เวลาใช้ลิขสิทธิ์

เวลาใช้ลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมมีขอบเขตอาทิเช่น ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง ต่อเติม โดยไม่ได้รับคำยินยอมจากเจ้าของงานก่อน การทำซ้ำก็เช่น การพิมพ์ การทำสำเนา เป็นต้น สิ่งที่สร้างเลียนแบบงานลิขสิทธิ์ก็ถือเป็นการทำซ้ำเช่นกัน อีกสิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์กำหนดไว้คือ ความแตกต่างระหว่างการให้ใช้กับการขายลิขสิทธิ์ ซึ่งให้ผลต่อเจ้าของงานด้านความเป็นเจ้าของและรูปแบบการผูกพันทางกฎหมาย

การขายลิขสิทธิ์ คือ การขายชิ้นงานและแนวคิดไปถาวร ขายความเป็นเจ้าของให้ผู้ซื้อ สิทธิในงานเช่นการทำซ้ำ ดัดแปลง ต่อเติม และอื่นๆ ผู้สร้างสรรค์ไม่มีสิทธิ์อ้างความเป็นเจ้าของตลอดกาล ผู้ซื้อจะเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว การขายลิขสิทธิ์ไม่นิยมทำแบบมีระยะเวลา บ้างก็อาจขายแบบมีระยะเวลาที่นานมาก เช่น 30 ปี เป็นต้น ทั้งนี้การขายลิขสิทธิ์นั้นกฎหมายกำหนดรูปแบบไว้ชัดเจนว่าต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้สร้างสรรค์และผู้ซื้อด้วย จึงใช้บังคับกันได้และมีผลทางกฎหมายชัดเจน ถ้าไม่ทำตามรูปแบบนี้ การขายลิขสิทธิ์เป็นโมฆะหรือถือว่าไม่มีการซื้อขายชิ้นงานกันมาก่อน

การให้ใช้ลิขสิทธิ์ คือ เจ้าของชิ้นงานหรือผู้สร้างสรรค์ยินยอมให้ผู้ใช้มีสิทธิ ทำซ้ำ ดัดแปลง ต่อเติม ได้เท่าที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน ทั้งนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดรูปแบบที่มีผลทางกฎหมายไว้ หมายความว่า การให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้นอาจทำด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายก็ได้ ผู้สร้างสรรค์หรือผู้ใช้อาจกำหนดขอบเขตการใช้ลิขสิทธิ์เพียงบางส่วนก็ได้ ซึ่งเกี่ยวโยงกับรายได้ที่ผู้สร้างสรรค์พึงได้ ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์จัดพิมพ์เป็นเล่มกระดาษเฉพาะภาษาไทยและอีบุ๊ค ส่วนอื่นยังคงเป็นสิทธิ์ของเจ้าของงาน เป็นต้น

การขายลิขสิทธิ์มักมีราคาสูงมากเพราะเป็นการขายขาดถาวร แต่การให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้นอาจมีขอบเขตจำกัด เช่น ในงานวรรณกรรมสำนักพิมพ์ขอใช้สิทธิพิมพ์ซ้ำเป็นเล่มกระดาษ การดัดแปลงในส่วนไม่สำคัญต่อโครงเรื่องโดยได้รับความยินยอมจากผู้เขียนก่อน การไม่ข้องเกี่ยวกับการสร้างละคร เป็นต้น เจ้าของงานกับผู้ใช้สามารถเจรจากำหนดขอบเขตที่ต้องการได้อันส่งผลต่อค่าใช้ลิขสิทธิ์ด้วย

ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างการขายกับการให้ใช้ลิขสิทธิ์คือ การขายนั้นหมายถึงเวลาตลอดชีวิตของผู้ซื้อในฐานะเจ้าของคนใหม่ ส่วนเวลาคุ้มครองผลงานให้ผู้ใช้ กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ จึงขึ้นอยู่กับการเจรจาของคู่สัญญา เมื่อไม่มีเวลาที่แน่นอนโดยกฎหมาย จึงเกิดปัญหาขึ้นเมื่อคู่สัญญามีพลังต่อรองแตกต่างกัน การเอาเปรียบจึงเกิดขึ้นได้ในส่วนเวลาและค่าเรื่องที่นักเขียนพึงได้อย่างเป็นธรรม เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสำนักพิมพ์มีต้นทุนดำเนินการพิมพ์เล่มและค่าการตลาด ส่วนนักเขียนมีรายได้จากงานเขียนด้วยการให้ใช้หรือขายลิขสิทธิ์ ในอดีตสำนักพิมพ์อาจบีบคั้นหรือต่อรองให้นักเขียนซึ่งมีฐานะทางสังคมด้อยกว่าให้ขายงานในราคาถูกโดยไม่รู้ว่าพวกเขาได้ขายขาดชิ้นงานไปอย่างถาวร สภาพสังคมและการพัฒนาด้านข้อมูลข่าวสารวันนี้ทำให้นักเขียนรุ่นใหม่รู้สิทธิพึงได้ของตนมากขึ้น การถูกหลอกให้ขายขาดจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นอีก สำนักพิมพ์ที่มีคุณธรรมไม่ว่าขนาดใดจะใช้สัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นหลัก ทำให้นักเขียนได้รับความเป็นธรรมดีขึ้น โดยขอใช้สิทธิพิมพ์ซ้ำภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน แล้วจ่ายค่าเรื่องโดยมีสูตรคำนวณที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่ายในแวดวงวรรณกรรมชัดเจนขึ้น คือ ยอดจำนวนจัดพิมพ์ x ราคาต่อเล่ม x 10 % สูตรนี้ยังคงใช้กันถึงปัจจุบัน แต่บางสำนักพิมพ์เริ่มคิดสูตรใหม่เพื่อคุมต้นทุนค่าซื้อเรื่องให้ได้เปรียบขึ้น คือ การจ่ายเหมาเรื่อง มักใช้กับนักเขียนใหม่ เช่น กำหนดราคาไว้ตั้งแต่ 15,000 – 30,000 บาท ไม่ว่าจะพิมพ์กี่เล่ม โดยทำได้ตลอดระยะเวลาที่สัญญาคุ้มครองไว้ พ้นเวลาในสัญญาก็ยังขายงานต่อไปจนหมดล็อตพิมพ์ครั้งนั้นได้อีกนักเขียนใหม่จึงได้ค่าเรื่องเท่ากับวันแรกที่รับเงินไปตลอดอายุสัญญา แม้มีการพิมพ์ซ้ำเพิ่มอีกก็จะได้เงินเท่ากับวันแรกเพราะไม่จำกัดจำนวนพิมพ์เล่มแต่ละครั้ง ตัวอย่างเช่น พิมพ์ครั้งแรก 2,000 เล่ม สำนักพิมพ์กำหนดเหมาเรื่องไว้ 15,000 บาท พอพิมพ์ครั้งที่สองจำนวน 100,000 เล่ม นักเขียนก็จะได้แค่ 15,000 บาท หากใช้สูตรค่าเรื่องมาตรฐาน แต่ละครั้งที่เพิ่มจำนวนพิมพ์ นักเขียนจะได้เงินเพิ่มตามไปด้วย เป็นต้น พวกเขาไม่มีอำนาจต่อรองข้อเสนอเหมาจ่ายแบบนี้ซึ่งทำให้บางครั้งสำนักพิมพ์ได้กำไรมหาศาล ถ้างานชิ้นนั้นมีความนิยมขึ้นมา แต่นักเขียนจะได้ค่าเรื่องเหมาแค่ 15,000 บาทเท่านั้น บางครั้งจึงกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างนักเขียนกับสำนักพิมพ์ที่ยากแก้ไขเพราะมันเป็นสัญญาผูกมัดทางกฎหมายไปแล้ว

เวลาเป็นเรื่องที่หลายคนข้องใจว่า ควรยึดเวลาคุ้มครองให้ใช้ลิขสิทธิ์เท่าใด จึงเป็นธรรมต่อสำนักพิมพ์หรือนักเขียน คงไม่ลืมว่าหนังสือแต่ละเล่มมีต้นทุนผลิตและการตลาดที่สำนักพิมพ์ต้องจ่ายหรือคุมให้ต่ำที่สุด เพื่อสร้างกำไรสูงสุด มันเป็นการค้าขายที่หนังสือหรืองานวรรณกรรมจากนักเขียนคือ สินค้า ของสำนักพิมพ์ นักเขียนมีมากกว่าสำนักพิมพ์ ทำให้สำนักพิมพ์เป็นฝ่ายเลือกงานเขียน นักเขียนส่วนใหญ่ไร้อำนาจต่อรองใดๆ ทำให้สำนักพิมพ์เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตนักเขียนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เริ่มที่ สูตรคำนวณค่าเรื่อง คุมต้นทุนการผลิต ขอบเขตอำนาจและเวลาใช้ลิขสิทธิ์ รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ โดยนักเขียนแทบไม่มีส่วนใหนการคิดเงื่อนไขเหล่านั้น บางสำนักพิมพ์ที่ไร้คุณธรรมก็ใช้จุดนี้เอาเปรียบนักเขียนที่ไร้ความรู้หรือพลังต่อรองได้

