"กศน.ห่วงใย ร่วมต้านภัยโควิด-19"

ฟ้าทะลายโจร


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (วงศ์ Acanthaceae)

ชื่ออื่น : ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน

  • "สมุนไพร"แก้หวัด ป้องกัน "โควิด-19"

"สมุนไพร" สามารถใช้แก้หวัด ป้องกันได้หลากๆ โรค และผลการวิจัยยืนยันแล้วว่า “ฟ้าทะลายโจร” นอกจากแก้หวัดได้แล้ว ยังนำมารักษาร่วมกับ "โควิด-19" ได้ด้วย

“ฟ้าทะลายโจร” มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้อักเสบ แก้เจ็บคอ เป็นสมุนไพรพื้นบ้านรสขมที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดตั้งแต่โบราณ ซึ่งประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลากชนิด เช่น ไดเทอร์ปีนอยด์ (Diterpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและการติดเชื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

วิธีทำคือ ใช้ใบของต้นฟ้าทะลายโจร นำมาตากแห้งแล้วบดให้เป็นผงปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอน แล้วรับประทานได้ทันทีเมื่อมีอาการหวัด

ขณะที่ “ฟ้าทะลายโจร” ในการรักษา "ผู้ป่วยโควิด-19" ที่อาการไม่หนัก โดย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก พบว่า สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ในฟ้าทะลายโจรน่าจะมีศักยภาพในการช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโคโรนาเข้าเซลล์และป้องกันการแบ่งตัวของโคโรนาไวรัสได้

ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย “ฟ้าทะลายโจร” จัดเป็นสมุนไพรที่มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ เป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวสมุนไพรฟ้าทะลายโจรกันอย่างแพร่หลาย มีข้อมูลสนับสนุนจากงานวิจัยทางคลินิก พบว่า สมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีส่วนช่วยรักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ (acute respiratory tract infection) เช่น อาการไอ อาการเจ็บคอได้ดี ในปี พ.ศ.2555 ได้มีข้อมูลงานวิจัย จากผู้ป่วยจำนวน 807 คน พบว่าผลิตภัณฑ์สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ขนาดรับประทาน 31.5-200 มิลลิกรัม/วัน รับประทานเป็นเวลา 3-10 วัน มีผลช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัด (common cold) และอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้

ในมุมมองการเกิดโรคหรืออาการตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยนั้น อาการไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นอิทธิพลของธาตุไฟที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เราจึงสามารถใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น (สมุนไพรฟ้าทะลายโจร) เพื่อใช้ในการรักษาอาการที่ส่งผลมาจากอิทธิพลของไฟที่เพิ่มขึ้นได้ พูดง่ายๆคือ ใช้ความเย็น ปรับหรือลดปริมาณความร้อนในร่างกายให้สมดุลนั่นเอง แต่หากใช้ในปริมาณเกินความจำเป็นก็อาจส่งผลทำให้ ร่างกายมีปริมาณความเย็นเกินไป ส่งผลทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้ เช่น อาการชาต่างร่างกาย แขน-ขาอ่อนแรง ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย หรือผื่นแพ้ตามร่างกาย เป็นต้น

าฟ้าทะลายโจร (ยาเดี่ยว)

คำแนะนำ

  1. บรรเทาอาการเจ็บคอ

  2. บรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

ขนาดและวิธีใช้

  • รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 2 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

ข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ ในผู้ที่มีอาการแพ้ ฟ้าทะลายโจร

  • ห้ามใช้ ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้

คำเตือน

  • หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรง

  • หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์

  • ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์กันได้

  • ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และCYP3A4

อาการไม่พึงประสงค์

  • อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้

ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูง ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้

แหล่งอ้างอิงข้อมูล : http://kpo.moph.go.th/webkpo/tool/Thaimed2555.pdf https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge/files/0484.pdf

การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช


เรียบเรียงข้อมูลโดย ห้องสมุดประชาชนอำเภอหาดใหญ่