3 พลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย

พลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย *

พลเมือง = พละ + เมือง = พลังของเมือง = กำลังของเมือง

ผู้จะเป็นกำลังของเมืองจึงไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจสังคมหรือเมืองที่ตนอาศัยอยู่ว่า เป็นสังคมอย่างไร ต้องมีอุดมการณ์อย่างไรจึงจะสร้างสังคมให้เดินไปได้ (โลกทัศน์) ด้วยความชัดเจน คิดอย่างเป็นระบบ เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุ เป็นผล เข้าใจประโยชน์ส่วนตน ส่วนรวมแล้วหล่อหลอมแนวคิดกับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับอุดมการณ์หรือหลักการนั้น (ชีวทัศน์) เพื่อให้เป็นพลังในการสร้างสรรค์ ผลักดันสังคมให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างก้าวหน้าและสันติ

อุดมการณ์ (Ideology) เป็นแนวความคิด ความเชื่อของบุคคลหรือกลุ่มคนที่สามารถอธิบายสภาพการณ์ต่าง ๆ ชี้ถึงแนวทางแก้ไขหรือพัฒนาต่อไปในอนาคต และมีความคิดแน่วแน่ที่จะทำการทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งอุดมการณ์นั้น

อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นระบบความคิด ความเชื่อของบุคคลหรือกลุ่มคนต่อระบบการเมืองการปกครอง การจัดการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การผลิต ศาสนา วัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง เราจึงต้องศึกษาอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อเข้าถึงอำนาจ บทบาท และการใช้อำนาจของรัฐบาล อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มพลังใด ๆ ที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองอาจแสดงออกถึงความเชื่อเรื่อง เศรษฐกิจ

- ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นอย่างไร? รัฐหรือเอกชนเป็นผู้จัดการ ผู้ผลิต ภาคประชาชนมีสิทธิได้รับผลประโยชน์อย่างไร? รัฐคุ้มครองหรือปล่อยเสรี

- ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือปัจจัยการผลิตเพียงใด? รัฐมีอำนาจแทรกแซงหรือจัดการเพียงใด?

- ใคร ? เป็นผู้ควบคุมระบบเศรษฐกิจ

- เสรีภาพในการวางแผนหรือจัดการการผลิต

สำหรับ การเมืองภาคตัวแทน คือ การที่ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านตัวแทน หรือที่เป็นประชาธิปไตยทั่วไปที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจในการ

- ออกกฎหมาย

- พิจารณางบประมาณ

- ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และ

- นำเสนอปัญหาของประชาชนต่อรัฐบาลให้หาทางแก้ไข

โดยประชาชนไม่ต้องเข้าไปบริหารบ้านเมืองโดยตรง เพียงแต่เลือกตัวแทนให้ได้ตัวแทนที่ดี มีคุณธรรมเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทุจริต ไม่กอบโกยผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง ซึ่งผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นกับความเข้าใจ ความรู้ทัน และจิตสำนึกของประชาชนโดยแท้

การเมืองภาคพลเมือง เป็นการเมืองที่ประชาชนต้องมีจิตสำนึกที่จะรู้หน้าที่ของการเป็นสมาชิกของสังคม รับผิดชอบต่อสังคมที่ตนอยู่ และเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงานของภาคตัวแทน รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารจัดการผลประโยชน์ของส่วนรวม ของชุมชน แก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุมชนบ้านเมืองของตน ถือประโยชน์ส่วนตนขึ้นกับประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ส่วนตนต้องสอดคล้องกับส่วนรวม ซึ่งสำนึกเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นได้เอง ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้-ศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น โดยเฉพาะปัจจุบันต้องพยายามค้นคว้าหาวิธีการ กระบวนการที่จะต้องขัดเกลา หล่อหลอมให้พ้นจากกระแสบริโภคนิยมของระบบทุนนิยมจึงจะสร้างจิตสำนึกการเป็นพลเมืองให้กับทุกกลุ่มคน ทุกอาชีพให้เอื้อเฟื้อ ไม่เอาเปรียบกัน ถนอมรักกัน ร่วมกันสร้างคุณธรรม จริยธรรมที่พึงประสงค์ของคนในสังคม ทั้งกลุ่ม คนที่เป็นตัวแทนและประชาชนผู้เลือกตัวแทนของตน

ความหมายของคำว่า ประชาชน : พลเมือง

ประชาชน หมายถึง คนทั่วไป

พลเมือง หมายถึง ผู้มีจิตสำนึกสาธารณะ มีสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีเสรีภาพ ควบคู่กับหน้าที่ เคารพกติกาการอยู่ร่วมกัน

จิตสำนึกสาธารณะ หมายถึง สำนึกของประชาชนในการดูแล คุ้มครองประโยชน์และความเป็นธรรมของสังคม และแสดงออกโดย

