ผักสวนครู

ผักบุ้ง

ผักบุ้ง ชื่อสามัญ Swamp morning glory, Thai water convolvulus, Morning glory, Water spinach, Water morning glory, Swamp cabbage

ผักบุ้ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Ipomoea aquatica Forssk. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ipomoea reptans Poir.) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)

ผักบุ้ง มีชื่อเรียกอื่นว่า ผักทอดยอด เป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่รู้จักมักคุ้นกันดี เพราะมีส่วนช่วยในการบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี แต่จริง ๆ แล้วผักชนิดนี้ยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะผักบุ้งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญมากมาย

สายพันธุ์ของผักบุ้ง

ก่อนจะทราบถึงประโยชน์ของผักบุ้งมาดูกันก่อนว่าผักบุ้งที่ทุกคนนิยมนำมารับประทานกันนั้นมีสายพันธุ์อะไรบ้าง ในประเทศไทยจะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก ๆคือผักบุ้งไทยและผักบุ้งจีน สำหรับผักบุ้งไทยจะเป็นผักบุ้งสายพันธุ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลอง จึงมียางมากกว่าผักบุ้งจีน ส่วนผักบุ้งจีนจะเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยส่วนมากที่นิยมปลูกขายก็คือผักบุ้งจีน เพราะจะมีลำต้นค่อนข้างขาวอวบ ใบเขียวอ่อน ดอกขาว มียางน้อยกว่าผักบุ้งไทย จึงเป็นที่นิยมในการรับประทานมากกว่าผักบุ้งไทย

27 ประโยชน์ดีๆ ที่อาจยังไม่รู้จากผักบุ้ง

1. ช่วยบำรุงสายตา รักษาอาการสายตาสั้น ตาต้อ ตาฝ้าฟาง ตาแดง และอาการคันตาบ่อย ๆ

2. มีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยให้ผิวเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวล

3. ช่วยป้องกันและลดโอกาสในการเป็นโรคมะเร็ง

4. เพิ่มศักยภาพในการบำรุงสมองและเพิ่มความสามารถในการจดจำ

5. มีกากใยมากช่วยในการขับถ่าย ป้องกันการท้องผูก

6. บำรุงโลหิตและช่วยรักษาโรคโลหิตจาง

7. สามารถลดน้ำตาลและคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน

8. ช่วยให้เจริญอาหาร

9. ช่วยบำรุงหัวใจ ลดการเกิดไขมันอุดตันเส้นเลือดและหัวใจวาย

10. มีแคลอรีต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

11. ช่วยบำรุงธาตุ

12. ยอดผักบุ้งช่วยแก้โรคประสาทได้

13. ช่วยแก้อาการเหงื่อออกมาก

14. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะและอ่อนเพลีย

15. ต้นสดของผักบุ้งไทยช่วยบำรุงกระดูกและฟัน

16. ผักบุ้งมีรสเย็น จึงมีสรรพคุณช่วยถอนพิษเบื่อเมา

17. รากผักบุ้งมีรสจืดเฝื่อน มีสรรพคุณช่วยในการถอนพิษสำแดง

18. ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย

19. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ

20. ดอกของผักบุ้งไทยต้นขาวสามารถใช้เป็นยาแก้กลากเกลื้อนได้

21. ใช้ถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้

22. แก้แผลมีหนองช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดมาต้มน้ำให้เดือดนานๆ ทิ้งไว้พออุ่นแล้วนำน้ำมาล้างแผลวันละครั้ง

23. แก้พิษตะขาบกัด ด้วยการใช้ต้นสดเติมเกลือนำมาตำพอกบริเวณที่ถูกกัด

24. ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวนำมาใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้

25. ต้นสดของผักบุ้งไทยต้นขาวจะช่วยลดการอักเสบและอาการปวดบวมได้

26. ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย

27. สามารถใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดหรือผู้ที่ได้รับสารพิษต่างๆ ได้

