ประวัติโหราศาสตร์ไทย

...บรมครูโหราศาสตร์ ...

... การบรรยายหัวข้อเรื่อง โหราศาสตร์ไทย : เหลียวอดีต แลปัจจุบัน มาดมั่นสู่อนาคต ...

... ณ ภัตตาคารจิตรโภชนา วันอาทิตย์ที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙...

...โดยพระอภิสิทธิ์ อภิญาโณ วัดยานนาวา ...

... เอกสารเสวนาโหราศาสตร์ไทย ของพระอภิญาโณ (อ.Natty) ...

ก่อนอื่น อาตมาขอขอบใจทาง Web site: Payakorn.com โดย คุณหนุ่ม และทางคุณโยม สุรพลหรือ “ลุงบั๊ก” ที่ให้อาตมามาพูดคุยในวันนี้ พร้อมทั้ง ขอเจริญพร คุณโยม สุภาพรรณ รุ่งเรืองรอง และโยมหนุ่ย “พลังวัชร์” ที่ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในวันนี้ อีกทั้ง ท่านอาจารย์และท่านผู้ฟังในที่นี้ทุกท่าน ...

หัวข้อในวันนี้ คือ “เหลียวอดีต แลปัจจุบัน มาดมั่นสู่อนาคต” โดยท่านผู้ดำเนินรายการได้บอกว่า ขอให้กล่าวถึงเรื่องการศึกษาโหราศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักโหราศาสตร์ไทยในอนาคต ...

ก่อนที่จะกล่าวไปถึงหัวข้อทั้งสองข้างต้น อาตมาเป็นคนโบราณ จึงขออยากจะกล่าวถึงเรื่องประวัติโหราศาสตร์ไทยเสียก่อน จึงขอเปลี่ยนหัวข้อเสียนิดหน่อยดังนี้ คือ ...

(๑) ประวัติและพัฒนาการวิชาโหราศาสตร์ไทย

(๒) การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย

(๓) ข้อสังเกตบางประการในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย และ ปัญหา

(๔) นักโหราศาสตร์ไทยในอนาคต

...โหราศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่เก่าแก่มีอายุยาวนาน เชื่อกันว่าแต่แรกเริ่มนั้นถือกำเนิดจากชนชาวอียิปต์โบราณ ด้วยเป็นชนชาติแรกๆ ที่ทำการ

บันทึกแนวการเคลื่อนตัวของดวงดาว ...

ต่อมา…ได้มีการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆทั้งเรื่องของบ้านเมือง,วิถีชีวิตบุคคลเป็นปูมโดยอิงลักษณะการเดินทางโคจรของดวงดาวและเหตุการณ์ผิดปกติบนฝากฟ้าเช่นดาวตก และได้สืบทอดต่อเนื่องกันมาผ่านประเทศอินเดีย มาสู่ประเทศไทยใน สมัยพระนารายณ์มหาราช ...

ในสมัยโบราณนั้น ผู้ใช้โหราศาสตร์มักเป็นขุนนางที่ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเพื่อศึกษาศาสตร์เหล่านี้ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย และมักเน้นในการพยากรณ์เรื่องเกี่ยวกับในราชสำนักหรือบ้านเมือง ...

สืบเนื่องมาจนปัจจุบัน โหราศาสตร์ได้รับความนิยมและเผยแพร่สู่สามัญชน อย่างไรก็ดีโหราศาสตร์เป็นหลักสถิติ มีการบันทึกเขียนเป็นตำราหลายรูปแบบ และมีการพัฒนาในการอ่านค่าสถิติอย่างพิศดาร เพื่อให้ทันยุคทันเหตุการณ์ ...

... ประวัติและพัฒนาการวิชาโหราศาสตร์ไทย ...

