หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 วินัย และความเป็นระเบียบเรียบร้อย

เรื่องที่ 5 การพัฒนาภาวะผู้นำ – ผู้ตาม

ผู้นำและภาวะผู้นำ หมายถึง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ตัดสินใจ และสามารถนำพาสมาชิกในกลุ่มร่วมมือกันปฏิบัติภารกิจด้วยความเต็มใจจริงใจ เพื่อให้ภาระงานลุล่วงไปด้วยดี

ลักษณะของผู้นำที่ดี ประกอบด้วย

1. มีน้ำใจจะพัฒนามุ่งเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

2. มีความเชื่อมั่นในตนเอง

3. เป็นผู้ที่รักการทำงานร่วมกับสมาชิกภายในหมู่และกอง

4. เป็นผู้ที่เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และยอมรับเอาแนวความคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้

5. มีบุคลิกลักษณะของการเป็นผู้นำ

6. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มองเห็นความต้องการของกลุ่ม

7. เป็นผู้เสียสละมุ่งทำประโยชน์ต่อส่วนรวม

8. เป็นผู้ที่มีความสามารถในการรวมกลุ่ม

9. เป็นผู้ที่มีความสามารถในการประสานงานกับหมู่อื่น ๆ

10. เป็นผู้ที่มีความสนใจต่องาน

11. เป็นผู้เข้าใจในขบวนการเปลี่ยนแปลง

12. เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

คุณสมบัติของผู้นำที่ดี

ผู้นำที่ดีควรจะประกอบด้วยคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้

1. มีความรู้ การเป็นผู้นำนั้น ความรู้เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด เพราะจะเป็นเครื่องมือช่วยรักษาสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

2. มีความคิดริเริ่ม ความคิดริเริ่มคือ ความต้องการที่จะปฏิบัติสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ต้องมีคำสั่งและแสดงข้อคิดเห็นที่จะแก้ไขสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ดีขึ้นหรือเจริญขึ้น

3. มีความกล้าหาญ ความกล้าหาญคือ ลักษณะอาการที่ไม่กลัวต่ออันตรายความลำบากหรือความเจ็บปวดใด ๆ โดยสามารถควบคุมความกลัวไว้ได้ ความกล้าหาญนี้จะต้องมีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจจึงจะปฏิบัติเป็นผู้นำที่ดีได้

4. มีความเด็ดขาด ความเด็ดขาดหรือความสามารถที่จะตัดสินใจหรือตกลงใจได้ทันทีเมื่อตกลงสั่งการใด ๆ แล้ว จะสั่งได้อย่างเด็ดขาด สั้นและชัดเจน

5. มีความแนบเนียน ความแนบเนียน คือ ความสามารถที่จะต้องติดต่อเกี่ยวข้อง หรือมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยกิริยาอาการและวาจาที่ถูกต้องเหมาะสม โดยไม่ทำให้ผู้ที่เราติดต่อด้วยเกิดความกระด้างกระเดื่องหรือไม่พอใจแก่ตนได้

6. มีความยุติธรรม ความยุติธรรมคือการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามความยุติธรรมและศีลธรรม วางตนเป็นกลางไม่เอนเอียง ในการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือโทษต่อผู้หนึ่งผู้ใดความยุติธรรมนี้คือความเที่ยงตรงนั่นเองและไม่เกี่ยวกับความยุติธรรมทางกฎหมาย

7. ท่าทาง ท่าทาง คือ การแสดงออก ซึ่งรูปร่างลักษณะของร่างกายที่ต้องประสงค์ มีกิริยาอาการและเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องเหมาะสม

8. มีความอดทน ความอดทน คือ ความสามารถของร่างกายและความคิดจิตใจที่อดทนต่อการปฏิบัติกิจการหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่สมเหตุสมผลหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งที่สมเหตุสมผลให้ต่อเนื่องและบรรลุผลสำเร็จ ความอดทนนี้เป็นพลังอันหนึ่งที่จะผลักดันงานของเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างแท้จริง

9. มีความกระตือรือร้น ความกระตือรือร้น คือ การมีจิตใจจดจ่อที่ดีและมีความเอาใจใส่ต่อหน้าที่หรือกิจการที่จะต้องปฏิบัติอยู่เสมอซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะให้เราติดต่อกับบุคคลอื่นได้ง่าย นอกจากนี้ความกระตือรือร้นยังช่วยให้กิจการต่าง ๆ ของหน่วยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

10. มีความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เห็นแก่ตัว คือ การขจัดเสียซึ่งความสุขหรือผลประโยชน์แห่งตน โดยที่คนอื่นกลับเสียประโยชน์ ซึ่งก็หมายความว่าเป็นการข่มขืนหรือบังคับ ความโลภ ความหลงและความอยากได้ของตนเอง คนที่ไม่เห็นแก่ตัวนั้นย่อมเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมาและไม่ทำลายผู้อื่น

11. มีความตื่นตัว ความตื่นตัว คือ ความระมัดระวัง ความสุขุมรอบคอบความไม่ประมาท ไม่ยืดยาด ทำอะไรทันทีทันควันและมีความว่องไวปราดเปรียวอยู่เสมอ

12. มีความชั่งใจ (ดุลพินิจ) คือ อำนาจแห่งความคิดที่สามารถพิจารณาสิ่งต่าง ๆ หรือเหตุต่าง ๆ อย่างถูกต้อง โดยชั่งน้ำหนักเหตุผล นั้น ๆ และสรุปเป็นข้อ ๆ ลงความเห็นหรือข้อตกลงใจอันเฉียบแหลม

13. มีความสงบเสงี่ยม ความสงบเสงี่ยม คือ ความไม่หยิ่งยโส จองหองและไม่มีความภูมิใจในสิ่งที่ไร้เหตุผล

14. มีความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจ คือ คุณสมบัติประจำตัวอันเป็นแบบอย่างของมนุษย์ คือต้องประกอบด้วยความเมตตาปราณี ความกรุณา ความสงสารความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในลักษณะที่ไม่เสียผลประโยชน์ของส่วนรวม อันเป็นการแบ่งเบาความรู้สึกของผู้ที่อยู่ร่วมกัน

15. มีความจงรักภักดี ความจงรักภักดี คือ สภาพหรือคุณสมบัติประจำตัวของการเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์สุจริตและซื่อตรงต่อผู้อื่น ต่อหน้าที่ ต่อรัฐนั่นเอง การเป็นผู้นำนั้นจำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อหมู่คณะหรือส่วนรวม ทั้งนี้เพื่อความไว้วางใจ

16. มีการสังคมที่ดี การสังคมที่ดี คือ การมีบุคลิกภาพที่จะเข้าสังคมได้อย่างถูกต้อง หมายความว่า การที่เราเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะต้องปรับตัวเองให้คบค้าสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างถูกต้องแนบเนียน และต้องพยายามศึกษาปรับตนให้เข้ากับสังคมต่าง ๆ ที่เราจะไปติดต่อให้ได้และถูกต้องอีกด้วย

17. มีการบังคับตนเอง การบังคับตนเอง คือ การบังคับจิตใจโดยผ่านทางอารมณ์ซึ่งรับมาจากประสาททั้ง 5 เพื่อมิให้แสดงออกซึ่งกิริยาอาการต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้อื่นได้ การบังคับตนเองนั้นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากของผู้นำ เพราะตลอดเวลาผู้นำมักจะเป็นเป้าสายตาของผู้ร่วมงานอยู่เสมอ

ผู้ตาม และภาวะผู้ตาม

ผู้ตาม หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานในองค์การที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชามาปฏิบัติให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์

คุณลักษณะพฤติกรรมของผู้ตาม 5 แบบ มีดังนี้

1) ผู้ตามแบบห่างเหิน ผู้ตามแบบนี้เป็นคนเฉื่อยชาแต่มีความเป็นอิสระและมีความคิดสร้างสรรค์สูง ผู้ตามแบบห่างเหินส่วนมากเป็นผู้ตามที่มีประสิทธิผล มีประสบการณ์และผ่านอุปสรรคมาก่อน

2) ผู้ตามแบบปรับตาม ผู้ตามแบบนี้ เรียกว่า ผู้ตามแบบครับผม เป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์

3) ผู้ตามแบบเอาตัวรอด ผู้ตามแบบนี้จะเลือกใช้ลักษณะผู้ตามแบบใดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเอื้อประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุดและมีความเสี่ยงน้อยที่สุด

4) ผู้ตามแบบเฉื่อยชา ผู้ตามแบบนี้ชอบพึ่งพาผู้อื่นขาดความอิสระ ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

5) ผู้ตามแบบมีประสิทธิผล ผู้ตามแบบนี้เป็นผู้ที่ทีความตั้งใจในการปฏิบัติงานสูงมีความสามารถในการบริหารจัดการงานได้ด้วยตนเอง