ผักสวนครู

ผักหวานบ้าน

ชื่อวิทยาศาสตร์  Sauropus androgynus (L.) Merr.

ชื่อสามัญ Star gooseberry 

ชื่อพ้อง  Sauropus albicans

ชื่อวงศ์  Euphorbiaceae

ชื่ออื่นๆ  ผักหวานใต้ใบ (สตูล) มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์) ก้านตง ใต้ใบใหญ่ จ๊าผักหวาน ผักหลน (เหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแข็ง ลำต้นกลมหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ตั้งตรง เปลือกต้นขรุขระ 

สีน้ำตาล กิ่งอ่อนสีเขียวเข้มผิวเรียบ แตกกิ่งก้านระนาบกับพื้นหรือเกือบปรกดิน กิ่งเรียวงอเล็กน้อยตามข้อ ใบเดี่ยวเรียงสลับ 

ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน รูปไข่แกมขอบขนาน รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายขนมเปียกปูน ยาว 4-8 เซนติเมตร 

กว้าง 2-5 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม มีแถบสีขาวบริเวณกลางใบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน 

มีหูใบ มีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ดอกเดี่ยว แยกเพศ ออกบริเวณซอกใบ เรียงตามก้านใบ โดยมีใบปรกอยู่ด้านบน 

                  ดอกขนาดเล็ก มี 2 ชนิด ตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างจะเป็นดอกเพศผู้ มีดอกเพศเมีย 1-3 ดอก ดอกเพศผู้จำนวนมาก ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ รูปจานกลมแบน สีน้ำตาลแดง ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร 

เกสรเพศผู้มี 3 อัน ก้านเกสรเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 3 แฉก ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ดอกสีเขียวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ รูปไข่กลับ เหลื่อมซ้อนกันคล้ายเรียงสองชั้น ชั้นละ 3 กลีบ กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มหรือสีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม 

               ผลแห้ง แตกได้ ทรงกลมแป้น สีเขียวอ่อน ฉ่ำน้ำ  ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่มีสีขาวอมเหลือง มีกลีบเลี้ยงสีแดงติดคงทน ภายในผลแบ่งเป็น 6 พู แต่ละพูมี 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปลือกเมล็ดสีน้ำตาลเข้ม หนา และแข็ง 

               พบตามป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ป่าดิบชื้น ที่โล่งแจ้ง ตามเรือกสวน ออกดอกตลอดปี ยอดอ่อน เมื่อลวก นึ่ง ใช้รับประทานเป็นผัก

การปลูกและขยายพันธุ์

การเลือกพื้นที่ ต้องเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นพื้นที่ที่อยู่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดตลอดวัน ไม่มีร่มเงาของต้นไม้บัง เพราะว่าถ้ามีร่มเงาจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50 -60% ในขณะที่ปลูกจะต้องดูแลรดน้ำให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอ เป็นพืชที่ต้องการน้ำมากจึงจะให้ผลผลิตดี การปลูกผักหวานก็เหมือนการปลูกพืชทั่วไป ต้องไถเตรียมดินทิ้งไว้ก่อน แล้วจึงขุดหลุมปลูก การเตรียมดิน ทำการไถดะตากดินทิ้งไว้ 7-15 วัน เพื่อให้แสงแดดช่วยฆ่าเชื้อโรคแล้วจึงไถแปรพร้อมใส่ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำหมัก อัตราไร่ละ1,000 -2,000 กิโลกรัม หรือใช้ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดอัตราไร่ละ 400 กิโลกรัมก็ได้ และ ทำการไถยกร่องตามพื้นที่ขนาดความกว้างประมาณ 1.5 -2 เมตร

การขยายพันธุ์

ผักหวานบ้าน ขยายพันธุ์ได้ 2 ทาง คือ การปักชำและการเพาะจากเมล็ด แต่การปักชำจะได้ผลผลิตเร็วกว่า

วิธีปักชำ

โดยตัดกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ไม่แก่และอ่อนเกินไป ความยาวกิ่งละประมาณ 6 นิ้ว และมีตา 3-4 ตา ปักชำในถุงชำที่ใส่ขี้เถ้าแกลบดำ พักไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำเช้า -เย็นประมาณ 1 เดือน นำไปปลูกได้