ในส่วนของรากผักบุ้ง

รากที่เรามักจะตัดทิ้งก่อนจะรับประทานก็มีสรรพคุณทางยา ใช้แก้โรคหอบหืด บรรเทาอาการไอเรื้อรัง และยังช่วยลดอาการตกขาวในสตรีอีกด้วย นำรากผสมน้ำส้มสายชู คั้นมาบ้วนปากจะช่วยบรรเทาอาการปวดจากฟันผุได้อีกด้วย

ในส่วนของต้นผักบุ้งสด

มีสรรพคุณเป็นยาเย็น ช่วยในการดับร้อน แก้อาการร้อนใน และยังช่วยบำรุงโลหิตอีกด้วย หากต้องการใช้ในการรักษาแผลร้อนในภายในปาก ให้นำผักบุ้งสดกับเกลืออมไว้ในปาก 2 นาที วันละ 2 ครั้ง และถ้าเป็นผักบุ้งไทยสามารถช่วยลดอาการบวมพุพองได้ รักษาแผลน้ำร้อนลวก และแก้อักเสบได้อีกด้วย

ผักบุ้งยังมีสรรพคุณในการถอนพิษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษจากสารเคมีจำพวกยาฆ่าแมลง หรือแม้กระทั่งพิษจากตะขาบ นำต้นผักบุ้งสดมาผสมกับเกลือ นำมาตำแล้วนำไปพอกบริเวณที่ถูกกัด แก้พิษจาการเบื่อเมา

ผักบุ้งยังมีสรรพคุณอื่นอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียช่วยในเรื่องการขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเหลือง และคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งที่ใคร ๆ ไม่คาดคิดคือสามารถใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติดได้อีกด้วย

ผักบุ้งจึงถือเป็นผักสวนครัวที่ปลูกง่าย มีราคาถูก ในชนบทสามารถหาเก็บได้ทั่วไปเสียด้วยซ้ำแต่ใครจะรู้ว่าผักชนิดนี้มีคุณค่าทางอาหารและสรรพคุณทางยาแฝงไว้อย่างมากมายและเหตุผลที่ร้านอาหารมักจะใส่ผักบุ้งไว้ในจานอาหาร ก็เพราะผักชนิดนี้มีสรรพคุณช่วยให้เราเจริญอาหารมากขึ้นนั่นเอง

คุณค่าทางโภชนาการของผักบุ้งต่อ 100 กรัม

พลังงาน 19 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต 3.14 กรัม เส้นใย 2.1 กรัม ไขมัน 0.2 กรัม โปรตีน 2.6 กรัม วิตามินเอ 315 ไมโครกรัม 39% วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม 3% วิตามินบี 2 0.1 มิลลิกรัม 8% วิตามินบี 3 0.9 มิลลิกรัม 6% วิตามินบี 5 0.141 มิลลิกรัม 3% วิตามินบี 6 0.096 มิลลิกรัม 7% วิตามินบี 9 57 ไมโครกรัม 14% วิตามินซี 55 มิลลิกรัม 66%

ธาตุแคลเซียม 77 มิลลิกรัม 8% ธาตุเหล็ก 1.67 มิลลิกรัม 13% ธาตุแมกนีเซียม 71 มิลลิกรัม 20% ธาตุแมงกานีส 0.16 มิลลิกรัม 8% ธาตุฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม 6% ธาตุโพแทสเซียม 312 มิลลิกรัม 7% ธาตุโซเดียม 113 มิลลิกรัม 8%

ธาตุสังกะสี 0.18 มิลลิกรัม 2%

ข้อควรระวังในการรับประทาน ผักชนิดนี้คือการล้างยางออกให้หมด เพราะอาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เนื่องจากผักบุ้งจะมีคุณสมบัติลดความดันโลหิต จนทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปอีก อาจจะก่อให้เกิดการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น และทำให้ร่างกายอ่อนแอด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก : https://medthai.com ; https://www.honestdocs.co

เรียบเรียงโดย ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่