หน่วยการเรียนรู้ที่ 12 การเดินทางไกล การอยู่ค่ายพักแรมและชีวิตชาวค่าย

เรื่องที่ 1 การเดินทางไกล

การเดินทางไกล เป็นการเดินทางของลูกเสือจากกองลูกเสือ หรือกลุ่มลูกเสือไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานที่ที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งนายหมู่ลูกเสือและผู้กำกับลูกเสือร่วมกันกำหนด เพื่อให้สมาชิกได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันโดยมีระบบหมู่ลูกเสือเป็นหลักในการทำกิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรมและอุดมการณ์ลูกเสือมีความเป็นพี่น้องกันและพัฒนาความเป็นพลเมืองดีตามทัศนะของลูกเสือทั้งนี้เพื่อฝึกความอดทน ความสามัคคี ความมีวินัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนรู้จักการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตกลางแจ้ง ประกอบด้วย

1.1 ความหมายของการเดินทางไกล

1.2 วัตถุประสงค์ของการเดินทางไกล

1.3 หลักการของการเดินทางไกล

1.4 การบรรจุเครื่องหลังสำหรับการเดินทางไกล

1.1 ความหมายของการเดินทางไกล

การเดินทางไกล หมายถึง การเดินทางของลูกเสือจากกองหรือกลุ่มลูกเสือ เพื่อไปทำกิจกรรมที่ใดที่หนึ่งโดยมีผู้กำกับและนายหมู่ลูกเสือเป็นผู้กำหนดร่วมกันเพื่อนำลูกเสือ ไปฝึกทักษะวิชาการลูกเสือเพิ่มเติม ให้รู้จักการใช้ชีวิตกลางแจ้งและสัมผัสกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิด โดยลูกเสือได้ใช้ความสามารถของตนเอง การเดินทางไกลของลูกเสือสามารถเดินทางด้วยเท้า เรือ หรือจักรยานสองล้อรวมถึงรถยนต์อีกด้วย

1.2 วัตถุประสงค์ของการเดินทางไกล มีดังนี้

  1. ) เพื่อฝึกความอดทนความมีระเบียบวินัยและเสริมสร้างสุขภาพอนามัยให้แก่ ลูกเสือ
  2. ) เพื่อให้ลูกเสือมีเจตนารมณ์ และเจตคติที่ดีรู้จักช่วยตนเองและรู้จักทำงานร่วมกับผู้อื่น
  3. ) เพื่อให้มีโอกาสปฏิบัติตามคติพจน์ของลูกเสือและมีโอกาสบริการต่อชุมชนที่ไปอยู่ค่ายพักแรม
  4. ) เพื่อเป็นการฝึกและปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

1.3 หลักการของการเดินทางไกล

การเดินทางไกล ใช้ระบบหมู่เพื่อฝึกความอดทน ความสามัคคี ความมีระเบียบวินัย การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รู้จักการระมัดระวังตัวจากอุบัติเหตุขณะเดินทางและการเตรียมตัว ในการเดินทางให้ได้ใช้ชีวิตกลางแจ้งโดยมีการเตรียมอุปกรณ์เฉพาะบุคคลลงในเครื่องหลังสำหรับเดินทางไกล และเตรียมอุปกรณ์สำหรับหมู่หรือกอง สำหรับสร้างค่ายพักแรมและการใช้ชีวิตชาวค่าย

1.4 การบรรจุเครื่องหลังสำหรับการเดินทางไกล

การบรรจุเครื่องหลังสำหรับการเดินทางไกล เป็นกิจกรรมหนึ่งของลูกเสือ ซึ่งลูกเสือจะต้องมีการเตรียมการเรื่องเครื่องหลังให้พร้อมเหมาะสมกับเดินทางไกลไปพักแรมซึ่งอุปกรณ์ที่จะจัดเตรียม คือ อุปกรณ์เฉพาะบุคคลหรืออุปกรณ์ประจำตัวที่จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมก่อนกำหนดเดินทางควรมีนํ้าหนักไม่มากนัก มีดังนี้

1.เครื่องแต่งกาย เช่น เครื่องแบบลูกเสือและเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ คือหมวก ผ้าผูกคอ เสื้อ กางเกงหรือกระโปรง เข็มขัด ถุงเท้า รองเท้าหรือชุดลำลอง หรือชุดสุภาพ ชุดกีฬา ชุดนอน เป็นต้น

