ผู้พิทักษ์ป่า

(ผู้กำกับควรมอบงานในคาบแรกคือ ให้ลูกเสือเพาะเลี้ยง ปักชำ ตอน หรือขยายพันธ์ไม้ด้วยวิธีใดก็ได้ จะเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้ล้มลุกก็ได้ คนละ 1 ต้น โดยแสดงผลงานให้เห็นเป็นลำดับขั้น โดยรูปถ่ายหรือส่งผลงานจริง หรือการ ขอคำยืนยันจากผู้ปกครอง หรืออยู่ในดุลยพินิจของผู้กำกับเอง)

"ป่า" ได้มีผู้ให้คำนิยามไว้หลายท่าน ซึ่งพอสรุปได้ความว่า "ป่า" คือที่รวมของสิ่งมีชีวิต ที่สำคัญ คือต้นไม้ หรือ ป่า เป็นสังคมของพืชอันมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากไม้ยืนต้นแล้ว "ป่า" ยังประกอบด้วยสุมทุมพุ่มไม้, สมุนไพร, เถาวัลย์, หวาย, กล้วยไม้, เห็ด, เฟริน ฯลฯ และในหมู่ไม้เหล่านี้ก็เป็นที่อาศัยของสัตว์ชนิดต่าง ๆ

"ป่า" นับว่ามีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์มาก ประโยชน์ทางตรงที่ได้ เช่น ใช้ไม้ทำบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทำเครื่องใช้ทำยารักษาโรค และเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ นอกจากนี้ประโยชน์ทางอ้อมที่ได้จากป่า ได้แก่ ป่าไม้ช่วยลดความรุนแรงของอุทกภัย ช่วยต้านทานกระแสน้ำที่ไหลแรง ช่วยยึดผิวดินไม่ให้เกิดพังทลาย ช่วยเก็บความชุ่มชื้น ช่วยให้ภูมิประเทศสวยงาม ดังนั้นมนุษย์ควรใช้ประโยชน์จาก ป่า อย่างทนุถนอม การที่มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากต้นไม้ต่างๆ ในป่าให้คุ้มค่า และเสียหายน้อยที่สุด เราเรียกว่า "การพิทักษ์ป่า"

ประโยชน์จาการใช้ไม้ อาจนำไปใช้ในความต้องการได้หลายอย่าง ซึ่งจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้อไม้นั้น เช่น

1. ไม้นำมาแปรรูป คือ การนำไม้มาเลื่อยผ่าตามขนาด และประเภท เพื่อการก่อสร้างและประกอบเป็นวัตถุ เครื่องใช้ เช่น ไม้กระดาน พื้น ฝา เพดาน ไม้คร่าว รอด ตง และระแนง เป็นต้น ไม้ ต่าง ๆ ที่นิยมนำมาแปรรูปได้แก่ ไม้สัก ไม้เต็ง-รัง ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ไม้ยาง

2. ไม้ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เพื่อประกอบอาหารหรือใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่จำเป็นจะต้องใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิง ไม้ที่เหมาะจะนำมาทำเชื้อเพลิง ได้แก่ ไม้โกงกาง ไม้ประสัก ไม้ตะกร้อ ไม้สะแก ไม้พลอง ไม้พลอง เป็นต้น

3. ไม้หมอนรถไฟ เสา ได้แก่ ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้ตะเคียน ไม้เคี่ยม ไม้กันเกรา ไม้ที่เหมาะทำเสาเข็ม ได้แก่ ไม้งิ้ว ไม้เหียง ไม้ยาง ไม้บออีเก้ง

