หน่วยการเรียนรู้ที่ 7

ลูกเสือ กศน. กับจิตอาสาและการบริการ

สาระสำคัญ

จากคำปฏิญาณของลูกเสือที่ว่า “ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ” และลูกเสือ กศน. ซึ่งเป็นลูกเสือวิสามัญมีคติพจน์ว่า “บริการ” จึงเป็นผู้ที่มีจิตอาสา คือ ผู้ที่ไม่นิ่งดูดาย เป็นผู้เอาใจใส่และเป็นผู้มีจิตสำนึก มีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยการประพฤติ ปฏิบัติตน มีความรับผิดชอบ มีวินัยในตนเอง รู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ยอมรับฟ้งความคิดเห็นของผู้อื่น เคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนเต็มใจที่ช่วยเหลือและบริการผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

“จิตอาสา” เป็นการตระหนักรู้และแสดงออกในการช่วยเหลือทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยมีคุณธรรมเป็นหลักในการปฏิบัติ

“บริการ” เป็นการลงมือปฏิบัติด้วยความจริงใจ มีความสามารถ มีทักษะในการให้บริการด้วยความชำนาญ ว่องไว ไว้ใจได้และเชื่อถือได้

การบริการ เปรียบเสมือน “หัวใจสำคัญ” ของลูกเสือ กศน.ในการเป็นจิตอาสาและการให้บริการ คือ ต้องพัฒนาจิตใจให้อยู่ในศีลธรรมไม่เอาเปรียบผู้ด้อยกว่ารู้จักการให้ การเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อผู้อื่น

หลักการของจิตอาสาและหลักการของการบริการมีความใกล้เคียงกันคือ มีที่มาจากการพัฒนาตนเองให้มีจิตสำนึกที่ดีและมีน้ำใจ ตั้งใจทำงานให้เสร็จด้วยความมั่นใจ มีความรับผิดชอบ อุทิศตนให้แก่งานอย่างจริงจัง โดยไม่หวังผลตอบแทน ดังนั้นจึงต้องฝึกอบรมให้มีลักษณะนิสัย สติปัญญา สุขภาพ ทักษะการฝีมือ หน้าที่พลเมืองและการบำเพ็ญประโยชน์กับผู้อื่นในฐานะการเป็นพลเมืองดี

กิจกรรมจิตอาสาและการให้บริการของลูกเสือ กศน. จะต้องมีความเลื่อมใสศรัทธาในคำว่า “บริการ” และลงมือปฏิบัติด้วยความตระหนักถึงสภาวะแวดล้อม สถานภาพของตนเองก่อน จะได้ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว ในฐานะลูกเสือ กศน.จะต้องปฏิบัติตนเพื่อเป็นจิตอาสาต้องพัฒนาตนเองให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและความรับผิดชอบต่อสังคม

ขอบข่ายเนื้อหา

ตัวชี้วัด

1. อธิบายความหมายและความสำคัญของจิตอาสาและการบริการ

2. อธิบายหลักการของจิตอาสาและการบริการ

3. ยกตัวอย่างกิจกรรมจิตอาสาและการบริการของลูกเสือ กศน.

4. นำเสนอผลการปฏิบัติตนในฐานะลูกเสือกศน. เพื่อเป็นจิตอาสาและการบริการ