ความปลอดภัยในการปฏิบัติกิจกรรมผจญภัย

การผจญภัย เป็นวิชาหนึ่งของลูกเสือที่ท้าทายให้ลูกเสือได้ใช้กำลังทางด้านร่างกาย และความคิด ร่วมกันแก้ปัญหา ช่วยกันทำอุปกรณ์ในการแก้ปัญหา ตลอดจนการตัดสินใจของผู้นำหมู่ที่จะดำเนินการไปเพื่อให้สามารถนำหมู่ของตนผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เผชิญอยู่ ได้ด้วยความสำเร็จและปลอดภัยด้วยกันทุกคน

กิจกรรมการผจญภัยนั้นแยกออกเป็นหมวดใหญ่ ๆ ได้ 3 หมวด คือ

1. กิจกรรมทางน้ำ ลูกเสือต้องว่ายน้ำเป็นและรู้จักการช่วยเหลือคนตกน้ำได้ แม้ลูกเสือมีความสามารถดังกล่าวนี้แล้วก็ไม่ควรประมาท ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำ จะต้องปฏิบัติดังนี้

1.1 ต้องมีเพื่อนในการปฏิบัติกิจกรรมอย่างน้อย 1 คน คอยช่วยเหลือกันอยู่ตลอดเวลา

1.2 ต้องมีผู้ช่วยคอยระวังเหตุอยู่ในบริเวณที่ทำกิจกรรม และสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที

1.3 ต้องมีอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือ เช่น ชูชีพ แพ เสาไม้สำหรับเกาะหรือขึงเชือกไว้สำหรับคว้าได้ยามเกิดเหตุ

1.4 ต้องมีสุขภาพแข็งแรง ถ้ามีโรคประจำตัว เช่นลมบ้าหมู ห้ามทำกิจกรรมทางน้ำเด็ดขาด

1.5 ผู้บังคับบัญชาลูกเสือต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา

2. กิจกรรมทางบก เป็นกิจกรรมที่ท้าทายและสนุกสนานสำหรับลูกเสือมาก เช่น การเดินสะพานที่ทำด้วยเชือก หรือไม้ การไต่หน้าผา การรอดอุโมงค์ การปีนต้นไม้ มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมบุกเบิก สำหรับผู้ที่จะปฏิบัติกิจกรรมผจญภัยทางบกนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยดังนี้

2.1 ควรแต่งกายรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้เดครื่องแต่งกายไปเกี่ยวกับฐานที่ลูกเสือจะต้องผ่าน อาจทำให้ลูกเสือพลัดตกลงได้

2.2 ควรสวมรองเท้าผ้าใบหุ้มส้น ขณะปฏิบัติกิจกรรม

2.3 อย่าพกอาวุธ เช่น มีด ขวาน ติดตัวไปขณะปฏิบัติกิจกรรม ถ้าพลัดตกลงมาอาจเกิดอันตรายได้

2.4 ผู้กำกับหรือพี่เลี้ยงที่อยู่ประจำฐานต่าง ๆ ต้องมีความสามารถแนะนำลูกเสือได้

2.5 ลูกเสือต้องมีความมั่นใจที่จะปฏิบัติกิจกรรมนั้น ถ้าไม่มั่นใจอย่าปฏิบัติ อาจเกิดอันตรายได้

3. กิจกรรมทางอากาศ กิจกรรมนี้ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสมมติ เช่น สมมติให้ลูกเสือเป็นพลร่ม กระโดดร่มลงมาค้างกิ่งไม้ และหมดสติไป ลูกเสือที่ไปประสบเหตุการณ์ต้องเข้าให้การช่วยเหลือ ผู้ที่จะช่วยเหลือได้ต้องรู้จักวิธีการใช้เชือกและผูกเงื่อนที่จะช่วยคนจากที่สูง โดยการร่วมกิจกรรมกันทั้งหมู่

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติกิจกรรม

1. สาเหตุจากคน คนเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติกิจกรรม ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

1)เกิดจากความประมาทโดยที่ผู้ปฏิบัติคิดว่า “ไม่เป็นไร”คิดว่าได้”อาจจะถูก”เป็นต้น

2)เกิดจากการลองผิดลองถูกโดยที่ลูกเสือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะลองปฏิบัติหลายๆอย่าง ซึ่งบางอย่างถ้าปฏิบัติแล้วอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

3)เกิดจากการเชื่อใจกันมากเกินไป การที่ผู้กำกับหรือลูกเสือเชื่อใจหรือไว้วางใจให้คนใดคนหนึ่งดำเนินการ แล้วให้คนอื่นนำผลงานนั้นไปใช้โดยไม่มีการตรวจสอบ อาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จะต้องทำการตรวจสอบการดำเนินการของกองทุน และทุกครั้ง (รวมถึงการดำเนินการของผู้กำกับลูกเสือด้วย)

4)เกิดจากผู้ปฏิบัติกิจกรรม มีสุขภาพไม่แข็งแรง หรืออาจมีโรคประจำตัว

5)เกิดจากการปล่อยให้ปฏิบัติกิจกรรมโดยลำพัง ซึ่งกิจกรรมบางอย่างถ้าลูกเสือปฏิบัติเพียงคนเดียวอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

6)เกิดจากการแต่งกายไม่รัดกุม รุ่มร่าม

7)เกิดจากการพกพาอาวุธหรือของมีคมไปปฏิบัติกิจกรรม

8)เกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติไม่มีความมั่นใจในตนเองว่าจะปฏิบัติกิจกรรมนั้นได้

9)เกิดจากความคึกคะนองของผู้ปฏิบัติกิจกรรม เช่น กลั่นแกล้งหรือหยอกแกล้งกัน เพื่อความสนุกสนาน

10)ผู้ปฏิบัติกิจกรรมขาดระเบียบวินัย ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

11)เกิดจากประเมินตนเองผิด คิดว่าตนเองมีคววามสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติกิจกรรมได้

2.สาเหตุจากอุปกรณ์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการปฏิบัติกิจกรรมอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้รายละเอียดมีดังนี้

1)ขาดอุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น เรือ แพ ชูชีพ และเสาไม้สำหรับเกาะ

2)ใช้อุปกรณ์ผิดขนาด ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงได้

3)ใช้อุปกรณ์ที่หมดสภาพการใช้งาน เช่น เชือกเก่า ไม้ผุ เป็นต้น

4)ใช้เงื่อนผิดจุดประสงค์การใช้งาน หรือผูกเงื่อนผิด

5)ดินอ่อนทำให้สมอบกยึดไม่แน่น

6)เชือกขาดหรือเชือกคลายตัวซึ่งเกิดจากการมัดไม่แน่น

7)รอกที่ใช้ในกิจกรรมอาจฝืดหรือขึ้นสนิม

8)ลืมปิดหน้ารอก ทำให้รอกหลุด

9)ฐานต่างๆไม่ได้รับการตรวจสอบโดยละเอียด