นอกจากนี้ยังมีของป่าอีกหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น

หวาย ใช้ทำเก้าอี้ เครื่องจักสาน

ไม้ปอกระเสา ไม้ไผ่ ไม้สน ใช้ทำกระดาษ

น้ำมันยาง และชัน ใช้ทาไม้

ยางรัก ใช้ทำเครื่องเขิน

ยางขนุนนก ใช้หุ้มสายเคเบิ้ลใต้น้ำ

ยางยูเรตง(ได้จากต้นตีนเป็ดแดง) ใช้ทำหมากฝรั่ง

ชันตะเคียนตาแมว ใช้ผสมน้ำมันทาไม้ เป็นน้ำมันขัดเงาได้อย่างดี

น้ำมันสน(ได้จากต้นสนเขา) ใช้ผสมยา ผสมสี ทำสบู่ ยาขัดรองเท้า

นอกจากนี้แล้วยังมีของป่าอีกมากมายที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ ลูกเสือจะสามารถศึกษาได้จากแหล่งค้นคว้าต่าง ๆ ห้องสมุด หรือสถาบันต่าง ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับต้นไม้

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโครงสร้างของต้นไม้ การกินอาหาร การหายใจ และการเจริญเติบโตของไม้ยืนต้น

พืช เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติต่างกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆคือ สามารถที่จะสร้างอาหารเองได้(Autotrophic plant) โยอาศัยแสงแดด และครอโรฟิล เราเรียกกระบวนการสร้างอาหารเองของพืชว่า การสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) จากกระบวนการสังเคราะห์แสง สิ่งแรกที่ได้คือ น้ำตาล ซึ่งจะอยู่ในรูปของแป้ง และจะเปลี่ยนกลับมาเป็นน้ำตาลอีกเมื่อพืชนำไปใช้ในการดำรงชีวิต นอกจากนี้แล้วยังมีน้ำ และออกซิเจนเกิดขึ้นจากกระบวนการสังเคราะห์แสงนี้ด้วย

ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชนอกจากจะอาศัยแสงแดด และครอโรฟิลแล้ว พืชยังต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำในธรรมชาติมาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงด้วย ฉะนั้นพืชจึงเปรียบเสมือนโรงงานใหญ่ที่ช่วยเปลี่ยนกาซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำในธรรมชาติให้กลับมาเป็นอาหารของมนุษย์ และให้กาซออกซิเจนเพื่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งปวง

โครงสร้างของต้นไม้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. โครงสร้างภายนอก

2. โครงสร้างภายใน

1. โครงสร้างภายนอกประกอบด้วย

1.1 ลำต้น

1.2 กิ่ง ใบ ดอก ผล

1.3 ราก

2. โครงสร้างภายในประกอบด้วย

2.1 ชั้นเปลือก หรือชั้นคอร์เทกซ์ ประกอบด้วยหลายชั้น คือ ชั้นนอกสุดจะเป็นเยื่อบาง ๆ เรียกว่า Epidermiss ถัดเข้าไปข้างในยังมีชั้นของเซลล์ที่มีผนังค่อนข้างหนา คือชั้น Collenchyma และ Parenchyma ซึ่งเป็นเซลล์ในชั้นคอร์เทกซ์

2.2 ชั้นใน หรือชั้นสตีล เป็นชั้นที่มีมัดท่อน้ำ ท่ออาหาร และแก่น ไม้เนื้อแข็งส่วนใหญ่จะเป็นชั้นของมัดท่อน้ำซึ่งอยู่ด้านใน

เนื่องจากต้นไม้ มีทั้งกระบวนการสร้างอาหาร และการหายใจ จึงทำให้พืชเจริญเติบโต อันเป็นผลเนื่องมาจากการแบ่งเซลล์ หรือการเพิ่มจำนวนเซลล์ภายในลำต้น เนื้อเยื่อของต้นไม้ที่ทำหน้าที่แบ่งตัวทำให้เกิดเซลล์ใหม่ เรียกว่า เนื้อเยื่อเจริญ ได้แก่บริเวณปลายยอด และปลายราก หรือระหว่างข้อของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว นอกจากนี้ด้านข้างลำต้นของพืชใบเลี้ยงคู่ก็มีเยื่อเจริญ ที่ช่วยสร้างมัดท่อน้ำเข้าข้างใน และสร้างมัดท่ออาหารออกมาด้านเปลือก เนื้อเยื่อที่อยู่ตรงกลางระหว่างมัดท่อน้ำและมัดท่ออาหาร เรียกว่า เยื่อเจริญ

