พืช โคกหนองนาจำลอง กศน.อำเภอหาดใหญ่

ข้าว

ศาสตร์พระราชา แปลงนาในวัง

ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีต่อข้าวไทยและชาวนาไทย ปรากฏจากการที่พระองค์เสด็จไปเยี่ยมราษฎรชาวนาถึงแปลงนาและโรงสีชุมชนอยู่บ่อยๆ บางครั้งต้องทรงพระราชดำเนินไปตามคันนา นอกจากนี้ยังทรงมี พระราชดำรัสที่เกี่ยวกับข้าวไทยและชาวนาไทยในโอกาสต่างๆ มากมาย เช่น พระราชดำรัสที่พระราชทานแนวคิดในการทำนาและการดำรงชีวิตของชาวนา ในวโรกาสเสด็จไปทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2516

มีความตอนหนึ่งคือ “เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมากราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก… เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก… อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป” และพระราชทานแนวคิด เกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งทรงศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2532

แนวคิดคือ “ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คือ อาจไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก… หลักมีว่าแบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และมีที่สำหรับขุดสระน้ำ"

พระราชดำรัสที่แสดงว่าพระองค์เป็นผู้ลงมือทำนาด้วยการปฏิบัติจริงมิใช่ เป็นแค่เพียงอ้างตามตำราคือพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤ.ค. 2504 “ข้าพเจ้าลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่างๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่นๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

ตามที่พระองค์มีพระราชดำรัสว่า ลองและทำนามาบ้างคือ การที่พระองค์ใช้พื้นที่วังสวนจิตรลดา จัดทำเป็นแปลงนาทดลอง คือ ในปี พ.ศ.2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว ดำเนินการจัดทำแปลงนาใน บริเวณสวนจิตรลดา และนำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทดลอง เพื่อทำการศึกษา โดยในครั้งแรกทรงขับรถไถนาเตรียมแปลง หว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ปัจจุบันแปลงนาข้าวทดลอง เป็นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี ซึ่งส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวทดลองจะนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และนำไปบรรจุซองเล็กๆ จัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” แจกจ่ายให้กับพสกนิกรและเกษตรกร ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ

แปลงนาทดลองในวังของพ่อหลวงดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ที่ใช้พื้นที่วังที่ประทับของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นแปลงนาทดลองเพื่อการพัฒนาและคัดหาเมล็ดพันธ์ข้าวที่ดี มีการทดลองปลูกข้าวเพื่อหาวิธีปลูกข้าวให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละภูมิประเทศ เมื่อเสร็จการทำนามีการทดลองปลูกพืชเพื่อการปรับปรุงดิน จนเป็นที่กล่าวกันว่าพระราชวังสวนจิตรลดา เป็นวังแห่งเดียวในโลกที่มีแปลงนา มีคอกควาย มีโรงสี

แปลงนาทดลองในวังของพ่อหลวง เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการส่งเสริมพัฒนาการการทำนา วิธีการทำนา การพัฒนาพันธุ์ข้าว เหนือสิ่งอื่นใดยังเป็นขวัญเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเสริมสร้างสร้างกำลังใจต่อวงการข้าวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ซึ่งจะสถิตในดวงใจของชาวนาไทย บุคคลในวงการข้าวไทยและคนไทยทุกหมู่เหล่าตราบนิจนิรันดร์


ที่มา : bangkokbiznews.com / คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ค้าๆขายๆกับกฎหมายธุรกิจ"

สกล หาญสุทธิวารินทร์

www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642719


ข้าว ชื่อสามัญ Rice

ข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa L. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)

ข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจำพวกธัญพืชที่สามารถกินเมล็ดได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สปีชีส์ใหญ่ ๆ คือ Oryza glaberrima (ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกา) และ Oryza sativa (ปลูกกันทั่วโลก) สำหรับชนิด Oryza sativa ยังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกคือ Javanica, Japonica (ปลูกมากในเขตอบอุ่น) และ indica (ปลูกมากในเขตร้อน)

สำหรับประเทศไทยข้าวที่ปลูกจะเป็นชนิด indica โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้พันธุ์ข้าวยังได้ถูกปรับปรุงและคัดสรรสายพันธุ์มาโดยตลอด จึงทำให้มีหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลกที่มีรสชาติและคุณประโยชน์ของข้าวที่แตกต่างกันออกไป โดยพันธุ์ข้าวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็คือ ข้าวหอมมะลิ โดยข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงก็คือ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี และข้าวเสริมวิตามิน

ข้าวที่แนะนำให้รับประทาน คือ ข้าวกล้องที่ยังมีจมูกข้าวและรำข้าวติดอยู่ เพราะจะทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า ส่วนข้าวขัดขาวที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นไม่แนะนำให้รับประทานเท่าไหร่ เพราะจะให้แค่พลังงานเท่านั้นและยังได้น้ำตาลเป็นของแถมอีกด้วย หากรับประทานต่อเนื่องไปนานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบตัน โรคสมองเสื่อม รวมไปถึงโรคอัมพฤกษ์ได้ !

