"กศน.ห่วงใย ร่วมต้านภัยโควิด-19"


กระชายดำ


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.

ชื่อสามัญ : Kaempfer

วงศ์ : Zingiberaceae

ชื่ออื่น : กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม) จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ละแอน (ภาคเหนือ) ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ รากอวบ รูปทรงกระบอกหรือรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว กว้าง 1-2 ซม. ยาว 4-10 ซม. ออกเป็นกระจุก ผิวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลือง มีกลิ่นเฉพาะตัว ส่วนที่อยู่เหนือดินเป็นใบ มี 2-7 ใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง 5-12 ซม. ยาว 12-50 ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือแหลม ขอบเรียบ เส้นกลางใบ ก้านใบ และกาบใบด้านบนเป็นร่อง ด้านล่างนูนเป็นสัน ก้านใบเรียบ ยาว 7-25 ซม. กาบใบสีชมพู ยาว 7-25 ซม. ระหว่างก้านใบและกาบใบมีลิ้นใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ยอดระหว่างกาบใบคู่ในสุด ยาวประมาณ 5 ซม. แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ สีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน รูปใบหอก กว้างประมาณ 8 มม. ยาว 3.5-4.5 ซม. กลีบเลี้ยงสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.7 ซม. ปลายแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอกสีขาวหรือขาวอมชมพูอ่อน โคนติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 6 ซม. ปลายแยกเป็น 3 กลีบ รูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบใหญ่ 1 กลีบ กว้างประมาณ 7 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. อีก 2 กลีบ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 5 มม. ยาวประมาณ 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน แต่ 5 อัน เปลี่ยนไปมีลักษณะเหมือนกลีบดอก โดย 2 กลีบบนสีชมพู รูปไข่กลับ ขนาดเท่ากัน กว้างประมาณ 1.2 ซม. ยาวประมาณ 1.7 ซม. อีก 3 กลีบล่างสีชมพูติดกันเป็นกระพุ้ง กว้างประมาณ 2 ซม. ยาวประมาณ 2.7 ซม. ปลายแผ่กว้างประมาณ 2.5 ซม. มีสีชมพูหรือม่วงแดงเป็นเส้นๆ อยู่เกือบทั้งกลีบโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกระเปาะและปลายกลีบ มีเกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ 1 อัน ก้านชูอับเรณูหุ้มก้านเกสรเพศเมีย ผลแก่แตกเป็น 3 เสี่ยง เมล็ดค่อนข้างใหญ่

สรรพคุณ :

  • เหง้าใต้ดิน - มีรสเผ็ดร้อนขม แก้ปวดท้อง มวนในท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด แก้กามตายด้าน เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร

  • เหง้าและราก - แก้บิดมูกเลือด เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ใช้เป็นยาภายนอกรักษาขี้กลาก

  • ใบ - บำรุงธาตุ แก้โรคในปาก คอ แก้โลหิตเป็นพิษ ถอนพิษต่างๆ

วิธีใช้และปริมาณที่ใช้ :

  1. แก้ท้องร่วงท้องเดิน
    ใช้เหง้าสด 1-2 เหง้า ตำหรือฝนเหง้าที่ปิ้งไฟแล้วกับน้ำปูนใส หรือคั้นให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง

  2. แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง
    ใช้เหง้าและราก ประมาณครึ่งกำมือ (สดหนัก 5-10 กรัม, แห้ง 3-5 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน

  3. แก้บิด
    ใช้เหง้าสด 2 เหง้า บดให้ละเอียด เติมน้ำปูนใส คั้นเอาแต่น้ำดื่ม

  4. เป็นยาบำรุงหัวใจ
    ใช้เหง้าและรากกระชายปอกเปลือก ล้างน้ำให้สะอาด หั่นตากแห้ง บดเป็นผง ใช้ผงแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ½ ถ้วยชา รับประทานครั้งเดียว

  5. ยารักษาริดสีดวงทวาร
    ใช้เหง้าสด 60 กรัม ประมาณ 6-8 เหง้า ผสมกับเนื้อมะขามเปียก 60 กรัม เกลือแกง 3 ช้อนแกง ตำแล้วต้มกับน้ำ 6 แก้ว เคี่ยวให้เหลือ 2 แก้ว รับประทานครั้งละ ½ แก้ว ก่อนนอน รับประทานติดต่อกัน 1 เดือน ริดสีดวงทวารควรจะหาย

สารเคมี :

ทั้งส่วนรากและส่วนต้น ประกอบด้วยสาร alpinetin, pinocembrin, cardamonin,boesenbergin A, pinostrobin และน้ำมันหอมระเหย และในส่วนรากยังพบ chavicinic acid อีกด้วย

การปลูกกระชายดำ

กระชายดำสามารถขยายพันธุ์โดยใช้แง่งหรือเหง้าซึ่งเป็นส่วนของลำต้นใต้ดิน โดยทั่ว ๆ ไปจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการปลูก กระชายดำชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบน้ำขังหรือดินที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากจะเน่าเสียโดยเฉพาะดินที่มีสภาพเป็นกรด เมื่อมีฝนชุกหรือความชื้นในดินสูง จะทำให้เกิดโรคเหง้าเน่า สามารถปลูกกลางแจ้งจนถึงมีแสงแดดพอควร ส่วนต้นเหนือดินมักจะยุบหรือแห้งเมื่อเข้าฤดูแล้ง ส่วนใหญ่จะเก็บเหง้าแก่เมื่ออายุ 10-11 เดือนหลังปลูก สีของกระชายดำถึงจะเข้มเต็มที่

การปลูกกระชายดำจะเริ่มเตรียมดินในช่วงต้นเดือนมีนาคม และจะปลูกต้นเมษายนของทุก ๆ ปี สำหรับการปลูกในแปลงใหญ่ และกลางแจ้ง ส่วนเหง้าที่นำมาปลูกนั้นผู้ควรทำการแบ่งเหง้าให้เป็นหัวเล็ก ๆ มีตาที่จะปลูก 2-3 ตาเพื่อการงอกที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เมื่อเริ่มมีฝน หรือพายุฤดูร้อนก็สามารถทำการปลูกได้


แหล่งอ้างอิงข้อมูล : https://th.wikipedia.org/กระชายดำ


เรียบเรียงข้อมูลโดย ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่