พืชผักพอเพียง

ผักพาย (ตาลปัตรฤาษี) ผักก้านจอง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buch

ชื่อท้องถิ่น :

ภาคกลาง

– ตาลปัตรฤาษี

– ผักพาย

– ผักพายใหญ่

– ตาลปัตรยายชี

– ผักตะบัน

– นางกวัก

– บัวลอย

ภาคอีสาน

– ผักก้านจอง

– ผักคันจอง

ผักก้านจอง/ตาลปัตรฤาษี และผักพายเล็ก จัดเป็นพืชน้ำชนิดขึ้นริมน้ำ และเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานลำต้น และใบ ทั้งรับประทานสด และลวกจิ้มน้ำพริก เนื่องจากมีความกรอบ และให้รสหวาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผักทั้ง 2 ชนิด กำลังเป็นที่นิยมของคนทุกภาค และในบางพื้นที่มีการเพาะปลูกเพื่อส่งจำหน่ายสร้างรายได้งามทีเดียว

ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง

ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่นิยมนำยอดอ่อนทั้งส่วนก้าน และใบอ่อนมารับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงนิยมใช้เป็นผักคู่ส้มตำ

การแพร่กระจาย และการเติบโต

ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นพืชที่พบได้ในทุกภาค มักพบเติบโตในพื้นน้ำขังบริเวณชายน้ำหรือริมขอบแหล่งน้ำขัง หนองบึง หรือบ่อน้ำ ที่ระดับน้ำตื้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำลึก เพราะลำต้นจะต้องโผล่พ้นน้ำสำหรับการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้ ลำต้นสามารถแตกหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่หากน้ำแห้ง และดินไม่มีความชื้น ผักก้านจองก็จะตายทันที

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น

ลำต้นของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นเหง้าที่เติบโตอยู่ในดินใต้น้ำ สามารถแตกออกเป็นไหลสั้นๆ และแตกเหง้าหรือลำต้นใหม่ได้

ใบ

ใบตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยก้านใบ และแผ่นใบ ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็นเหนือดินหรือเหนือน้ำ

ก้านใบ เป็นส่วนที่แทงออกจากเหง้า 3-5 ก้าน แต่ละก้านจะมีรูปทรงสามเหลี่ยม โดยขอบแต่ละด้านเป็นสันบาง และสั้นๆที่เป็นลูกคลื่นยื่นออกมาเล็กน้อย ภายในประกอบด้วยเหยื่อที่เป็นร่างแหของโพรงอากาศ เมื่อจับบีบจะยุบตัวได้ง่าย โดยก้านใบมีความยาวถึงปลายก้านประมาณ 40-60 เซนติเมตร ขนาดลำก้านประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเติบโตโคนก้านมีสีน้ำตาลอมม่วง และค่อยเป็นสีเขียวสดขึ้นมาจนถึงปลายก้าน

แผ่นใบ เป็นส่วนที่ต่อกับก้านใบ มีรูปไข่ โคนใบสอบ กลางใบกว้าง และสอบแหลมที่ปลาย ใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้างมากสุดบริเวณกลางใบ ประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมองเห็นเส้นใบนูนเด่นที่มีสีเดียวกันกับแผ่นใบตามแนวยาวของใบ

ทั้งนี้ ทั้งส่วนก้านใบ และแผ่นใบ เมื่อฉีกขาดจะพบยางสีขาวไหลออกมา

ดอก

ดอกของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองแทงออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านดอกหลักที่แทงออกจากกลางลำต้น ก้านดอกหลักมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับก้านใบ และมีความยาวน้อยกว่าก้านใบเล็กน้อย โดยส่วนปลาสุดของก้านดอกหลักจะประกอบด้วยดอกย่อย 8-12 ดอก เรียงเป็นชั้น ประมาณ 3 ชั้น ชั้นแรกมีประมาณ 5 ดอก ชั้นที่ 2 และ3 มีประมาณ 2-3 ดอก แต่ละดอกย่อยจะมีก้านดอกที่คล้ายกับดอกหลัก แต่จะสั้นกว่ามากที่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยปลายสุดของก้านดอกย่อยจะเป็นตัวดอก

ดอกตูมของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปลายแหลมที่หุ้มด้วยกลีบรองดอกสีเขียว เมื่อบาน กลีบรองดอกจะกางออก แล้วกลีบดอกจะแผ่ออกมา โดยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละกลีบมีมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา สีเหลืองสด ขอบกลีบย่นเป็นลูกคลื่น ถัดมาตรงกลางเป็นส่วนของก้านเกสรสีเหลืองสดที่เรียงกันเป็นวงกลม โดยตรงกลางล่างสุดจะเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน

ผล และเมล็ด

ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่ประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก กว้าง 1.2-2 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแก่เต็มที่เป็นสีดำ ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีรูปเกือกม้า เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร