การก่อและจุดไฟกลางแจ้ง

การก่อกองไฟ และจุดไฟกลางแจ้ง

การเลือกสถานที่จุดไฟ

1. เป็นบริเวณที่แห้ง อยู่บนโขดหิน หรือเนินดินแห้ง

2. เป็นที่โล่งแจ้ง ห่างจากต้นไม้ อาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งที่อาจเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟ

3. เก็บกวาดและถางหญ้าแห้งรอบๆ บริเวณที่จะก่อกองไฟเสียก่อน

การเลือกเชื้อเพลิง

1. เลือกกิ่งไม้เล็กๆ แห้งๆ โดยเฉพาะกิ่งไม้ที่แห้งคาต้น

2. หากเป็นกิ่งไม้ที่มีขนาดใหญ่ ควรผ่าออกให้เป็นซีกเสียก่อน

3. หากเป็นกิ่งไม้ที่เปียกชื้น ควรนำไปผึ่งแดดให้แห้งเสียก่อน

การจุดไม้ขีดไฟ มีหลักง่ายๆ ดังนี้ คือ ให้นั่งลักษณะบังลม แล้วจึงจุดไม้ขีด โดยหันออกนอกตัว พอก้านไม้ขีดติด จึงนำไปจุดเชื้อไฟ

ข้อควรระวังในการก่อกองไฟ เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเลิกใช้แล้ว

1. เมื่อเลิกใช้แล้ว อย่าทิ้งกองไฟไว้ จะต้องดับไฟให้เรียบร้อยทุกครั้งการดับไฟอาจใช้น้ำ ทราย หรือดินเปียกก็ได้ และข้อสำคัญต้องแน่ใจว่าไฟดับสนิทแล้วจึงทิ้งไว้ได้

2. เมื่อดับไฟเรียบร้อยแล้ว ควรเก็บเศษถ่านและขี้เถ้าลงหลุม แล้วกลบให้เรียบร้อย จากนั้นจึงค่อยปรับพื้นที่ ให้อยู่ในสภาพเหมือนเดิมกับตอนเริ่มก่อไฟ

การก่อกองไฟแบบกระโจมอินเดียแดง ขั้นแรกต้องเอาเชื้อไฟมาสุมกันก่อน แล้วจึงนำกิ่งไม้เล็กๆ มากองซ้อนกันขึ้นมา โดยที่ชั้นบนสุดจะเป็นฟืนกองใหญ่ การก่อกองไฟแบบนี้ จะให้ความร้อนมากและแสงสว่างดี

การก่อกองไฟแบบเชิงตะกอน หรือ แบบคอกหมู เป็นการก่อกองไฟ โดยการนำฟืนท่อนใหญ่มาวางเรียงกัน ส่วนฟืนท่อนเล็กจะอยู่ข้างบน เมื่อกองฟืนสูง 2 ถึง 3 ชั้นแล้ว จึงซ้อนฟืนท่อนเล็กขึ้นไปอีก 2 – 3 ชั้น การก่อกองไฟแบบนี้ จะให้ความร้อนมากและแสงสว่างดีเช่นกัน

การก่อกองไฟแบบไฟดาว เป็นการก่อกองไฟ โดยใช้เชื้อไฟสุมไว้ แล้วจึงนำกิ่งไม้เล็กๆ มากองซ้อนกันตรงกลาง นำฟืนท่อนใหญ่มาวางเรียงกันให้เป็นลักษณะคล้ายซี่จักรยาน การก่อกองไฟแบบนี้ จะให้แสงสว่างและความอบอุ่นได้นาน

การก่อกองไฟแบบผสม เป็นการก่อกองไฟโดยเรียงท่อนฟืนแบบเชิงตะกอน ส่วนตรงกลางจะใช้กิ่งไม้เล็กๆ เรียงแบบรูปกระโจมอินเดียแดง การก่อกองไฟแบบนี้เหมาะสำหรับการเล่นรอบกองไฟ

