การแข่งขันการจัดการค่ายพักแรม ม.1-3 ปี 2558

เกริ่นนำความเป็นมา

กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้นำกิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อฝึกอบรมให้เยาวชนเป็นผู้มีระเบียบวินัย รู้จักช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ดำรงชีวิตกับธรรมชาติได้อย่างไม่ฟุ่มเฟือย เรียบง่าย อีกทั้งส่งเสริมให้แสดงความสามารถเฉพาะตัวอย่างอิสระ ซึ่งคณะลูกเสือแห่งชาติได้กำหนดไว้เป็นหลักอุดมการณ์ วัตถุประสงค์และวิธีการของคณะลูกเสือแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้กำหนดให้มีกิจกรรมการประกวดแข่งขันทักษะทางวิชาการ ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศทางวิชาการและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน และเพื่อตอบสนองนโยบายด้านการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีแบบแผนต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนด้านกิจกรรมลูกเสือ

เพื่อให้การจัดกิจกรรมลูกเสือในโรงเรียนพัฒนาตามทิศทางที่คณะลูกเสือแห่งชาติกำหนดไว้ ตอบสนองนโยบายด้านการพัฒนาการเรียนการสอนอย่างมีแบบแผนต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และเพื่อเตรียมความพร้อมของลูกเสือในการฝึกทักษะทางวิชาการที่จำเป็นเพื่อสู่สนามแข่งขันทักษะ สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านคุณภาพผู้เรียน

จุดประสงค์ของการดำเนินการ

1. เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศและพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนด้านกิจกรรมลูกเสือ ทักษะการจัดการค่ายพักแรม และการสร้างอุปกรณ์เพื่อให้บริการ ให้สามารถผ่านเข้ารอบการแข่งขันสู่ระดับประเทศได้

2. เพื่อปลูกฝังผู้เรียนให้มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ และปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ

3. เพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน

4. เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมลูกเสือในโรงเรียนให้เป็นไปตามอุดมการณ์ วัตถุประสงค์ และวิธีการของคณะลูกเสือแห่งชาติ

5. เพื่อสนองนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการพัฒนาการจัดการเรียนรู้อย่างมีแบบแผน ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

กระบวนการและขั้นตอน

ผู้กำกับฯ สรรหาลูกเสือที่สมัครใจ และยินดีฝึกซ้อมหลังเลิกเรียน ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์และคัดกรองลูกเสือแล้วมอบหมายภารกิจให้เหมาะสมกับความสามารถ ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองในการรับภาระการเดินทางกลับ

ประชุมวางแผนกำหนดการฝึกซ้อมร่วมกัน และดำเนินการฝึกซ้อมตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลังเลิกเรียน วันหยุดสุดสัปดาห์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยทำกำหนดการแจ้งให้ผู้ปกครองได้รับทราบ เพราะเมื่อผู้ปกครองรับทราบ เข้าใจกิจกรรมความต้องการของโรงเรียน และความต้องการของเด็กแล้ว ผู้ปกครองต้องสนับสนุนให้เด็กมาร่วมกิจกรรมฝึกซ้อมถ้าผู้ปกครองไม่เห็นความสำคัญ หรือมองข้ามความต้องการที่แท้จริงของเด็ก เท่ากับปิดกั้นความสำเร็จของบุตรหลานตัวเอง

หัวใจสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้มีปัจจัยหลายประการเกื้อหนุน ประการแรกคือ การสนับสนุนจากผู้บริหาร และฝ่ายวิชาการด้วยความจริงใจ แม้ระบบราชการจะไม่เอื้อต่อการทำงาน แต่ทั้งนี้ก็ได้รับการสนับสนุนถึงตัวเด็กและครู เช่น สนับสนุนด้านอุปกรณ์และวัสดุฝึกรวมไปถึงเครื่องแบบลูกเสือ ทั้งได้รับขวัญกำลังใจ ที่มีผลด้านพลังบวกในทีมเป็นอย่างยิ่ง

