หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 คุณธรรม จริยธรรมของลูกเสือ

เรื่องที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรม จริยธรรมในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ในการดำรงชีวิต ทรงเน้นย้ำแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอน เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

ความพอเพียง ประกอบด้วย

ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น เช่นการผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้ และไกล

เงื่อนไข การตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรมที่ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต และมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการเชิดชูเป็นอย่างสูงจากองค์การสหประชาชาติ โดยนายโคฟี อันนัน ในฐานะเลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และได้มีปาฐกถาถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นปรัชญา ที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศและสามารถเริ่มได้จากการสร้างภูมิคุ้มกันในตนเองสู่หมู่บ้านและสู่เศรษฐกิจในวงกว้างขึ้นในที่สุด

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่าลูกเสือสามารถนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติให้สอดคล้องกับคุณธรรม จริยธรรมในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ

อย่างไรถึงจะเรียกว่า พอเพียง มีพระราชดำรัสองค์หนึ่งกล่าวไว้ว่า “พูดจาก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง” คำนิยามได้บอกหลักการไว้ว่า ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากทั้งภายนอกและภายใน ภายนอกกระทบเข้ามาภายในก็เปลี่ยนแปลงด้วยจะพอเพียงได้ต้องคำนึงถึง 3 หลักการ คือ คิดและทำอะไรอย่าง พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ถ้าครบ 3 หลักการนี้ ถึงจะบอกได้ว่าพอเพียง ถ้าไม่ครบก็ไม่พอเพียงและการสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นได้ต้องใช้ความรู้ควบคู่ไปกับคุณธรรม

จากคำกล่าวข้างต้นความสัมพันธ์ระหว่างคุณธรรม จริยธรรมในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาสรุปเป็นผลกระทบจากภายนอกและภายใน ได้ดังนี้

ผลกระทบจากภายใน

“การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว” ลูกเสือจะต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพต้องปฏิบัติตนให้เป็นผู้เกียรติเชื่อถือได้ ต้องแสดงความเป็นมิตรต่อทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลกต้องผู้สุภาพเรียบร้อย มีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก และประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ กล่าวได้ว่าต้องต้านทานต่อแรงยั่วยุทั้งหลาย

ผลกระทบจากภายนอก

“ความพอประมาณ” ลูกเสือต้องเป็นผู้มัธยัสถ์ ประหยัด อดออม อยู่อย่างพอเพียง

“ความมีเหตุผล” ลูกเสือจะต้องช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นผู้อื่นเดือดร้อนต้องกระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึง การมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์

การใช้ชีวิตอย่างไม่พอเพียง แล้วจะเป็นอย่างไร เช่น ใช้จ่ายไม่พอเพียง ดูแลสุขภาพอย่างไม่พอเพียง บริโภคอย่างไม่พอเพียง ทำงานอย่างไม่พอเพียงมากไปน้อยไป หรือผู้เรียนดูหนังสืออย่างไรไม่พอเพียง การใช้ชีวิตการปฏิบัติตนอย่างไม่พอเพียงน้อยเกินไปมากเกินไปไม่พอดี พอเหมาะพอควร กับความสามารถของเรา กับสถานการณ์สิ่งแวดล้อม มันส่งผลกระทบอะไรบ้างให้กับตัวเราเอง ส่งผลกระทบอะไรบ้างให้กับคนรอบข้าง กระทบกับสังคมกระทบกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลถึงอนาคตของตนเองและสังคม

การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยพื้นฐานก็คือ การพึ่งตนเองเป็นหลักการทำอะไรอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รอบคอบ ระมัดระวัง พิจารณาถึงความพอดีพอเหมาะพอควร ความสมเหตุสมผลและการพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง การสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความสมดุลครอบคลุมทั้งทางด้านจิตใจ สังคมเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจ

การประยุกต์ใช้สำหรับประชาชนชาวไทย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ประหยัดในทางที่ถูกต้อง ประพฤติชอบและประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต ละเลิกการแก่งแย่งเบียดบังผู้อื่น ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางยืนหยัดได้ด้วยตนเองเพิ่มพูนความดี ลดละความชั่ว