บวม 2018

"บวม 2018"..บวมแบบไหนเกิดจากโรคหัวใจ..บวมแบบไหนไม่ใช่โรคหัวใจ..บวมแบบไหนต้องตรวจพิเศษอะไร..สาเหตุของการบวมมีอะไรบ้าง..มีวิธีสังเกตอาการบวมอย่างไร...


วิธีสังเกต "อาการบวม" ของร่างกาย"ในระยะแรก"หรือ ในช่วงที่ยังบวมเพียงเล็กน้อย คือ ให้สังเกตว่า ใส่รองเท้าคับขึ้น, สวมแหวนที่นิ้วมือคับขึ้น, นาฬิกาข้อมือคับขึ้น, ข้อเท้าบวมๆ มองไม่ค่อยเห็นตาตุ่ม, หลังเท้าดูอูมๆ มองไม่ค่อยเห็นเส้นเลือดที่หลังเท้า, ใบหน้าดูอูมๆ แก้มออก, หนังตาตุ่ยๆ


ถ้า"บวมมากขึ้น" จะเริ่มพบว่า ใช้นิ้วมือจิ้มหรือกดบริเวณสันหน้าแข้ง หรือ หลังเท้า หรือ บริเวณก้นกบแล้วเป็นรอยบุ๋มลงไป


บางรายอาจมีท้องโตมาก เนื่องจากบวมน้ำในช่องท้อง..ผู้ชายอาจมีการบวมเป่งของถุงอัณฑะ


"สาเหตุของอาการบวม มีอะไรบ้าง".."ต้องตรวจอะไร"


1. การบวมจาก "โรคหัวใจ"


..มักบวมที่ขา ในช่วงเวลาเย็น หลังจากยืนหรือนั่งมาทั้งวัน เนื่องจากหัวใจทำงานไม่ดี เลือดและสารน้ำที่ขาจึงไหลเวียนกลับคืนสู่หัวใจได้ไม่ดี จึงไปกองอยู่ที่ขา เมื่อได้นอนลง หรือ ยกขาขึ้น เลือดจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้ดีขึ้น อาการบวมก็มักจะหายไป จึงมักจะหายบวมในตอนเช้า ตกเย็นก็บวมอีก


..มักมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วย เหนื่อยง่ายขณะทำกิจวัตรประจำวัน นอนราบไม่ค่อยได้ นอนแล้วจะอึดอัด หายใจไม่ค่อยสะดวก ต้องใช้หมอนหนุนให้สูงขึ้น และ มักหายใจไม่สะดวกจนต้องลุกมานั่งตอนกลางคืนบ่อยๆ บางคนต้องนั่งหลับทั้งคืน อาการลักษณะนี้เป็นเพราะการที่หัวใจทำงานไม่ดี เลือดและสารน้ำไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำท่วมปอดขึ้น


..มองดูที่ด้านข้างลำคอ มักจะเห็นหลอดเลือดดำโป่งขึ้นชัดเจน


.."การตรวจที่ดีที่สุด" ที่จะพิสูจน์ว่าบวมจาก "โรคหัวใจ" คือ ตรวจ "เอ็คโค่ฯ" (อัลตร้าซาวด์หัวใจ)(ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง)


2. การบวมจาก "โรคไต"


..มักบวมที่ใบหน้า หน้าจะดูอิ่มๆ กลมๆ หนังตาตุ่ยๆ บวมๆ ร่วมกับบวมที่แขน มือ นิ้วมือ และ ขา โดยมักบวมในช่วงเวลาเช้า และ มักยุบบวมในช่วงเวลาเย็น (ตรงกันข้ามกับของโรคหัวใจ)


..ปัสสาวะอาจ"มีฟอง"มากผิดปรกติ เนื่องจากมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ


..ปัสสาวะออกน้อยลง จำนวนครั้งน้อยลง และ ปริมาณในแต่ละครั้งก็น้อยลง


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "เจาะเลือดดูการทำงานของไต (BUN, Creatine และ eGFR)" และ "ตรวจปัสสาวะ (U/A)"


3. การบวมจาก "โรคตับ"


..มักบวมที่ท้อง ท้องจะโตมาก และ มักจะเห็นหลอดเลือดดำโป่งชัดเจนที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้อง อาจมีการบวมของขาร่วมด้วยได้บ้าง แต่จะไม่บวมมาก แขนมักจะไม่บวม


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "เจาะเลือดดูการทำงานของตับ (LFT)" และ "ตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ"


4. การบวมจาก "โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน"


..มักบวมที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง จะเห็นขาข้างหนึ่งบวมโตกว่าอีกข้างหนึ่งชัดเจน อาจจะบวมเฉพาะที่น่องหรือบวมทั้งน่องและต้นขาเลยก็ได้


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "ตรวจอัลตร้าซาวด์ดูหลอดเลือดดำที่ขา" และ "เจาะเลือดดูสารบ่งชี้การมีหลอดเลือดดำอุดตัน (D-dimer)"


5. การบวมจาก "โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ"


..มักบวมที่ขาข้างใดข้างหนึ่งเช่นกัน แต่จะมีลักษณะเด่นคือ ผิวหนังบริเวณที่บวมจะดูเป็นสีแดงๆ จับดูจะอุ่นๆ และ กดเจ็บชัดเจน อาจมีไข้ร่วมด้วย


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "ให้แพทย์ตรวจดูอาการบริเวณที่บวม" ก็มักจะวินิจฉัยได้เลยโดยไม่ต้องใช้การตรวจพิเศษอะไรเพิ่มเติม


6. การบวมจาก "ภาวะขาดอาหารจนโปรตีนในเลือดต่ำ"


..เมื่อโปรตีนในเลือดต่ำจะทำให้สารน้ำในหลอดเลือดซึมออกมานอกหลอดเลือด จนดูบวมฉุ กดบุ๋ม ทั่วๆร่างกาย ทั้งแขน ขา ใบหน้า นิ้วมือ หรือ ในคนไข้ที่นอนติดเตียงนานๆ ไม่ได้ลุกยืนหรือลุกเดิน ก็มักจะเห็นบวม กดบุ๋ม ที่บริเวณ หลังหรือก้นกบด้วย


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "เจาะเลือดดูระดับโปรตีนในเลือด (albumin)"


7. การบวมจาก "ผลข้างเคียงของยาบางชนิด"


..มักบวมที่ขา ข้อเท้า ตาตุ่ม หลังเท้า


.."ยา" ที่พบเป็นสาเหตุของการบวมได้บ่อยๆ คือ


.."ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง" เช่น amlodipine, felodipine, nifedipine, manidipine, verapamil, diltiazem, doxazosin, prazosin


.."ยาเบาหวาน" เช่น pioglitazone, metformin


.."ยาลดปวดลดอักเสบ กลุ่ม NSAID" ทั้งหลายซึ่งมีหลายชนิด หลายยี่ห้อ เช่น diclofenac, ibuprofen, naproxen, celecoxib, etoricoxib


.."การตรวจพิสูจน์ที่ดีที่สุด" คือ "ให้แพทย์ตรวจสอบยา" ที่กินอยู่ว่าเป็นยากลุ่มที่ทำให้บวมหรือไม่ บางรายแพทย์อาจจะหยุดหรือเปลี่ยนยา ก็จะหายบวม


....ทราบดังนี้แล้ว..ใครที่สังเกตว่าเริ่มมีอาการบวม ก็รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม หาสาเหตุกันตั้งแต่เนิ่นๆนะครับ..จะได้ปลอดภัยครับ!!!