ผักสวนครู


ต้นหอม

ต้นหอม Spring Onion,Green Shallot

ชื่อวิทยาศาสตร์ Alliumcepa var. aggregatum

วงศ์ Alliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น มีลักษณะกลมๆ จะถูกห่อหุ้ม ไปด้วยกาบใบโดยรอบๆ มีสีเขียว ใบ มีลักษณะเป็นท่อยาว ปลายแหลม ภายในกลวง ใบของต้นหอม มีสีเขียว มีกลิ่นฉุนแรง รสชาติเผ็ดร้อน ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ช่อดอกเมื่อบานมีลักษณะคล้ายร่ม มีดอกย่อยๆ เป็นจำนวนมาก มีดอกสีขาว ก้านช่อดอกยาวกลมข้างในกลวง รองรับช่อดอกไว้ หัว มีหัวใต้ดิน หัวมีลักษณะทรงกลม หรือทรงกลมรี มีสีขาวหรือสีม่วง ตามสายพันธุ์ มีรสชาติเผ็ดร้อน มีกลิ่นฉุนแรง ใช้ประกอบปรุงอาหารต่างๆ ราก ระบบรากฝอยเล็กๆ สีน้ำตาล ออกด้านล่างของหัว หัวมีลักษณะทรงกลม หรือทรงกลมรี หัวอ่อนมีสีขาวหรือสีม่วง ตามสายพันธุ์ มีกลิ่นฉุนแรง รสชาติเผ็ดร้อน

คุณค่าทางโภชนาการ

ปริมาณต่อ 100 g แคลอรี (kcal) 32 ไขมันทั้งหมด 0.2 g ไขมันอิ่มตัว 0 g ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.1 gกรดไขมันไม่อิ่มตัวมีพันธะคู่เดี่ยว 0 g คอเลสเตอรอล 0 mg โซเดียม 16 mg โพแทสเซียม 276 mg คาร์โบไฮเดรต 7 g ใยอาหาร 2.6 g น้ำตาล 2.3 g โปรตีน 1.8 g วิตามินเอ 997 IU วิตามินซี 18.8 mg แคลเซียม 72 mg เหล็ก 1.5 mg วิตามินดี 0 IU วิตามินบี6 0.1 mg วิตามินบี12 0 µg แมกนีเซียม 20 mg

ประโยชน์และสรรพคุณที่ได้จากต้นหอม

1. มีไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนต้านการเกิดโรคมะเร็ง ฟลาโวนอยด์ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ช่วยป้องกันความเสียหายของดีเอ็นเอและเนื้อเยื่อรอบเซลล์ ทั้งนี้ยังมีวิตามินซีช่วยลดระดับคลอเรสเตอร์รอลในเส้นเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และจากรายงานการวิจัยพบว่า ต้นหอมมีสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารเดียวกับที่พบในกระเทียม มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไขมันเลวในเส้นเลือด ซึ่งกลไกการทำงานคล้ายยาสเตติน (Statins-กลุ่มยาลดไขมันในเลือด) ช่วยยับยั้งเอนไซม์ตับที่ทำหน้าที่สังเคราะห์คอเลสเตอรอลออกมา นอกจากนี้สารดังกล่าวยังช่วยไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ยับยั้งการก่อตัวของเกล็ดเลือดและมีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ทั้งหลอดเลือดแดงที่หัวใจและหลอดเลือดที่อวัยวะส่วนปลาย เช่น แขนและขาได้ และยังช่วยต้านเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา ได้อีกด้วย

2. มีน้ำมันหอมระเหย บรรเทาอาการหวัด

3. มีสารฟลาโวนอยด์ต้านมะเร็ง

4. ช่วยป้องกันอาการท้องผูกและลดคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดช่วยต้านอนุมูลอิสระและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

5. ลดความเสี่ยงจากอาการโรคกระดูกพรุน เพราะมี แคลเซียมและฟอสฟอรัสป้องกันภาวะโลหิตจาง

6. ขับเหงื่อ แก้อักเสบบวมแดง ป้องกันโรคหวัดเย็น

7. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ขับพยาธิ

8. มีสารเคอร์ซิติน ให้ฤทธิ์ในการป้องกันการอักเสบ ป้องกันแบคทีเรีย และไวรัสช่วยป้องกันอาการแพ้ ป้องกันมะเร็ง ชะลอความชรา ซึ่งสามารถป้องกันอาการภูมิแพ้ได้

9. ใช้แก้หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล ลดไข้

10. ใช้ตำพอกผิวหนังแก้แมลงสัตว์กัดต่อย

11. กระตุ้นให้หลั่งน้ำนม เพิ่มน้ำนม

12. สามารถลดไขมันในเส้นเลือดได้

ต้นหอมไทยต่างจากต้นหอมญี่ปุ่นหรือ?

ต้นหอมญี่ปุ่น ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า เนกิ (Negi) จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นหอมไทย แต่มีขนาดที่ใหญ่กว่า รสชาติหวานและกลิ่นหอม กลิ่นไม่ฉุนเท่าของไทย ส่วนใหญ่ใช้เป็นผักโรยหน้าในซุปและอาหารต่างๆ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถปลูกเองได้เกือบทุกพื้นที่ ส่วนเรื่องของประโยชน์นั้น ช่วยป้องกันโรคหัวใจตีบ ช่วยลดไขมันในเลือดเลือด อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกายเหมือนกัน

บริโภคต้นหอมอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย

ก่อนรับประทานต้นหอม ควรล้างกาบใบและโคนของต้นหอมให้สะอาด โดยการฉีกแยกล้างละใบ แช่ในน้ำส้มสายชู อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำสะอาด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก เพราะส่วนใหญ่ผักที่มีกาบใบอย่างต้นหอม กะหล่ำปลี หรือผักกาด มักจะมีเศษดิน เศษปุ๋ย และสารเคมีจากยาฆ่าแมลงสะสมอยู่มาก การรับประทานให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ต้องรับประทานตั้งแต่ส่วนสีขาวโคนต้นถึงใบสีเขียวอ่อน จะมีสารสำคัญอยู่มากกว่าส่วนอื่น

เคล็ดลับที่ช่วยให้รับประทานต้นหอมง่ายขึ้น คือนำต้นหอมแช่ในน้ำส้มสายชูไว้ก่อน จะช่วยให้ความเผ็ดร้อนหายไป และมีรสหวานมากขึ้น แนะนำให้รับประทานแบบสดจะดีกว่าแบบปรุงสุกแล้ว เพราะวิตามินซี น้ำมันหอมระเหย และสารออกฤทธิ์ต่างๆ ยังไม่ถูกทำลายจากความร้อน

ข้อควรระวังในการรับประทานต้นหอม

ระวังผู้ป่วยที่รับประทานยากลุ่มวาร์ฟาริน (Warfarin-ยาป้องกันการอุดตันของเลือด) เนื่องจากต้นหอมมีวิตามินเคปริมาณมาก อาจส่งเสริมการทำงานของยาดังกล่าว ทำให้เลือดเป็นก้อน อาจเกิดการอุดตันในเส้นเลือดได้ และควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะต้นหอมมีรสร้อน อาจทำให้มีอาการเสียดท้องหรือแสบร้อนกลางอกในบางรายได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.hongthongrice.com : https://www.honestdocs.com

เรียบเรียงโดย ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่