นักเขียนรุ่นพี่ต่อสู้เพื่อให้ได้สูตรค่าเรื่องที่ยอมรับกันได้จากนักเขียนและสำนักพิมพ์ที่ใช้กันในปัจจุบัน แม้จะมีการพัฒนาเป็นจ่ายเหมาเรื่องในบางสำนักพิมพ์แล้ว อย่างน้อยนักเขียนใหม่และสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ยังคงยึดถือสูตรนี้ต่อเนื่องซึ่งยังเป็นที่พอใจกันอยู่ ส่วนใครจะเลือกรับเงินเหมาเรื่องก็เป็นความสมัครใจบนพื้นฐานความรู้เรื่องสูตรคิดค่าเรื่องมาตรฐานแล้ว แต่ระยะเวลาคุ้มครองให้ใช้ลิขสิทธิ์นั้นยังมีหลายสำนักพิมพ์กำหนดตามใจชอบ เช่น 10 ปี 5 ปี 3 ปี และอื่นๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5 ปี โดยยังกำหนดอีกว่า แม้พ้นเวลาคุ้มครองก็ยังขายงานส่วนที่พิมพ์หรือขายเหลือได้จนกว่าจะหมดรอบพิมพ์นั้น ซึ่งนักเขียนก็ยอมรับได้อยู่แล้วว่า นี่คือความเป็นธรรมสำหรับสำนักพิมพ์

ด้านนักเขียนเริ่มมองเห็นการเสียเปรียบเรื่องเวลาในสัญญาซึ่งเขาไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับเนื้องานหรือกรณีที่งานพิมพ์ไม่ประสบผลสำเร็จหรือสำนักพิมพ์ซื้อเรื่องแล้วไม่ยอมพิมพ์จำหน่าย เท่ากับกักขังงานเขียนไว้มิให้มีการพัฒนาหรือหาสำนักพิมพ์ที่เหมาะสมต่อไปได้ถ้ามีเวลาคุ้มครองนานเกินไป ณ เวลานี้สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่เลือกเวลาคุ้มครอง 5 ปี แต่บางสำนักพิมพ์ใช้ 10 ปีกับนักเขียนใหม่ ส่วนเวลาอื่นก็แล้วแต่ชื่อเสียงของนักเขียน จะเห็นว่าสัญญาผูกมัดเวลาคุ้มครองสำนักพิมพ์ให้พิมพ์ซ้ำและจ่ายค่าเรื่องให้ตามสูตรที่ตกลงทีแรกตลอดเวลาสัญญา แล้วยังกำหนดให้ขายได้ต่อเนื่องจนกว่าจะหมดรอบพิมพ์สุดท้ายแม้สัญญาจะสิ้นสุด ล้วนเป็นเงื่อนไขเอื้อต่อสำนักพิมพ์เป็นหลัก

ถ้าใช้สูตรมาตรฐานค่าเรื่องของนักเขียนจะเห็นว่า จำนวนพิมพ์กับราคาต่อเล่ม เป็นอำนาจของสำนักพิมพ์เท่านั้น นักเขียนยอมรับสูตรคำนวณโดยไม่ปริปากบ่นสักคำ แต่เวลาคุ้มครองที่ยาวนานเกินไปก็เป็นเรื่องที่สองฝ่ายควรหาจุดเหมาะสมกันได้ งานเขียนเป็นงานศิลปะเชิงการค้าและเป็นสินค้าของสำนักพิมพ์ สัญญาก็ยอมให้ขายสินค้าไปจนกว่าจะหมดรอบพิมพ์สุดท้ายแม้สัญญาสิ้นสุด นักเขียนก็เข้าใจและยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ เหตุไฉนสำนักพิมพ์จึงไม่ลดเวลาคุ้มครองให้ใช้ลิขสิทธิ์ลง ? เหตุผลทางการค้าที่มักเลือกใช้เวลายาวๆ คือ การกำหนดต้นทุนค่าซื้อเรื่องไว้ 5 ปีด้วยราคาหนึ่ง สำนักพิมพ์จะปักหมุดต้นทุนไว้ตายตัวในเวลาที่แน่นอน สะดวกในการคุมต้นทุนผลิตหนังสือเล่มนี้ได้ ยิ่งเป็นหนังสือยอดนิยม ยิ่งเพิ่มตัวเลขกำไรมหาศาล ในเวลาเดียวกันถ้าหนังสือไม่เป็นที่นิยมก็มีต้นทุนเท่านี้คือ จ่ายแค่ปีแรกด้วยราคาเดียว ควบคุมการขาดทุนหรือกำไรน้อยไว้ชัดเจน มันเป็นหลักการค้าทั่วไป สมมติว่ากำหนดเวลาไว้ 3 ปี หากงานโด่งดัง พ้นเวลานั้นแล้วนักเขียนอาจคิดค่าเรื่องในอัตราใหม่ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ยิ่งขยายเวลาได้นานเท่าใด ยิ่งได้เปรียบทางการค้า แต่นักเขียนจะขาดโอกาสพัฒนาเรื่องหรือมีรายได้เหมาะสมกับการทุ่มเทในงานแต่ละชิ้น ต่างล้วนมีเหตุผลเพื่อความอยู่รอดของสองฝ่าย