ดังนั้นการเจริญเติบโตของเนื้อไม้จึงเป็นการเพิ่มของกลุ่มมัดท่อน้ำ ซึ่งเยื่อเจริญเป็นผู้สร้างขึ้น การเจริญเติบโตของเนื้อไม้จะขยายออกเป็นวงด้านนอก เพิ่มขึ้นแล้วแต่อัตราความเจริญของพืชในแต่ละปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฤดูกาล จึงทำให้เป็นวง ถี่ หรือ ห่าง ต่างกัน เราเรียกว่า "วงปี" ซึ่งอาจเป็นเครื่องกำหนดหรือบอกอายุของต้นไม้นั้นได้ เนื้อไม้ที่อยู่ด้านในย่อมมีอายุมากกว่าไม้ที่อยู่ด้านนอก และมักไม่ได้ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำแล้ว จึงมีสีเข้ม

อันตรายที่เกิดขึ้นแก่ต้นไม้ และป่าไม้

อันตรายจากไฟป่า

ภัยอันตรายและเหตุที่เกิดไฟไหม้ป่ามีอยู่หลายทางด้วยกัน ได้แก่

1. เกิดจากธรรมชาติในป่าบางแห่ง เช่น เกิดจากพายุจัด ฟ้าคะนองเกิดฟ้าผ่าถูกต้นไม้ที่แห้งตาย หรือต้นไม้บางชนิดที่ติดไฟง่าย เช่น ต้นสนเขา

2. เกิดจากการเผาป่าโดยความตั้งใจ และโดยความประมาท สะเพร่า อันตรายด้วยเหตุนี้มีมาก ซึ่งม่บุคคลเพียงบางกลุ่มที่เป็นผู้ทำลาย เช่น

- คนเที่ยวป่าจุดไฟเผาป่าให้สัตว์ตื่นตกใจ

- คนเลี้ยงสัตว์จุดไฟเผาหญ้า เพื่อให้หญ้าอ่อนลัดหน่อ พอให้สัตว์กิน

- นักท่องเที่ยวทิ้งก้นบุหรี่ หรือก่อไฟไว้แล้วไม่ดับ

- เปลวไฟจากรถจักรปลิวไปเป็นต้นเพลิง

- ชาวเขาทำการเผาป่าเพื่อรุกที่ทำกิน

- ชาวสวนเผาป่าข้างสวน เพื่อไล่สัตว์หรือแมลงที่ทำอันตรายต่อพืช

วิธีดำเนินการป้องกันไฟไหม้ป่า

1. ส่งเสริมการศึกษาให้ประชาชนได้ตระหนักในความสำคัญของป่าไม้ และอันตรายที่จะพึงเกิดแก่ป่าไม้

2. แก้ไขปัญหาป่าไม้ให้รัดกุมยิ่งขึ้น และดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง

3. จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะแจ้งเหตุ หรือเครื่องมือที่จะใช้ดับไฟ เพื่อรีบตัดต้นไฟเสียก่อน

อันตรายจากแมลงต่าง ๆ

แมลงอาจทำลายต้นไม้ได้หลายทาง เช่น แมลงบางชนิดกัดกินต้นไม้ ใบไม้ หรือดูดกินน้ำในใบ บางชนิดกัดกินเนื้อไม้ เช่น มอด หรือ ปลวก เป็นการยากที่จะปราบปรามแมลงที่เป็นศัตรูต้นไม้ให้หมดสิ้นไปได้ วิธีปราบแล้วแต่ชนิดและอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ต้นไม้ เช่น แมลงที่กัดกินใบ หรือดูดน้ำในใบ ใช้ยาฉีด พ่น หรือรมควัน

