หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 วินัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เรื่องที่ 4 ระบบหมู่ลูกเสือ

ระบบหมู่ลูกเสือเป็นการเสริมสร้างวินัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการทำงานและการปฏิบัติภารกิจของสมาชิกภายในหมู่ กอง กลุ่ม เพื่อความก้าวหน้าของส่วนรวมด้วยความเต็มใจและพอใจของสมาชิกทุกคน นายหมู่ลูกเสือทุกคนจะดูแลสมาชิกภายในหมู่ของตนเอง เป็นการกระจายอำนาจ และแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามระบอบประชาธิปไตย

องค์ประกอบสำคัญของระบบหมู่ลูกเสือที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องแบบลูกเสือและสัญญาณมือ และสัญญาณนกหวีด

เครื่องแบบลูกเสือ มีความหมายสำหรับชื่อเสียงของขบวนการลูกเสือ บุคคลภายนอกจะมองและตัดสินเราด้วยสิ่งที่เห็นเท่านั้น ผู้ที่แต่งเครื่องแบบต้องสำรวมกิริยาวาจา ไม่กระทำการใดที่ทำให้เสื่อมเสีย

เครื่องแบบลูกเสือไทย มีความหมายและความสำคัญกว่าลูกเสือประเทศอื่น ๆ ด้วยเหตุผลว่า เครื่องแบบลูกเสือนี้ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริออกแบบนำมาใช้ และเป็นเครื่องทรงขององค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ จนถึงปัจจุบัน

เครื่องแบบลูกเสือ ประกอบด้วย

1) หมวก

2) เสื้อ

3) กางเกง, กระโปรง

4) ผ้าผูกคอ

5) เข็มขัด

6) ถุงเท้า

7) รองเท้า

เครื่องหมายประกอบเครื่องแบบลูกเสือ มีดังนี้

1) อินทธนู

2) เครื่องหมายจังหวัด

3) สายนกหวีด

4) เครื่องหมายสังกัดกองลูกเสือสถานศึกษา

5) เครื่องหมายตำแหน่ง นายหมู่ รองนายหมู่ พลาธิการ

6) เครื่องหมายวิชาพิเศษ

7) พู่ถุงเท้า (ลูกเสือชาย)

การใช้สัญญาณมือเรียกแถวในรูปแบบต่าง ๆ นั้น ก่อนจะเรียกแถวผู้บังคับบัญชาหรือผู้เรียกจะต้องหาที่ให้เหมาะสมเสียก่อนและยืนตรงแล้วจึงเรียก “กอง” (ถ้าเป็นลูกเสือสำรองเรียก “แพ็ค”)พร้อมทั้งให้สัญญาณมือทันทีในการฝึกตามบทเรียนต่อไปนี้สมมติมีลูกเสือ 6 หมู่ เพื่อสะดวกแก่การทำความเข้าใจ ตามหนังสือคู่มือการฝึกระเบียบแถวของสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ดังนี้

Thinkttt Clip กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ลูกเสือสามัญ ตอน สัญญาณนกหวีด.mp4
videoplayback.mp4

1. หน้ากระดานแถวเดียว

ผู้เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง มือแบทั้งสองข้าง เหยียดตรงเสมอแนวไหล่ หันฝ่ามือไปข้างหน้าแล้วเรียก “กอง” ให้รองนายหมู่ ๆ ที่ 3 และนายหมู่ ๆ ที่ 4 ระยะเคียง 1 ก้าว เป็นหลักอยู่หน้าห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว หมู่ต่อ ๆ ไปคือ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 อยู่ทางซ้ายมือของผู้เรียก ลูกเสือทุกคนสะบัดหน้าไปทางซ้าย ถือรองนายหมู่ที่ 3 เป็นหลัก จัดแถวหน้ากระดานชำเลืองดูอกคนที่ 3 เป็นหลัก หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 อยู่ทางขวามือผู้เรียก ลูกเสือทุกคนสะบัดหน้าไปทางขวา ถือนายหมู่ที่ 4 เป็นหลัก จัดแถวหน้ากระดานชำเลืองดูอกคนที่ 3 เป็นหลัก

การเข้าแถว ใช้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนอยู่ซ้ายสุดของแถว) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าสะโพกให้ฝ่ามือพักอยู่บนสะโพก นิ้วมือเหยียดชิดแล้วชี้ลงพื้น นิ้วกลางอยู่ประมาณแนวตะเข็บกางเกง ศอกอยู่เสมอแนวลำตัว การจัดแถวให้แขนขวาจดปลายศอกซ้าย เป็นการจัดระยะเคียงระหว่างบุคคล ผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถว แล้วสั่ง “นิ่ง” ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมกับสะบัดหน้ากลับมาอยู่ในท่าตรงและนิ่ง

