พืชผักพอเพียง

พิกุล : ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

พิกุล ชื่อสามัญ Asian bulletwood, Bullet wood, Bukal, Tanjong tree, Medlar, Spanish cherry

พิกุล ชื่อวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mimusops elengi var. parvifolia (R.Br.) H.J.Lam, Mimusops parvifolia R.Br.) จัดอยู่ในวงศ์พิกุล (SAPOTACEAE)

สมุนไพรพิกุล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล, พิกุลทอง เป็นต้น

ลักษณะของพิกุล

ต้นพิกุล มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน มีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และออสเตรเลียทางตอนเหนือ รวมไปถึงเขตร้อนทั่ว ๆ ไป (เปลือกต้น พบว่ามีสารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Beta amyrin, Betulinic acid, Lupeol, Mimusopfarnanol, Taraxerone, Taraxerol, Ursolic acid, สารในกลุ่มกรดแกลลิก ได้แก่ Phenyl propyl gallate, น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Cadinol, Diisobutyl phthalate, Hexadecanoic acid, Octadecadienoic acid, Taumuurolol, Thymol)

ใบพิกุล มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย

ดอกพิกุล ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลจะมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก ดอกมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ 8 ก้าน อับเรณูเป็นรูปใบหอกและยาวกว่าก้านชูอับเรณู เกสรตัวผู้เป็นหมัน 8 อัน และรังไข่มี 8 ช่อง เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล สามารถออกดอกได้ตลอดปี(ดอกมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วย 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%, 2-phenylethanol 37.80%, 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)-cinnamyl alcohol 13.72%, Methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94%)

ผลพิกุล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี(ผลและเมล็ดพบ Dihydro quercetin, Quercetin, Quercitol, Ursolic acid, สารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ซึ่งได้แก่ Mimusopane, Mimusops acid, Mimusopsic acid ส่วนเมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่ 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, Mimusopside A and B, Mi-saponin A และยังมีสารอื่น ๆ อีก ได้แก่ Alpha-spinasterol glucoside, Taxifolin)

สรรพคุณของพิกุล

1. ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ดอก, แก่น, แก่นที่ราก, ราก)

2. แก่นที่รากและดอกแห้งใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ส่วนดอกสดใช้เข้ายาหอมช่วยบำรุงหัวใจเช่นกัน (ดอก, ขอนดอก, แก่นที่ราก)

3. ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ขอนดอก, ดอกแห้ง)

4. ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)

5. ช่วยแก้โลหิต (ดอก, ราก) ฆ่าพิษโลหิต (เปลือกต้น)

6. ช่วยแก้เลือดตีขึ้นให้สลบไป แก้เลือดตีขึ้นถึงกับตาเหลือง (ใบ)

7. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอกแห้ง)

8. ช่วยแก้หอบ (ดอกแห้ง)

9. ช่วยแก้หืด (ใบ)

10. แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้ (แก่น, ผลดิบและเปลือก, ดอกแห้ง), แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้คลั่งเพ้อ (ดอกแห้ง)

11. ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอกแห้ง)

12. ผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ (ผลสุก, ดอกแห้ง)

13. ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถุ์ (ดอกแห้ง)

14. ช่วยรักษาโรคคอ (เปลือกต้น)

15. ผลสุกใช้รับประทานแก้โรคในลำคอและปาก (เปลือกต้น)

16. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ดอกแห้ง)

17. เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด (เปลือกต้น)

18. เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ (เปลือกต้น)

19. ช่วยรักษาอาการปากเปื่อย (เปลือกต้น)

20. ดอกแห้งช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ละลายเสมหะ (ดอกแห้ง, ราก)

21. รากและดอกใช้ปรุงเป็นยาแก้ลม (ระบบไหลเวียนทางโลหิต) ช่วยขับเสมหะที่เกิดจากลม (ราก, ดอก)

22. ช่วยบำรุงปอด (ขอนดอก)

23. ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (ดอกสด, ดอกแห้ง, ผลดิบและเปลือก, เปลือกต้น, ราก)

24. เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก (เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) (เมล็ด)

25. ช่วยขับลม (แก่นที่ราก)

26. ช่วยรักษาไส้ด้วนไส้ลาม (ใบ)

27. ใบมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ (ใบ, แก่น) ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก)

28. เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)

29. ใบช่วยรักษากามโรค ฆ่าเชื้อกามโรค (ใบ)

30. ช่วยแก้ตกโลหิต (ดอกแห้ง, ราก)

31. ขอนดอก (เนื้อไม้ที่ราลง มีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่า "ขอนดอก") ใช้เป็นยาบำรุงตับ (ขอนดอก)

32. ผลดิบและเปลือกเป็นยาฝาดมาน (ผลดิบและเปลือก, ดอกสด)

33. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามร่างกาย (ดอก)

34. ช่วยแก้อาการบวม (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก)

35. ช่วยแก้เกลื้อน (กระพี้) ส่วนแก่นช่วยรักษากลากเกลื้อน (แก่น)

36. ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ดอกแห้ง, ราก)

37. ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี (ครรภ์รักษา) (ขอนดอก)

38. ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งห้า" (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเจ็ด" (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), ตำรับยา "พิกัดเกสรทั้งเก้า" (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยแก้ลมกองละเอียด และช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี หรือจะใช้เข้ายาผสมกับดอกไม้ชนิดอื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงาก็ได้ (ดอก)

39. ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "พิกัดจตุทิพยคันธา" (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก และแก้เสมหะ (ดอก)

40. ดอกพิกุลจัดอยู่ใน "ตำรับยาเขียวหอม" ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด และแก้พิษสุกใส (ช่วยบรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส) (ดอก)

41. ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับ "ยาหอมนวโกฐ" ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยแก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ ช่วยแก้ลมปลายไข้ (มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด ซึ่งเป็นอาการหลังจากการฟื้นไข้) (ดอก)

42. ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา "ยาหอมเทพจิตร" ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ดอก)

หมายเหตุ : ขอนดอก คือ เครื่องยาไทยที่อาจได้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกแก่ ๆ โดยจะมีเชื้อราที่เข้าไปเจริญในเนื้อไม้ ขอนดอกจะมีกลิ่นหอมและมีรสจืด และจากข้อมูลระบุว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่าที่ได้จากชนิดอื่น

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดอกพิกุล

  • มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (EC50 = 0.23-0.55 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้โพแทสเซียมต่ำ ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ฆ่าพยาธิ ต้านฮีสตามีน มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ น้ำสกัดจากดอกพิกุลแห้งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ แม้ว่าจะนำน้ำสกัดจากดอกที่เอาเกลือโพแทสเซียมออกไปทดลองขับปัสสาวะในสุนัข ในหนูขาวปกติ หรือในหนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไต ก็ยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอยู่

  • จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกพิกุลด้วยเอทานอล 50% ด้วยการให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลอง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

ประโยชน์ของพิกุล

1. ผลพิกุลสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และยังช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกได้เป็นอย่างดี

2. ดอกพิกุลมีกลิ่นหอมเย็น นิยมนำมาใช้บูชาพระ

3. น้ำจากดอกใช้ล้างปากล้างคอได้

4. เนื้อไม้พิกุลสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระดาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ และยังใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่น การนำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ ฯลฯ

5. เปลือกต้นพิกุลใช้สกัดทำสีย้อมผ้า

6. เนื่องจากต้นพิกุลมีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนนก็ดูสวยงามเช่นกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย

7. คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และสำหรับการปลูกต้นพิกุลเพื่อเสริมสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี (เนื่องจากพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพตรี) และควรปลูกต้นพิกุลทองในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์หรือวันจันทร์ (การปลูกไม้วันเสาร์เป็นการปลูกเพื่อเอาคุณ) เพื่อจะช่วยป้องกันโทษร้ายต่าง ๆ

8. ดอกมีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอาง

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). "พิกุล (Pi Kul)". หน้าที่ 195.

2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. "พิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [10 ม.ค. 2014].

3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. "พิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th. [10 ม.ค. 2014].

4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. "พิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 ม.ค. 2014].

5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. "พิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [10 ม.ค. 2014].

6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.). "พิกุล". อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมลฑล หน้า 22 (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th. [10 ม.ค. 2014].

7. อุทยานดอกไม้ ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. "ดอกพิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [10 ม.ค. 2014].

8. สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย. "พิกุล". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6/BotanicalGarden/. [10 ม.ค. 2014].

9. สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร. "สมุนไพรไทยพิกุล". (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th. [10 ม.ค. 2014].

ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

พระราชดำริการพัฒนาป่าไม้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการผสมผสานการอนุรักษ์ ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ

ปลูกป่า 3 อย่าง คือ

1. ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว

2. ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ เช่น ไม้สัก ประดู่ พะยูง

3. ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น กล้วย มะม่วง และผักกินใบต่าง ๆ

***พิกุล จัดเป็นพืช อย่างที่ 1 กล่าวคือ เป็นป่าไม้เศรษฐกิจ ***

ประโยชน์ 4 อย่าง คือ

1. ไม้ใช้สอย สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรม หรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน) ในการหุงต้ม

2. เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน

3. นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร

4. ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน

***พิกุล จัดเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ อย่างที่ 3 นำมาเป็นยาสมุนไพร***

เทคนิคการปลูกป่า

แบ่งป่าออกเป็น 5 ระดับ ตามชั้นความสูงของต้นไม้และระบบนิเวศของป่าดังนี้

1. ไม้ระดับสูง อาทิ ตะเคียน ยางนา มะค่าโมง สะตอ มะพร้าว ฯลฯ

2. ไม้ระดับกลาง อาทิ ผักหวานป่า ติ้ว พลู ก้าลังเสือโคร่ง กล้วย ฯลฯ

3. ไม้พุ่มเตี้ย อาทิ ผักหวานบ้าน มะนาว พริกไทย, ย่านาง, เสาวรส ฯลฯ

4. ไม้เรี่ยดิน อาทิ หน้าวัว ผักเสี้ยน มะเขือเทศ สะระแหน่ง ฯลฯ

5. ไม้หัวใต้ดิน อาทิ ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ไพล เผือก มัน บุก กลอย ฯลฯ

*** พิกุล เป็นไม้ระดับกลาง ปลูกในระดับที่ 2***

ข้อคำนึงในการปลูกป่า 3 อย่าง

1. การปลูกช่วงแรกควรเลือกปลูกไม้เบิกนำ เช่น แค มะรุม สะเดา กล้วย อ้อย ไผ่ ข้าวและพืชผัก ทั้งนี้ เพราะเป็นพืชอาหารและไม้ใช้ สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่โตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถคลุมดินและดูดซับ ความชุ่มชื้น โดยควรเน้นปลูกพืชกินได้ ที่โตไวเพื่อเป็นแหล่งอาหาร และไม้ใช้สอย

2. ไม้ปลูกเพื่ออยู่อาศัย หรือไม้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือไม้ระดับสูง ควรปลูกในปีที่ 2

3. ไม้สมุนไพร ส่วนใหญ่จะเป็นไม้พุ่มเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน มักจะเจริญเติบโตได้ดี ในที่ร่มและร่มรำไร

4. นาข้าวควรเลือกทำในพื้นที่ให้เหมาะสม สามารถให้ผลผลิตเพียงพอ ตลอดทั้งปี

5. ควรขุดร่องน้ำขนาดเล็กเพื่อเก็บน้ำและความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ อีกทั้ง สามารถใช้เลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหาร และหมุนเวียนน้ำไปสู่บ่อขนาดใหญ่

***พิกุล เป็นไม้สมุนไพร ไม้ให้ร่มเงา ไม้ใช้สอยเล็กๆ น้อยๆ ปลูกเป็นไม้เบิกนำ

หลัก 7 พอ(เพียง)

1. พออยู่ สามารถพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัยได้

2. พอกิน สามารถพึ่งตนเองเรื่องอาหารและยารักษาโรคได้

3. พอใช้ สามารถพึ่งตนเองเรื่องรายจ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้

4. พอร่มเย็นเป็นสุข สามารถมีความสุข อิ่มเอิบใจ กับสิ่งที่มีที่ทำได้

5. พอพลังงานทดแทน ด้วยการปลูกอ้อยอินทรีย์ หรือพืชพลังงานอื่นๆ ร่วมกับป่า 3 อย่าง ร้อยละ 70

6. พอพัฒนาคน

7. มีข้อมูลและสื่อสารสู่สาธารณะที่พอเพียง

*** พิกุล หลัก 7 พอ(เพียง) ข้อพอกิน สามารถพึ่งตนเองเรื่องอาหารและยารักษาโรคได้***