ข้าว จัดว่ามีประโยชน์และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเราไม่ว่าใคร ๆ ก็จะรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานและความอบอุ่น นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นขนมหวานต่าง ๆ ทำปุ๋ย ของใช้ ของเล่นต่างๆ เครื่องประดับ และใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย


สรรพคุณของข้าว

1. ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ฟื้นฟูกำลัง ป้องกันอาการอ่อนเพลีย (วิตามินบี 2)

2. ช่วยเสริมสร้างการเจริญโตของร่างกาย

3. ข้าวกล้องมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ชรา (ข้าวกล้องงอก)

4. ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส (วิตามินอี)

5. ข้าวกล้องมีวิตามินบี 3 ซึ่งบำรุงสุขภาพผิวหนังและลิ้นได้

6. ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้อง)

7. ข้าวกล้องงอกช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์

8. ช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ (วิตามินบี 2)

9. ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (ฟอสฟอรัส)

10. ช่วยป้องกันและเสริมสร้างการสึกหรอของร่างกาย (โปรตีน)

11. ลูทีนในข้าวช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคต้อกระจก จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศหรือต้องใช้สายตาอย่างหนักในการนั่งหน้าคอมพ์นานๆ (ลูทีน,

เบตาแคโรทีน)

12. ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง (ธาตุเหล็ก, ธาตุทองแดง)

13. ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด (เบตาแคโรทีน, วิตามินอี)

14. ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ส่งออกซิเจนในเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย (ธาตุเหล็ก)

15. ประโยชน์ของข้าวหอมมะลิ ใยอาหารของข้าวหอมมะลิกล้องจะช่วยดูดซับของเสียและสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกายได้ (ข้าวหอมมะลิกล้อง)

16. เส้นใยอาหารของข้าวหอมนิลมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ข้าวหอมนิล)

17. ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ (น้ำข้าว)

18. ชช่วยรักษาอหิวาตกโรค (น้ำข้าว)

19. ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (น้ำข้าว)

20. ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน (ข้าวหอมมะลิกล้อง)

21. ข้าวหอมมะลิแดงช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก (ไอโอดีน)

22. ช่วยแก้ตาแดง (น้ำข้าว)

23. ช่วยแก้เลือดกำเดา (น้ำข้าว)

24. ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก (แผลที่มุมปาก) และริมฝีปากบวม (วิตามินบี 2)

25. ช่วยเสริมการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ (โดยเฉพาะข้าวกล้อง)

26. ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย (น้ำข้าว)

27. การรับประทานข้าวกล้องจะได้กากอาหารมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูกและมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี

28. ช่วยรักษาโรคท้องร่วง (ข้าวผัวไม่ลืม)

29. ข้าวประโยชน์ช่วยแก้พิษต่างๆ (น้ำข้าว)

30. ช่วยลดการเกิดหรือลดอาการของการเป็นตะคริวได้ (แคลเซียม)

31. ช่วยป้องกันโรคเหน็บชาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี เพราะจะมีวิตามินบี 1 สูง

32. ประโยชน์ข้าวกล้องงอกช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบายมากยิ่งขึ้น (ข้าวกล้องงอก)

33. ข้าวกล้องช่วยลดอาการผิดปกติต่างๆ ของหญิงวัยทอง (ข้าวกล้องงอก)

34. ช่วยรักษาอาการตกเลือดหลังคลอดได้ (ข้าวผัวไม่ลืม)


ประโยชน์ของข้าว

1. เมล็ดข้าว สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้

2. รำข้าวสามารถนำมาใช้ทำเป็น น้ำมันรำข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ทำลิปสติก ทำยาหม่อง ทำแวกซ์ หรือทำเป็นโลชันบำรุงผิว ฯลฯ

3. ฟางข้าวสามารถใช้ทำเป็นปุ๋ย ปลูกเห็ด ทำเป็นของเล่น กระดาษ ทำเป็นแกลบหรือขี้เถ้า ผสมทำเครื่องปั้นดินเผา ถ่านกัมมันต์หรือถ่านดูดกลิ่น ใช้เป็นส่วนผสมของยาขัดรถ ฯลฯ