2. แถวตอน

ผู้เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง มือแบทั้งสองข้างเหยียดตรงไปข้างหน้าขนานกับพื้น หัวฝ่ามือเข้าหากันและขนานกัน เรียก “กอง” ให้ลูกเสือทุกมหู่มาเข้าแถวหน้าผู้เรียก นายหมู่อยู่หน้าลูกหมู่เรียนกันต่อไป ให้นายหมู่ ๆ ที่ 3 และนายหมู่ที่ 4 เป็นหมู่หลัก อยู่ตรงหน้าผู้เรียก ห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว หมู่ต่อ ๆ ไป คือ หมู่ที่ 3 เป็นหลัก หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 อยู่ทางขวามือของผู้เรียก นายหมู่สะบัดหน้าไปทางขวา ถือนายหมู่ที่ 4 เป็นหลัก นอกนั้นลูกเสือทุกคนจัดให้ระยะต่อระหว่างบุคคลของแต่ละหมู่ประมาณ 1 ช่วงแขน หรือประมาณ 1 ก้าว และให้ตรงคอคนหน้า

การเข้าแถว ให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนยู่ซ้ายสุดของแถว) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าสะโพก (เหมือนดังหน้ากระดานแถวเดี่ยว) เป็นการจัดระยะเคียงระหว่างบุคคล ผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวแล้วสั่ง “นิ่ง” ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมกับสะบัดหน้ามาอยู่ในท่าตรงและนิ่ง

3. แถวหน้ากระดานตอนหมู่ปิดระยะ

ผู้เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง มือกำทั้งสองข้าง เหยียดตรงไปข้างหน้าขนานกับพื้น งอข้อศอกขึ้นเป็นมุมฉาก หันหน้ามือเข้าหากันแล้วเรียก “กอง” ให้ลูกเสือหมู่ที่ 1 มาเข้าแถวหน้าผู้เรียกนายหมู่อยู่ขวามือลูกหมู่อยู่ซ้ายมือเข้าแถวเป็นแถวหน้ากระดาน โดยให้กึ่งกลางของหมู่อยู่ตรงหน้าผู้เรียกห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว หมู่ต่อไปเข้าแถวหน้ากระดานเช่นกัน แต่อยู่ต่อหลังจากหมู่แรกตามลำดับระยะต่อระหว่างหมู่ห่างประมาณ 1 ช่วงแขน หรือประมาณ 1 ก้าว

การเข้าแถวให้ลูกเสือทุกคน (เว้นคนอยู่ซ้ายสุดของแถว) ยกมือซ้ายขึ้นเท้าสะโพก สะบัดหน้าไปทางขวาเป็นการจัดระยะเคียงระหว่างบุคคล ผู้เรียกแถวตรงจัดแถวแล้วสั่ง “นิ่ง” ลูกเสือทุกคนลดแขนลงพร้อมกับสะบัดหน้ามาอยู่ท่าตรงและนิ่ง

4. แถวหน้ากระดานตอนหมู่เปิดระยะ

ผู้เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง มือกำทั้งสองข้าง งอข้อศอกเป็นมุมฉาก แขนท่อนบนแบะออกเป็นแนวเดียวกับไหล่ หันหน้าแขนไปข้างหน้าเรียก “กอง” ให้ลูกเสือทุกคนมาเข้าแถวเหมือนแถวหน้ากระดานตอนหมู่ปิดระยะ แต่ระยะต่อของทุกหมู่ขยายออกไปทางด้านหลัง ห่างประมาณ 3 ช่วงแขน หรือประมาณ 3 ก้าว

การจัดแถวและการสั่ง “นิ่ง” ปฏิบัติเหมือนแถวหน้ากระดานตอนหมู่ปิดระยะ

5. แถวครึ่งวงกลมหรือรูปเกือกม้า

ผู้เรียกยืนอยู่ในท่าตรง มือแบทั้งสองข้างเหยียดตรงลงข้างล่าง คว่ำขวามือเข้าหาตัว โบกผ่านลำตัวประสานกันด้านหน้าช้า ๆ เป็นรูปครึ่งวงกลม เรียก “กอง” ให้ลูกเสือหมู่ที่ 1 ยืนด้านซ้ายมือของผู้เรียกโดยนายหมู่ที่ 1 ยืนด้านซ้ายมือของหมู่แรกตามลำดับ จนคนสุดท้ายของหมู่สุดท้ายหรือรองนายหมู่ของหมู่สุดท้ายยืนอยู่เป็นเส้นตรงเดียวกันกับผู้เรียก และนายหมู่ ๆ แรก ถือผู้เรียกเป็นจุดศูนย์กลาง ระยะเคียงระหว่างบุคคล ระหว่างหมู่ และการตรวจแถวสั่ง “นิ่ง” ปฏิบัติเหมือนหน้ากระดานแถวเดียว

