B320

การศึกษาคุณภาพของข้าวหมากที่มีวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน

และความพึงพอใจของผู้บริโภคต่อข้าวหมากหลากสี

ธนัญญา บุญโสดากร, สาริศา แดงสุวรรณ, ขวัญกมล ขวัญเซ่ง

ครูที่ปรึกษา คุณครูชไมภรณ์ เฉลิมวรรณ

บทคัดย่อ

โครงงานมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคุณภาพของข้าวหมากจากการใช้วิธีนึ่งข้าวเหนียวแตกต่างกัน ศึกษาคุณภาพของข้าวหมากจากการผลิตข้าวหมากหลากสี และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีต่อข้าวหมากหลากสี ทำการศึกษาในช่วงเดือนกันยายน2562-กุมภาพันธ์2563 ผลการทดลองพบว่า 1) คุณภาพข้าวหมากด้าน เมล็ด ข้าวเหนียว ด้านน้ำต้อย ด้านกลิ่น ด้านความหวานและปริมาณแอลกอฮอล์ จากการนึ่งข้าวเหนียว 3 วิธี และ ใช้ใบพืช 4 ชนิดในการห่อ วิธีที่ดีที่สุดในการนึ่งข้าวเหนียวเพื่อผลิตข้าวหมากคือวิธีที่ 2 (แช่น้ำข้าวสารเหนียว ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวไปนึ่งพอสุกแล้วนำไปผ่านน้ำทำให้สะเด็ดน้ำแล้วนำไปนึ่งต่อ สักครู่ ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำไปผสมลูกแป้งข้าวหมาก) และ ใบไม้ที่การห่อข้าวเหนียวในระหว่างการหมักข้าวหมากที่ทำให้ได้ข้าวหมากที่มีคุณภาพดีที่สุดในระยะ 48-72 ชั่วโมงคือ ใบทัง 2) สีที่ติดเมล็ดข้าวเหนียวได้ดี คือ สีส้มจากหัวขมิ้น และสีฟ้าจากดอกอัญชัน สีที่เมล็ดข้าวเหนียวติดสีแต่ความเข้มน้อยคือ สีแดงจากเมล็ดถั่วแดง และสีเขียวจากใบเตยหอม ส่วนสีที่เมล็ดข้าวเหนียวติดสีไม่ดี สีแดงจากดอกกุหลาบและสีเหลืองจากฟักทอง ส่วนค่าความหวานพบว่าข้าวหมากสีส้มจากหัวขมิ้นให้ค่าความหวานมากที่สุด รองลงมาคือข้าวหมากสีแดงจากเมล็ดถั่วแดง ข้าวหมากสีฟ้าจากดอกอัญชัน ข้าวหมากสีเขียวจากใบเตยหอม ข้าวหมากสีแดงจาก ดอก กุหลาบ และข้าวหมากที่ให้ความหวานน้อยที่สุดคือข้าวหมากสีเหลืองจากฟักทอง (ค่าความหวาน 44, 41.67, 40, 38.67, 37.83, 37.67 ตามลำดับ และ 3) ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการบริโภคข้าวหมากสีฟ้ามากที่สุด (X = 4.24) โดยมีระดับความพึงพอใจใกล้เคียงกับข้าวหมากสีเขียว (X = 4.14) โดยมีความพึงพอใจต่อข้าวหมากสีขาวน้อยที่สุด (X = 3.76) เมื่อพิจารณาความพึงพอใจเป็นรายข้อ พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจข้าวหมากสีฟ้า(สีจากดอกอัญชัน) ในด้านความแปลกใหม่ น่าสนใจมากที่สุด (X = 4.60) และพึงพอใจข้าวหมากสีส้ม (สีจากหัวขมิ้น) ในด้านความหอมน้อยที่สุด (X = 3.34) โดยกลุ่มตัวอย่างชอบข้าวหมากสีฟ้าที่เติมสีจากดอกอัญชันมากที่สุด รองลงมาตามลำดับคือ ข้าวหมากสีเขียวที่เติมสีจากใบเตยหอม ข้าวหมากสีส้มที่เติมสีจากหัวขมิ้น และข้าวหมากสีขาวที่ไม่มีการเติมสี