หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ลูกเสือกับการพัฒนา

เรื่องที่ 1 สาระสำคัญของการลูกเสือ

พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมายของคำว่า “ลูกเสือ” หมายถึงเด็กและเยาวชนทั้งชายและหญิง ที่สมัครเข้าเป็นลูกเสือทั้งในสถานศึกษา และนอกสถานศึกษา ส่วนลูกเสือที่เป็นหญิงให้เรียกว่า “เนตรนารี”

การลูกเสือ หมายถึง กิจการที่นำเอาวัตถุประสงค์ หลักการ และวิธีการของขบวนการลูกเสือมาใช้เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ขอบข่ายเนื้อหา ประกอบด้วย

1.1 วัตถุประสงค์ของการลูกเสือ

1.2 หลักการสำคัญของการลูกเสือ

1.1 วัตถุประสงค์ของการลูกเสือ

การลูกเสือ เป็นขบวนการสำคัญยิ่งของการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกเพราะเป็นกิจกรรมพัฒนาเยาวชนให้มีคุณธรรมสูง ส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดี และมีความเป็นผู้นำในการพัฒนาเยาวชนนั้น พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดวัตถุประสงค์ในมาตรา 8 ความว่า “คณะลูกเสือแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรมให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคี และมีความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติ” ตามแนวทางดังต่อไปนี้

1) ให้มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟังและพึ่งตนเอง

2) ให้ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

3) ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์

4) ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนให้ทำกิจการต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

5) ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศชาติ

ซึ่งสอดคล้องกับธรรมนูญขององค์การลูกเสือโลก ว่าด้วยขบวนการลูกเสือที่ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือไว้ดังต่อไปนี้

“วัตถุประสงค์ของขบวนการลูกเสือ คือ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางกาย สติปัญญา สังคม จิตใจและศีลธรรม ให้แก่เยาวชนเป็นรายบุคคล เพื่อให้เขาเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นสมาชิกระดับชุมชน ท้องถิ่น ชาติ และนานาชาติ”

การพัฒนาทางกาย เพื่อให้มีร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง เพียบพร้อมด้วยสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ โดยการส่งเสริมการใช้ชีวิตกลางแจ้ง

การพัฒนาทางสติปัญญา เพื่อให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด พึ่งพาตนเองได้ โดยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการกระทำร่วมกัน

การพัฒนาทางจิตใจ เพื่อให้มีคุณธรรม จริยธรรมในการดำรงชีวิต โดยยึดคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเป็นหลักประจำใจและนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

การพัฒนาทางสังคม เพื่อให้มีจิตอาสา คิดดี ทำดี และมีความเป็นพลเมืองดี สามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

1.2 หลักการสำคัญของการลูกเสือ

ลอร์ด เบเดน โพเอลล์(B.P.)

ลอร์ด เบเดน โพเอลล์(B.P.) ได้กำหนดหลักการสำคัญของการลูกเสือไว้ 8 ประการ ดังนี้

1) ลูกเสือเป็นผู้มีศาสนา

2) ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง

3) ลูกเสือมีความเชื่อมั่นในมิตรภาพ และความเป็นภราดรภาพของโลก

4) ลูกเสือเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น

5) ลูกเสือเป็นผู้ยึดมั่นและปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ

6) ลูกเสือเป็นผู้อาสาสมัคร

7) ลูกเสือย่อมไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

8) มีกำหนดการพิเศษสำหรับการฝึกอบรมเด็กชาย และคนหนุ่มเพื่อให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบ โดยอาศัยวิธีการระบบหมู่ ระบบกลุ่ม มีการทดสอบเป็นขั้นๆตามระดับของหลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ และใช้กิจกรรมกลางแจ้ง

ลอร์ด เบเดน โพเอลล์(B.P.) ได้เขียนสาส์นฉบับสุดท้ายถึงลูกเสือ มีข้อความสำคัญดังนี้

1) จงทำตนเองให้มีอนามัยและแข็งแรงในขณะที่ยังเป็นเด็ก

2) จงพอใจในสิ่งที่เธอมีอยู่และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด

3) จงมองเรื่องราวต่าง ๆ ในแง่ดี แทนที่จะมองในแง่ร้าย

4) ทางอันแท้จริงที่จะหาความสุข คือโดยการให้ความสุขแก่ผู้อื่น

5) จงพยายามปล่อยอะไรไว้ในโลกนี้ให้ดีกว่าที่เธอได้พบ และ

6) จงยึดมั่นในคำปฏิญาณของลูกเสือของเธอไว้เสมอ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า "เด็กผู้ชายเป็นผู้ที่สมควรได้รับการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ เปรียบเหมือนไม้ที่ยังอ่อน จะดัดให้เป็นรูปอย่างไรก็เป็นไปได้โดยง่ายและงดงาม ถ้ารอไว้จนแก่เสียแล้วเมื่อจะดัดก็ต้องเข้าไฟ และมักจะหักได้ เพื่อจะได้รู้จักหน้าที่ ผู้ชายไทยทุกคนควรประพฤติให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน"

หลักการของลูกเสืออยู่ที่การปฏิบัติตามคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ

คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ มีดังนี้

คำปฏิญาณของลูกเสือสำรอง

ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน

กฎของลูกเสือสำรอง

ข้อ 1 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่

ข้อ 2 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง

ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือวิสามัญ

คำปฏิญาณ

ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า

ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ

ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

กฎของลูกเสือ มี 10 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้

ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ

ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น

ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก

ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย

ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์

ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ

ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์

ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ

สรุปได้ว่า หลักการของลูกเสือ มุ่งส่งเสริมสร้างสรรค์ให้ลูกเสือยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมลูกเสือและใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองให้เกิดความสุข ให้เป็นคนดี คนเก่ง พึ่งพาตนเอง เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่นได้ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยยึดหลักการ คำปฏิญาณและกฎของลูกเสือเป็นหลักปฏิบัติ