4. ประโยชน์ข้าวนอกจากจะใช้บริโภคเป็นอาหารหลักแล้วยังใช้ทำเป็นของหวานชนิดต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ขนมไทย เช่น ลอดช่อง ขนมตาล ขนมกล้วย ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด

ขนมหม้อแกง ปลากริมไข่เต่า ทำเป็นแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ฯลฯ


คุณค่าทางโภชนาการของข้าวขาวดิบต่อ 100 กรัม

1. พลังงาน 365 กิโลแคลอรี

2. คาร์โบไฮเดรต 80 กรัม

3. น้ำตาล 0.12 กรัม

4. เส้นใย 1.3 กรัม

5. ไขมัน 0.66 กรัม

6. โปรตีน 7.13 กรัม

7. น้ำ 11.61 กรัม

8. วิตามินบี 1 0.0701 มิลลิกรัม 6%

9. วิตามินบี 2 0.0149 มิลลิกรัม 1%

10. วิตามินบี 3 1.62 มิลลิกรัม 11%

11. วิตามินบี 5 1.014 มิลลิกรัม 20%

12. วิตามินบี 6 0.164 มิลลิกรัม 13%

13. ธาตุแคลเซียม 28 มิลลิกรัม 3%

14. ธาตุเหล็ก 0.80 มิลลิกรัม 6%

15. ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม 7%

16. ธาตุแมงกานีส 1.088 มิลลิกรัม 52%

17. ธาตุฟอสฟอรัส 115 มิลลิกรัม 16%

18. ธาตุโพแทสเซียม 115 มิลลิกรัม 2%

19. ธาตุสังกะสี 1.09 มิลลิกรัม 11%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)


วิธีเลือกซื้อข้าวกล้อง

ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่สีเพียงครั้งเดียว โดนกะเทาะเอาเปลือกนอกออกเท่านั้น จะไม่มีการขัดสีเอาเส้นใยที่อยู่รอบๆ เมล็ดออก โดยหลักการเลือกซื้อข้าวกล้องให้ได้ประโยชน์สูงสุดมีดังนี้

1. เมล็ดข้าวจะต้องสมบูรณ์ ไม่แตกหักหรือแหว่งตรงปลายเมล็ด เพราะถ้าเมล็ดแหว่งหรือแตกหักก็แสดงว่าจมูกข้าวหายไปแล้ว ซึ่งตรงนี้แหละสำคัญมากๆ เพราะจมูกข้าวเป็นแหล่งรวมสาร

อาหารที่มากที่สุดในเมล็ดข้าว

2. สีของเมล็ดต้องขาวขุ่น หรือมีสีน้ำตาลปนบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางครั้งอาจจะมีสีเขียวอ่อนๆ ติดอยู่ นั่นแสดงว่าเป็นข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ๆ เยื่อหุ้มจึงยังติดอยู่

3. เมล็ดข้าวต้องแห้งสนิท ไม่มีความชื้น ไม่มีราขึ้น บรรจุอยู่ในถุงที่ปิดสนิท และมีแหล่งที่ผลิตชัดเจน

4. การซื้อแต่ละครั้งควรซื้ออย่างพอเหมาะกับสมาชิกในครอบครัวที่รับประทานได้ 1-2 อาทิตย์ เพื่อความสดใหม่


วิธีการหุงข้าวกล้องให้ได้คุณค่ามากที่สุด

1. เมื่อเปิดถุงใช้ ควรปิดให้สนิทเพื่อป้องกันหนูและแมลงสาบมาแพร่เชื้อ

2. การหุงแต่ละครั้งควรหุงให้พอดีสำหรับการรับประทานในแต่ละมื้อ เพื่อป้องกันการสูญเสียวิตามิน

3. เริ่มจากการซาวน้ำข้าวกล้องก่อนหุง ควรซาวไม่เกิน 1-2 ครั้ง เพราะการซาวน้ำหลายรอบจะทำให้สูญเสียวิตามินบางชนิดที่ละลายน้ำไปได้

4. เมื่อหุงสุกแล้วให้ถอดปลั๊กทันทีและรับประทานทันทีได้ก็จะดีมาก เพราะวิตามินบางชนิดเมื่อถูกความร้อนนานๆ จะทำให้เสื่อมสลายไปได้โดยง่าย ยิ่งถ้าเสียบทิ้งไว้ทั้งวัน วิตามินหรือแร่ธาตุที่สำคัญก็จะไม่เหลืออยู่เลย


ที่มา : ้https://medthai.com/

รวบรวมและจัดทำข้อมูลโดยห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่