เรื่องประวัติที่แท้จริงและพัฒนาการนั้น อาตมาเกิดไม่ทันหรอก เพียงแต่อาศัยรวบรวมเรื่องราวที่ได้ยินจากผู้ใหญ่หรือบันทึกต่างๆ ขึ้นมา หากจะผิดถูกอย่างไร ก็ให้คิดเสียว่า เป็นทัศนะหนึ่งของอาตมาเท่านั้น ในทัศนะของอาตมา ปรัชญาที่มาของหราศาสตร์นั้น มีอยู่ ๒ ระบบ คือ ปรัชญาแรกที่มองจากสิ่งแวดล้อมใหญ่มาหาเล็ก และ ปรัชญาที่สอง ที่มองจากปัจจัยที่เล็ก มาเพิ่มเติมด้วยปัจจัยประกอบอื่นๆ เพื่อมองภาพให้ใหญ่ขึ้น ...

ในปรัชญาแรกนั้น อยู่บนพื้นฐานของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติมาสู่ตัวบุคคล ในระบบนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ในกลุ่มอดีตที่เก่าแก่ เช่น การสร้างปิรามิด, การวางผังเมืองของชนเผ่าอินคา ฯลฯ ที่ยังเหลืออยู่ที่เห็นชัดที่สุดคือ โหราศาสตร์จีน ที่เอาสภาพแวดล้อม ถิ่นที่อยู่ ฤดูกาล เป็นตัวตั้ง แล้วมาใช้ดาว ธาตุ ดวงชะตา มาประกอบ

ในส่วนของปรัชญาที่สองนั้น ใช้มุมมองโดยการเก็บเอาผลลัพธ์หรือสถิติของปรากฎการณ์ธรรมชาติ มาเป็นหลัก เช่น ดวงชะตา,ฟ้าร้อง, อุปราคา ฯ มาเป็นปัจจัยอ้างอิง แล้วมาใส่ข้อมูลของปัจจัยสิ่งแวดล้อมเข้าไปเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาได้ชัดขึ้น เช่น เชื้อชาติ, ถิ่นที่อยู่, ชื่อ, ที่พักอาศัย ฯลฯ ถ้าจะทำความเข้าใจให้ง่าย ขอให้นึกถึงเรื่อง ที่ท่านเจ้าอาวาสวัดราชา ได้กราบทูล รัชกาลที่ ๔ ถึงเรื่องดวงชะตาเปรียบเสมือนต้นไม้ที่เกิดบนเขา กลางเขา และตีนเขา ย่อมแตกต่างกัน ...

ซึ่งโหราศาสตร์ในแนวปรัชญาที่สองที่อาตมาได้พูดถึงนี้ คือแนวทางของบรรดาโหราศาสตร์สากล โหราศาตร์ภารตะ โหราศาสตร์มอญ-ไทย ในปัจจุบันนี้ โหราศาสตร์ไทยนั้นมีหลักฐานการพัฒนามาจากโหราศาสตร์ภารตะ ดังนั้นจึงขอพูดถึงโหราศาสตร์ภารตะอย่างย่อด้วย ก่อนที่จะมาเป็นโหราศาสตร์ภารตะ ไม่ว่าจะเป็น Vedic .หรือ Karma Astrology แบบทุกวันนี้ ...

ในกาลสมัยก่อนที่จะได้มีชื่อประเทศอินเดียเกิดขึ้นนั้น ดินแดนดังกล่าวเป็นของพวกชนถิ่นพื้นเมือง พวกทมิฬและพวกทราวิเดียน ซึ่งนับถือบูชาเทพพวกกึ่งสัตว์ เช่น ช้าง ยักษ์ งู ฯ ต่อมาประมาณ ๕,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล (เป็นอย่างน้อย) างพวกชนชาติอารยันจากเอเชียกลางก็ได้บุกรุกเข้าไปครอบครองดินแดนทางเหนือของแม่น้ำสินธุในแคว้นปัญจาบ พร้อมทั้งได้นำเอาเทพเจ้าของตนเข้าไปปกครอง โดยให้บูชาเทวะ " พระอินทร์ " และได้เรียกนามประเทศขึ้นเป็น " ประเทศอินเดีย " ...