การปรุงอาหารมี 2 แบบ

1. การปรุงอาหารแบบปกติในครัวเรือน เป็นการปรุงอาหารที่สะดวก เนื่องจากมีเครื่องครัวครบ ใช้เตาไฟถาวร หม้อ กะทะ เครื่องมือเครื่องใช้สำเร็จ ช่วยให้การหุงหาอาหารสะดวกสะบายและสะอาด

2. การปรุงอาหารในขณะอยู่ค่ายพักแรม เป็นการปรุงอาหารแบบชาวป่า เครื่องมือเครื่องใช้ในการหุงหาอาหารไม่ครบ เช่น ใช้เตาหลุม เตาสามเส้า เตาราง ใช้มะพร้าวอ่อนแทนหม้อข้าว ใช้อะลูมิเนียม ฟรอยด์แทนกะทะ ใช้ดินพอกเผาแทนการต้ม การปิ้ง การอบ เป็นต้น

การปรุงเครื่องดื่มร้อน

เครื่องดื่อมร้อนมี 2 ประเภทคือประเภทสำเร็จรูปชงพร้อมดื่ม เช่น โกโก้ร้อน นมร้อนประเภทต้องปรุงหรือต้มก่อนดื่ม เช่น น้ำมะตูม น้ำขิง วิธีปรุงเครื่องดื่มสำเร็จรูป การชงโกโก้ร้อน1. ใส่น้ำร้อนลงในแก้ว ประมาณ 3ใน4 ส่วน2. ใส่ผงโกโก้ 1ซอง แล้วคนให้ผงโกโก้ละลาย

3. ชิมรส ถ้ายังไม่หวานพอ สามารถ เติมนมข้นหวาน หรือน้ำตาลได้ตามชอบ

การชงนมร้อน

1. ใส่น้ำร้อนลงในแก้ว ประมาณ 3ใน4 ส่วน

2. ใส่นมผง 1 ซอง แล้วคนให้เข้ากันให้ผงนมละลาย และยกดื่มได้

3. เครื่องดื่มร้อนควรจะดื่มให้หมดในคราวเดียว และไม่ควรเติมน้ำตาลเพิ่มอีก

วิธีปรุงเครื่องดื่มที่ต้องต้มก่อน

การต้มน้ำมะตูม

1. ล้างแผ่นมะตูมตากแห้งให้สะอาด 3-4 แผ่น เตรียมไว้

2. ต้มน้ำให้เดือด แล้วจึงใส่แผ่นมะตูมลงไปต้ม จนมีกลิ่นหอม

3. ใส่น้ำตาลทรายให้มีรสหวานพอดีแล้วยกลง ตักดื่มได้

การต้มน้ำขิง

1. ล้างขิงให้สะอาด ฝานขิงเป็นแผ่นใส่จายเตรียมไว้

2. ต้มน้ำให้เดือด แล้วใส่ขิงลงไปต้มจนมีกลิ่นหอม

3.ใส่น้ำตาลทรายให้มีรสหวานพอดีแล้วยกลง ตักดื่มได้

การปรุงอาหารอย่างง่าย

1) การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ เป็นวิธีที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมทำกัน มีวิธีหุง ดังนี้

1. ตวงข้าวใส่หม้อ และซาวน้ำสะอาด 1ครั้ง เพื่อล้างสิ่งสกปรกจากนั้นรินน้ำ

2. ใส่น้ำให้ท่วมข้าว ประมาณครึ่งต่อครึ่ง

3. ยกหม้อข้าวขึ้นตั้งบนเตา พอน้ำเดือดค่อยๆเปิดฝาหม้อออกแล้วใช้ทัพพีคนเพื่อไม่ให้ข้าวติดก้นหม้อ

4.เมื่อข้าวเริ่มสุกได้ที่แล้ว (สังเกตจากข้าวที่ไตมีสีขาวเล็กน้อย) ก็ยกลง

5. ปิดแล้วใช้ไม้ขัดหม้อให้แน่น เอียงหม้อรินน้ำข้าวทิ้งจนแห้ง

6.ยกหม้อข้าวขึ้น ดงคือเอาหม้อข้าวที่รินแล้วมาตั้งไฟอ่อนเพื่อให้ระอุ จนข้าวสุก แล้วจึงค่อยยกออก