อันที่จริงแล้วถ้าสำนักพิมพ์เลือกใช้เวลาไม่ยาวนานเกินไป ทำมาค้าขายกับนักเขียนอย่างจริงใจและเป็นธรรม นักเขียนส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมเปลี่ยนคู่ค้าบ่อยๆ เพราะเสียเวลาทำงานและไม่สบายใจ นักเขียนมักมุ่งทำงานศิลปะด้านอักษร สำนักพิมพ์ป้องกันไว้ก่อนด้วยการล่ามโซ่สัญญาไว้ยาวที่สุดเท่าที่จะพอทำได้ ตอนนี้ก็ได้ยาวไปถึง 10 ปีแล้ว ซึ่งนานเกินสมควรมากๆเพราะสัญญามักระบุให้ขายชิ้นงานได้แม้หมดสัญญาแล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่จะล่ามโซ่งานเขียนไว้ยาวพอๆกับอายุความคดีแพ่งหรือคดีอาญาบางความผิด ทั้งที่นักเขียนผลิตสินค้าให้สำนักพิมพ์ งานเล่มหลังการพิมพ์จะกลายเป็นทรัพย์สินของสำนักพิมพ์ส่วนจะไร้ค่าหรือสูงค่าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกงาน การทำตลาด และคุณภาพนักเขียน อีกอย่างหนึ่งที่ยากจะเดาได้คือ นักอ่านชื่นชอบมันหรือไม่ หากเลือกเวลาที่ไม่ยาวนัก เช่น 3 ปี เป็นต้น นักเขียนมีโอกาสหาประโยชน์ที่เป็นธรรมยิ่งขึ้นเพราะเขาจะมีรายได้ตามกาลเวลาที่เหมาะสม มิใช่ต้องรอความเมตตาจากสำนักพิมพ์ที่จะแบ่งปันผลกำไรมหาศาลจากการพิมพ์งานในสัญญาล่ามโซ่ที่นานไป

การพิมพ์เล่มหนังสือน่าจะเกิดขึ้นจากความจริงใจระหว่างสำนักพิมพ์และนักเขียนที่เข้าใจ เห็นใจกัน สร้างจุดเป็นธรรมระหว่างทั้งสองฝ่าย จึงเป็นสินค้าคุณภาพให้นักอ่านเลือกซื้อกันไปหาความสุข มิใช่ถือกำเนิดบนความทุกข์ของนักเขียน จนเคยมีการขนานนามคนเขียนหนังสือว่า นักเขียนไส้แห้ง ทั้งที่หลายผลงานเลื่องชื่อและกลายเป็นตำนาน แต่นักเขียนต้องใช้ชีวิตอนาถในบั้นปลายเนื่องจากการไร้เมตตา เน้นการค้ามากไป ความรู้ด้านสิทธิของนักเขียนน้อยไป วันนี้สัญญาของนักเขียนและสำนักพิมพ์ได้พัฒนาในทางที่ดีขึ้นผิดตาแล้ว ถ้าแก้ไขเรื่องเวลาให้เหมาะสมและพอใจทั้งสองฝ่ายน่าจะยิ่งดีขึ้น การทำงานระหว่างสำนักพิมพ์กับนักเขียนที่ยืนบนพื้นฐานไมตรีจิต มองเห็นคุณค่าต่อกัน จริงใจกัน แบ่งปันโอกาสแก่กัน นักอ่านจะได้อ่านผลงานคุณภาพและการพิมพ์ที่ดีด้วยเพราะมันเจือด้วยรักและไมตรีของสองฝ่ายไว้ ถึงอย่างไรสำนักพิมพ์ก็มีอำนาจต่อรองสูงกว่านักเขียน แม้ว่านักเขียนบางคนจะมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ไหน ก็ไม่มีวันเอาเปรียบสำนักพิมพ์ได้ มันคือความจริงในตลาดวรรณกรรมที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นักเขียนจึงเป็นฝ่ายประนีประนอมกับสำนักพิมพ์มาตลอดเช่นกัน

***************************