๑. แสดงความคิดเห็น

๒. วิเคราะห์ / วิจัย

๓. ติดตาม / ตรวจสอบ

๔. คัดค้าน / สนับสนุน

๕. เสนอแนะ

ต่อการ กำหนด และ ปฏิบัติ นโยบายสาธารณะและการกระทำกิจการของรัฐบาล เพื่อให้มั่นใจว่าประโยชน์เป็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม มิใช่เพื่อคนเพียงไม่กี่คน หรือคนบางกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องให้การศึกษาประชาชนให้เป็นพลเมือง (Civic Education)

การให้การศึกษาประชาชนให้เป็นพลเมือง (Civic Education) หมายถึง ทำให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-ความแตกต่างของทุกคนในสังคม เข้าใจ และส่งเสริมความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด ใช้ชีวิตอย่างมีวินัยในตนเอง ต้องมีความอดทน มีเหตุ มีผล เป็นต้น

ในการให้การศึกษาประชาชนให้เป็นพลเมือง จะผลักภาระให้เป็นของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้ทุกสถาบันทางสังคมต้องรับผิดชอบร่วมกัน เช่น

๑. สถาบันครอบครัว เป็นสถาบันแรกและใกล้ชิดกับเด็กในการพัฒนาทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และพัฒนาบุคลิกภาพภายนอก ภายใน (ทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ) ของทุกคนเพราะเด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากพ่อแม่และบุคคลในครอบครัวสังคมไทยเดิมเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอำนาจนิยม ปลูกฝังให้คนในสังคมไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น นิยมชมชอบผู้ที่เชื่อฟังผู้มีสถานะสูงกว่า สงบเสงี่ยม ไม่โต้เถียง ไม่แสดงความคิดเห็นถ้าไม่ถาม จึงทำให้เด็กไทยไม่ค่อยกล้าแสดงออก ไม่เชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด เกรงจะไม่ถูกต้องไม่ถูกใจผู้ฟัง แม้จะมีเหตุผลก็ตาม ซึ่งขัดกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องเคารพสิทธิในการแสดงความเห็น การเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น

๒. สถาบันการศึกษา นอกจากการสอนให้อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็นแล้วสถาบันการศึกษา ยังต้องสอนเด็กให้มีความสำนึก ความเชื่อ ค่านิยม มีความอดทน มีวินัย หรือมีบุคลิกภาพอย่างไรเป็นสำ คัญด้วย ถ้าโรงเรียนสอนให้เด็กเคารพเชื่อฟังครู ทำ ตามครูบอก ห้ามโต้เถียงห้ามวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันการศึกษาก็จะเป็นแหล่งตอกย้ำพฤติกรรมที่แสดงวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมตามที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากครอบครัว ฉะนั้นสถาบันการศึกษาจึงเป็นแหล่งที่จะขัดเกลาและปลูกฝังเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะมีหน้าที่ให้ความรู้ต่างๆ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

๓. สภาพแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะสื่อที่สะท้อนคุณลักษณะของพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของคนในสังคมว่าจะให้มีพฤติกรรมอย่างไร เช่น สะท้อนพฤติกรรมของผู้หญิงในละครที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ประกอบอาชีพ อิจฉาริษยา หรือหากสื่อตอกย้ำการไม่ต้องคิดวิเคราะห์ หรือนำเสนอข่าวสารข้อมูลด้านเดียว ผิดพลาด ก็เป็นพฤติกรรมที่เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือสื่อเสนอข่าวผู้มีบทบาทเป็นผู้นำในสังคมซึ่งจะเป็นตัวแบบให้กับเด็กในบทบาทที่ไม่สอดคล้องกับการสร้างแนวคิดของพลเมือง เช่น ไม่อดทนที่จะฟังความเห็นที่แตกต่าง ยกย่องคนมีทรัพย์สมบัติ โดยไม่คำนึงว่าจะได้มาจากการทุจริตหรือไม่ การมีพฤติกรรมที่ไม่มีคุณธรรม/จริยธรรม ทำลายสิ่งแวดล้อม/ทรัพยากรธรรมชาติ ก็จะตอกย้ำความคิดและพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นพลเมืองที่ดี

๔. นโยบายของรัฐบาล นโยบายรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะส่งผลสะท้อนต่อพฤติกรรมของคนในสังคม เพราะรัฐบาลเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการดูแลสังคม หากรัฐบาลตระหนักถึงพลังสำคัญของเยาวชนในการเป็นพลเมืองที่ดี มีนโยบายส่งเสริม ความเสมอภาค/ การไม่เลือกปฏิบัติ / สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชน และส่งเสริมให้มีกระบวนการจัดการให้ความรู้ ส่งเสริมกระบวนการให้การศึกษาทางการเมืองต่อเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของเยาวชน จัดสรรบุคลากรและทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณสนับสนุนให้พอเพียง นโยบายรัฐบาลต้องสนับสนุนการสร้างเสริมจิตสำนึก การปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้เยาวชน เพื่อให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหลักสูตรการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งรวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วยย่อมนำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ดี

