หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

การลูกเสือไทย

สาระสำคัญ

พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงค์จักรี ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ทรงได้รับการศึกษาวิชาการหลายแขนง และวิชาการทหารที่ประเทศอังกฤษ ขณะทรงศึกษา ทรงทราบเรื่องการสู้รบ เพื่อรักษาเมือง มาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (B.P.) ที่ได้ตั้งกองทหารเด็ก เป็นหน่วยสอดแนม ช่วยรบกับพวกบัวร์ (Boer) ซึ่งเป็นชาวฮอลันดาและฝรั่งเศส จนประสบความสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก

เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ. 2453 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของกิจการลูกเสือจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้ง “กองเสือป่า” ซึ่งเป็นนามเรียกผู้สอดแนมในการสงครามและทรงสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ตามประกาศจัดตั้งกองลูกเสือ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2454 และตั้งกองลูกเสือสำหรับเด็กชายกองแรกของประเทศไทย ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ปัจจุบันคือโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย) เรียกว่า “กองลูกเสือกรุงเทพที่1” นายชัพน์ บุนนาค เป็นลูกเสือคนแรกของไทย เพราะเป็นผู้ที่สามารถกล่าวคำปฏิญาณของลูกเสือต่อหน้าพระพักตร์ได้

นายชัพน์ บุนนาค

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ทำพิธีประจำกองและพระราชทานธงประจำกอง เพื่อให้ลูกเสือรักษาธงประจำกองไว้ต่างพระองค์และมีพระราชกำหนดเครื่องแต่งตัวลูกเสือให้เหมาะสมกับสมัย ทั้งยังทรงเตรียมการสถาปนา “เนตรนารี” หรือที่เรียกกันว่า “ลูกเสือหญิง” ส่งเสริมเด็กหญิงด้วย แต่ยังไม่ทันประกาศใช้ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อน

การลูกเสือไทยเริ่มขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2454 มีความเจริญก้าวหน้ามาถึงปัจจุบัน นับเนื่องเป็นเวลากว่าหนึ่งร้อยปี แบ่งออกเป็น 5 ยุค

ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2454 - 2468) เป็นยุครัชกาลที่ 6

ยุคส่งเสริม (พ.ศ. 2468 - 2482) เป็นยุครัชกาลที่ 7

ยุคประคับประคอง (พ.ศ. 2482 - 2489) เป็นยุครัชกาลที่ 8 ซึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

ยุคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 - 2559) เป็นยุครัชกาลที่ 9

ยุคปัจจุบัน (พ.ศ. 2559 ) เป็นยุครัชกาลที่ 10

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรากูร รัชกาลที่ 10 ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ มีระเบียบวินัย ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง มีทัศนคติพื้นฐานที่ดี ได้รับการฝึกอาชีพและเข้าสู่อาชีพที่มั่นคงและทรงมีพระบรมราโชบายอยากเห็นคนไทย มีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ สร้างวินัยโดยกิจกรรมลูกเสือ – เนตรนารี

รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานพระราชบัญญัติลูกเสือไว้หลายฉบับ สำหรับฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้ว่า คณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย บรรดาลูกเสือทั้งปวง และบุคลากรทางการลูกเสือ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ

การบริหารงานของคณะลูกเสือแห่งชาติ ประกอบด้วย สภาลูกเสือไทย นายกรัฐมนตรี เป็นสภานายก คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษา ผุู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ

การลูกเสือในสถานศึกษา มีการจัดหน่วยลูกเสือ ประกอบด้วย หมู่ลูกเสือ กองลูกเสือและกลุ่มลูกเสือ โดยมี ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็น ผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นรองผู้อำนวยการลูกเสือโรงเรียน ผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ รองผู้กำกับกลุ่มลูกเสือ ผู้กำกับกองลูกเสือ รองผู้กำกับกองลูกเสือ นายหมู่ลูกเสือ และรองนายหมู่ลูกเสือ

ขอบข่ายเนื้อหา ประกอบด้วย

ตัวชี้วัด

1. อธิบายประวัติการลูกเสือไทย

2. อธิบายความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคณะลูกเสือแห่งชาติ