วิธีทำลายปลวกให้ค้นหารัง เมื่อพบแล้วให้ใช้ยาฉีด หรือยาเบื่อโรยให้ถูกตัว ส่วนการป้องกันปลวกไม่ให้ทำอันตรายแก่บ้านเรือน และสิ่งก่อสร้าง โดยใช้สีน้ำมันทาไม้หรืออาบไม้ด้วยน้ำยาป้องกันปลวก คอยทำความสะอาดหมั่นปัดกวาดบ้านเรือน ตรวจตราร่องรอยการทำรังของปลวก โดยเฉพาะเสาเรือน ถ้าปล่อยให้ปลวกขึ้น ทำรังในเสาเรือนได้แล้วก็ยากที่จะทำลายให้หมดได้ อนึ่งถ้าพบว่าไม้ต้นใดมีแมลงเกาะทำรัง ต้องรีบแจ้งให้พนักงานป่าไม้ทราบ เพื่อการกำจัดทำลายเสีย ป่าตอนใดที่มีพรรณไม้ชนิดเดียวกันอยู่มาก อาจเป็นแหล่งรวมของแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ทำให้มันระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงควรปลูกพรรณไม้หลากชนิดให้คละกัน การระบาดของแมลงก็จะน้อยลง

วิธีกำจัดแมลงอีกวิธีหนึ่ง เรียกว่า Biological Control โดยวิธีเพาะเลี้ยงสัตว์ที่เป็นศัตรูกับแมลง เช่น นกที่ชอบกินตัวหนอน ตัวด้วง แมลง ได้แก่ นกหัวขวาน นกตะขาบ อีกา นกกางเขน เป็นต้น แมลงบางชนิดช่วยกำจัดแมลง เช่น แมงมุม โดยจะชักใยไว้ตามต้นไม้ดักแมลงที่เป็นอาหารของมัน

อันตรายที่เกิดจากเห็ดรา

เชื้อโรคที่ทำอันตรายต้นไม้ที่อ่อนแอ หรือไม้ที่แก่เฒ่าจนถึงตายมีหลายชนิด เรียกรวมๆ กันเป็นหมวดใหญ่ๆ ว่า โรคเชื้อเห็ดรา เห็ดเป็นพืชพวกที่ไม่มีคลอโรฟิล จึงไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ มักจะเกาะกินพืชด้วยกันจนพืชที่มันเกาะตายไป เห็ดบางชนิดเกาะกินไม้ที่ตายแล้ว ทำให้เนื้อไม้ผุจนใช้การไม่ได้

ในอเมริกามีโรคที่น่ากลัวชนิดหนึ่งชื่อว่า โรคไม้เอม ซึ่งจะเกาะตามใบของต้านเอม แล้วลามไปถึงกิ่ง และลำต้นในที่สุด โรคนี้จะระบาดไปทั้งป่า เมื่อเกิดโรคชนิดนี้แก่ไม้ต้นใด ผู้พบเห็นต้องรีบแจ้งให้พนักงานป่าไม้ทราบเพื่อกำจัดต้นไม้นั้นทั้งต้น จะได้ไม่ระบาดต่อไป

เชื้อเห็ด รา เป็นละอองละเอียดปลิวไปได้ไกล เมื่อไปติดต้นไม้ที่มีสภาพเหมาะสมในการเจริญงอกงาม ก็จะแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว เช่น เห็ดราจำพวกที่ทำลายต้นสนขาว เชื้อเห็ดราชนิดนี้อาศัยเกาะตามต้นองุ่น หรือต้นกูสเบอรี่ จากนั้นจึงจะระบาดไปทำลายต้นสนขาว เพราะฉะนั้นจึงต้องปลูกสวนองุ่นหรือกูสเบอรี่ให้ ห่างป่าสนขาวอย่างน้อย 1,000 ฟุตขึ้นไป

กาฝาก (Mistletoe) เป็นพันธุ์ไม้ที่เกาะตามต้นไม้ หยั่งรากของมันลงไปสู่เยื่องอก ดูดอาหารจากต้นไม้ เจริญเติบโตออกดอกออกผล เมื่อเป็นเช่นนี้มาก ๆ ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและทำให้ถึงตายได้ สาเหตุที่กาฝากสามารถแพร่กระจายได้เนื่องจากนกที่กินผลไม้เป็นอาหาร ได้ถ่ายเมล็ดไว้บนกิ่งไม้นั่นเอง ฉะนั้นเมื่อพบกาฝากควรตัดทิ้งเสีย

