ถ้าตรวจเจอว่าหัวใจโต

ตรวจสุขภาพประจำปีเจอว่า"หัวใจโต"ทั้งที่แข็งแรงดีมาตลอด..จะเป็นโรคหัวใจหรือไม่..ต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมมั้ย..จะปฏิบัติตัวยังไง..ผมมีข้อแนะนำ4ข้ออย่างนี้ครับ..

คำว่า "หัวใจโต" จากผลสรุปรายงานการเช็คสุขภาพนี่เจอได้บ่อยมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการเช็คสุขภาพประจำปีของหน่วยงานราชการ หรือ พนักงานบริษัท รวมทั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อพาคุณแม่ไป "เช็คสุขภาพในวันแม่" ที่จะถึงนี้..

มาดูครับว่าข้อแนะนำ 4 ข้อนี้มีอะไรบ้าง..

1. ขั้นแรก..อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจจนกินไม่ได้นอนไม่หลับนะครับ

..หลายๆรายเมื่อได้รับการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียดแล้วพบว่า "หัวใจไม่ได้โตจริง" และ "ไม่ได้มีโรคหัวใจใดๆ" เลยครับ

..เนื่องจากว่า "การตรวจสุขภาพเบื้องต้น" ที่ใช้ดู "ขนาดของหัวใจ" นั้นส่วนใหญ่ดูจาก "ภาพเอ็กซ์เรย์ทรวงอก" ซึ่งบ่อยครั้งที่การตรวจชนิดนี้จะเห็น "เงาภาพของหัวใจ" โตกว่าขนาดหัวใจที่แท้จริง โดยอาจเกิดจากการที่คนไข้หายใจเข้าไม่สุดเต็มที่ขณะถ่ายภาพเอ็กซ์เรย์ หรือ เกิดจากมุมการถ่ายภาพเบี่ยงเบนไปจากมาตรฐาน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่รูปร่างท้วมหรืออ้วนก็อาจจะทำให้เห็นเงาภาพหัวใจโตหรือใหญ่กว่าความเป็นจริงได้เช่นกัน

..อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็พบว่าอาจ "มีโรคหัวใจโตจริงๆ" หรือมี "โรคหัวใจบางชนิด" ซ่อนเร้นอยู่จริงๆครับ

..ให้ดูขั้นตอนที่ 2 ต่อครับ

2. ขั้นตอนที่สอง..คัดกรองตัวเองก่อนว่ามีข้อต่างๆดังนี้หรือไม่

- เคยมีโรคหัวใจมาก่อนหรือไม่

- มีอาการเหนื่อยง่ายหรือไม่

- มีอาการแน่นหน้าอก หายใจอึดอัดในตอนกลางคืนจนต้องลุกขึ้นนั่งหรือไม่

- นอนราบแล้วหายใจไม่สะดวก ต้องยกศีรษะสูงขึ้นหรือต้องใช้หมอนหนุนศีรษะหลายใบหรือไม่

- มีอาการเหนื่อยเมื่อก้มตัวไปข้างหน้าหรือไม่ เช่น ก้มใส่รองเท้า ถุงเท้า หรือ ก้มผูกเชือกรองเท้า

- เคยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกขณะออกแรง เดิน วิ่ง หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆหรือไม่

- มีอาการบวมที่ขา, ข้อเท้า หรือ หลังเท้าหรือไม่

- มีโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่

- หมอเคยให้กินยาขับปัสสาวะเพื่อลดบวมหรือลดอาการเหนื่อยหรือไม่

- เคยได้รับยาเคมีบำบัด หรือ ใช้สารเสพติดหรือไม่

- เคยได้รับการฉายแสงรังสีรักษาบริเวณทรวงอกหรือไม่

..ถ้าไม่มีข้อเหล่านี้เลยซักข้อเดียวนี่ โล่งใจได้ระดับนึงละครับ..ว่าไม่น่าจะเป็นอะไร..ไปขั้นตอนที่ 3 ต่อ

3. ขั้นตอนที่สาม คือ ไปพบแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ

..แพทย์จะตรวจร่างกายด้วยการฟังดูว่ามีเสียงผิดปรกติของหัวใจหรือไม่ และ ใช้มือคลำดูบริเวณช่องซี่โครงของทรวงอกด้านซ้ายว่ามีลักษณะของหัวใจโตจริงๆหรือไม่, ดูหลอดเลือดดำที่ลำคอด้านขวาของคนไข้ว่าโป่งพองกว่าปรกติหรือไม่

..ถ้าผ่าน 3 ขั้นตอนนี้ไป โดยไม่พบความผิดปรกติเลยแม้แต่ข้อเดียวนี่ "โอกาสที่จะไม่มีโรคหัวใจใดๆ" เลยจะสูงมากๆแล้วครับ

..ไปขั้นตอนที่ 4 ต่อครับ

4. หมอหัวใจจะปิดจ๊อบด้วยขั้นตอนนี้เสมอครับ

..ตรวจ "คลื่นไฟฟ้าหัวใจ" และ "ตรวจเอ็คโค่ฯ"

(ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือ

อัลตร้าซาวด์หัวใจ นั่นเอง)

.."เอ็คโค่ฯ" เป็นการตรวจวัด "ขนาดหัวใจ" ว่าโตหรือไม่โต ได้แม่นยำที่สุด รวมทั้งยังสามารถประเมินประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจ ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

..ถ้าตรวจแล้วพบว่า "หัวใจโต" หรือ "มีโรคหัวใจ" อยู่จริงๆ แพทย์ก็จะสามารถให้การรักษาได้อย่างแม่นยำต่อไปครับ

..แต่ถ้าจบขั้นตอนที่ 4 แล้วผลปรกติหมดเลย

..หมอหัวใจจะพูดประโยคสุดท้ายว่า "สรุปแล้วหัวใจของคุณไม่โตนะครับ หัวใจทำงานแข็งแรงดี และ ไม่มีโรคหัวใจใดๆทั้งสิ้น สบายใจได้ครับ"..

..เป็นประโยคที่ "คืนความสุข" ให้กับคนไข้รวมถึงคนในครอบครัวของคนไข้ที่"เคยถูกบอกว่าหัวใจโต"ได้อย่างมหาศาลเลยครับ..ฉะนั้น..ไปตรวจซะนะครับ..อย่าทิ้งไว้ให้คาใจว่า "โต" หรือ "ไม่โต"...