ประการที่สอง มีเป้าหมายร่วมกันชัดเจน และมองเห็นโอกาสแห่งความสำเร็จ

ประการที่สาม ทรัพยากรที่มีคุณสมบัติแห่งความสำเร็จ คือ ลูกเสือ ต้องมีใจเกินร้อย เพราะการฝึกซ้อมต้องใช้คุณลักษณะด้านความอดทน มีความวินัย และมีเป้าหมายร่วมกัน เพราะกิจกรรมลูกเสือต้องฝึกกลางแจ้ง ท่ามกลางแสงแดด และต้องใช้เวลานานในการฝึกซ้อม ธรรมชาติจะเป็นปัจจัยให้นิสัยเดิมของคนแสดงออกมาเมื่อ หิว เหนื่อย ง่วง กิจกรรมลูกเสือมีปัจจัยเหล่านี้ครบ ดังนั้นถ้าเด็กใจไม่มาเต็มร้อย โอกาสเดินถึงปลายทางเป็นไปได้ยาก ดังนั้นสิ่งสำคัญผู้กำกับฯจึงต้องเข้าไปนั่งในใจของเด็กให้ได้ก่อน ด้วยวิธีคลุกวงใน คือ เดินเคียงข้างไปกับเด็ก ให้เด็กทำ ผู้กำกับฯก็ต้องแนะนำหรือช่วยกันทำ มิใช่สั่งให้ทำ เด็กเหนื่อยครูก็ต้องให้กำลังใจ เสริมอะไรได้ก็ต้องเสริม ให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายไม่ตึงจนเกินไป หาโอกาสร่วมกิจกรรมกับเด็ก เช่น รับประทานอาหารกับเด็ก เด็กรับประทานอาหารที่เขาทำ เราก็ร่วมรับประทานอาหารนั้นด้วย หรือหาอาหารพิเศษมาเสริมให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งเขา

ประการที่สี่ ความสม่ำเสมอของการฝึกซ้อม ทีมต้องมีวินัย เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา กำหนดวันซ้อมก็ต้องไม่มีข้อแม้ เพราะขาดคนใดคนหนึ่ง จะซ้อมไม่ได้เลย เนื่องจากการวางแผนบริหารจัดการจัดสรรวัสดุอุปกรณ์ที่มีข้อจำกัดคือไม้ไผ่จำนวน 25 ท่อน จะต้องแบ่งสรรของตัวเองให้งานอื่นๆด้วย ดังนั้นเมื่อมีการฝึกซ้อมบ่อยขึ้น ก็จะสามารถแก้ปัญหา แก้ไขจุดด้อยของงานที่ตนเองรับผิดชอบได้ จนในที่สุดมีผลงานที่มีประสิทธิภาพ

ประการสุดท้าย ก่อนลงมือปฏิบัติงาน ต้องมีการซักซ้อมแผนการทำงาน และแนะนำให้แก้ไขข้อบกพร่องจากผลงานที่ผ่านมา ตรวจสอบเรื่องวัสดุอุปกรณ์ของตนเอง กำหนดเวลาปฏิบัติงาน ขณะทำงานให้มีผู้นำทีมต้องแสดงบทบาทผู้นำเอง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอง และบริหารทีมงานเองจนงานสำเร็จ จากนั้นจึงมีระบบตรวจสอบลูกเสือต้องตรวจสอบผลงานตัวเองตามรายละเอียดที่ได้ร่วมกันร่างขึ้น รวมถึงช่วยกันตรวจสอบงานให้กับเพื่อนในทีม และให้ผู้กำกับให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการฝึกซ้อมครั้งต่อไป