อันตรายที่เกิดจากสัตว์ต่างๆ

สัตว์เลี้ยงจำนวนมากอาจทำลายพืชพันธุ์ ป่าไม้ได้เช่น วัว แพะ แกะ กวาง ในต่างประเทศจึงต้องมีกฎหมายบังคับในเรื่องการกำหนดเขตสัตว์เลี้ยง และจำนวนสัตว์เลี้ยงในเขตป่าสงวน

โดยปกติ ธรรมชาติได้สร้างความสมดุลย์ระหว่างสัตว์กับพืชให้มีคู่กันอย่างเหมาะสม ป่าได้พึ่งเสือ เนื้อได้พึ่งไพร ไม้ได้พึ่งนกมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ภายหลังความสมดุลนี้ได้เสียไปก่อนที่มนุษย์จะเข้าไปทำลาย จำนวนสัตว์ป่าพวกกระต่าย หมู เม่น กวางทราย มีจำนวนเพิ่มไม่มากนัก เพราะถูกสัตว์ใหญ่จับกินเป็นอาหาร และยังมีโรคร้ายรบกวน ต่อมามนุษย์เข้าไปตัดไม้ถางป่า โค่นไม้ทำไร่นา เผาป่าถางป่า ทำให้ป่าไม้เสียหาย เมื่อล่วงเลยมาเป็นเวลานานทำให้ป่าไม้เสียหายมารขึ้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากคนทั้งโลกร่วมมือกันรักษาสมดุลย์ของสัตว์ป่า และต้นไม้ไว้

การเตรียมแปลงเพาะชำ

ขั้นตอนสำคัญในการปลูกต้นไม้คือการเตรียมดิน การเตรียมแปลงเพาะชำควรเลือกพื้นที่ที่น้ำไม่ขัง ยกแปลงขนาดกว้าง 4 ฟุต ให้มีทางเดินผ่านรอบด้านเพื่อความสะดวกในการเข้าไปดูแล ยกดินสูงประมาณ 3-4 นิ้ว ถ้าดินขาดปุ๋ยก็ควรเพิ่มปุ๋ยลงไป การหว่านเมล็ดปกติจะใช้มือหรือเครื่อง ถ้าเมล็ดเล็กมากควรคลุกสีให้เห็นได้ชัด เมื่อหว่านแล้วควรใช้ลูกกลิ้งทับให้เมล็ดฝังดิน แล้วคลุมด้วยหญ้าหรือฟางแห้ง หมั่นรดน้ำเช้า-เย็น เมือต้นกล้าขึ้นแล้วถ้าเห็นว่าขึ้นถี่เกินไป ควรทำการถอนทิ้งเสียบ้าง เพื่อที่จะให้ต้นที่เหลืออยู่เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่

การย้ายปลูก (Planting out)

เมื่อต้นกล้าโตได้ขนาดอันสมควรแล้วจึงทำการย้ายไปปลูกในที่ถาวร ในการย้ายปลูกต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. ฤดูที่ปลูก

2. การจัดวางระยะระหว่างแถว

3. การเอาใจใส่ดูกล้าไม้ก่อนปลูก

4. วิธีการปลูก

วิธีปลูก

มีวิธีปลูกหลายวิธี แต่ที่สำคัญควรให้รากอยู่ในหลุมลึกเท่ากับเมื่อยังอยู่ในแปลงเพาะ ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

1. วิธีสักหลุมปลูก ใช้ชะแลงแทงดินแล้วโยกให้เป็นหลุม แล้วจึงนำกล้าลงดิน

2. วิธีขุดหลุมปลูก ใช้เสียมปากกว้างขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วนำกล้าลงดิน กลบให้แน่น ใช้หญ้าแห้งคลุมโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น