2) การรหุงข้าวแแบบไม่เช็ดน้ำ เป็นการหุ้งข้าวโดยไม่รินน้ำทิ้ง ทำให้แร่ธาตุและวิตามินข้าวไม่ถูกทำลายไป มีวิธีหุงดังนี้

1. ตวงข้าวใส่หม้อ แล้วซาวข้าวด้วยน้ำสะอาด 1 ครั้งเพื่อล้างสิ่งสกปรกจากนั้นรินน้ำทิ้ง

2. ตวงน้ำสะอาดใส่หม้อ อัตราส่วนข้าวหนึ่งส่วน ต่อน้ำหนึ่งส่วน

3.ยกหม้อข้าวขึ้นตั้งบนเตาไฟ ปิดฝาสนิท ตั้งทิ้งไว้ห้าถึงแปดนาที เปิดฝาหม้อแล้วใช้ทัพพีคนเพื่อป้องกันข้าวไหม้

4.เมื่อข้าวเริ่มเดือด เปิดฝาหม้อ แล้วใช้ทัพพีคน พอน้ำงวดลงบ้างก็ตักไฟออกเล็กน้อย รอข้าวระอุประมาณ 15-20 นาที จึงคอยยกลง

3)การนึ่งข้าว

1.ซาวข้าวด้วยน้ำสะอาด 1 ครั้ง แล้วเอาใส่ชามอลูมิเนียม

2. ใส่น้ำท่วมข้าว อัตราส่วน ข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำ2 ส่วน

3. นำภาชนะที่ใส่ข้าวใส่ไปตั้งในกระทะหรือหม้อที่มีหม้อน้ำพอประมาณ แล้วใช่ฝาครอบไว้

4. ยกขึ้นตั้งบนเตาไฟ ทิ้งไว้ราว 30นาที ข้าวก็จะสุก

4)การหลามข้าว

เป็นการทำข้างให้สุกโดยการแผ่รังสีความร้อน มีวิธีทำดังนี้

1. ตัดไม้ไผ่สดเป็นปล้องๆทะลุปล้องด้านหนึ่งเพื่อใช้บรรจุข้าว

2. ซาวข้าวด้วยน้ำสะอาด 1 ครั้ง แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 3 ชั่วโมง

3.กรอกข้าวสารลงไปในกระบอกไม้ไผ่ ( 2 ใน 3ส่วนของกระบอกไม้ไผ่) เติมน้ำท่วมข้าวประมาณครึ่งนิ้ว แล้วเอาใบตองแห้งห่อหรือกาบมะพร้าวอุดปากกระบอกไว้และให้พอมีช่องว่างตรงปากกระบอกไว้พอสมควร เพื่อให้น้ำเดือดได้

4.ทำเตาแนวขนานโดยใช้ท่อนไม้ ต้นกล้วย เป็นแนวขาหยั่งสำหรับพิงกระบอกข้าว

5. ก่อไฟ หมั่นพลิกกระบอกข้าวให้ได้รับความร้อนโดยทั่วถึงทุกกระบอกทุกด้าน เมื่อข้าวสุกแล้วก็ปอกผิวกระบอกไม้ไผ่ที่ไหม้เกรียมออก เพื่อสะดวกแก่การรับประทาน

การหุงด้วยมะพร้าวอ่อน

เอามะพร้าวอ่อนเฉาะก้นเปิดช่องคล้ายทำมะพร้าวสังขยา เทน้ำออก เอาข้าวที่ซาวแล้วใส่ลงในมะพร้าว ใส่น้ำเช่นเดียวกับหุงข้าวด้วยหม้อ ปิดฝา เอาไปตั้งบนกองไฟ ทำการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำ

วิธีแก้การหุงข้าวแฉะหรือดิบ

1. ข้าวแฉะ สำหรับข้าวเช็ดน้ำ เกิดจากการที่ปล่อยให้ข้าวบานมาก หรือใส่น้ำน้อยเกินทำให้น้ำข้าวข้นมากก่อนจะเช็ด น้ำข้าว ให้ใส่น้ำเปล่าลงไปจนข้าวหลวมตัวหรือน้ำข้าวไม่ข้น คนให้ทั่วหม้อ แล้วเช็ดน้ำให้แห้งสนิท