ในกฤตยุค สมัยราชวงศ์ปุรุราชหรือมหาสมมุติราช ลำดับกษัตริย์องค์ที่ ๒๑ คือ พระเจ้าภรตราช โอรสท้าวทศยันต์และมีมเหสีนาม ศกุนตลา บุตรีของมหาฤาษีวิศวามิตรกับนางอัปสร นั้น ทางมหาฤาษี กัณณวะ ได้รวบรวม ศรุติ ขึ้นมาเป็นคัมภีร์ ฤคเวท ใช้เป็นคู่มือของพวกพราหมณ์นิกายโหรดา ในสมัยของไตรดายุคต่อมานี้ ได้เริ่มมีการทำพลีกรรมมากขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงด้านตำแหน่งและสิทธิอำนาจของกลุ่ม เทวะ เดิม จากกลุ่มพระอินทร์และปรพรหม มาเป็น องค์พรหมธาดา แล้วเปลี่ยนเทพ รุทระอันเป็นเทพแห่งพายุเดิม มาเป็น องค์ศิวะเทพแห่งขุนเขาไกรลาส และ องค์วิษณุแห่งทะเลเกษียรสมุทร จึงได้เกิด คัมภีร์ โสมเวท อันเป็นคู่มือสวดของพวกพราหมณ์นิกายอุททาคา และคัมภีร์ ยัชุรเวท อันเป็นคู่มือทำพลีกรรมของพวกพราหมณ์นิกายอัธวรรยุ จึงเรียกว่า คัมภีร์ไตรเพท และศาสนาพราหมณ์ขึ้น ...

ในระยะต่อมา ได้มี อถรรพพราหมณ์ ได้รวบรวมศรุติอันเป็นมนต์เสกเป่า ๒ ประเภท คือ มนต์ดำสำหรับแก้เสนียด ให้เปลี่ยนเป็นสวัสดิมงคล ประการหนึ่ง และ มนต์สำหรับนำความชั่วร้ายและภัยพิบัติไปให้ศัตรู อีกประการหนึ่ง คัมภีร์นี้เรียกว่าอถรรพเวท กล่าวมาถึงตอนนี้ หลายท่านคงจะเริ่มเบื่อว่ามาอธิบายถึงเรื่องลัทธิพราหมณ์ทำไม? ตอนนี้ ขอให้ลองย้อนกลับไปอ่านนิทานชาติเวร เรื่องแรกของโหราศาสตร์ไทยดูนะ ที่ว่า พระอาทิตย์ (๑) เกิดเป็นพญาครุฑอยู่เขาสัตตปริพันธ์ พระพฤหัสบดี (๕) เกิดเป็นพระอินทร์อยู่เขาพระสุเมรุ พระเสาร์ (๗) เกิดเป็นพญานาคอยู่ในมหาสมุทร และ พระอังคาร (๓) เกิดเป็นพญาราชสีห์อยู่ป่าหิมพานต์ ได้ร่วมกันที่จะสร้างสระน้ำไว้ให้เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์และเทวดา โดยมีพระราหู (๘) เป็นตัวร้าย นั้น จากนิทานชาติเวรเรื่องนี้ ส่อเค้าว่า น่าจะเป็นเรื่องที่เก่าที่สุดที่มาจากอารยธรรมของพวกอารยันในยุคแรกเริ่มของประเทศอินเดียก่อนมีศาสนาพราหมณ์ ที่บูชา พระอินทร์เป็น มหาเทพ นี่แหละครับ ร่องรอยประวัติโหราศาสตร์ไทย ...