การดูแลรักษาต้นไม้ที่ปลูก

1. ทำความสะอาดรอบๆ โคนต้น

2. การใส่ปุ๋ยเสริมธาตุอาหารในดิน

3. การตัดแต่งกิ่ง และการกำจัดศัตรูพืช

การรู้จักวิธีโค่นต้นไม้

ในฐานะที่ท่านเป็นลูกเสือ ท่านเป็นผู้พิทักษ์ป่า ลูกเสือย่อมไม่ทำให้ต้นไม้เสียหาย โดยเอามีดหรือขวานไปตัด ฟันต้นไม้ ลูกเสือควรระลึกอยู่เสมอว่า การโค่นต้นไม้หนึ่งต้นนั้นเสียเวลาไม่นาน แต่การปลูกต้นไม้กว่าจะโตเท่าที่เราโค่นนั้นต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้นลูกเสือต้องไม่โค่นต้นไม้เพียงเพื่อเหตุผลความต้องการของเอง และจตั้งปฏิญาณไว้ว่า ถ้าต้องโค่นต้นไม้ 1 ต้น เราจะต้องปลูกทดแทน 2 ต้น

ในที่นี้จะเสนอวิธีโค่นต้นไม้ เพื่อเป็นความรู้ของลูกเสือตามหลักสูตรที่กำหนดไว้

เมื่อราว พ.ศ. 2460 การล้มไม้สักนิยมสร้างนั่งร้านขึ้นไปสูง ๆ ประมาณ 2 เมตร ถึง 2 เมตรครึ่ง แล้วใช้ขวานหรือเลื่อยล้มไม้ลงมา ต่อมาเมื่อหมดสัมปทานป่าไม้รอบแรกคือราว พ.ศ 2470 กรมป่าไม้จึงกำหนดให้ผู้รับสัมปทาน ตัดไม้ให้ตอสูงได้ไม่เกิน 50 ซ.ม.จากพื้นดิน และกำหนดค่าตัดตอสูงไว้ในสัมปทานด้วยการออกสัมปทานไม้สักในรอบต่อมา ราว พ.ศ. 2485 กรมป่าไม้ได้กำหนดความสูงของตอไม้สักที่ให้ตัดต่ำลงมาอีก คือให้เหลือเพียง 30 ซ.ม.

การล้มไม้สักไม่นิยมใช้ขวานแต่อย่างเดียว เพราะสิ้นเปลืองเนื้อไม้มาก เท่าที่ปฏิบัติกันมา จะใช้ขวานบากหน้าไม้ในทางที่ต้องการให้ไม่ล้ม ลึกราว 1/3 ของต้น แล้วใช้เลื่อยช่วย "ลัดหลัง" เมื่อไม่ล้มลงแล้ว ก็ใช้รอยขวานนั้นเป็นแนวสำหรับเปิดหัวไม้ เพื่อไม่ให้หน้าตัดของไม้ครูดกับดินเวลาทำการชักลาก

บากหน้า ลัดหลัง

ที่มา : http://www.treeworksww.co.uk/tree-surgery/felling-removal/tree-felling.html

การล้มไม้มีหลักเกณฑ์ที่ควรปฏิบัติดังนี้

1. ฤดูที่จะโค่นต้องเป็นฤดูฝน เพราะแผ่นดินอ่อนไม้ไม่แตกง่าย

2. ไม่ควรล้มไม้ในเวลาที่อากาศร้อน และดินแห้งแข็ง เพราะเวลาอากาศร้อน เนื้อไม้จะเปราะกว่าปกติ

3. ตรวจดูทิศทางที่จะล้มว่ามีขอนไม้ ก้อนหิน จอมปลวก ตอไม้อยู่หรือไม่ ถ้ามีให้หลีกเลี่ยงการล้มไม้ไปทางนั้น หรือพยายามกำจักสิ่งเหล่านี้ออกเสียก่อน

4. พยายามหลีกเลี่ยงการล้มทับไม้สัก หรือไม้หวงห้าม

5. ถ้าไม้ที่จะล้มขึ้นอยู่ที่ลาด ให้ล้มขึ้นเขา เพราะระยะทางที่ไม้จะฟาดพื้นสั้น แรงกระแทกจึงน่าจะน้อยกว่า

แต่ทฤษฎีการล้มไม้ขึ้นเขานี้ ทางสหรัฐอเมริกาโต้แย้งว่า การล้มไม้ลงเขาจะทำให้ไม้เสียหายน้อยกว่า เพราะโคนไม้จะหลุดจากตอ และฟาดพื้นดินพร้อม ๆ กับปลายไม้