2. เครื่องใช้ประจำตัว เช่น สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า ผ้าฤง ไฟฉาย ขันนํ้า รองเท้าแตะ จาน ชาม ช้อน ยากันยุง ยาขัดโลหะ เชือก หรือยางสำหรับผูกหรือรัดอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ถุงพลาสติกสำหรับใส่เสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือเปียกชื้น เป็นต้น

3. ยาประจำตัว หรืออุปกรณ์ปฐมพยาบาล

4. อุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ และการจดบันทึกกิจกรรม เช่น สมุด ปากกา ดินสอ แผนที่ เข็มทิศ เป็นต้น

5. อุปกรณ์ที่จำเป็นตามฤดูกาล เช่น เสื้อกันฝน เสื้อกันหนาว เป็นต้น

6. อุปกรณ์เครื่องนอน เช่น ผ้าห่ม ถุงนอน เป็นต้น

7.อุปกรณ์ที่ประจำกายลูกเสือเช่น ไม้ง่าม กระติกนํ้า เชือกลูกเสือ เป็นต้น

Video การบรรจุเครื่องหลัง

เครื่องหลัง.mp4

ขอบคุณที่มาจาก ช่อง Pichitpon PFC

https://www.youtube.com/watch?v=gbxAAXxtp40

ข้อแนะนำในการบรรจุเครื่องหลัง

เครื่องหลัง คือ ถุงหรือกระเป๋าสำหรับใส่สิ่งของต่าง ๆ และใช้สะพายหลังเพื่อให้สามารถนำสิ่งของไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก เครื่องหลังจึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นมากสำหรับกิจกรรมการเดินทางไกลเพราะลูกเสือต้องใช้บรรจุอุปกรณ์ประจำตัวอุปกรณ์ ประจำหมู่ ซึ่งต้องนำไปใช้ในการอยู่ค่ายพักแรม การบรรจุสิ่งของลงในถุงเครื่องหลัง หรือกระเป๋า มีข้อแนะนำดังนี้

1.ควรเลือกเครื่องหลังที่มีขนาดพอเหมาะไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป

2.ควรบรรจุสิ่งของที่มีนํ้าหนักมากหรือสิ่งของที่ใช้ภายหลังไว้ข้างล่างส่วนสิ่งของที่ใช้ก่อนหรือใช้รีบด่วน เช่น ไฟฉาย เสื้อกันฝน ไม้ขีดไฟให้ไว้ข้างบนสุดของเครื่องหลังซึ่งสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างสะดวก

3.ควรบรรจุสิ่งของนุ่ม ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม เสื้อผ้าใส่ในเครื่องหลังตรงส่วนที่จะสัมผัสกับหลังของลูกเสือเพื่อจะได้ไม่เจ็บหลังขณะเดินทาง

4.สิ่งของบางประเภท เช่น ยารักษาโรค ข้าวสาร เป็นต้น ควรใส่ถุงผ้าหรือ ถุงพลาสติกก่อน แล้วจึงบรรจุลงเครื่องหลัง

5.ในกรณีที่ถุงนอน และผ้าห่มบรรจุเครื่องหลังไม่ได้ ให้ผูกถุงนอนและผ้าห่มนอน ของลูกเสือไว้นอกเครื่องหลัง คลุมด้วยพลาสติกใสเพื่อกันเปียกนํ้า

6. เครื่องหลังที่ลูกเสือนำไปต้องไม่หนักจนเกินไป เพราะถ้าหนักเกินไปจะทำให้ลูกเสือเหนื่อยเร็ว นํ้าหนักของเครื่องหลังควรหนักไม่เกิน 1 ใน 5 ของนํ้าหนักตัวลูกเสือ เช่น ถ้าลูกเสือหนัก 50 กิโลกรัม เครื่องหลังควรหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม เป็นต้น ปัจจุบันเครื่องหลังที่ใช้บรรจุสิ่งของนั้นมีหลายชนิดแล้วแต่ลูกเสือจะเลือกใช้ เช่น กระเป๋า ย่าม หรือเป้ ลูกเสือควรเลือกใช้เครื่องหลังที่มีลักษณะคล้ายเป้ เพราะมีช่องสำหรับบรรจุสิ่งของหลายประเภท