สัปปะรด

ในการปลูกสับปะรดควรจะปลูกใหม่ทุก ๆ 3 ปีและไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมเพราะการปลูกซ้ำที่เดิมอาจทำให้เกิดโรคระบาดในไร่สับปะรดได้ง่าย ควรมีการปลูกสลับกับพืชชนิดอื่นเช่น พืชตระกูลถั่ว และควรเริ่มปลูกตอนต้นฤดูฝนเพื่อจะได้รับน้ำและความชุ่มชื้นที่เพียงพอ

สายพันธุ์สับปะรดที่เป็นที่นิยมในไทย

1. พันธุ์ปัตตาเวียหรือที่เรียกคุ้นหูกันว่าพันธุ์ศรีราชา

เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด มีขนาดที่ใหญ่กว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เนื้อหวานฉ่ำเป็นพิเศษ ใบจะมีลักษณะเขียวเข้ม ตรงกลางมีร่องเป็นสีน้ำตาลแดง

มีขนาดที่ใหญ่รสชาติอร่อยจึงมักนิยมปลูกเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลไม้กระป๋อง

2. สับปะรดพันธุ์ภูแล

เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเนื่องจากมีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์และจุดเด่นที่สำคัญที่สุดของสายพันธุ์นี้คือขนาดของผลที่เล็กและสามารถทานได้ทั้งผล

3. สับปะรดพันธุ์อินทรชิต

แหล่งปลูกสำคัญของพันธุ์นี้ได้แก่จังหวัดฉะเชิงเทรา พันธุ์นี้ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ลักษณใบของพันธุ์นี้จะมีสีเขียวอ่อนเป็นมัน ใต้ใบสีเขียวออกขาว มีมันวาวออกมาเป็นสีน้ำเงิน ขอบใบตามแนวยาวจะมีแถบสีแดงอมน้ำตาลทั้ง 2 ข้าง ที่ก้านของผลจะมีตะเกียงติดอยู่ พันธุ์อินทรชิตจะมีขนาดที่เล็กกว่าพันธุ์ปัตตาเวียมีรสหวานอ่อน ๆ แต่เปลือกจะเหนียวแน่น เหมาะสำหรับการขนส่ง

4. สับปะรดพันธุ์ภูเก็ตหรือที่เรียกว่าพันธุ์สวี

เป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ ใบจะมีลักษณะยาวสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างแคบและมีแถบที่เป็นสีแดงอยู่ตรงกลางของใบ ผลของพันธุ์นี้จะย้อยนูน ตาสับปะรดค่อนข้างลึกขนาดผลเล็ก ส่วนของเนื้อจะเหลืองและมีความหอมและรสชาติที่หวานกรอบ นิยมปลูกกันที่ภาคใต้

5. สับปะรดพันธุ์ขาว

ลักษณะของลำต้นจะเป็นต้นทรงพุ่มเตี้ย มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับพันธุ์อินทรชิตมากซึ่งเชื่อกันว่าอาจจะกลายพันธุ์มาจากพันธุ์อินทรชิตดังกล่าวก็เป็นได้

ด้านบนมีหลายจุก ใบสั้นแคบและชิดกันมีสีเขียวอ่อนอมเหลือง เนื้อสับปะรสมีรสชาติหวานไม่มากนัก

6. สับปะรดพันธุ์ตราดสีทอง

สับปะรดพันธุ์นี้จะแตกต่างจากสับปะรดพันธุ์อื่นตรงที่รสชาติที่มีความหวานกรอบตลอดทั้งผล โดยเฉพาะผิวที่เป็นตาสีเหลือง ดูเย็นฉ่ำน่ารับประทาน จุดสังเกตของพันธุ์นี้คือลักษณะของผลที่มีสีเหลืองคล้ายสีทองสวยงามน่ากินมาก

