หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 คุณธรรม จริยธรรมของลูกเสือ

เรื่องที่ 1 คําปฏิญาณ และกฎของลูกเสือ

การอยู่ร่วมกันในสังคม จำเป็นต้องอาศัย กฎ ระเบียบ เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินชีวิตให้เป็นปกติสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศ ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก และยั่งยืน

1.1 ความหมายคำปฏิญาณของลูกเสือ

คำปฏิญาณของลูกเสือ คือ คำมั่นสัญญาที่ลูกเสือทุกคนต้องให้ไว้แก่ผู้บังคับบัญชา เป็นถ้อยคำที่กล่าวออกมาด้วยความจริงใจและสมัครใจ คำกล่าวนี้สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตการเป็นลูกเสือ เมื่อกล่าวแล้วต้องปฏิบัติตามให้ได้เป็นการส่งเสริมให้ลูกเสือรักเกียรติของตน เพื่อความเป็นพลเมืองดีของชาติ โดยอาศัยคำปฏิญาณเป็นอุดมการณ์นำไปปฏิบัติในชีวิตได้

คำปฏิญาณของลูกเสือ

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

เพื่อความชัดเจนในคำปฏิญาณของลูกเสือทั้ง 3 ข้อ มีคำอธิบาย ดังนี้

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ชาติประกอบด้วย แผ่นดิน น่านน้ำ และประชาชนพลเมืองที่อยู่รวมกันโดยมีกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นหลักปฏิบัติ ลูกเสือทุกคนต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองดีของชาติ ศาสนา ทุกศาสนามีความมุ่งหมายเดียวกัน คือ สอนให้ทุกคนเป็นคนดีละเว้นความชั่ว ให้กระทำแต่ความดี ลูกเสือทุกคนต้องมีศาสนา ลูกเสือจะนับถือศาสนาใด ๆ ก็ได้พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขของคณะลูกเสือแห่งชาติ ลูกเสือทุกคนต้องปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาท

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ลูกเสือทุกคนเป็นผู้มีจิตอาสา ไม่นิ่งดูดาย เอาใจใส่ผู้อื่น มีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวมทุกโอกาสที่พึงกระทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกเสือเป็นผู้มีเกียรติ และได้รับการยกย่องชื่นชมจากประชาชนทั่วไป

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือเปรียบเสมือนศีลของลูกเสือที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งดีงาม

1.2 ความหมายกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือ หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ลูกเสือต้องยึดเป็นแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน กฎของลูกเสือมี 10 ข้อ ดังนี้

กฎของลูกเสือ

ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้

ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ

ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น

ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก

ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย

ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์

ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ

ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์

ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

เพื่อความชัดเจนในกฎของลูกเสือทั้ง 10 ข้อ มีคำอธิบาย ดังนี้

ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้

ลูกเสือต้องประพฤติตนเป็นคนดี เป็นผู้มีระเบียบวินัย ผู้อื่นย่อมจะชื่นชมเชื่อถือจะเป็นที่ไว้วางใจแก่คนทั้งหลาย โดยเฉพาะในขณะที่ลูกเสือสวมเครื่องแบบอันทรงเกียรติย่อมจะไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่ก่อให้เกิด ความเสื่อมเสียเกียรติภูมิของลูกเสือ

ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ

ลูกเสือต้องเทิดทูน สถาบันทั้ง 3 คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บรรพบุรุษของเรายอมพลีชีพเพื่อชาติมาแล้ว เพื่อรักษาสถาบันทั้ง 3 นี้ไว้ เพื่อให้ประเทศชาติของเรามั่นคงอยู่ต่อไป จงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดในฐานะที่เราเป็นลูกเสือ

ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์ และช่วยเหลือผู้อื่น

ลูกเสือต้องเป็นผู้รู้จักการเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว พร้อมที่จะบำเพ็ญประโยชน์ให้กับบ้าน สถานศึกษา สังคม ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติ ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความสามารถและโอกาส และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถให้พึ่งตนเองได้ และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคน และเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก

ลูกเสือต้องเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ทุก ๆ คน โดยไม่เลือกว่าเป็นเชื้อชาติ ศาสนาใด ๆ รวมทั้งมีความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก ต้องมีการทำงานร่วมกัน ต้องอยู่ร่วมกัน ต้องประพฤติปฏิบัติดี ทั้งกาย วาจา ใจ คือต้องรู้จักแสดงน้ำใจกับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เสียสละ มีอัธยาศัยไมตรีกับคนทั่วไป ยิ้มแย้มแจ่มใส

ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย

ลูกเสือต้องเป็นผู้ที่มีกิริยาและวาจาสุภาพ อ่อนโยน อ่อนน้อม มีสัมมาคารวะทั้งทางกาย วาจา และใจ ไม่ยกตนข่มท่าน แต่งกายสะอาดเรียบร้อย แสดงทางวาจา นุ่มนวล ไม่กล่าวร้ายล่วงเกิน เตือนตนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน

ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตา กรุณาต่อสัตว์

ลูกเสือต้องเป็นคนที่มีใจเมตตา กรุณาต่อสัตว์ ไม่รังแกสัตว์ หรือทรมานทารุณสัตว์ให้รับความเจ็บปวด หรือกักขังสัตว์ มีใจปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดา มารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ

ลูกเสือต้องเคารพและเชื่อฟังคำสั่งบิดามารดาซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยงดูเราจนเติบใหญ่มีพระคุณอย่างใหญ่หลวง และต้องเชื่อฟังคำสั่งของครู อาจารย์ และผู้บังคับบัญชาที่ล้วนมีประสบการณ์ในชีวิตที่สามารถชี้แนะแนวทาง ให้สิ่งที่ดีแก่เรา ลูกเสือจึงต้องเคารพและเชื่อฟัง

ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ลูกเสือต้องเป็นผู้ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงอยู่เสมอ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากแสดงถึงมิตรภาพ มีไมตรีจิตที่ดีต่อกันด้วยความเต็มใจ

ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์

ลูกเสือต้องเป็นผู้รู้จักเก็บหอมรอมริบ ประหยัด ใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นตามฐานะของตน ต้องประหยัดทรัพย์สินทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วยรวมทั้งต้องไม่รบกวนเบียดเบียนผู้อื่น

ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

ลูกเสือต้องรู้จักสำรวมกาย วาจา และใจ คือ "ทำดี คิดดี พูดดี” ไม่ทำให้ตนเอง และผู้อื่นเดือดร้อน ต้องรู้จักเหนี่ยวรั้ง ควบคุมสติ บังคับ ข่มใจตนเอง ละอายตนเอง คำนึงถึงมรรยาทของตนเองตลอด จนไม่คิดเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น เป็นผู้ที่สุภาพอ่อนโยนปฏิบัติตนให้เหมาะกับกาลเทศะและสังคม

1.3 ความหมายคติพจน์ของลูกเสือ

1.3.1 คติพจน์ทั่วไปของลูกเสือ

เสียชีพอย่าเสียสัตย์ หมายความว่า ลูกเสือต้องรักษาความซื่อสัตย์ มีสัจจะยิ่งชีวิต จะไม่ละความสัตย์ถึงแม้จะถูกบีบบังคับจนเป็นอันตรายถึงกับชีวิตก็ไม่ยอมเสียสัจจะเพื่อเกียรติภูมิแห่งตน

1.3.2 คติพจน์ของลูกเสือแต่ละประเภท

ลูกเสือสำรอง “ทำดีที่สุด” หมายความว่า ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด

ลูกเสือสามัญ “จงเตรียมพร้อม” หมายความว่า เตรียมความพร้อมขิงตนทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบ

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ “มองไกล” หมายความว่า มองให้กว้างและไกล ฉลาดที่จะมองเห็นความจริงของสิ่งต่าง ๆ ว่าผลจากการกระทำภารกิจของตน อาจส่งผลกระทบถึงภารกิจอื่น บุคคลอื่น

ลูกเสือวิสามัญ “บริการ” หมายความว่า กระทำด้วยความตั้งใจที่จะให้ผู้อื่นหรือผู้รับบริการได้รับสิ่งที่เหมาะสมที่สุดเสมอ โดยไม่หวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทนใด ๆ