พืช โคกหนองนาจำลอง

กศน.อำเภอหาดใหญ่

สักทอง



สัก ชื่อสามัญ Teak

สัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tectona grandis L.f.

สมุนไพรสัก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปีฮี ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร), เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่) เป็นต้น

หมายเหตุ : ต้นสักเป็นพรรณไม้พระราชทานประจำจังหวัดอุตรดิตถ์

eak (ทีก) มาจากภาษาทมิฬคำว่า "เท็กกู" และเราสามารถแบ่งชนิดของต้นสักได้เป็น 3 ชนิด คือ ไม้สักทั่วไป (Tectona grandis) ซึ่งเป็นชนิดที่สำคัญที่สุด สามารถพบได้ในอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ และในแถบอินโดจีน รวมถึงประเทศไทยด้วย, ไม้สักดาฮัต (Tectona hamiltoniana) ชนิดนี้เป็นไม้ประจำถิ่นของพม่า, และไม้สักฟิลิปปินส์ (Tectona philippinensis) ซึ่งเป็นไม้ประจำถิ่นเช่นกัน และอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์เช่นเดียวกับไม้สักดาฮัต

ลักษณะของต้นสัก

  • ต้นสัก มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ลาว และไทย (สวนที่ติดภาคเหนือของไทย) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ ที่มีความสูงของต้นตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร มีลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกต้นหนาเป็นเทา หรือสีน้ำตาลอ่อนแกมเทา เปลือกต้นเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามความยาวของลำต้น พอต้นแก่โคนต้นจะเป็นร่องและมีพูพอนขึ้นบ้างเล็กน้อย ตามกิ่งอ่อนเป็นรูปเหลี่ยม ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง ส่วนลักษณะของเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลทอง (เรียกว่า "สักทอง") ถึงสีน้ำตาลแก่ และมักมีเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกอยู่ (เรียกว่า "สักทองลายดำ") เนื้อไม้สักเป็นเสี้ยนตรง เนื้อหยาบ มีความแข็งปานกลาง เลื่อยไสกบตกแต่งได้ง่าย และไม่ค่อยยืดหดหรือบิดงอง่ายเหมือนไม้ชนิดอื่น ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดและแบบไม่อาศัยเมล็ด (การติดตา, การปักชำ, เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ) ชอบขึ้นตามพื้นที่ทีเป็นภูเขา หรือตามพื้นราบที่มีดินระบายน้ำได้ดี และน้ำไม่ท่วมขัง หรืออาจจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีความลึกมาก ๆ (โดยเฉพาะดินที่เกิดจากหินปูน ที่แตกแยกผุพังจนกลายเป็นดินร่วนลึก) ต้นสักจะเจริญเติบโตได้ดีมาก โดยมักจะขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ หรืออาจขึ้นปะปนกับไม้เบญจพรรณอื่น ๆ

ใบสัก ใบเป็นใบเดี่ยว แตกออกจากกิ่งเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ในแต่ละคู่จะตั้งฉากสลับกันไปตามความยาวของกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรีกว้าง หรือรูปไข่กลับ ปลายใบมีหางสั้น ๆ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 12-35 เซนติเมตร และยาวประมาณ 15-60 เซนติเมตร พื้นใบด้านบนและด้านล่างสากมือ ท้องใบเป็นสีเขียวและมีขนปกคลุม มีก้านใบยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่ท้องใบของใบอ่อนเมื่อนำมาขยี้แล้วจะมีสีแดงคล้ายเลือด โดยจะผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง (ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) และจะแตกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน

ดอกสัก ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกตามซอกใบและปลายยอด ดอกเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นสีเขียวนวล มีกลีบดอก 6 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดและมีขนทั้งด้านนอกและด้านใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5-6 อัน ยื่นยาวพ้นออกจาดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะยาวเท่ากับเกสรเพศผู้และมี 1 อัน ที่รังไข่มีขนอยู่หนาแน่น ต้นสักจะออกดอกช่อดอกช่อแรกที่ปลายยอดสุดของแกนลำต้นก่อนกิ่งอื่น ๆ แล้วจึงจะเกิดดอกที่ปลายยอดของกิ่ง และดอกจะบานเพียง 1 วัน หลังจากนั้นดอกที่ได้รับการผสมจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นผลต่อไปในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม

ผลสัก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 เซติเมตร ผลจะมีชั้นของกลีบเลี้ยงหุ้มอยู่ มีลักษณะพองลมและบาง เป็นสีเขียว ในผลหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-4 เมล็ด (โดยทั่วไปเรียกผลสักว่า "เมล็ดสัก") และเมื่อผลแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (ผลจะเริ่มแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) เมล็ดจะอยู่ในช่อง ช่องละ 1 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร ซึ่งเมล็ดจะเรียงไปตามแนวตั้งของผลสัก ในแต่ละเมล็ดจะถูกห่อหุ้มไปด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดที่มีลักษณะบาง ๆ

ไม้สัก

ในด้านการใช้ประโยชน์จากไม้สัก จะมีการแบ่งคุณลักษณะของไม้สักโดยพิจารณาจากสีของเนื้อไม้ ความแข็ง ความเหนียว และการตกแต่งของเนื้อไม้ ออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่

  • ไม้สักทอง - เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง เสี้ยนไม้ตรง ตกแต่งได้ง่าย

  • ไม้สักหิน - เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลหรือสีจาง ตกแต่งได้ง่าย

  • ไม้สักหยวก - เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ตกแต่งได้ง่าย

  • ไม้สักไข่ - เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลเข้มปนสีเหลืองและมีไขปนอยู่ ตกแต่งและทาสีได้ยาก

  • ไม้สักขี้ควาย - เนื้อไม้เป็นสีเขียวปนสีน้ำตาล น้ำตาลดำดูเป็นสีเลอะ ๆ

สำหรับไม้สักที่นำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์จะแบ่งเป็น 3 เกรด คือ

  • ไม้สักเกรดเอ หรือ ไม้เรือนเก่า - ไม้สักเกรดนี้จะได้มาจากการรื้อถอนจากบ้านเก่า มีราคาสูง ความชื้นต่ำ เพราะเนื้อไม้แห้ง สีค่อนข้างสวย ไม้จะหดตัวได้น้อยมาก และเนื้อไม้จะเป็นสีน้ำตาลทองเข้ม

  • ไม้สักเกรดบี หรือ ไม้ออป. หรือ ไม้สักสวนป่า ("ออป." ย่อมาจาก องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้) - จัดเป็นไม้สักที่มีคุณภาพดีพอสมควรเพราะปลูกในพื้นที่ภูเขา การหดตัวมีน้อย แก่นไม้เยอะกว่าไม้นส. สีเนื้อไม้เข้มกว่าไม้นส.

  • ไม้สักเกรดซี หรือ ไม้นส. ("นส." ย่อมาจาก หนังสือแสดงสิทธิทำกิน (นส.3)) - เป็นไม้สักที่มีปลูกในพื้นที่ของเอกชนหรือประชาชนทั่วไป ไม้มีคุณภาพปานกลาง มีกาดหดตัวมากกว่าไม้ออป. สีเนื้อไม้อ่อนออกเหลืองนวล และแก่นไม้มีน้อยกว่าไม้ออป.