สำหรับข้าวไม่เช็ดน้ำ ถ้าเห็นว่าน้ำเปียกอยู่ เอากลับไปดงให้แห้ง ข้าวแฉะแต่แห้งแล้ว ให้คุ้ยข้าวให้ซุย เปิดฝาหม้อออกเพื่อให้ข้าวถูกอากาศ

2. ข้าวดิบ ใช้น้ำพรมข้าวพอประมาณ พรมให้ทั่วทั้งหม้อ แล้วจึงดงข้าวใหม่ ดงให้นานกว่าเดิม เวลายกลงไม่ต้องเปิดฝาดู เพื่อให้ข้าวระอุดี

การแก้ข้าวไหม้ รีบเปิดฝาเพื่อให้ไอน้ำออก และความร้อนในหม้อจะได้ลดลงเร็ว กลิ่นไหม้จะได้ถูกระบายออกไปด้วย คุ้ยข้าวตอนบนที่ไม่ไหม้ให้สุก แล้วเปิดฝาทิ้งไว้

ข้อควรระวังในการหุงข้าว

ลูกเสือจะหุงข้าวโดยใช้เตาฟืน ควรระวังลม การใส่ฟืน การลาฟืน (เอาฟืนออกเมื่อไฟแรง) ให้หม้อข้าวได้รับความร้อนทั่วๆหม้อ และมีไฟพอกับความต้องการ

การแกง หมายถึง วิธีการผสมอาหารหลายอย่างรวมกับน้ำ แยกเป็นแกงจืดกับแกงเผ็ด แกงจืดโดยมากต้องรับประทานร้อน ๆ จึงจะอร่อย ใส่น้ำมากกว่าแกงเผ็ด น้ำประมาณ 3 ใน 4 ส่วนของเนื้อ ส่วนแกงเผ็ดยังแยกออกเป็นหลายอย่าง เช่น แกงคั่ว แกงแห้ง แกงส้ม แกงเขียวหวาน

วิธีแกง

แกงจืด ก่อนจะปรุงรสแกงจืดต้องต้มกระดูกน้ำซุบ กรอง แล้วนำขึ้นตั้งไฟอีกที เวลาแกงต้องให้น้ำเดือดพล่าน ใส่เนื้อลงไปก่อน แล้วจึงใส่ผัก ผักที่ใช้ต้องเลือกดูว่าอย่างไหนสุกเร็ว หรืออย่างไหนต้องเคี่ยวนาน ถ้าเป็นผักที่ต้องเคี่ยวจนเปื่อยก็ให้ใส่ลงไปพร้อมเนื้อ แต่ถ้าเป็นผักที่สุกง่าย ใส่พอสุกก็ยกลงทันที

แกงเผ็ด

1. มะพร้าวคั้นกะทิ แยกหัวกะทิ และหางกะทิ

2. เอาหัวกะทิตั้งไฟ เคี่ยวให้แตกมัน

3. นำน้ำพริกที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในกะทิที่เคี่ยวแล้ว นำเนื้อลงไปผัดให้เข้ากันดี

4. เติมหางกะทิลงไป เมื่อกะทิเดือดให้ใส่ผัก และเครื่องประกอบ ปรุงรสตามชอบ รอให้เดือดแล้วยกลง แกงปลาต่างๆ ต้องปรุงน้ำแกงให้ดีเสียก่อน พอน้ำแกงเดือดจึงใส่ปลาลงไป และอย่าคนเพราะเนื้อปลาจะแหลกและทำให้คาว ปลาสดคาว เช่น ปลาทู ต้องล้างด้วยน้ำเกลือเสียก่อน

การต้ม หมายถึง การทำให้สุกโดยน้ำเดือด

1. โดยใส่ของที่จะทำให้สุกลงไปพร้อมกับน้ำ แล้วนำไปตั้งไฟ เช่นต้มไข่ ถ้าใส่น้ำเดือดจะทำให้ไข่แตก

