หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 การเขียนโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

เรื่องที่ 6 การสรุปรายงานผลการดําเนินงานโครงการเพื่อเสนอต่อที่ประชุม

หลังจากที่ผู้เรียนได้ปฏิบัติตามโครงการเรียบร้อยแล้ว จะต้องสรุปผลการดําเนินงานว่าเป็นอย่างไร ดังนั้น การสรุปรายงานผลการดําเนินงาน ควรประกอบด้วยเนื้อหาที่สําคัญ ดังต่อไปนี

1. ผลการดําเนินงานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือผลที่เกิดขึ้นตาม “ผลที่คาดว่าจะได้รับ” ที่เขียนไว้ในโครงการ

2. ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดําเนินงานตามโครงการ โดยให้ระบุปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านั้นเกิดขึ้นอีก

3. ข้อเสนอแนะ เป็นการเขียนข้อเสนอแนะแนวทาง เพื่อจะทําให้การปฏิบัติงานโครงการในครั้งต่อไป ประสบผลสําเร็จได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ การสรุปรายงานผลการดําเนินงานโครงการ เพื่อ นําเสนอผลต่อที่ประชุม สามารถจัดทําได้ตามองค์ประกอบ ดังนี้

1. ส่วนนํา เป็นส่วนแรกของรายงาน ซึ่งควรประกอบไปด้วย

1.1 ปก ควรมีทั้งปกนอก และปกใน ซึ่งมีเนื้อหาซ้ํากัน

1.2 คํานํา หลักการเขียนคํานําที่ดีจะต้องทําให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ ต้องการที่จะอ่านเนื้อหาส่วนต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในรายงาน

1.3 สารบัญ หมายถึง การระบุหัวข้อสําคัญในเล่มรายงาน โดยต้องเขียนเรียงลําดับตามเนื้อหาของรายงาน พร้อมระบุเลขหน้า

2. ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

2.1 หลักการและเหตุผลของโครงการ หรือความเป็นมาและความสําคัญของโครงการ

2.2 วัตถุประสงค์

2.3 เป้าหมายของโครงการ

2.4 วิธีดําเนินการ หรือกิจกรรมที่ได้ดําเนินงานตามโครงการ เป็นการเขียนถึงขั้นตอนการดําเนินงานโครงการแต่ละขั้นตอนตามที่ได้ปฏิบัติจริง ว่ามีการดําเนินการอย่างไร

2.5 ผลที่เกิดขึ้นจากการดําเนินงานโครงการ เป็นการเขียนผลการดําเนินงานที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นผลมาจากการดําเนินงานโครงการ

2.6 ข้อเสนอแนะจากการดําเนินงานโครงการ เป็นการเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน หรือต่อการดําเนินงานโครงการในครั้งต่อไป

2.7 ภาคผนวก (ถ้ามี) เช่น รูปภาพจากการดําเนินงานโครงการ แบบสอบถาม หรือเอกสารที่เกิดขึ้นจากการ ดําเนินงานโครงการ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อจัดทํารูปเล่มรายงานผลการดําเนินงานโครงการเสร็จสิ้นแล้ว ให้นํารูปเล่มรายงานส่ง/เสนอต่อผู้ที่อนุมัติโครงการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบผลการดําเนินงานโครงการต่อไป

นอกจากนี้ การเสนอผลการดําเนินงานโครงการ บางหน่วยงาน หรือบางโครงการ ผู้อนุมัติโครงการ อาจมีความประสงค์ให้ผู้รับผิดชอบโครงการนําเสนอโครงการในลักษณะของการพูดสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ผู้รับผิดชอบโครงการหรือผู้นําเสนอ จึงควรมีการเตรียมความพร้อมและปฏิบัติ ดังนี้

1. ผู้นําเสนอ ควรมีการสํารวจตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตนเอง ทั้งในเรื่องของบุคลิกภาพ การแต่งกายที่เหมาะสม และการทําความเข้าใจกับเนื้อหาที่จะนําเสนอเป็นอย่างดี หากมีผู้นําเสนอมากกว่า 1 คน ควรมีการเตรียมการ โดยการแบ่งเนื้อหารับผิดชอบในการนําเสนอ เพื่อให้การนําเสนอเกิดความต่อเนื่องราบรื่น

2. กล่าวทักทาย/สวัสดีผู้ฟัง โดยเริ่มกล่าวทักทายผู้อาวุโสที่สุด แล้วเรียงลําดับ รองลงมาจากนั้นแนะนําตนเอง แนะนําสมาชิกในกลุ่ม และแนะนําชื่อโครงการ

3. พูดด้วยเสียงที่ดังอย่างเหมาะสม ไม่เร็ว และไม่ช้าจนเกินไป

4. หลีกเลี่ยงการอ่าน แต่ควรจดเฉพาะหัวข้อสําคัญๆ เพื่อใช้เตือนความจํา ในขณะที่พูดรายงาน โดยผู้นําเสนอควรจัดลำดับความคิดอย่างเป็นระบบและนําเสนออย่างตรงไปตรงมา ด้วยภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายเป็นธรรมชาติ

5. ผู้นําเสนอควรรักษาเวลาของการนําเสนอ โดยไม่พูดวกไปวนมา หรือพูดออกนอกเรื่องจนเกินเวลา

6. รู้จักการใช้ท่าทางประกอบการพูดพอสมควร

7. ควรมีสื่อประกอบการนําเสนอ เพื่อให้การนําเสนอมีความน่าสนใจ น่าเชื่อถือ และเพื่อความสมบูรณ์ในการนําเสนอผลการดําเนินงานโครงการ และควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ ซักถามเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจในกรณีที่ผู้ฟังที่มีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม