โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

บางคนอาจมีข้อสงสัยว่าอาการแบบนี้เป็นโรคหัวใจรึปล่าว วันนี้เราจะมาดูอาการและลักษณะของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบกันครับ


ง่ายๆเลยครับ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มี 2 แบบ คือ แบบตีบเฉียบพลันโดยที่ไม่มีอาการมาก่อน และ แบบค่อยๆตีบ


แบบตีบเฉียบพลัน

เกิดจากคราบไขมันในหลอดเลือดหัวใจปริแตก แล้วทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างกระทันหัน อาการคือ แน่นหน้าอก เหงื่อแตก จะเป็นลม หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น อาการมักเป็นนาน 20-30 นาทีขึ้นไป หลายรายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุได้เลยนะครับ โดยที่มาโรงพยาบาลไม่ทัน แต่ถ้ามาโรงพยาบาลทันก็จะได้รับการรักษาด้วยการใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาสลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด อย่างเร่งด่วน คนไข้ก็จะมีชีวิตรอดได้ดี


แบบค่อยๆตีบ

เกิดจากคราบไขมันค่อยๆหนาตัวและทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบขึ้นทีละน้อย มักใช้เวลาเป็นสิบปีในการค่อยๆตีบกว่าจะมีอาการ อาการก็คือ เจ็บแน่นหน้าอก หรือบางรายก็เป็นลักษณะแสบๆที่หน้าอก โดยมักจะเป็นเวลาออกแรง เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน เดินขึ้นบันได เป็นต้น อาการมักเป็น 5-10 นาที และหายไปหลังจากหยุดออกแรง กลุ่มนี้มักไม่ถึงชีวิต แต่จะรบกวนคุณภาพชีวิต ทำให้ออกแรงหรือปฏิบัติงานได้ไม่เต็มที่ การรักษา ใช้ยารับประทานขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาปรับการทำงานของหัวใจ ( ซึ่งก็มักเป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาความดันโลหิตสูงนั่นเอง ) ยาลดไขมัน ยาต้านเกล็ดเลือด และบางรายอาจต้องได้รับการขยายบอลลูนหลอดเลือด หรือผ่าตัดบายพาสหลอดเลือด


สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ปัจจัยทางกรรมพันธ์ุ อายุที่มากขึ้น ( มากกว่า 45 ปีในผู้ชาย และมากกว่า 55 ปีในผู้หญิง )

เพราะฉะนั้นการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ก็คือ การรักษาโรคเบาหวานให้ดี ควบคุมความดันโลหิตให้ดี ควบคุมไขมันในเลือดให้ดี งดสูบบุหรี่ ส่วนอายุควบคุมไม่ได้ก็ปล่อยไปข้อหนึ่งครับ

การตรวจวินิจฉัย

พบแพทย์เพื่อซักถามอาการและตรวจร่างกายโดยละเอียด ตรวจคลื่่นไฟฟ้าหัวใจ ( EKG ) ตรวจอัลตร้าซาวด์หัวใจ หรือเอคโค่ฯ ( Echocardiogram ) ตรวจเดินสายพาน ( EST ; Exercise stress test ) ตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์หลอดเลือดหัวใจ ( CTA coronary ) หรือใส่สายสวนหัวใจเพื่อฉีดสีดูหลอดเลือด