หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 การลูกเสือโลก

เรื่องที่ 2 องค์การลูกเสือโลก

การลูกเสือโลกเป็นขบวนการทางการศึกษาสำหรับเยาวชน มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างบุคลิกภาพและพัฒนาการทางด้านสังคม เป็นองค์การอาสาสมัครไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เปิดโอกาสสำหรับคนทั่วไป โดยขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามหลักการสำคัญของการลูกเสือที่ได้กำหนดขึ้นโดยผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลกและยึดมั่นตามคำสอนของศาสนาที่ตนเคารพนับถือ มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ช่วยสร้างเสริมสันติภาพความเข้าใจอันดีและให้ความร่วมมือ มีความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง เข้าร่วมในการพัฒนาสังคมด้วยการยกย่องและเคารพในเกียรติของบุคคลอื่น เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลก เป็นวิธีการพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบบนพื้นฐานคำปฏิญาณตามกฎของลูกเสือ เรียนรู้โดยการกระทำ วิธีการระบบหมู่ พัฒนาความก้าวหน้าของบุคคลโดยใช้หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ กิจกรรมกลางแจ้ง

องค์การลูกเสือโลก คือ องค์การนานาชาติที่มิใช่องค์การของรัฐบาลใด มีหน้าที่รักษาและดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกภาพ ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการลูกเสือทั่วโลกให้มีการพัฒนา และก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีธรรมนูญเป็นกฎหมายสำหรับยึดถือปฏิบัติในการดำเนินการลูกเสือทั่วโลก มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการ คือ สมัชชาลูกเสือโลก คณะกรรมการลูกเสือโลก และสำนักงานลูกเสือโลก

สมัชชาลูกเสือโลก (World Scout Conference) คือ ที่ประชุมของผู้แทนคณะลูกเสือประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มมีการประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1920 (พ.ศ. 2463) และหลังจากนั้นโดยปกติมีการประชุมทุก ๆ 2 ปี ตั้งแต่ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 32 และจะเปลี่ยนเป็นการประชุมทุกระยะ 3 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ครั้งที่ 33 เป็นต้นไป ซึ่งจัดขึ้น ณ ประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2536 ประเทศต่าง ๆ ที่ได้จัดประชุมสมัชชาลูกเสือโลกแล้ว มีดังนี้

คณะกรรมการลูกเสือโลก มีหน้าที่โดยย่อ ดังนี้

1) ส่งเสริมกิจการลูกเสือทั่วโลก

2) แต่งตั้งเลขาธิการ และรองเลขาธิการของสำนักงานลูกเสือโลก

3) ควบคุมปฏิบัติงานของสำนักงานลูกเสือโลก

4) จัดหาเงินทุนสำหรับส่งเริมกิจการลูกเสือ

5) ให้เครื่องหมายลูกเสือสดุดี Bronze Wolf ของคณะลูกเสือ แก่ผู้ที่ได้มีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมลูกเสืออย่างดีเด่น

คนไทยคนที่ได้รับเครื่องหมายลูกเสือสดุดีบรอนซ์วูล์ฟ (Bronze Wolf Award)ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของ องค์การลูกเสือโลก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2551

สำนักงานลูกเสือโลก มีหน้าที่โดยย่อ ดังนี้

1) ดำเนินการตามมติของสมัชชาและคณะกรรมการลูกเสือโลก

2) ติดต่อกับประเทศสมาชิกและองค์การที่เกี่ยวข้อง

3) ประสานงานกับประเทศสมาชิก

4) ส่งเสริมกิจการลูกเสือโดยทั่วไป

สำนักงานลูกเสือโลกมีสำนักงานสาขาอีก 6 เขต คือ

1. ภาคพื้นยุโรป (Europe) - มีประเทศสมาชิก 41 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม

2. ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific) - มีประเทศสมาชิก 24 ประเทศสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

3. ภาคพื้นยูเรเชีย (Eurasia) - มีประเทศสมาชิก 9 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ยัลตา - เกอร์ชัฟ สาธารณรัฐยูเครน และสำนักงานสาขา กรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย

4. ภาคพื้นอินเตอร์อเมริกา (Interamerica) - มีประเทศสมาชิก 32 ประเทศสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงซานติเอโก ประเทศชิลี

5. ภาคพื้นอาหรับ (Arab) - มีประเทศสมาชิก 18 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์

6. ภาคพื้นอาฟริกา (Africa) - มีประเทศสมาชิก 37 ประเทศ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และมีสาขาแยกออกไปคือ

6.1. สำนักงานสาขา 1 ตั้งอยู่ที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล

6.2. สำนักงานสาขา 2 ตั้งอยู่ที่ กรุงเคปทาวน์ ประเทศอาฟริกาใต้