หน่วยการเรียนรู้ที่ 8 การเขียนโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม

เรื่องที่ 4 ขั้นตอนการเขียนโครงการ

ขั้นตอนการเขียนโครงการ มีดังนี้

1. สํารวจชุมชนและสังคม เป็นการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะ สภาพปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อนําข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ และกําหนดแนวทางการพัฒนาการแก้ปัญหา โดยการศึกษาสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหา เพื่อหาวิธีการ คิดค้นวิธีการพัฒนาและสาเหตุของปัญหา โดยใช้วิธีการสํารวจข้อมูลที่หลากหลาย เช่น การสังเกตการณ์ศึกษาภูมิหลังของชุมชน การสัมภาษณ์ การสอบถาม การทําเวทีประชาคม เป็นต้น

2. ตรวจสอบข้อมูล หลังจากที่มีการสํารวจข้อมูลชุมชนและเมื่อนําข้อมูลมาสรุปเรียบร้อยแล้ว เพื่อความถูกต้อง ชัดเจนของข้อมูลดังกล่าว ควรจัดให้มีเวทีเพื่อการตรวจสอบข้อมูล โดยกลุ่มเป้าหมายที่ให้ข้อมูลที่สํารวจมาได้มีความถูกต้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

3. นําข้อมูลที่ได้หลังจากตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว มาวิเคราะห์ พร้อมจัดลําดับ ความสําคัญเพื่อจําแนกความสามารถในการจัดทําโครงการ

4. การกําหนดแนวทางการดําเนินงานเพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาชุมชนและสังคม เมื่อผู้รับผิดชอบโครงการได้สํารวจชุมชนและสังคม ดําเนินการวิเคราะห์สภาพปัญหาของชุมชนและสังคมและผลสรุปการวิเคราะห์ของสภาพปัญหาชุมชนและสังคมแล้ว ก็ต้องมากําหนดแนวทางการดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนและสังคม ว่าชุมชนและสังคมนั้น ๆ มีสภาพปัญหา เป็นอย่างไร มีความต้องการอย่างไร แล้วจึงกําหนดแนวทางแก้ไขตามสภาพปัญหานั้น หรือเขียนแนวทางเพื่อสนองความต้องการของชุมชนและสังคมนั้น ๆ ทั้งนี้ ควรเขียนในลักษณะของโครงการเพื่อดําเนินการ

ในการกําหนดแนวทางการดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนและสังคม ควรขอความร่วมมือจากบุคคล หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะดําเนินการแก้ไขปัญหา หรือพัฒนาได้ เข้ามาร่วมในการกําหนดแนวทางการดําเนินงาน หรือร่วมกันเขียนโครงการด้วย

5. การเขียนและเสนอขออนุมัติโครงการ การเขียนโครงการ ผู้เขียนโครงการ ต้องนําข้อมูลจากการศึกษาสภาพปัญหาของชุมชนและสังคมและข้อมูลที่ได้จากการกําหนดแนวทางการดําเนินงาน มาใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเขียนโครงการ ซึ่งการเขียนโครงการควรเขียนให้เป็นไปตามรูปแบบขององค์ประกอบการเขียนโครงการ (ดังตัวอย่าง)

ตัวอย่างการเขียนโครงการ

1. ชื่อโครงการ : โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (กิจกรรมปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ)

2. หลักการและเหตุผล :

ด้วยสภาพในปัจจุบัน มีจํานวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ทําให้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ ถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองจนน่าวิตก สภาพป่าและต้นไม้ถูกทําลายลงอย่างมากมาย รวมถึงบ้านเมืองขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว ทําให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ขาดพื้นที่สีเขียว และร่มเงาจากต้นไม้สําหรับพักผ่อนหย่อนใจ

ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ร่มเย็น เป็นปอดของคนเมือง ซึ่งเป็นการช่วยรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทางอ้อม รวมทั้งยังเป็นการฝึกให้ลูกเสือเกิดความรักและหวงแหนในต้นไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ จึงเห็นสมควรให้มีการจัดโครงการนี้ขึ้น

3. วัตถุประสงค์ :

3.1 เพื่อให้มีต้นไม้เพิ่ม พื้นที่ป่า เพื่อเป็นร่มเงาสําหรับการพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น

3.2 เพื่อให้ลูกเสือตระหนักถึงความสําคัญของต้นไม้ว่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์และสัตว์

3.3 ให้ลูกเสือได้มีโอกาสบําเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม

3.4 ฝึกให้ลูกเสือมีทักษะในการปลูกและรักษาต้นไม้มากยิ่งขึ้น

4. เป้าหมาย :

4.1 เชิงปริมาณ ลูกเสือต้องปลูกต้นไม้อย่างน้อย คนละ 1 ต้น

4.2 เชิงคุณภาพ ลูกเสือมีส่วนร่วมบำเพ็ญประโยชน์ในการปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่ป่า

5. วิธีดําเนินงาน :

5.1 ประชุมวางแผนการปลูกต้นไม้ร่วมกับสมาชิกกองลูกเสือ กศน.

5.2 ติดต่อของพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์เพาะชํากล้าไม้

5.3 จัดสภาพแวดล้อมบริเวณที่จะปลูกต้นไม้ ติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปทราบและ ขอความร่วมมือในการบํารุงรักษาต้นไม้

5.4 ให้ลูกเสือจัดเตรียมเครื่องมือและอาหารไปให้พร้อม

5.5 ลงมือปฏิบัติการ

5.6 สรุปและประเมินผล

6. สถานที่ : สวนสาธารณะ วัด หรือโรงเรียน

7. ระยะเวลา : ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน

8. งบประมาณ : ใช้เงินบริจาค จํานวน 3,500.00 บาท

9. ผู้รับผิดชอบโครงการ : ผู้เสนอโครงการร่วมกับสมาชิกกองลูกเสือ กศน.

10. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : ศูนย์เพาะชํากล้าไม้

11. การติดตาม ประเมินผล : สังเกตพฤติกรรมของลูกเสือ กศน.

12. ผลที่คาดว่าจะได้รับ : ชุมชนมีพื้นที่สีเขียว หรือมีต้นไม้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มพื้นที่ปอดสำหรับคนในชุมชน มีร่มเงาของต้นไม้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจมากขึ้น

13. ผู้ประสานงานโครงการ ............................................


ลงชื่อ ......................................ผู้เสนอโครงการ

(........................................)

นายหมู่ลูกเสือ กศน. อําเภอ/เขต .......................

ลงชื่อ...................................ที่ปรึกษาโครงการ

(...........................................)

ครู กศน. ตําบล ผู้กํากับกองลูกเสือ

ลงชื่อ................................. ผู้เห็นชอบโครงการ

(……………......…….…………)

ครู.................................... ผู้กํากับกลุ่มลูกเสือ

ลงชื่อ.....................................ผูู้อนุมัติโครงการ

(............................................)

ผู้อํานวยการ กศน. อําเภอ/เขต...................................

ผูู้อํานวยการลูกเสือ กศน. อําเภอ/เขต..........................