ขมิ้นขาว

ขมิ้นขาว : ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma mangga Valeton & Zijp

ชื่อภาษาอังกฤษของขมิ้นขาว White Turmeric

ชื่อวงศ์ ZINGIBERACEAE จัดอยู่ในสกุลเดียวกันกับขมิ้นชัน

ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : ว่านม่วง หรือขมิ้นม่วง

ขมิ้นขาว เป็นสมุนไพรที่มีดอกสวยงาม เหง้า ราก มีกลิ่นหอม และแฝงไปด้วยสรรพคุณในตัวเองหลายประการ

ลักษณะของขมิ้นขาว

ขมิ้นขาวมีหัวรูปไข่ ขนาดประมาณ 3-4 x 2-3 เซนติเมตร ภายในมีสีขาวบริเวณแกนกลาง หัวมีสีเหลืองอ่อนจนเกือบขาว เหง้าแตกสาขา หนาประมาณ 1.5 เซนติเมตร ขนาดของลำต้นขมิ้นขาวสูงประมาณ 40-80 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว กว้าง 12-15 เซนติเมตร ยาว 30-40 เซนติเมตร ก้านยาวหุ้มต้น ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบประดับสีเขียวอมชมพูซ้อนทับกันหลายกลีบ ดอกขมิ้นขาวจะออกเป็นช่อ ก้านช่อยาวแทงจากเหง้าใต้ดิน มักออกดอกในช่วงฤดูฝน

คุณค่าทางโภชนาการของขมิ้นขาว

จากตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย โดยกองโภชนาการ กรมอนามัย พบวา ขมิ้นขาว ปริมาณ 100 กรัม ให้คุณค่าทางอาหาร ดังนี้

- พลังงาน 26 กิโลแคลอรี

- น้ำ 93.9 กรัม

- โปรตีน 0.5 กรัม

- ไขมัน 0.5 กรัม

- คาร์โบไฮเดรต 4.8 กรัม

- เส้นใยอาหาร 0.8 กรัม

- เถ้า 0.3 กรัม

- ฟอสฟอรัส 158 มิลลิกรัม

- เหล็ก 26 มิลลิกรัม

- วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม

- วิตามินบี 2 0.01 มิลลิกรัม

- ไนอาซีน 0.5 มิลลิกรัม

- วิตามินซี 16 มิลลิกรัม

สรรพคุณ

สรรพคุณของขมิ้นชันมีดีที่ช่วยลดการอักเสบ ช่วยย่อย ส่วนสรรพคุณของขมิ้นขาวดียังไงบ้าง ตามมาดู

1. ช่วยย่อยอาหาร

เหง้าอ่อนของขมิ้นขาวมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย และมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร สามารถกินเหง้าอ่อนสด ๆ แกล้มกับอาหาร จิ้มกับน้ำพริก หรือนำเหง้าอ่อนไปต้มเป็นชาแล้วดื่มแก้แน่นท้องเนื่องจากอาหารไม่ย่อยก็ได้

2. ขับลม

สรรพคุณสุดจี๊ดอีกอย่างของขมิ้นขาวก็คือช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะหากกินเหง้าอ่อนของขมิ้นขาวสด ๆ จะช่วยในการขับลมได้เป็นอย่างดี

3. ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง

เนื่องจากขมิ้นขาวมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร จึงมีส่วนช่วยลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง เนื่องจากกรดเกินในกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยได้

4. รักษาแผลในลำไส้

สารเคอร์คูมินในขมิ้นขาวมีฤทธิ์รักษาแผลในลำไส้ ทั้งยังช่วยระงับอาการติดเชื้อหนองได้ดีอีกด้วย

5. บรรเทาอาการคลื่นไส้

กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของเหง้าขมิ้นขาวเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น แก้วิงเวียน คลื่นเหียน บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้นะคะ

6. ช่วยให้เจริญอาหาร

ใครที่เบื่ออาหาร ไม่ค่อยอยากรับประทานอะไรเท่าไร ลองกินเหง้าอ่อนขมิ้นขาวสักนิด หรือดมกลิ่นจากเหง้าของขมิ้นขาวก็จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารขึ้นมาได้

7. รักษาโรคผิวหนัง

โดยเฉพาะปัญหาผิวหนังจากการติดเชื้อ แผลเป็นหนอง สารเคอร์คูมินในขมิ้นขาวจะช่วยจัดการระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคให้ โดยให้นำเหง้าขมิ้นขาวตากแห้งแล้วนำมาต้มน้ำอาบ หรือจะตำเหง้าสดขมิ้นขาวให้พอแหลกแล้วมาพอกบริเวณแผลก็ได้เช่นกัน

8. ขับปัสสาวะ

ขมิ้นขาวจัดเป็นสมุนไพรขับปัสสาวะอีกชนิดหนึ่ง และยังมีดีที่ช่วยลดการอักเสบติดเชื้อในร่างกายได้ ใครที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลองศึกษาข้อมูลของขมิ้นขาวไว้บ้างก็ดี

9. ขับน้ำนมแม่ลูกอ่อน

ไม่ใช่แค่หัวปลีเท่านั้นที่เป็นอาหารขับน้ำนม แต่ขมิ้นขาวก็มีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมให้คุณแม่ลูกอ่อนได้ไม่แพ้กัน

10. กระตุ้นการหลั่งน้ำดี

สารเคอร์คูมินและน้ำมันหอมระเหยที่มีอยู่ในขมิ้นขาวมีส่วนช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี มีสรรพคุณรักษานิ่วในถุงน้ำดี และลดการอักเสบของบาดแผล