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เผยแพร่ค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ สำหรับคนไทยและมอบให้หน่วยงานของรัฐใช้รณรงค์เผยแพร่และปลูกฝังค่านิยมให้แสดงออกทางพฤติกรรม ดังนี้

๑. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

๒. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม

๓. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์

๔. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม

๕. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม

๖. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน

๗. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง

๘. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่

๙. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

๑๐. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี

๑๑. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจใฝ่ต่ำหรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา

๑๒. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนร่วมและของชาติมากกว่าผลประโยชน์ตนเองนอกจากนั้น สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้กำหนดลักษณะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังนี้

๑. รู้สังคม รู้ทันโลก

๒. ถือประโยชน์ส่วนร่วม

๓. คิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล

๔. ยึดหลักนิติรัฐ

๕. เข้าใจสิทธิมนุษยชน

๖. ตกลงกันอย่างสันติวิธี

๗. มีเสรีภาพและรับผิดชอบ

๘. มีความรู้ เข้าใจ มีส่วนร่วมทางการเมือง

๙. เคารพความเสมอภาค ยุติธรรม

สำหรับ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงลักษณะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไว้ ๖ ประการ ดังนี้

๑. รับผิดชอบ และพึ่งตนเองได้

๒. รับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวม

๓. เคารพกติกา

๔. เคารพสิทธิผู้อื่น

๕. เคารพความแตกต่าง

๖. เคารพความเสมอภาค

จะเห็นได้ว่า ลักษณะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ของหน่วยงานต่างๆ ล้วนแต่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งหากสถาบันต่างๆในสังคมมุ่งปลูกฝังคุณลักษณะเหล่านี้ให้แก่เด็ก และเยาวชนเป็นพื้นฐานโดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ไปจนถึงมัธยม/อุดมศึกษา โดย การเรียนการสอนดังกล่าว มิใช่เน้นการท่องจำพร่ำบ่น แต่ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น และมีการแสดงออกเชิงพฤติกรรมด้วยตัวเอง ก็จะนำไปสู่ความเป็นพลเมืองที่ดี สามารถดำรงชีวิตในครอบครัวโรงเรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติได้อย่างมีความสุข สามารถช่วยตัวเอง พึ่งตนเองได้ รวมทั้งมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งและเมื่อเยาวชนและประชาชน เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง ครอบครัวก็เข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สังคมและประเทศชาติก็มีความเข้มแข็งมั่นคงด้วยเช่นกัน

๕. กฎหมาย กฎ ระเบียบ ย่อมส่งผลสะท้อนโดยตรงต่อพฤติกรรมของคนในสังคมการกำหนดกติกา กฎ ระเบียบ หรือกฎหมายใดๆ ย่อมเป็นไปเพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันตินอกจากนั้น กฎหมายยังมีบทบาทในการส่งเสริมความเสมอภาค หรือการไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งนี้หากมีการส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมในการพิจารณากฎหมาย ย่อมมีผลโดยตรงต่อการปฏิบัติตามกฎหมายหรือบังคับใช้กฎหมาย

คนทุกเพศ ทุกวัย ล้วนมีความสำคัญกับการพัฒนาประชาธิปไตย โดยเยาวชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวรุดไปข้างหน้า ดังนั้น การสร้างโอกาสให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสิทธิ และหน้าที่ของตนและตระหนักถึงและความสำคัญของตนในฐานะพลังสร้างสรรค์สังคม เพื่อสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้กับประเทศอย่างถาวร

การที่เยาวชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวรุดไปข้างหน้าของสังคม เยาวชนต้องพัฒนาตนเองให้เป็นมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

สำหรับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเยาวชน คือ

๑. พัฒนาตนให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ

ด้านร่างกาย คือ พัฒนาการให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและสติปัญญารู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติดด้านจิตใจ คือ รู้จักและเข้าใจตนเอง เ ข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น เข้าใจสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี มีความอดกลั้น เป็นธรรม มีจิตสำนึกสาธารณะ เสียสละเพื่อส่วนรวม ให้เกียรติผู้อื่น รู้จักพึ่งตนเอง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย มีเมตตาธรรม รู้ในหน้าที่ของตนเอง มีเหตุผล เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ขยัน อดทน

๒. พัฒนาตนด้านสติปัญญา : คิดได้ คิดเป็น ประยุกต์ได้ เอาใจเขามาใส่ใจเรา

๓. มีวิสัยทัศน์ พัฒนาตนด้านความรู้ ความสามารถและทักษะ มีจิตสำนึกประชาธิปไตย

มีจิตสำนึกต่อผู้อื่น รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ด้านความรู้ คือ เป็นผู้ที่สามารถรู้ลึกในแก่นสาระของวิชา สามารถรู้รอบตัวในเชิงสหวิทยาการ และเป็นผู้ที่สามารถรู้การณ์ไกล สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตที่จะมาถึงได้

ด้านทักษะความสามารถ คือ เป็นผู้ที่มีทักษะในด้านการคิด ทักษะในการสื่อสาร รวมทั้งทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีทักษะการจัดการที่ดี มีทักษะในอาชีพ และมีทักษะทางสังคม ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น

๔. พัฒนาตนให้มีคุณธรรม จริยธรรม รักษาสัจจะ มีความซื่อสัตย์สุจริต เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในการทำงานสุจริต รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น

๕. พัฒนาตนให้มีวัฒนธรรมที่ดี มีความคิดริเริ่ม กตัญญู กตเวที สุภาพนุ่มนวล มีสัมมาคารวะ คารวะต่อผู้มีอาวุโส มีระเบียบวินัย ยึดมั่นในความสามัคคี นิยมและภูมิใจในความเป็นไทย ภูมิใจ ในฐานะและสภาวะของท้องถิ่นตน ประหยัดอดออม มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจในการทำงานสุจริต

การให้ความรู้ และพัฒนาตนเองของเยาวชนให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง คือ วัคซีนที่จะช่วยสร้างรากฐานที่หนักแน่นมั่นคงให้กับเยาวชน และมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป

หลักการพื้นฐานของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (เรียบเรียงจากเอกสารของคณะกรรมการด้านการสื่อสารทางการเมืองของรัฐสภา โดยคณะอนุกรรมการการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย) ได้แก่

๑. การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

๒. การเคารพสิทธิ เสรีภาพและกฎกติกาของสังคม

๓. ความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม

หลักการที่ ๑ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้แก่ การยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคม หลักการนี้มีองค์ประกอบย่อย ดังนี้

๑.๑ สำนึกรู้ในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ดูถูกเหยียดหยามให้ผู้อื่นรู้สึกด้อยค่า

๑.๒ ตระหนักในความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์

๑.๓ เคารพในความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม

๑.๔ ยึดหลักขันติธรรม

หลักการที่ ๒ การเคารพสิทธิ เสรีภาพและกฎกติกาของสังคม ได้แก่ การให้ความสำคัญต่อสิทธิ เสรีภาพ กฎกติกาของสังคมที่ทุกคนมีส่วนกำหนดขึ้น หลักการนี้มีองค์ประกอบย่อย ดังนี้

๒.๑ รู้จักสิทธิ และเสรีภาพของตนเอง โดยรู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม

๒.๒ เคารพและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ของผู้อื่น และของชุมชนโดยไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดอันขัดต่อกฎหมาย

๒.๓ เคารพกฎกติกาสังคม โดยกฎกติกานั้นต้องตั้งอยู่บนความยุติธรรม และความชอบธรรม หากยังมีกฎกติกาใดไม่ยุติธรรมและไม่ชอบธรรม ก็ย่อมสามารถปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิกตามครรลองหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มิใช่ใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

๒.๔ ยึดหลักนิติรัฐ คือ การปกครองโดยยึดหลักกฎหมาย และนิติธรรม (Rule of Law) คือ การที่กฎหมายออกมาต้องบังคับใช้อย่างเสมอภาคและมีความเป็นธรรม โดยมีหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยบุคคล กลุ่มคน หรือรัฐ

หลักการที่ ๓ ความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อสังคม ได้แก่ การตระหนักในบทบาทหน้าที่ และพันธกิจของการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย หลักการนี้มีองค์ประกอบย่อย ดังนี้

๓.๑ ทำหน้าที่ของตนเองในฐานะสมาชิกของสังคม

๓.๒ ร่วมกำหนดทิศทางของสังคม เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข

๓.๓ ใช้หลักการประชาธิปไตยในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและแก้ปัญหาสังคม

๓.๔ ยอมรับหลักการเสียงข้างมาก และการเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย

คุณค่าหลักของประชาธิปไตย

๑. ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่สมาชิกทุกคนในสังคมมีส่วนกำหนดทิศทางของสังคมร่วมกัน

๒. ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของคนในสังคม

๓. ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีเสถียรภาพในการสืบทอดหรือถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองที่ดีที่สุด

คะแนน กกต.3 ‎‎(การตอบกลับ)‎‎