เนื้อหาสาระ การจัดการค่ายพักแรม การสร้างงานการจัดการค่ายพักแรม ตามเกณฑ์การแข่งขัน แต่ละทีมประกอบด้วยลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ 8 คน จะต้องสร้างเต๊นท์สำหรับพักแรม 1 คืน ในพื้นที่ 8 x 10 เมตร มีเพิงพักสำหรับทำกิจกรรม ประชุมหมู่ หรือเป็นที่รับประทานอาหาร 1 หลัง สร้างเสาธงลอยด้วยไม้ง่าม 8อัน เพื่อใช้ในการเปิดประชุมและทำพิธีรำลึกถึงสถาบันชาติ ศาสนา มีเตาเพื่อประกอบอาหาร โดยใช้วัสดุธรรมชาติในการหุงข้าวและประกอบอาหารให้พอเพียงกับสมาชิกในหมู่ จากไก่สด 1 ตัว (ยังไม่ได้ชำแหละ) พร้อมทั้งไข่สด 8 ฟองสร้างที่วางอุปกรณ์ประกอบอาหารใช้คว่ำถ้วยชามและวางอาหาร สร้างที่วางเครื่องมือในการขุด ถาก ฟัน เช่น มีด จอบ เสียม เลื่อย ค้อน เป็นต้น จัดระบบสุขาภิบาลภายในค่ายภายในค่าย ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละทีมว่าจะเพิ่มเติมองค์ประกอบของค่ายอย่างไร มีซุ้มประตูและรั้วเป็นแนวด้านหน้าสร้างจากไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4นิ้ว ใช้เชือกเป็นเครื่องผูกยึด ภาระงานทั้งหมดนี้อยู่ในข้อจำกัดด้านเวลา ภายใน 3 ชั่วโมง โดยมีเกณฑ์การพิจารณาที่การบริหารระบบหมู่ การแสดงออกของผู้นำ รวมถึงวินัยของลูกเสือ เป็นองค์ประกอบ

ผลการดำเนินงาน

- ได้รับรางวัลเหรียญทองชนะเลิศ สุดยอดลูกเสือของ สพฐ. การแข่งขันทักษะลูกเสือ การ

จัดการค่ายพักแรม ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 65

- ได้รับรางวัลเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับสอง สุดยอดลูกเสือของ สพฐ. การแข่งขันทักษะ

ลูกเสือ การสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 65- ผลที่เกิดกับลูกเสือ คือประสบการณ์ในการทำงานเป็นทีม การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นภายใต้กฎของลูกเสือ มีทักษะในการทำงาน มีความสามัคคีฉันท์พี่น้องระหว่างหมู่ลูกเสือแม้อยู่ต่างโรงเรียน รู้จักเห็นใจผู้อื่นและรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน รักในสถาบันที่ตนเองศึกษา สามารถดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย มีระเบียบวินัย รับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ค้นพบศักยภาพของตนเองเห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดภูมิคุ้มกัน

สรุปบทเรียนที่ได้รับ

ความสำเร็จในการทำงานต้องอาศัยหลัก อิทธิบาท 4 คือ มีฉันทะ รักในสิ่งที่ทำ อันเกิดจากความศรัทธาและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จึงเกิดวิริยะ มุ่งมั่นทุ่มเทในการเรียนรู้และทำให้ถึงแก่นของสิ่งที่ทำ โดยมีจิตตะ คือใจจดจ่อและรับผิดชอบ และมีวิมังสา คือมีวิจารณญาณทบทวนเนื้องาน กระบวนการทำงานของตนที่ได้กระทำแล้วอย่างรอบคอบ หากพบจุดด้อย จึงนำมาแก้ไขปรับปรุง เพื่อพัฒนา

ในส่วนของผู้กำกับลูกเสือ ต้องประพฤติตนเป็นต้นแบบเพื่อให้ลูกเสือเกิดศรัทธา เมื่อศรัทธาเกิด การสั่งสอน ฝึกทักษะให้เกิดองค์ความรู้และสอดแทรกคุณธรรมจึงเกิดขึ้นได้ ด้วยหลักการนี้จะยั่งยืนติดเป็นนิสัยของบุคคลแห่งความสำเร็จได้แน่นอน

เรียบเรียงโดย ครูสวัสดิ์ เจริญบุญ

ภาพจาก http://www.oocities.org/thaiscout2001/

http://mestreacasa.gva.es/web/duart_enc/1