หน่วยการเรียนรู้ที่ 6

ลูกเสือ กศน. กับการพัฒนา

สาระสําคัญ

การลูกเสือไทยได้ถือกำเนิดโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีความเจริญรุดหน้า สืบมากว่า 107 ปีอย่างมีคุณค่า และ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 มีพระบรมราโชบาย ด้านการศึกษากับความมั่นคง มีพระราชประสงค์เห็นคนไทยมีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ สร้างวินัยโดยกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ดังนั้น สํานักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสํานักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตสําหรับประชาชน มีความตระหนักและ เห็นคุณค่าของกิจการลูกเสือ ซึ่งเป็นพระราชมรดกอันล้ำค่ายิ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานไว้ให้แกปวงชนชาวไทย จึงได้น้อมนํากิจการลูกเสือ กระบวนการลูกเสือ รวมทั้งเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลูกเสือมาเป็นหลักในการจัดกิจกรรม ส่งเสริมประสบการณ์ให้ผู้เรียน กศน. ในฐานะที่เป็นลูกเสือ กศน. ให้มีทักษะชีวิต สามารถดํารงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถนําอุดมการณ์ คําปฏิญาณ และกฎของลูกเสือ มาใช้ในชีวิตประจําวัน มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม และมีความสง่างามในการ ดํารงตนให้เป็นพลเมืองดี มีจิตสาธารณะการให้บริการ และบําเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ลูกเสือ กศน. ได้นำสาระสำคัญของลูกเสือวิสามัญ มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษา กศน. ซึ่งมีบทบาทของลูกเสือวิสามัญที่ต้องประพฤติปฏิบัติตนตามคติพจน์ของลูกเสือวิสามัญ คือ “บริการ” จึงต้องพัฒนาความสามารถ ศักยภาพ และสมรรถนะที่ทันต่อความจำเป็น ความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รู้วิธีการวางแผนพัฒนาตนเองในบทบาทของผู้นำและผู้ตาม

ลูกเสือ กศน. ต้องตระหนักถึงการช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนแต่มีความภาคภูมิใจที่ได้มีโอกาสได้เป็นพลเมืองดี ตามคติพจน์ของลูกเสือ กศน. คือ “บริการ” ซึ่งเป็นการประกอบคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติด้วยถือว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุดแห่งชีวิต

ผู้เรียน กศน. ที่สมัครเข้าเป็น “ลูกเสือ กศน.” ต้องเริ่มต้นด้วยการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตโดยการใช้กระบวนการ “คิดเป็น” มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ และต้องแต่งเครื่องแบบลูกเสือวิสามัญเข้าพิธีประจำกองลูกเสือวิสามัญ มีการพิจารณา ทบทวน คำปฏิญาณและกฏของลูกเสือเพื่อสร้างเสริมความเป็นพลเมืองดี มีศีลธรรม มีระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีปรองดองซึ่งเป็นวิถีทางให้เกิดความสงบสุขในการดำรงอยู่ของชาติ

ลูกเสือ กศน. จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการรู้จักตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อให้เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม มีคุณธรรมในการดำรงชีวิต ร่วมแรงร่วมใจเสียสละเพื่อส่วนรวมและจำเป็นต้องสำรวจตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อการพัฒนาตนเอง พัฒนาสัมพันธภาพระหว่างบุคคลและพัฒนาสัมพันธภาพภายในชุมชนและสังคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์จัดลำดับความเป็นไปได้ในการพัฒนา

ขอบข่ายเนื้อหา ประกอบด้วย

ตัวชี้วัด

1. อธิบายความเป็นมา และความสำคัญของลูกเสือ กศน.

2. อธิบายลูกเสือ กศน. กับการพัฒนา

3. ระบุบทบาทหน้าที่ของลูกเสือ กศน. ที่มีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม

4. ระบุบทบาทหน้าที่ของลูกเสือ กศน. ที่มีต่อสถาบันหลักของชาติ