"โรคหัวใจสลาย"

"Broken heart Syndrome"

"โรคหัวใจสลาย".."Broken heart Syndrome"

ไม่น่าไปแตะต้องตำรามนต์กฤษณะกาลี เลยนะขอรับแม่การะเกด.."กลัวฉันกลัวว่าจันทร์จะลาจากฟ้าไกล..กลัวฉันกลัวว่าใจจะขาดเมื่อร้างลา..กลัวฉันกลัวออเจ้าจะไกลไม่เห็นหน้า..กลัวชะตาจะมาพรากเรา..เพียงลับตากระวนกระวายและร้อนรน..เพียงมืดมน พี่จะทานทนได้หรือเปล่า"

เกรงว่า"คุณพี่"จักถึงกับเป็น "โรคหัวใจสลาย"เอาได้นะขอรับ..คนดูทางบ้านทั่วพระนครเองก็ต้องระวังด้วยเหมือนกัน..มิควรตึงเครียดไปกับฉากนี้มาก

"โรคหัวใจสลาย".."Broken heart Syndrome" เป็นโรคที่เกิดจาก"ความตึงเครียดทางจิตใจ"หรือ"ตึงเครียดทางร่างกาย"..อย่าง "รุนแรงและเฉียบพลัน" จนส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจ สูญเสียการทำงานอย่างกะทันหัน และ เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ตามมา โดยมิได้มีโรคหัวใจใดๆมาก่อน และที่สำคัญ โรคนี้ไม่ได้เกิดจากการตีบ หรือ ตัน ของหลอดเลือดหัวใจด้วยนะขอรับ

"เซเบลิน"และ "เฮิร์สท์" เป็นผู้ค้นพบโรคนี้เป็นครั้งแรกเมื่อ 37 ปีก่อน แต่ผู้ที่ศึกษาโรคนี้อย่างจริงจังเป็นคนแรก คือแพทย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ "ฮิคารุ ซาโตะ" เมื่อ 27 ปีที่แล้ว

โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

การสูญเสีย หรือ พลัดพราก จากคนรัก, การถูกคนรักนอกใจ, การโต้เถียงกันด้วยอารมณ์รุนแรง, การตื่นกลัวหรือตื่นเต้นต่อการต้องออกไปพูดบนเวที, ความเครียดจากปัญหาทางการเงิน เป็นสาเหตุของความตึงเครียด "ทางจิตใจ" ที่พบบ่อยของโรคนี้

ส่วนความตึงเครียด "ทางร่างกาย" ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคนี้ได้เช่นกัน ได้แก่ โรคหอบหืดเฉียบพลัน, โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต, การเข้ารับการผ่าตัด หรือ การรับเคมีบำบัด

เมื่อเผชิญกับความตึงเครียดทาง"จิตใจ"หรือ"ร่างกาย"อย่างรุนแรงและเฉียบพลันจากสาเหตุดังกล่าว ร่างกายจะตอบสนองต่อความตึงเครียดเหล่านี้ด้วยการหลั่งฮอร์โมน "อีพิเนฟริน" และ "นอร์อีพิเนฟริน" ออกมา ในปริมาณมากจนส่งผลกระทบให้เซลกล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียการทำงานขึ้นทันที โดยที่ไม่มีโรคหัวใจใดๆมาก่อน รวมทั้งไม่มีการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจด้วย

ในทางตรงกันข้าม "การดีใจสุดขีด"จากการถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ หรือ จากการได้รับชัยชนะในการแข่งขันหรือเชียร์กีฬา หรือ การมีความสุขสุดขีดในการแต่งงาน ก็ อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนกลุ่มนี้จนเกิด "โรคหัวใจสลาย" นี้ได้เช่นกันนะขอรับ

โรคนี้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยมักเป็นในสตรีวัยหลังหมดประจำเดือน ช่วงอายุที่พบบ่อย คือ 58-75 ปี แต่บางรายอายุน้อยกว่า 50 ปีก็เป็นได้

อาการของโรคนี้ คือ เจ็บ แน่น หน้าอก หายใจไม่ออก อย่างรุนแรง เฉียบพลัน คล้ายกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเลยนะขอรับ

การวินิจฉัยโรคนี้ สามารถทำได้โดย การตรวจ"คลื่นไฟฟ้าหัวใจ" (EKG), การตรวจ"อัลตร้าซาวด์หัวใจ" (เอ็คโค่ฯ) และ การเจาะเลือดตรวจดู"เอ็นไซม์ หรือ โปรตีน" ของเซลกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้ง ต้อง "ฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ" เพื่อยืนยันว่า "ไม่มีการตีบตัน" ของหลอดเลือดหัวใจ ด้วย

การรักษา..ต้องรีบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน โดยใช้ยาช่วยปรับการทำงานของหัวใจ

การพยากรณ์โรค..ถ้าได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันจนสามารถกลับบ้านได้ และ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจมักจะกลับมาสมบูรณ์เป็นปรกติภายในเวลาไม่เกิน2-3เดือน

มีผู้ป่วยส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจจะเสียชีวิตได้ จากภาวะหัวใจวาย หรือ หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

การป้องกันโรคนี้..คือ การทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดความตึงเครียด อย่า"เสียใจ" หรือ "ดีใจ" กับ เหตุการณ์ใดๆมากจนเกินไป

"เพียงยิ้มมา หัวใจเบิกบานคลายทุกข์เศร้า

เราหนอเรา คะนึงถึงออเจ้าเอย" #บุพเพสันนิวาส