine,

– aspartic acid,

– isoleucine

– serine

– methionine

– cystein

2. สารประกอบซัลเฟอร์ ได้แก่

– 1-2-4-5-7-8 hexathionane

– 1-2-3-5-6 pentatgiepane

– 1-2-4 tetrathiepane

– trithiolane

3. สารประกอบ steroidal ได้แก่

– β-sitosterol

– stigmasterol

เปลือกฝักสะตอ

เปลือกฝักพบสารในกลุ่ม steroidal ได้แก่ stigmast-4-en-3-one

สรรพคุณสะตอ และฤทธิ์ทางเภสัชกรรม

1. ฤทธิ์ต่อการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว สารที่ออกฤทธิ์ คือ สารเลคติน ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย

2. ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย สารที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ สารในกลุ่ม polysulfides

3. ฤทธิ์กระตุ้นการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง (heamaglutination) สารที่ออกฤทธิ์ คือ สารเลคติน

4. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะสาร β-sitosterol และstigmasterol ที่ออกฤทธิ์ลดในตาลในเลือดได้ดี

5. ฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวของลำไส้ ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

กลิ่นของสะตอ

กลิ่นฉุนของสะตอเกิดจากสารในกลุ่ม polysulfides ที่มีซัลเฟอร์เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดกลิ่น โดยเมล็ดสะตออ่อนจะมีสารประกอบของซัลเฟอร์น้อยกว่าเมล็ดมะตอแก่จึงทำให้มีกลิ่นฉุนน้อยกว่า

คุณภาพฝัก และเมล็ดสะตอที่ดี

1. ฝักมีขนาดใหญ่ เมล็ดนูนเด่น เรียงติดกันสม่ำเสมอ และให้เมล็ดจำนวนมาก

2. เปลือกฝักเกลี้ยง มีสีเขียวสดสม่ำเสมอทั่วฝัก

3. เปลือกฝักแข็ง ไม่นิ่มหรืออ่อนตัวง่าย

4. รูปร่างเมล็ดคล้ายกับหัวแม่มือ ผิวเมล็ดเต่งตึง มีสีเขียวอ่อน

5. เนื้อเมล็ดไม่แข็ง มีกลิ่นฉุน และให้รสหวานมันตามพันธุ์

ฝักสะตอหลังจากเก็บมาจากต้นแล้วจะสามารถวางจำหน่ายหรือเก็บได้ประมาณ 3-4 วัน ด้วยการฉีดพรมน้ำ แต่หากไม่ฉีดพรมน้ำจะเก็บได้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้น เปลือกฝักจะค่อยๆซีด และเป็นสีเหลืองมากขึ้น พร้อมๆกับค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่วนเมล็ดเมล็ดด้านในจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และดำในที่สุด แต่สำหรับฝักที่อ่อนมาก หากเก็บไว้นาน ฝักจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งนี้ เพื่อยืดอายุการเก็บ เกษตรกรบางราย มักนำฝักสะตอมาเคลือบด้วยสารคาร์นูบาแว็กซ์ ที่ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก ก่อนบรรจุถุงจำหน่าย

การปลูกสะตอ

การปลูกสะตอนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด โดยมีลักษณะการปลูกที่นิยมปลูกแซมกับพืชอื่น เช่น ปลูกแซมในสวนปาล์ม สวนยาง เป็นต้น ส่วนระยะปลูกระหว่างต้นในแนวแถวเดียวกันที่ 10-12 x 10-12 เมตร และหากปลูกหลายแถวจะมีระยะระหว่างแถวเท่ากันในระยะเท่ากัน ซึ่ง 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 11-16 ต้น

การเก็บสะตอจะเริ่มเก็บฝักได้ในช่วงเดือน วิธีเก็บด้วยการใช้ไม้สอยหรือปีนต้นเก็บด้วยการใช้มือหรือใช้ไม้สอย (ไม้สอยนิยมทำจากไม้ไผ่) นอกจากนั้น เกษตรกรบางรายนิยมใช้กรรไกรตัดกิ่งผู้ติดไว้ปลายไม้ และผูกเชือกโยงสำหรับดึงตัดขั้วฝักด้านล่าง

การใช้ประโยชน์ :

สรรพคุณทางยา

- ผลต่อความดันโลหิต

- ผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์

- ผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย

- ผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา

- ผลของการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง

- ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด

- ฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

เอกสารอ้างอิง : https://medthai.com

https://th.wikipedia.org/wiki

รวบรวมข้อมูลโดย ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่