ขอพูดต่ออีกนิดนึงนะ ในยุคต่อมา ทางพวกพราหมณ์ได้เรียบเรียงคัมภีร์ไตรเพท โดยจัดทำอรรถขึ้นมาเป็นสูตรแบ่งออกเป็น ๖ เวทางค์ (องค์แห่งเวท) หนึ่งในเวทางค์นั้นคือ วิชาโชยติษะ หรือ วิชาโหราศาสตร์ นั่นเอง ซึ่งคัมภีร์วิชาโชยติษะอันเป็นโหราศาสตร์อินเดียที่ได้ตกทอดมายังประเทศไทยที่ยังหลงเหลืออยู่นี้ประมาณ ๒๐ เล่ม เช่น คัมภีร์สูรยสิทธานตะและคัมภีร์พฤหัตสังหิตาของ วราหมิหิร มหาบัณฑิต, คัมภีร์ศุกรนีติสาระ(คัมภีร์พิชัยสงครามของพระศุกรมหาฤาษี),คัมภีร์ภฤคุปรัศนัม (ตำราศุภฤกษ์ศุภยามของพระภฤคุ มหาฤาษี) ฯลฯ เป็นต้น ...

วิชาโหราศาสตร์ของพวกพราหมณ์นี้ ยังได้มีหลักฐานปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎก ในบทว่าด้วยมหาศีล ซึ่งได้เคยเขียนรายละเอียดไว้ในนิตยสารโหราเวสม์เอาไว้แล้ว วิชาโหราศาสตร์โบราณทั้งจากสมัยกลุ่มอารยัน, กลุ่มศาสนาพราหมณ์ และ บางส่วนที่แฝงอยู่ในกลุ่มพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา คงได้ตกทอดเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาเป็นระยะๆ ไม่น้อยกว่า ๔-๕ ครั้ง จนกระทั่ง พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา วิชาโหราศาสตร์ดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นหลักวิชาที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง โดยไม่ได้ดำเนินตามรอยของพวกพราหมณ์อินเดียอย่างเคร่งครัดอีกต่อไป ...

ร่องรอยวิชาโหราศาสตร์ไทยนอกจากเรื่องนิทานชาติเวรเรื่องแรกแล้ว อาจจะศึกษาเพิ่มเติมได้จากตำราอื่นๆ ทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น นิทานปัญญาสชาดกของเมืองเหนือ เป็นต้น และจากเอกสารประวัติศาสตร์โบราณคดี อื่นๆ ...

...ราศีบอกถึงอวัยวะ ...

... การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย ...

วิชาโหราศาสตร์ไทย แต่ดั้งเดิมนั้นกล่าวกันว่า มีอยู่มากกว่า ๒๗๐ ปกรณ์ แบ่งออกเป็น ๓ ภาค คือ ...

(ก) โหราศาสตร์ไทยภาคคำนวณ – มีปกรณ์ต่างๆมากกว่า ๕๐ ปกรณ์ ขึ้นไป จำแนกได้ดังนี้ ...

(๑.๑) ตำราสุริยยาตร มีประมาณ ๗-๘ ฉบับ (๑.๒) ตำรามานัตต์ มีประมาณ ๔-๕ ฉบับ (๑.๓) ตำราสารัมภ์ มีประมาณ ๑๐ กว่า ฉบับ (๑.๔) ปกิณกะภาคคำนวณ มีประมาณ ๒๐ กว่าฉบับ เช่น ตำรากากะบาด, ตำราสงกรานต์, ตำราอธิกวาร ฯลฯ ...

(ข) โหราศาสตร์ไทยภาคพยากรณ์ – มีปกรณ์ต่างๆมากกว่า ๒๐๐ ปกรณ์ ในภาคนี้แบ่งออกได้เป็น ๒ ตอน คือ ...