7. สับปะรดพันธุ์บางแลหรือพันธุ์น้ำผึ้ง

สำหรับสายพันธุ์นี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพันธุ์ปัตตาเวียมาก จึงอาจจะเป็นสายพันธุ์ย่อยหรือเป็นการกลายพันธุ์มาจากพันธุ์ปัตตาเวีย แหล่งที่มีการปลูกมากก็คือ ตำบลนางแล อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย แต่เนื่องจากมีรสหวานจัด ซึ่งเป็นที่นิยมมากของจังหวัดตราด ปัจจุบันจึงมีการปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ของจังหวัดตราด


สับปะรด ชื่อภาษาอังกฤษ pineapple

เป็นพืชล้มลุกที่มีลำต้นเดี่ยว ๆ กลม ๆ อยู่ใต้ดิน พุ่มเป็นทรงใหญ่ เปลือกแข็งและเหนียว เป็นผลไม้เขตร้อนที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสามของโลก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas comosus ( L ) Merr. อยู่ในวงศ์ Bromeliaceae และมีถิ่นกำเนิดมาจากแถวทวีปอเมริกาใต้ ส่วนในไทยสับปะรดก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาค คนภาคกลาง เรียกว่าสับปะรด คนภาคอีสาน เรียกบักนัด คนภาคเหนือ เรียกมะนัด มะขะนัด บ่อนัด ส่วนคนภาคใต้ เรียกว่าย่านัด


การคัดเลือกและการปลูกสับปะรด

ในการคัดเลือกสับปะรดมาทำพันธุ์จะเลือกโดยดูจาก 2 ปัจจัยเป็นหลัก นั่นคือลักษณะของต้นและผล

ลักษณะของต้นสับปะรด ต้องแข็งแรง สมบูรณ์ ขอบใบเรียบ ถ้ามีหนามควรมีเพียงเล็กน้อยในส่วนปลายของใบเท่านั้น ไม่มีโรคหรือแมลง แต่ละต้นต้องมีหน่อ 1-3 หน่อ มีตะเกียงไม่น้อยกว่า 5 อัน กระจายอยู่บริเวณต้น

ลักษณะ ผลของสับปะรดต้องเป็นทรงกระบอกสวยงาม เนื้อมีสีเหลือง เหนียวแน่นและไม่มีเมล็ดติดกับเนื้อ

วิธีการปลูก

นิยมทำกันอยู่ 2 วิธี คือ

1. การปลูกแบบแถวเดียว ใช้ระยะห่างในปลูกระหว่างต้นประมาณ 40 ซม. และระหว่างแถวประมาณ 1 เมตร ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 2,500-3,500 ต้น การปลูกวิธีนี้เหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด เพราะได้ผลใหญ่ ราคาดี ให้หน่อเยอะ และไว้หน่อให้ออกผลสืบแทนต้นแม่ได้หลายรุ่น แต่มีข้อเสียคือต่อไร่ให้ผลผลิตต่ำ ใช้เนื้อที่เยอะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและการกำจัดศัตรูพืชสูง

2. การปลูกแบบแถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างดินประมาณ 30 ซม. และระหว่างแถวประมาณ 50 ซม. ระยะกลับฟันปลาระหว่างแถวของคู่ 1 เมตร หนึ่งไร่สามารถปลูกได้ประมาณ 6,500-8,000 ต้น แต่บางแห่งอาจปลูกได้มากถึง 10,000 ต้น ทั้งนี้ แล้วแต่ความต้องการของโรงงานว่าจะต้องการผลขนาดไหน การปลูกแบบนี้เหมาะกับการปลูกเพื่อส่งโรงงาน เพราะสามารถกำหนดขนาดผลได้ตามที่โรงงานต้องการ ผลผลิตต่อไร่สูง ค่าใช้จ่ายในการดูแลและด้านแรงงานไม่สูงเท่าแบบแถวเดียว การทรงตัวของลำต้นดี เพราะต้นสับปะรดจะเจริญเติบโตเบียดเสียดกันไว้ไม่ให้ล้ม