หมายเหตุ : บางข้อมูลก็จัดให้ไม้เรือนเก่าเป็นไม้เกรด A+ ส่วนไม้ออป. เป็นไม้เกรด A และไม้นส. เป็นไม้เกรด B

สรรพคุณของสัก

  1. ใบนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)

  2. เนื้อไม้และใบมีรสเผ็ดเล็กน้อย สรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต (เนื้อไม้,ใบ)

  3. ใบมีรสเผ็ดเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษโลหิต (ใบ)

  4. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (เนื้อไม้)

  5. เปลือกไม้มีสรรพคุณแก้อาการปวดศีรษะ (เปลือกไม้)

  6. เมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคตา (เมล็ด)

  7. ใบใช้ทำเป็นยาอมแก้เจ็บคอ (ใบ)

  8. ช่วยแก้ไข้ คุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)

  9. เนื้อไม้ใช้รับประทานเป็นยาขับลมได้ดีมาก ส่วนใบก็มีสรรพคุณเป็นยาขับลมเช่นกัน (เนื้อไม้,ใบ)

  10. เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาขับพยาธิ (เนื้อไม้)

  1. เนื้อไม้ ใบ และดอกมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ (เนื้อไม้,ใบ,ดอก)

  2. ใบใช้เป็นยาแก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (ใบ)

  3. ช่วยรักษาประจำเดือนไม่ปกติ (ใบ)

  4. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เนื้อไม้)

  5. เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือก)

  6. เปลือกไม้มีสรรพคุช่วยบรรเทาอาการบวม (เปลือกไม้)[1] ส่วนเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้บวม (เนื้อไม้)

  7. ช่วยแก้ลมในกระดูก (เนื้อไม้)

ประโยชน์ของสัก

  • ไม้สักเป็นไม้ที่เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบตามอายุและขนาดของไม้ ตั้งแต่ไม้ซุงขนาดใหญ่ ที่นำมาแปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน ไม้อัด ไม้ปาร์เก้ ไม้แกะสลัก เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ หรือใช้ต่อเรือ รถ ทำเครื่องมือกสิกรรม ฯลฯ ส่วนไม้ซุงขนาดเล็กลงมาก็สามารถนำมาทำบ้านไม้ซุงได้อย่างสวยงามและคงทน หรือจะนำมาผ่าซีกทำไม้โมเสด วงกบประตู และหน้าต่างได้ดี ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากมีเนื้อไม้มีลวดลายที่สวยงาม เห็นเส้นวงปีได้ชัดเจน เนื้อไม้มีความแข็งปานกลางและทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตกแต่งได้ง่าย และชักเงาได้ดี ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพราะมีสารเทคโทควิโนน (Tectoquinone) ทำให้มีคุณสมบัติคงทนต่อปลวก แมลง เห็ดราขึ้นได้ดี

  • นอกจากนี้ไม้สักทองยังมีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm. โดยไม้สักทอง 26 ต้น จะมีทองคำหนัก 1 บาท

  • ในด้านความเป็นมงคล สักทองจัดเป็นไม้มงคลนาม เพราะคนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านปลูกต้นสักทองไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้มีศักดิ์ศรี เพราะคำว่า "สัก" หรือ "ศักดิ์" หมายถึง การมีศักดิ์ศรี มีเกียรติศักดิ์ มียศถาบรรดาศักดิ์ นอกจากนี้คำว่า "สัก" หรือ "สักกะ" ยังหมายถึง พระอินทร์ผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในสวรรค์ โดยตำแหน่งที่ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ให้ปลูกต้นสักทองไว้ทางทิศเหนือของบ้าน และควรปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุฯให้ปลูกในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลมากยิ่งขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่มีผู้เคารพนับถือและเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลยิ่งนัก

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “สัก (Sak)”. หน้า 294.

  2. ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน, สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้. “สัก”.

  3. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “สัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [10 มิ.ย. 2014].

  4. ไม้ประดับออนไลน์. “สักทอง ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.maipradabonline.com. [10 มิ.ย. 2014].

  5. ข่าวสดรายวัน ฉบับที่ 8121 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556, คอลัมน์: รูปไปโม้ด. (น้าชาติ ประชาชื่น). “ไม้สัก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th. [10 มิ.ย. 2014].


เรียบเรียงข้อมูลโดยห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่