(๒.๑) โหราศาสตร์ดวงเมือง มีประมาณ ๖๐ ปกรณ์ ประกอบด้วยการพยากรณ์ดวงชะตาพระมหากษัตริย์, ว่าด้วยการสร้างบ้านแปงเมือง, การพยากรณ์เกี่ยวกับเมืองและศึก, การพยากรณ์เศรษฐกิจข้าวปลาอาหาร, การพยากรณ์ดนักบวชและพระภิกษุ ฯลฯ ยังแบ่งย่อยการพยากรณ์ออกได้อีก ๒ แบบ คือการพยากรณ์ปูมกำเนิด กับ การพยากรณ์จร เช่น ตำราเผด็จรามเหิยร, ตำรานครภังส์, ตำราราชมัญตัญ, ตำรานครถาน, ตำราพิไชยสงคราม, ตำราธุมเกตุธุมเพลิง, ตำราดาวหาง(ดาวพรหมปโรหิตา), ตำราเทวดาไขประตูฟ้า, ตำราคลองฟ้า, ตำราดาวเข้าวงพระจันทร์, ตำรามหาปุริสสลักษณะ,ตำราดาวผุดกลางวัน, ตำราโสฬสมหานคร, ตำราพระนครคิรี, ตำราโชติรัตน์, ตำราพิธีสะเดาะเคราะห์เมือง, ตำราจุฬามณี,ตำราพิรางค์ ฯลฯ (๒.๒) โหราศาสตร์ภาคพยากรณ์ดวงบุคคล มีประมาณ ๑๕๐ ปกรณ์ แยกเป็น โหราศาสตร์ภาคปูมกำเนิด ประมาณ ๕๐ ปกรณ์ และ หราศาสตร์ภาคพยากรณ์จร ประมาณ ๑๐๐ ปกรณ์ เช่น ตำราอินทภาสบาทจันทร์, ตำรากาลจักรลัคน์จร, ตำราอสีติธาตุ, ตำราอสีติโชค, ตำรามหาสัฏฐีจักร, ตำรายาม, ตำราอัษการ, ตำราฆาตมฤตยู, ตำราขับจันทร์ประวัติ, ตำราพระเคราะห์รูป-พระเคราะห์สม, ตำราเสบียงโหรา, ตำราลักขณาทวาทศมาส, ตำรามหาทักษา, ตำราทักษาปกรณ์, ตำราโลกศาสตร์, ตำราสุบินนิมิต, ตำราจักรทีปนี ฯลฯ ...

(ค) โหราศาสตร์ไทยภาคพิธีกรรม – ภาคนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นคำสอนประเภทมุขปาฐะตามแนวอาจาริยมัติคือเป็นคำอธิบายปากเปล่าประกอบคำสอนภาคพยากรณ์ ซึ่งแล้วแต่แนวทางของอาจารย์แต่ละสำนักที่ได้ศึกษากันมา โดยอาจจะแตกต่างกันพอสมควร ในส่วนที่เป็นบันทึกตำราก็มีบ้างราวๆ ๓๐ ปกรณ์ เช่น ตำราราชพิธีพราหมณ์สำหรับสยามประเทศ, ตำรานามกรรม, ตำราผลัดนาม, ตำราตัดไม้ข่มนาม, ตำราอธิไทโพธิบาทว์, ตำราทำอุบาทว์, ตำราเชิญ, ตำราบูชานพเคราะห์, ตำราสะเดาะเคราะห์, ตำราดวงพิชัยสงคราม, ตำราบูชาดวงชะตากำเนิด ฯลฯ ...

... ทักษาวัยของ อ.พลูหลวง ...

... ทำตารางวัยทักษาโดย อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...

... อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...

...อาตมาขอแบ่งช่วงเวลาในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทยออกเป็น ๕ ช่วงด้วยกัน ...

(๑) ช่วงก่อน พ.ศ.๒๔๗๕ ช่วงนี้ มักเรียนกันตามวัดหรือบ้านข้าราชการที่เกี่ยวกับกรมโหรหรือตามวังเจ้านายชั้นสูงต่างๆ เป็นการเรียนไปตามลำดับและยึดแบบแผนของอาจาริยมัติอย่างเคร่งครัด เป็นการศึกษาทั้งจากการคำนวณบนกระดานและศึกษาจากการดูดาวบนท้องฟ้าด้วย ...