2. โดยการใส่ของที่ต้องการต้มลงเมื่อน้ำเดือดแล้ว เช่นการต้มปลาเพื่อดับกลิ่นคาว

การทอด หมายถึง การทำให้อาหารสุกหรือกรอบด้วยน้ำมันร้อนๆ

วิธีการ ใส่น้ำมันลงในภาชนะให้พอท่วมของที่จะทอด ตั้งไฟให้ร้อนจัดแล้วจึงใส่ของที่ต้องการจะทอด สังเกตของที่ทอดว่าสุกหรือยังให้ดูที่ขอบของของที่ทอดว่าฟู กรอบหรือเหลืองพอดีหรือยัง

การผัด หมายถึง การทำวัตถุสิ่งเดียวหรือหลายสิ่ง ซึ่งต้องการให้สุกหรือสำเร็จเป็นอาหารสิ่งเดียว โดยการใช้น้ำมันหรือกะทิใส่ในภาชนะที่จะผัด แล้วนำของที่จะผัดลงไปคนให้สุกทั่วกัน แล้วปรุงรสตามชอบ การปิ้ง หมายถึง การใช้ไฟอ่อนๆ ความร้อนเสมอกัน ทำให้อาหารสุก โดยการวางสิ่งที่จะปิ้งบนตะแกรงเหล็ก ซึ่งวางอยู่เหนือไฟ ให้ความร้อนจากไฟลอยขึ้นไปถูกของที่ปิ้ง

วิธีปรุงอาหารคาว

ต้มยำปลากระป๋อง

เครื่องปรุง

1. ปลากระป๋อง 2.ตะไคร้ 3. ใบมะกรูด 4. พริกขี้หนู 5. มะนาว 6.ใบกะเพรา 7.น้ำปลา 8.น้ำตาลทราย

วิธีทำ

1. ต้มน้ำให้เดือดฉีกใบมะกรูด แล้วทุบตะไคร้ ใส่ลงไป

2. ใส่ปลากระป๋อง และเห็ดฟางลงไป รอเดือดสักครู่

3. ปรุงรสตามชอบ โดยใส่น้ำปลา มะนาว พริกขี้หนูที่หั่นทุบพอแตก

4. โรยใบกะเพราลงไป ปิดฝาหม้อให้สนิท แล้วยกลง

ยำไข่เค็ม

เครื่องปรุง

1.ไข่เค็ม 2. หอมแดง 3.พริกขี้หนู 4.มะนาว 5.น้ำตาลทราย 6.น้ำปลา 7.ผักกาดหอม

วิธีทำ

1.ใช้มีดผ่าไข่เค็มออก 2 ซีกแล้วใช้ช้อนคว้านไข่ออกจากเปลือก ใส่ภาชนะ

2. ซอยหอมแดงและพริกขี้หนูใส่ลงไป

3.ปรุงรสตามชอบ โดยใส่น้ำปลา น้ำตาลทราย มะนาว ใช้ทัพพีคลุกให้เข้ากันระวังอย่าคลุกแรงจนไข่เละ จะทำให้ไม่น่ากิน

การปรุงของหวาน

วุ้นแมงลัก

เครื่องปรุง

1. เมล็ดแมงลัก 2. น้ำหวานสีแดง 3. ผงวุ้น 4.น้ำตาลทราย

วิธีทำ

1. ใส่น้ำประมาณครึ่งหม้อ ตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด

2. ใส่น้ำตาลทรายกะพอให้หวาน ใช้ทัพพีคนให้น้ำตาลละลาย

3. ผสมน้ำหวานสีแดงลงไปในหม้อ แล้วใส่ผงวุ้นลงไป จากนั้นคนให้ผงวุ้นเข้ากันละลายทั่วกัน โดยใช้ไฟปานกลาง

4. ใส่เม็ดแมงลักลงไป คนให้เข้ากัน แล้วจึงยกออกจากเตา

5.ตักใส่แม่พิมพ์ หรือถ้วยรูปร่างขนาดเล็กต่างๆทิ้งไว้ให้เย็น จัดใส่จาน

การก่อและจุดไฟกลางแจ้ง ‎(การตอบกลับ)‎

ที่มา : มูลนิธิคณะลูกเสือแห่งชาติ. ลูกเสือ - เนตรนารี ป.5. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.