6. แถววงกลม

ผู้เรียกยืนอยู่ในท่าตรง มือแบทั้งสองข้าง เหยียดตรงลงข้างล่าง คว่ำฝ่ามือเข้าหาตัว โบกผ่านลำตัวประสานกันจากด้านหน้าถึงด้านหลังช้า ๆ เป็นรูปวงกลม เรียก “กอง” ให้หมู่ที่ 1 ยืนเคียงข้างทางซ้ายมือของผู้เรียก โดยนายหมู่ที่ 1 วิ่งมายืนเคียงข้างทางซ้ายมือของผู้เรียก ระยะเคียงห่างจากผู้เรียก 1 ฝ่ามือ หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไป อยู่ด้านซ้ายมือของหมู่ที่ 1 ไปตามลำดับ จนถึงรองนายหมู่สุดท้ายจะมายืนเคียงทางขวามือของผู้เรียก ระยะเคียงประมาณ 1 ฝ่ามือ

ระยะเคียงระหว่างบุคคล ระหว่างหมู่และการตรวจแถวสั่ง “นิ่ง” เหมือนหน้ากระดานแถวเดียว

7. แถวรัศมีหรือล้อเกวียน

ผู้เรียกยืนอยู่ในท่าตรง มือขวาแบคว่ำ กางนิ้วออกทุกนิ้ว ชูแขนไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 45 องศา ให้มองเห็นได้ แล้วเรียก “กอง” ให้ลูกเสือทุกหมู่มาเข้าแถวเป็นรูปแถวตอนหน้าผู้เรียก ห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว เป็นรูปรัศมี โดยให้หมู่ที่ 1 อยู่ด้านหน้าทางซ้ายมือผู้เรียกประมาณ 45 องศา หมู่ที่ 2 และหมู่ต่อ ๆ ไป ไปอยู่ด้านซ้ายมือของหมู่ที่ 1 ตามลำดับ ถือผู้เรียกเป็นจุดศูนย์กลาง ระยะห่างของแต่ละคนในหมู่ห่างกัน 1 ช่วงแขน ระยะเคียงระหว่างนายหมู่ต่อนายหมู่ห่างพอสมควร และนายหมู่ ๆ สุดท้ายจะอยู่ด้านหน้าขวามือของผู้เรียกประมาณ 45 องศา

8. แถวสี่เหลี่ยมเปิด

ผู้เรียกแถวยืนอยู่ในท่าตรง งอข้อศอกทั้งสองข้างขึ้น แบฝ่ามือหงายไปข้างหน้า ให้ฝ่ามือขวาทับหลังมือซ้ายเสมอระดับตา แล้วเรียก “กอง” ให้ลูกเสือหมู่ที่ 1 มาเข้าแถวหน้ากระดานทางซ้ายมือของผู้เรียกให้นายหมู่อยู่เสมอผู้เรียก ติดตามด้วยหมู่ที่ 2 ส่วนหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 ให้มาเข้าแถวหน้ากระดานตรงหน้าผู้เรียกให้ต่อจากหมู่ที่ 6 ตามลำดับ โดยให้ระยะเคียงระหว่างหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 อยู่ตรงกับผู้เรียก ทำมุมฉากกับแถวหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 เข้าแถวหน้ากระดานทางขวามือผู้เรียก โดยต่อจากหมู่ที่ 4 ตามลำดับ และให้หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นแถวหน้ากระดานเป็นมุมฉากกับแถวของหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 และรองนายหมู่ที่ 6 อยู่เสมอกับผู้เรียก ทุกหมู่หันหน้าเข้าหากัน

การเข้าแถว การจัดระยะเคียงและการตรวจการจัดแถวแล้วสั่ง “นิ่ง” เหมือนหน้ากระดานแถวเดี่ยว

9. หมู่แถวตอนเรียงสอง

ผู้เรียกยืนอยู่ในท่าตรง ชูแขนทั้งสองข้างไปข้างหน้าเหยียดตรงเสมอไหล่ หันหลังมือเข้ามาหากันทำช้า ๆ แล้วเรียก “กอง” ให้ลูกเสือหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 4 เป็นหลัก วิ่งเข้าแถวตอนตรงหน้าผู้เรียกและให้นายหมู่ทั้งสองเป็นหลักอยู่ห่างจากผู้เรียกประมาณ 6 ก้าว ให้หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 มาเข้าแถวตอน ต่อจากหมู่ที่ 1 ตามลำดับ และหมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 มาเข้าแถวตอนต่อจากหมู่ที่ 4 ตามลำดับ