(๒) ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๕ พ.ศ. ๒๕๑๐ ช่วงนี้เริ่มมีปูมปฏิทินโหรบางแบบออกจำหน่าย เริ่มมีการตื่นตัวศึกษาโหราศาสตร์ทั้งแบบไทยและต่างประเทศ (เป็นโหราศาสตร์สากลแบบดวงโปรเกรสไม่ใช่ยูเรเนียน) มีการจับกลุ่มผู้สนใจโหราศาสตร์ เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะกันอย่างกว้างขวาง และได้จัดตั้งสมาคมโหรแห่งประเทศไทยขึ้น การศึกษาโหราศาสตร์ไม่จำกัดอยู่ที่ตามวัด หรือบ้านข้าราชการแล้ว เปลี่ยนมาเป็นการศึกษาจากตัวบุคคลนักโหราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเรียนกันเฉพาะบางแง่มุมหรือบางแนวทางเป็นส่วนใหญ่ ...

(๓) ช่วง พ.ศ. ๒๕๑๑ พ.ศ. ๒๕๒๐ สมาคมโหรแห่งประเทศไทยได้เปิดสอนโหราศาสตร์แก่บุคคลทั่วไป เป็นรุ่นแรก นักศึกษารุ่นแรกนี้ที่มีชื่อเสียงก็เช่นอรรถวิโรจน์ ศรีตุลา ฯ เป็นต้น ได้มีการกำหนดแบบแผนขึ้นเป็นหลักสูตร หากใครสนใจในวิชาชั้นสูง ก็ต้องแยกไปเรียนเป็นส่วนตัวจากอาจารย์แต่ละท่านต่างหากออกไป ในช่วงนี้ ความเห็นของนักโหราศาสตร์แตกเป็นหลายพวก มีการแยกตัวไปเป็น กลุ่มวัดราชบพิธบ้าง กลุ่มวัดโพธิ์บ้าง กลุ่มวัดสุทัศน์บ้าง กลุ่มวัดราชประดิษฐ์บ้าง กลุ่มวัดมหาธาตุบ้าง กลุ่มวัดบุญศิริอำมาตย์บ้าง จนในที่สุดได้มีการแยกไปตั้งเป็น สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ และ กลุ่มสหพันธ์โหร ฯลฯ ในช่วงนี้ มีปฏิทินโหรให้เลือกซื้อหาใช้ได้ ตามแต่ความพอใจ ในแนวทางการพยากรณ์ที่จะใช้ เช่น โหราศาสตร์สากลยุคนี้ นิยมใช้ปฏิทินแบบราฟาเอลมากกว่าแบบลาหิรี เป็นต้น ตำราโหราศาสตร์ที่มีอยู่นั้นมักจะเป็นเรื่องซ้ำๆกัน และไม่ค่อยมีหลักคำอธิบาย จึงใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ได้เพียงแค่เป็นเสมือนพจนานุกรม หรือแผ่นลายแทงเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ศึกษาได้กว้างขวาง นอกจากต้องมีคำอธิบายของครูผู้แต่งหนังสือเล่มนั้นๆมาประกอบด้วย การศึกษาโหราศาสตร์ในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ ยังต้องยึดเอา ตัวครู เป็นหลักอยู่หรือใช้การไต่ถามขอความรู้จากบรรดานักโหราศาสตร์เลื่องชื่อทั้งหลาย ...

(๔) ช่วง พ.ศ. ๒๕๒๑ พ.ศ.๒๕๔๐ ในช่วงนี้ มีตำราโหราศาสตร์พร้อมคำอธิบายหลายแบบให้เลือกซื้อหาได้ ตามแต่ความพอใจ ดังนั้น การศึกษาจึงเริ่มเปลี่ยนแนวทางจากการไปศึกษาขอคำอธิบายจากครูนักโหราศาสตร์อาวุโส เพื่อจะได้ฟังมุขปาฐะ มาเป็นการใช้ หนังสือตำราโหราศาสตร์เล่มต่างๆ มาเป็น ตัวครู ผู้สอนแทน และ ใช้สติปัญญาความคิดหรือทัศนะของตนเอง เข้ามาเป็น หลักตัดสิน บรรดา กฎโหราศาสตร์ ในหนังสือตำราโหราศาสตร์เล่มนั้นๆ

การศึกษาในระบบ เอา หนังสือตำราโหราศาสตร์ มาเป็นครูนี้ ถ้าตัดสินใจถูก ก็ดีไป แต่ถ้าข้อความในตำรานั้นไม่ชัดแจ้งผู้ศึกษาก็มักเข้ารกเข้าพงไปเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้พบเห็นมามากกว่า ๘๐% ...