วิธีปลูก

นำกิ่งพันธุ์ผักหวานที่ได้ทำการขยายพันธุ์โดยการปักชำไว้แล้วนานประมาณ1 เดือน นำมาปลูกในแปลงยกร่อง หรือขุดหลุมปลูก โดยใช้ระยะ 30-50  เซนติเมตรหรือระยะ 50-50เซนติเมตร แล้วคลุมด้วยฟาง เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันวัชพืชขึ้น

หมายเหตุ – ถ้าใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 50-50 เซนติเมตร 1 ไร่จะปลูกได้ ประมาณ 6,000 ต้น ต้องเตรียมกิ่งชำให้เพียงพอ 

การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รองก้นหลุม ในแต่ละหลุมที่ปลูกจะประหยัดปริมาณปุ๋ยได้มาก

การดูแลรักษา

เมื่อผักหวานอายุ 1 เดือน ควรกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานคน พร้อมใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด อัตราต้นละ 1 กำมือ หรือประมาณ 50 กิโลกรัม/ไร่ ผักหวานบ้านเป็นผักต้องการน้ำทางใบมากกว่าทางราก ถ้าใช้สปริงเกอร์ให้น้ำจะสะดวกและประหยัดแรงงานควรมีการเพิ่มแร่ธาตุในดินโดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อเป็นอาหารแก่ต้นพืชและทำให้ดินร่วนซุย

จะไม่ใช้สารเคมี เพราะผักหวานบ้านจะไม่ชอบสารเคมี เมื่อใช้สารเคมีจะเกิดอาการใบหงิกการ 

เก็บผลผลิตนั้นสามารถเก็บได้ตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป นับจากวันปลูก เพราะยิ่งมีการตัดยอดจะทำให้แตกยอดมากขึ้นเรื่อยๆ ควรเก็บผักหวานบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อให้ผลผลิตเก็บได้นานๆ ผลผลิตจะได้ประมาณไร่ละ 100 -200 กิโลกรัม/เดือน(ถ้าดูแลรดน้ำให้ดี จะเก็บได้มากถึง 300 กิโลกรัม) สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี 


สรรพคุณ

               ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่มและอาบ แก้ซาง

               ตำรายาไทย  ใช้  ใบ รสหวานเย็น ปรุงเป็นยาเขียว แก้ไข้ ใช้น้ำยางหยอดตาแก้ตาอักเสบ รักษาแผลในจมูก  ใบมีสาร papaverine กินมากจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ท้องผูก ใบและต้น มีรสหวานเย็น น้ำยางจากต้นและใบ ใช้หยอดตา แก้ตาอักเสบ ตำผสมกับรากอบเชยเป็นยาพอก รักษาแผลในจมูก ผสมกับสารหนูใช้ทาแก้โรคผิวหนังติดเชื้อ ใบและราก ตำให้ละเอียดใช้พอกฝี ราก รสเย็น ต้มเป็นยาแก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับ แก้ซาง แก้ปัสสาวะขัด ผิดสำแดง รักษาคางทูม แก้ลม มะเร็งคุด สารสกัดใบและลำต้นด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase เล็กน้อย ไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง

               ยาพื้นบ้านล้านนา  ใช้  ราก ต้มน้ำดื่ม แก้โรคมะเร็งคุด ผสมกับสมุนไพรอื่น ฝนน้ำผสมข้าวเจ้า แก้ผิดเดือน ฝนทารักษาโรคมะเร็ง ที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ ร่วมด้วย ฝนใส่ข้าวเจ้ากินรักษาโรคเลือดลม

               ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ   ใช้  ใบ  ทั้งต้น ต้มน้ำอาบ และเคี้ยวกินแก้ปวดเมื่อยร่างกาย เป็นยาบำรุงสุขภาพสำหรับหญิงหลังคลอด

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : วิกิพีเดีย (สารานุกรมเสรี), https://medthai.com

เรียบเรียงข้อมูล : ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่