"สกัดจุดตาย"

..."สกัดจุดตาย"หรือ"ฝ่ามือพิฆาต"...การโจมตีไปที่หน้าอกด้านซ้ายของคู่ต่อสู้ แล้วทำให้คู่ต่อสู้เสียชีวิตในทันที อย่างไร้ร่องรอย นั้นถือว่ามีอยู่จริงในทางการแพทย์นะครับ..เอิ่ม..วันนี้ไม่ได้จะมาสอนให้ทำร้ายใครนะครับ แต่จะสอนวิธีไม่ให้ถูก"สกัดจุดตาย"ครับ

...เหตุผลคือ"การถูกกระแทกหน้าอก"นั้นสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรงจนเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันได้ โดยที่ไม่มีโรคหัวใจใดๆมาก่อน..และ ไร้ร่องรอยของการบอบช้ำของกระดูกซี่โครงและกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก รวมถึง ไร้ร่องรอยการบอบช้ำของหัวใจเองด้วย..ภาวะนี้เรียกว่า.."คอมโมชิโอ คอร์ดิส" (Commotio Cordis)

...จริงๆภาวะนี้มักเกิดจากการถูกกระแทกหน้าอกด้วยวัสดุที่ใช้เล่นกีฬา

...ที่พบบ่อยที่สุด คือ ลูกเบสบอล หรือ ซอฟต์บอล ที่ถูกขว้างใส่หน้าอก

...รองลงมา คือ ฮ็อกกี้ ลูกฟุตบอล คริกเก็ต รักบี้ บาสเก็ตบอล

...แต่"ในการต่อสู้"นั้นก็พบได้เช่นกัน โดยมักพบจากการถูกชก หรือ เตะ ถีบ บริเวณหน้าอก ในการเล่น คาราเต้ หรือ ชกมวย

...ความเร็วของวัสดุที่พุ่งสู่หน้าอกแล้วมักทำให้เกิดภาวะนี้ คือ 30-50 ไมล์ต่อชั่วโมง(ประมาณ 48-80 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง)(จากสถิติการวิจัยที่รวบรวมไว้พบว่า ความเร็วที่น้อยหรือมากกว่านี้จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้น้อยลง)

...วัสดุที่แข็งจะมีโอกาสเกิดมากกว่าวัสดุที่นุ่ม

...ทิศทางของวัสดุที่พุ่งมาแบบวิถีโค้งโปรเจ็คไตล์ จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้มากกว่า การพุ่งมาในแนวตรง

...จุดของหน้าอก ที่ถูกกระแทก แล้วจะเกิดภาวะนี้ คือ จุดใจกลางของหัวใจห้องล่างซ้าย หรือ บริเวณช่องกระดูกซี่โครงที่ 2 ถึง 4 ด้านซ้ายต่อกระดูกกลางหน้าอก

...จังหวะที่ถูกกระแทกนั้นต้องตรงกับช่วงเวลาการนำไฟฟ้าของหัวใจที่ไวต่อการถูกกระทบพอดีอย่างเหมาะเหม็งจึงจะเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ ซึ่งระยะเวลาที่หัวใจไวต่อการถูกกระทบนี้จะมีอยู่เพียงเศษเสี้ยววินาที (3 ใน 100 ส่วนของวินาที) เท่านั้น ต่อ การบีบและคลายตัวของหัวใจ 1 ครั้ง โดยจะอยู่ตรงช่วงท้ายของการบีบตัวของหัวใจ ก่อนที่หัวใจจะเริ่มคลายตัว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ง่ายที่สุดถ้ามีอะไรมากระทบกระเทือน

...สำหรับคนที่หัวใจกำลังเต้น 60 ครั้งต่อนาที การบีบและคลายตัว 1 ครั้งจะใช้เวลา 1 วินาที ดังนั้นช่วงเวลาที่หัวใจไวต่อการถูกกระทบนี้จึงกินเวลาเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ต่อการเต้นของหัวใจ 1 ครั้ง แต่ถ้าหัวใจเต้น 120 ครั้งต่อนาที ก็จะมีเวลาในช่วงนี้เพิ่มเป็นร้อยละ 6 และ ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่านี้ก็จะมีพื้นที่ช่วงเวลานี้มากขึ้น ซึ่งก็จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้เมื่อถูกกระแทกได้สูงขึ้น ดังนั้นการถูกกระแทกหน้าอกขณะหัวใจเต้นเร็วๆ ตอนเล่นกีฬา จึงมีโอกาสเกิดภาวะนี้ มากกว่า การถูกกระแทกขณะอยู่เฉยๆหรือขณะที่หัวใจเต้นไม่เร็ว

...โอกาสรอดชีวิตจากการ "สกัดจุดตาย" นี้ มีเพียง ร้อยละ 28 ครับ

...วิธีป้องกัน...หลีกเลี่ยงการถูกกระแทกหน้าอกด้านซ้ายในขณะเล่นกีฬา หรือ ต่อสู้กัน หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการกระแทกหน้าอก, วัสดุที่ใช้ในการเล่นกีฬา เช่น ลูกเบสบอล หรือ ซอฟต์บอล ควรจะนุ่มๆ อย่าแข็ง

...วิธีรักษา..."กุญแจสำคัญ" ที่จะทำให้คนไข้รอดชีวิตมีอยู่ "3 อย่าง" ครับ คือ 1. ถ้าพบนักกีฬาหรือคู่ต่อสู้ที่ล้มลง"หมดสติหลังถูกกระแทกหน้าอก" "ต้องนึกถึงภาวะนี้" และ 2. "ต้องรีบปฏิบัติการกู้ชีวิตหรือ CPR" และ 3. "ใช้เครื่อง AED" ตามขั้นตอนอย่างเร่งด่วน