ขมิ้นขาว ทำอาหารอะไรได้บ้าง

เหง้าของขมิ้นขาวสามารถรับประทานสด ๆ เป็นเครื่องเคียง หรือจะนำเหง้าอ่อนมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก ทำยำขมิ้นขาว ทำแกงขมิ้น หรือกินกับน้ำบูดูก็อร่อย

นอกจากสรรพคุณทางยาและการทำอาหารแล้ว ดอกของขมิ้นขาวยังสวยงาม สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในบ้านได้อีกด้วย

ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

พระราชดำริการพัฒนาป่าไม้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรในการผสมผสานการอนุรักษ์ ดิน น้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ

ปลูกป่า 3 อย่าง คือ

1. ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว

2. ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ เช่น ไม้สัก ประดู่ พะยูง

3. ป่าไม้กินได้ คือ ไม้ผล เช่น กล้วย มะม่วง และผักกินใบต่าง ๆ

***ขมิ้นขาว จัดเป็นพืช อย่างที่ 3 กล่าวคือ เป็นป่าไม้กินได้ ***

ประโยชน์ 4 อย่าง คือ

1. ไม้ใช้สอย สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรม หรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน) ในการหุงต้ม

2. เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ ซึ่งควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน

3. นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร

4. ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ จะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน

***ขมิ้นขาว จัดเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ อย่างที่ 3 นำมาเป็นยาสมุนไพร***

เทคนิคการปลูกป่า

แบ่งป่าออกเป็น 5 ระดับ ตามชั้นความสูงของต้นไม้และระบบนิเวศของป่าดังนี้

1. ไม้ระดับสูง อาทิ ตะเคียน ยางนา มะค่าโมง สะตอ มะพร้าว ฯลฯ

2. ไม้ระดับกลาง อาทิ ผักหวานป่า ติ้ว พลู กำลังเสือโคร่ง กล้วย ฯลฯ

3. ไม้พุ่มเตี้ย อาทิ ผักหวานบ้าน มะนาว พริกไทย, ย่านาง, เสาวรส ฯลฯ

4. ไม้เรี่ยดิน อาทิ หน้าวัว ผักเสี้ยน มะเขือเทศ สะระแหน่ ฯลฯ

5. ไม้หัวใต้ดิน อาทิ ข่า ตะไคร้ ขมิ้น ไพล เผือก มัน บุก กลอย ฯลฯ

*** ขมิ้นขาว เป็นไม้เรี่ยดิน ปลูกในระดับที่ 5 ***

ข้อคำนึงในการปลูกป่า 3 อย่าง

1. การปลูกช่วงแรกควรเลือกปลูกไม้เบิกนำ เช่น แค มะรุม สะเดา กล้วย อ้อย ไผ่ ข้าวและพืชผัก ทั้งนี้ เพราะเป็นพืชอาหารและไม้ใช้ สอยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่โตและให้ผลผลิตเร็ว สามารถคลุมดินและดูดซับ ความชุ่มชื้น โดยควรเน้นปลูกพืชกินได้ ที่โตไวเพื่อเป็นแหล่งอาหาร และไม้ใช้สอย

2. ไม้ปลูกเพื่ออยู่อาศัย หรือไม้เศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือไม้ระดับสูง ควรปลูกในปีที่ 2

3. ไม้สมุนไพร ส่วนใหญ่จะเป็นไม้พุ่มเตี้ย ไม้เรี่ยดิน และไม้หัวใต้ดิน มักจะเจริญเติบโตได้ดี ในที่ร่มและร่มรำไร

4. นาข้าวควรเลือกทำในพื้นที่ให้เหมาะสม สามารถให้ผลผลิตเพียงพอ ตลอดทั้งปี

5. ควรขุดร่องน้ำขนาดเล็กเพื่อเก็บน้ำและความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ อีกทั้ง สามารถใช้เลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหาร และหมุนเวียนน้ำไปสู่บ่อขนาดใหญ่

***ขมิ้นขาว เป็นไม้สมุนไพร

หลัก 7 พอ(เพียง)

1. พออยู่ สามารถพึ่งตนเองด้านที่อยู่อาศัยได้

2. พอกิน สามารถพึ่งตนเองเรื่องอาหารและยารักษาโรคได้

3. พอใช้ สามารถพึ่งตนเองเรื่องรายจ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันได้

4. พอร่มเย็นเป็นสุข สามารถมีความสุข อิ่มเอิบใจ กับสิ่งที่มีที่ทำได้

5. พอพลังงานทดแทน ด้วยการปลูกอ้อยอินทรีย์ หรือพืชพลังงานอื่นๆ ร่วมกับป่า 3 อย่าง ร้อยละ 70

6. พอพัฒนาคน

7. มีข้อมูลและสื่อสารสู่สาธารณะที่พอเพียง

*** ขมิ้นขาว หลัก 7 พอ(เพียง) ข้อพอกิน สามารถพึ่งตนเองเรื่องอาหารและยารักษาโรคได้***

แหล่งอ้างอิง : https://www.disthai.com/ แหล่งรวบรวมข้อมูลด้านงานวิจัย ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้อาหารและสมุนไพร

องค์การสวนพฤกษศาสตร์

ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิชาเกษตร

สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร

กองโภชนาการ กรมอนามัย

เรียบเรียงข้อมูลโดย : ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่ กศน.อำเภอหาดใหญ่