การเข้าแถว ให้จัดระยะเคียงระหว่างหมู่ห่างประมาณ 3 ช่วงแขน หรือประมาณ 3 ก้าว ระยะระหว่างบุคคลในหมู่ห่าง 1 ช่วงแขน ระยะระหว่างหมู่ให้เว้นระยะพองาม คือ ให้เกินกว่า 1 ช่วงเขนบ้างเล็กน้อย แต่ละแถวให้จัดแถวตรงคอคนหน้า ผู้เรียกแถวตรวจการจัดแถวแล้วสั่ง “นิ่ง"

การใช้สัญญามือสั่งแถว “ตรง” “นิ่ง” หรือ “พัก”

ก. ผู้กำกับลูกเสือ อาจใช้คำสั่งด้วยวาจา หรือด้วยท่าทางก็ได้ คือ ใช้แขนขวา มือกำกระตุกหรือสปริงแขนเข้าหาตัว โดยให้กำมืออยู่เสมอหัวเข็มขัด แทนคำสั่ง “ตรง” หรือ “นิ่ง” มือกำ สลัดหรือสปริงแขนขวาออกไปจากลำตัวทางขวา แทนคำสั่ง “ตามระเบียบ พัก”

เพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียงและมีระเบียบ ก่อนจะใช้สัญญาณมือสั่งแถว ควรใช้เสียงเรียกเตือนด้วยคำว่า “กอง” (ถ้าเป็นลูกเสือสำรองเรียก “แพ็ค” ) แล้วจึงใช้สัญญาณมือสั่งแถว

หมายเหตุ

1. การสั่งแถว “แยก” เมื่อจบการฝึกตอนหนึ่ง เพื่อจะไปฝึกต่อในวิชาอื่น หรือเพื่อย้ายสถานที่ฝึกให้สั่งลูกเสืออยู่ใน “ท่าตรง” ก่อนแล้วสั่งว่า “กอง...แยก” เมื่อลูกเสือได้รับคำสั่งให้ทุกคนทำขวาหันเดินแยกออกไปทางขวามือของตนตามลำพัง

2. เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมในวันนั้น ๆ แล้ว ให้สั่งลูกเสืออยู่ในท่าตรงก่อนแล้วสั่ง “กอง, เลิก” เมื่อลูกเสือได้รับคำสั่งให้ทุกคนทำ วันทยหัตถ์หรือทำ “วันทยาวุธ” ตามลำพังตนเอง และกล่าวถ้อยคำว่า “ขอบคุณครับ/ค่ะ” แล้วเอามือลงและทำขวาหันเดินไปทางขวามือตนเอง

สัญญาณนกหวีด

สำหรับการฝึกประจำวันหรือในโอกาสที่ผู้บังคับบัญชาอยู่ห่างไกลลูกเสือ ใช้สัญญาณประเภทอื่นไม่สะดวกก็ใช้สัญญาณนกหวีด คือ

1. เป่ายาว 1 ครั้ง

หมายความว่า เงียบ, หยุด, คอยฟังคำสั่ง

2. เป่ายาวติดกัน

หมายความว่า ทำต่อไป, เดินต่อไป

3. เป่าสั้นยาวสลับกัน

หมายความว่า เกิดเหตุ “เตรียมพร้อม" ขอความช่วยเหลือ

4. เป่าสั้นสามครั้ง ยาวหนึ่งครั้ง

หมายความว่า เรียกนายหมู่มาที่นี่

5. เป่าสั้นติด ๆ กัน

หมายความว่า รวมกอง

6. เป่ายาวสามครั้ง สั้นหนึ่งครั้ง

หมายความว่า ชักธงลง

หมายเหตุ 1. ก่อนให้สัญญาณ (2 – 6) แต่ละครั้งนั้น ให้ใช้สัญญาณ (1) ก่อนเสมอไป เพื่อเป็นการเตือนให้รู้ว่าจะใช้สัญญาอะไร

2.การใช้สัญญาณกี่ครั้ง ขึ้นอยู่ที่รับคำสั่งได้ยินและปฏิบัติแล้ว ก็หยุดให้สัญญาณได้

