ฝายชะลอน้ำ

"ฝายชะลอน้ำพอเพียงตามแนวพระราชดำริ"

คือ ฝายชะลอน้ำประเภทหนึ่งที่ก่อสร้างโดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ ดิน ก้อนหิน เป็นต้น สามารถช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ทำให้น้ำใสมีคุณภาพที่ดีขึ้น และยังสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต นับว่ามีความสำคัญในแต่ละพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเป็นอย่างมาก

ฝายชะลอน้ำฯ แบบชั่วคราว


สร้างเพื่อปิดกั้นบริเวณร่องลำห้วยขนาดเล็กบริเวณต้นน้ำ มักทำจาก กิ่งไม้ ต้นไม้ ทราย เป็นต้น สามารถกักเก็บน้ำได้ แต่มีการซึมผ่านของน้ำผ่านตัวฝายอยู่ตลอดเวลา อายุการใช้งานประมาณ 1-2 ปี

ฝายชะลอน้ำฯ แบบกึ่งถาวร

สร้างเพื่อปิดกั้นบริเวณลำห้วยสาขาบริเวณต้นน้ำ มักทำจาก ไม้แปรรูป ปูนซีเมนต์ หิน เป็นต้น สามารถกักเก็บน้ำได้ แต่มีการซึมผ่านของน้ำผ่านตัวฝายอยู่ตลอดเวลา อาจจะมีช่องสำหรับระบายตะกอนที่ทับถมบริเวณเหนือฝาย อายุการใช้งานประมาณ 2-5 ปี

ฝายชะลอน้ำฯ แบบถาวร

สร้างเพื่อปิดกั้นบริเวณลำห้วยหลัก มักทำจาก คอนกรีต ลวดเหล็ก หินใหญ่ เป็นต้น มีการออกแบบตามหลักวิชาการ มีความมั่นคง แข็งแรง สามารถต้านทานแรงดันน้ำได้ ทนทานต่อการกัดเซาะของน้ำได้ และต้องคำนึงถึงผลกระทบกับสภาพแวดล้อม เช่น น้ำล้นตลิ่ง ป้องกันผลกระทบที่ส่งผลต่อระบบนิเวศน์อย่างถาวร ฝายชะลอน้ำฯ แบบถาวร จึงมีอายุการใช้งานยืนยาว ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป