คลองภูมินาถดำริ (คลอง ร.๑)

“การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขา เพื่อสกัดกั้นน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลมายังเมืองหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย

ดังนั้น การแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภา หรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว

นอกจากนั้น หากต้องการที่จะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจให้ได้ผลโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ก่อสร้างคลองระบายน้ำเสร็จ ก็ควรพิจารณาสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมือง ให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย”

ากพระราชดำรัสดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระราชทาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2531 กรมชลประทานจึงได้สนองพระราชดำริ โดยการขุดลอกคลองธรรมชาติในปีพ.ศ.2532 จำนวน 4 สายเพื่อให้สามารถระบายน้ำเร็วขึ้น

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2543 ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันอีกครั้ง ทำให้คลองระบายน้ำธรรมชาติที่ขุดลอกไว้ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้จึงทำให้เกิดอุทกภัยบริเวณเทศบาลนครหาดใหญ่ และบริเวณใกล้เคียง สร้างความเสียหายประมาณ 18,000 ล้านบาท ประชาชนเสียชีวิต 30 คน นับเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัดสงขลา

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยพสกนิกรผู้ประสบภัยจึงได้เน้นย้ำถึงพระราชดำรัสเมื่อปี 2531 แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2543 ให้ดำเนินการโครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย ในส่วนของโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำเพิ่มจำนวน 7 สายดังนี้

1. ขุดคลองระบายน้ำ ร.1 เป็นคลองระบายน้ำสายหลักในการผันน้ำจากคลองอู่ตะเภาบริเวณบ้านหน้าควนลังอ้อมเมืองหาดใหญ่สู่ทะเลสาบสงขลาโดยตรง ความยาว 21.343 กม. สามารถระบายน้ำได้ 465 ลบ.ม./วินาที

2. ขุดคลองระบายน้ำ ร.3 เป็นคลองแบ่งน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำจากคลองอู่ตะเภาตอนนอกเมืองหาดใหญ่ซึ่งช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่ริมฝั่งคลองอู่ตะเภาตอนล่าง ความยาว 8.200 กม.สามารถระบายน้ำได้ 195 ลบ.ม./วินาที

3. ขุดคลองระบายน้ำ ร.4 เป็นคลองแบ่งน้ำจากคลองเตยตามเขตทางรถไฟ สายหาดใหญ่-สงขลา และรับน้ำจากคลองระบายน้ำ ร.5 สู่ทะเลสาบสงขลา ผ่านทางคลองระบายน้ำ ร.3 ความยาว 6.920 กม. สามารถระบายน้ำได้ 55 ลบ.ม./วินาที

4. ขุดคลองระบายน้ำ ร.5 พร้อมอาคารประกอบ เป็นคลองระบายน้ำจากบริเวณสามแยกคอหงส์ออกทะเลสาบสงขลา ผ่านคลองระบายน้ำ ร.4 และ ร.3 ตามลำดับ ความยาว 2.660 กม. สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม. /วินาที

5. ขุดคลองระบายน้ำ ร.6 เป็นคลองผันน้ำจากคลองเรียนและแก้มลิงของเทศบาลนครหาดใหญ่ไปลงคลองหวะ เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลสาบสงขลาผ่านคลองระบายน้ำ ร.1ช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ตอนล่างของคลองเรียน ความยาว 3.160 กม. สามารถระบายน้ำได้ 50 ลบ.ม./วินาที

หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าทำไมไม่มีคลองระบายน้ำ ร.2 สำหรับคลอง ร.2 เป็นการขุดลอกคลองและระบบระบายน้ำในเขตเมืองหาดใหญ่ทั้งหมดจึงไม่มีคลองสายใหม่เกิดขึ้นเหมือนกับคลองสายอื่นๆ

สำหรับคลองระบายน้ำที่ 1 หรือคลอง ร.1 เป็นคลองสายหลักที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากเป็นคลองที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาช่วงก่อนเข้าเมืองหาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นทางด่วนของน้ำที่มาจากต้นคลองอู่ตะเภาในพื้นที่อำเภอสะเดา หาดใหญ่ตอนบน นาหม่อม และน้ำจากเขาคอหงส์บางส่วนให้ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาอย่างรวดเร็วแทนการไหลผ่านคลองอู่ตะเภาเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นในอดีต

ในขณะนี้กรมชลประทาน ยังได้มีโครงการโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ในการขยายคลอง ร.1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำจากเดิม 465 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ระบายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดระดับความเสียหายจากอุทกภัยช่วงฤดูฝนในพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง