ความปลอดภัยในการปฏิบัติกิจกรรมบุกเบิก

การบุกเบิก หมายถึง การเปิดทางหรือเบิกทาง เพื่อให้ความสะดวกสบาย และปลอดภัยแก่ตนเองและผู้ที่จะตามมาข้างหลัง เพื่อเปิดทางให้กว้างออกไป จึงนำมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับกิจกรรมลูกเสือ เช่น การสร้างสะพานข้ามน้ำ ข้ามเหว การปีนป่ายที่สูง สร้างสิ่งต่างๆ รวมทั้งการสำรวจกิจกรรมดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องทราบวิธีการใช้อุปกรณ์ เพื่อที่จะทำให้เกิดความปลอดภัย ดังนี้

1. เชือก การใช้เชือกให้ปลอดภัยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1.1 ชนิดของเชือก เชือกแต่ละชนิดมีความคงทนและความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกัน เช่น เชือกที่ทำมาจากป่านมนิลา ปอ หนังสัตว์ หรือโลหะ เหมาะในการใช้งานบุกเบิกประเภทใหญ่ๆ และรับน้ำหนักมาก ซึ่งต่างจากเชือกที่ทำจากใยมะพร้าว ต้นกก หรือ เปลือกกล้วย

1.2 ขนาดของเชือก เชือกที่มีขนาดต่างกันจะรับน้ำหนักได้ต่างกัน จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน จะเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ก่อนจะนำไปใช้ควรคำนวณการรับน้ำหนักจากสูตรการใช้เชือก ที่วัดความยาวของเส้นรอบวงเป็นนิ้วได้

น้ำหนักที่เชือกรับได้เต็มที่ = (เส้นรอบวงของเชือก)2 x 50 กก.

= (เส้นรอบวงของเชือก)2 x 112 ปอนด์

สูตรการใช้เชือกดังกล่าวนี้หมายถึงเชือกใหม่ ชนิดเชือกมนิลา ปอ หนังสัตว์ ไนล่อน ถ้าเป็นเชือกที่เคยใช้งานมาแล้วหรือผูกต่อกันด้วยเงื่อน ควรใช้สูตรนี้

ปลอดภัย = (เส้นรอบวงของเชือก)2 กิโลกรัม

18 x 1,000

วางใจได้ = (เส้นรอบวงของเชือก)2 กิโลกรัม

9 x 1,000

รับน้ำหนักเต็มที่ = (เส้นรอบวงของเชือก)2 กิโลกรัม

6 x 1,000

อันตราย = (เส้นรอบวงของเชือก)2 กิโลกรัม

3 x 1,000

1.3 อายุการใช้งานของเชือก เชือกใหม่จะปลอดภัยกว่าเชือกที่เคยใช้งานมาแล้ว

1.4 การเก็บรักษาเชือก เก็บในที่สะอาดไม่เปียกชื้น และเก็บอย่างมีระเบียบจะทำให้อายุการใช้งานคงทนและปลอดภัยต่อการใช้งาน

1.5 การผูกเงื่อนต้องให้ถูกต้องกับงานที่จะใช้

2. รอก เป็นเครื่องกลที่ใช้ผ่อนแรงหรือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน รอกอาจทำด้วยโลหะ ไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน

ตัวรอกทำเป็นล้อแบนๆ หมุนได้คล่องตัว ยึดด้วยแกนที่ติดกับเรือนรอก ริมขอบตัวรอกทำเป็นร่องลึก สำหรับวางเส้นเชือกเพื่อดึงหรือรั้งสิ่งต่างๆ การวัดขนาดของรอก วัดเป็นนิ้วโดยวัดเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวรอก เชือกที่ใช้ร้อยรอกต้องใช้เชือกที่วางได้เต็มร่องรอกพอดี และให้หมุนได้คล่องตัวจึงจะใช้งานได้ดี

3. สมอบก มีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดเหมาะแก่การใช้งานต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่ ประเภทของงานนั้นๆ และสิ่งแวดล้อมด้วย จึงควรพิจารณาให้รอบครอบก่อนใช้งาน ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. ชนิดและขนาดของสมอบก ต้องเหมาะสมกับงานที่จะใช้

2. สภาวะและการเลือกที่เหมาะสม สภาพภูมิประเทศ เช่น พื้นดินที่จะใช้ตอกสมอบกหรือฝังนั้นมี ความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด

4. ไม้ เลือกใช้ไม้ที่เหมาะสมกับงาน คำนึงถึงความแข็งของเนื้อไม้ และขนาดของไม้