การแข่งขันสร้างอุปกรณ์เพื่อให้บริการ ปี 2558

ในการสร้างอุปกรณ์เพื่อให้บริการ ซึ่งต้องแบ่งหน้าที่ตามภาระงาน โดยสถานการณ์ที่เป็นข้อกำหนดในการแข่งขัน กำหนดไว้ว่า ให้ผู้เข้าแข่งขันแสดงบทบาทสมมุติตามสถานการณ์ที่กำหนดไว้ในใบงาน เมื่อได้รับสัญญาณให้เริ่มต้นการแข่งขันจนแล้วเสร็จทุกขั้นตอน ภายในเวลา ๙๐ นาที โดยให้ออกแบบสร้างอุปกรณ์สำหรับการส่งอาหารและน้ำดื่มข้ามเหวลึกที่มีความกว้าง ๑๕ เมตรทอดเป็นแนวยาวขวางอยู่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินถล่มที่ติดค้างอยู่ฝั่งตรงข้ามในแนวพื้นราบ โดยอาศัยแรงส่งที่เกิดจากเครื่องผ่อนแรง เช่น คาน รอก ล้อและเพลา ลิ่ม สกรู เป็นต้น อุปกรณ์สำหรับส่งอาหารนี้ต้องมีฐานรองรับที่มั่นคงแข็งแรง สามารถเคลื่อนย้ายได้ ห้ามผู้เข้าแข่งขันใช้แรงส่งที่เกิดจากการอัดลม อัดน้ำ หรือแรงระเบิดจากสารเคมี และห้ามใช้คนกด ผลัก หรือ ดันโดยตรงที่ปลายคานด้านใดด้านหนึ่งของเครื่องส่งประเภทคานดีด ผู้เข้าแข่งขันต้องจัดเตรียมวัสดุและเครื่องมือวัด ตัด เจาะ ผ่าฯลฯ และสร้างงานในพื้นที่การแข่งขันระหว่างทำการแข่งขันเท่านั้น ห้ามทำเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใด ๆ มาก่อน โดยกำหนดรายการอุปกรณ์ให้มีดังนี้ ๑) ไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ – ๔ นิ้ว ความยาว ๓ – ๔ เมตร จำนวนไม่เกิน ๘ อัน ไม้ทุกอันต้องมีขนาดและความยาวเท่ากัน ๒) ไม้ถ่วงน้ำหนัก รอก เชือกคล้องรอก ๓)เชือกผูกแน่น ให้มีจำนวน ขนาดและความยาวตามความเหมาะสมของรูปแบบที่จะจัดสร้าง แต่อุปกรณ์ที่จัดสร้างต้องมีตำแหน่งผูกเงื่อนผูกแน่นไม่น้อยกว่า ๑๐ จุด ๔) ถุงผ้าขนาด ๖×๘ นิ้ว บรรจุทรายให้มีน้ำหนักถุงละ ๑ กิโลกรัม จำนวน ๑๓ ถุง (ใช้แทน “อาหารและน้าดื่ม”) ๕) ห้ามนำวัสดุสำเร็จรูปอื่น ๆ เช่น ตะกร้า ลวด ตาข่าย ฯลฯ มาใช้ประกอบอุปกรณ์ที่จัดสร้างขึ้น หากจำเป็นต้องมี ให้จัดทำขึ้นเองจากไม้และเชือกที่กำหนดให้ เมื่อสร้างอุปกรณ์ส่งอาหารและน้ำดื่มช่วยเหลือผู้ประสบภัยเสร็จแล้ว ให้ผู้เข้าแข่งขันแจ้งให้กรรมการทราบและขออนุญาตทดลองใช้อุปกรณ์ส่งถุงทรายไปยังเป้าหมายเพื่อหาพิกัดและปรับอุปกรณ์ ได้ ๓ ครั้ง โดยไม่นับคะแนน และห้ามนำถุงทรายนั้นกลับมาใช้อีก หลังจากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ส่งถุงทรายที่เหลืออีก ๑๐ ถุงไปยังเป้าหมาย โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถปรับตำแหน่งที่ตั้งของอุปกรณ์ได้ตลอดเวลา แต่ต้องไม่ล้ำเส้นที่กรรมการกำหนดไว้ และเมื่อการดำเนินการใช้อุปกรณ์ส่งถุงทรายไปยังที่หมายครบ ๑๐ ถุงแล้ว ให้ผู้เข้าแข่งขันร้อง“ไชโย” พร้อมกัน ๑ ครั้ง ถือเป็นการสิ้นสุดการแข่งขัน กรรมการจะบันทึกเวลาที่ใช้ในการแข่งขัน โดยมีเกณฑ์คะแนน ดังนี้

ถุงทรายหยุดนิ่งในเป้าหมายวงรัศมี ๕๐ เซนติเมตร จากขอบระยะ ๒๐ เมตรจากจุดส่ง ถุงละ ๑๐ คะแนน ถุงทรายหยุดนิ่งในวงรัศมี ๑ เมตร ถุงละ ๘ คะแนน ถุงทรายหยุดนิ่งในวงรัศมี ๑.๕ เมตร ถุงละ ๖ คะแนน ถุงทรายหยุดนิ่งในวงรัศมี ๒ เมตร ถุงละ ๔ คะแนน ถุงทรายหยุดนิ่งนอกวงรัศมี ๒ เมตร ถุงละ ๐ คะแนน กรณีส่งถุงทรายไปตกในระยะไม่ถึง ๑๕ เมตรจากจุดส่ง ถือว่าถุงทรายนั้นตกเหว ไม่ให้คะแนนถึงแม้ถุงทรายนั้นจะไถลไปหยุดนิ่งในวงรัศมีที่ได้คะแนน กรณีถุงทรายตกทับเส้นวงรัศมี ให้พิจารณาสัดส่วนของถุงทราย หากมีสัดส่วนเข้าไปในวงรัศมีใดมากกว่าร้อยละ ๕๐ ให้คะแนนตามน้ำหนักคะแนนในวงรัศมีนั้น โดยมีเกณฑ์การพิจารณาที่การแสดงออกของผู้นำหมู่ลูกเสือ การบริหารระบบหมู่ รวมถึงวินัยของลูกเสือ เป็นองค์ประกอบ

เมื่อได้รับกติกาและเกณฑ์การแข่งขันแล้ว ข้าพเจ้าและผู้เรียนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนแข่งขันต้องเรียนรู้ร่วมกัน วิเคราะห์ความต้องการของการจัดการแข่งขัน แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นภาระงาน จากนั้นจึงร่วมกันกำหนดรูปแบบการดำเนินงานตามเกณฑ์ที่ผู้จัดการแข่งขันกำหนด ประชุมหารือและมอบหมายภาระงานให้เหมาะสมกับความสามารถและทักษะที่ได้รับการฝึกปฏิบัติมาอย่างดีแล้วของแต่ละบุคคล เช่น ทักษะการผูกเงื่อนผูกแน่น มอบหมายงานให้ผู้เรียนได้ออกแบบอุปกรณ์ตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน สร้างแบบจำลองแล้วนำมาเสนอในที่ประชุม รับข้อเสนอแนะจากกลุ่ม เลือกแบบอุปกรณ์ที่จะใช้สร้างของจริง จนถึงขั้นลงมือปฏิบัติเป็นชิ้นงานที่ใช้การได้จริง ต้องร่วมกันการวางแผนการใช้วัสดุ คือไม้ไผ่ตามจำนวนที่กติกากำหนดให้คุ้มค่าและเพียงพอ

เรียบเรียงโดย ครูสวัสดิ์ เจริญบุญ