การจัดหน้าที่ภายในหมู่ลูกเสือ

1. นายหมู่ลูกเสือ ทำหน้าที่เป็นผู้นำของหมู่ ดูแลสมาชิกภายในหมู่

2. รองนายหมู่ลูกเสือ ทำหน้าที่ช่วยนายหมู่ ช่วยดูแลสมาชิกภายในหมู่

3. พลาธิการ ทำหน้าที่ดูแลวัสดุ อุปกรณ์ บัญชีต่าง ๆ และความเป็นระเบียบเรียบร้อย

4. คนครัว ทำหน้าที่แม่ครัว จัดทำเตา หลุมเปียก หลุมแห้ง ที่ล้างและคว่ำจาน

5. ผู้ช่วยคนครัว ทำหน้าที่ช่วยแม่ครัวทุกประการ

6. คนหาฟืน ทำหน้าที่จัดหาเชื้อเพลิง หาฟืน เก็บฟืนไม่ให้เปียกฝน

7. คนหาน้ำ ทำหน้าที่จัดหาน้ำ สำหรับประกอบอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้

8. ผู้ช่วยเหลือทั่วไป ทำหน้าที่ช่วยงานคนอื่น ๆ พัฒนาที่พัก กำจัดขยะทำราวตากผ้า

(ถ้ามี 8 คนขึ้นไป ให้เพิ่มผู้ช่วยคนหาฟืน หาน้ำหรือตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม)

ให้แต่ละคนรับรู้บทบาทในการทำงานภายในหมู่ ใช้ระบบหมู่ ฝึกและพัฒนาการเป็นผู้นำ - ผู้ตาม รับฟังความคิดเห็น และการยอมรับซึ่งกันและกัน

กิจกรรมลูกเสือ มีหลักการส่งเสริมประชาธิปไตย โดยสมาชิกทุกคนสามารถพูดสามารถแสดงออกได้เสมอ เช่น การเลือกเล่นเกม เพลง การทำความดี การทำกิจกรรมที่น่าสนใจ เป็นต้น

การประชุมนายหมู่ หมายถึง การประชุมนายหมู่ทุกหมู่ โดยมีหัวหน้านายหมู่เป็นประธานในที่ประชุม ให้นายหมู่นำมติหรือข้อตกลงจากที่ประชุมไปแจ้งแก่ลูกหมู่

การประชุมลูกหมู่ หมายถึง การประชุมภายในหมู่ โดยมีนายหมู่เป็นประธานในที่ประชุม นายหมู่จะเป็นผู้กระตุ้นให้ทุกคนพูดคุย เสนอความคิด แสดงเหตุผลในเรื่องต่าง ๆ เช่น เสนอว่าจะทำกิจกรรมอะไร ไปทำกิจกรรมที่ไหน ใครมีหน้าที่อะไร เป็นต้น

การพบหมู่ แตกต่างจากการประชุมหมู่ เพราะจะนัดพบเฉพาะหมู่ของตนเองเพื่อนัดหมายไปทำกิจกรรมเพื่อแสดงความสามารถ การพบกันของสมาชิกจะประสบความสำเร็จคือ การให้โอกาสทุกคนเป็นผู้นำ

บทบาทหน้าที่ของนายหมู่และรองนายหมู่่ แต่ละหมู่จะมีการเลือกนายหมู่และรองนายหมู่ ตามระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งนายหมู่ควรมีการสับเปลี่ยนให้สมาชิกคนอื่นมีโอกาสเป็นนายหมู่และรองนายหมู่ เพื่อเป็นการเปลี่ยนกันทำงาน และฝึกความรับผิดชอบในฐานะผู้นำ บทบาทของนายหมู่และรองนายหมู่ มีดังนี้

1. บริหารงานในหมู่

2. ให้คำปรึกษาแก่สมาชิก

3. เป็นผู้นำในการประชุม

4. แบ่งงานให้สมาชิกทำ

5. เป็นตัวแทนในการประชุมกับหมู่อื่น ๆ

6. แจ้งผลการประชุม

7. ช่วยเหลือสมาชิก

8. จดบันทึกเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ ของหมู่ ศึกษาบทบาทการทำหน้าที่ของนายหมู่ช่วยเหลือนายหมู่ในการดูแลสมาชิก และปฏิบัติหน้าที่เมื่อนายหมู่ไม่อยู่

ระบบหมู่เป็นการฝึกให้สมาชิกได้ร่วมกันทำงานอย่างเป็นระบบ สร้างวินัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยยึดหลักประชาธิปไตย มีนายหมู่และรองนายหมู่เป็นผู้นำ มีการประสานงานกันเป็นอย่างดีทั้งในหมู่ของตนเองและหมู่อื่น ๆ มีการร่วมแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการบริหารงานหมู่ตลอดจนการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

572924530.473242.mp4