(๕) ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นไป ถึงปัจจุบันการศึกษาโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ระบบอิเลคโทรนิคส์ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แนวทางการศึกษาโหราศาสตร์แบบเอาหนังสือเป็นครูเริ่มเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนไปสู่การศึกษาการใช้โปรแกรมประมวลผลทางด้านโหราศาสตร์แทน ...

... ข้อสังเกตบางประการในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย ...

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ อาตมาและนายภิญโญ พงศ์เจริญ เป็นนายกสมาคมโหราศาสตร์นานาชาติปัจจุบันและเพื่อนนักโหราศาสตร์อีกคนหนึ่ง ได้มาพบปะพูดคุยกันถึงเรื่องกิจกรรมของสมาคมฯที่ได้หยุดการสอนโหราศาสตร์มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ จนได้ข้อสรุปว่า จะเริ่มเปิดการสอนโหราศาสตร์กันอีก ต้องขอเล่าให้ทราบก่อนว่า อาตมาเริ่มเข้าวงการมาตั้งแต่สมัยอาจารย์ วรพรรณ เลาหะวิไลย เป็นเหรัญญิกของสมาคมโหรแห่งประเทศไทยสมัยแรก และต่อมาได้มาติดต่ออยู่กับทางสมาคมฯนานาชาติก่อนปี๒๕๒๐ และมาคลุกคลีแบบเป็นประจำทุกวันที่กลุ่มคณะ ๕ วัดราชนัดดาในช่วงหลังจากนั้น ในสมัยที่เจ้าของโรง หนังพาราไดซ์ ไปเปิดสำนักงานพยากรณ์โหรสยามให้แก่อาจารย์สำราญ ตัณฑนุชที่ศรีย่านและอาจารย์เสวก นิ่มวงษ์ ยังสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ และเป็นบรรณาธิการหนังสือของสมาคมฯด้วยเหตุนี้ อาตมาจึงได้มีโอกาสพบปะและได้รับความกรุณาจากบรรดาเหล่าโหรอาวุโสทั้งหลายในยุคนั้นหลายสิบคน ...

เมื่อได้เปิดสอนโหราศาสตร์ที่สมาคมโหราศาสตร์นานาชาติ อาตมาก็รับบรรยายวิชาโหรา ศาสตร์ไทยภาคพยากรณ์จรให้ ในช่วงนี้แหละที่ได้พบปะ พวกที่สนใจโหราศาสตร์จำนวนมากทั้งที่อยู่ต่างจังหวัดเขียนจดหมายมาหรือพวกที่อยู่ไม่ไกลที่เดินทางมาพบ ปัญหาหลักมีคล้ายๆกัน คือ ทั้งไปเรียนบ้าง ไปซื้อตำราโหราศาสตร์มาหลายหมื่นแล้วบ้าง แต่ปรากฏว่า ๕-๖ ปีเข้าไปแล้ว ยังพยากรณ์ไม่ได้ อยากทราบว่า จะทำอย่างไร ถึงจะพยากรณ์ได้?...

คำตอบของอาตมาคือ ตำราคงจะบอกได้เพียงแค่บางส่วนให้รู้ได้ แต่สอนให้เก่งไม่ได้ อาจารย์ อักษร ไพบูลย์ อาจารย์ท่านหนึ่งของอาตมา ท่านบอกว่า เรียนโหราศาสตร์ไทย ถ้าจับหลักไม่ถูก ต่อให้ใช้เวลาถึง ๓ ชั่วคน ก็ทายไม่ได้ ทำไมอาตมาถึงเห็นด้วยในคำกล่าวอย่างนั้น ก็เพราะ อาตมาเองเคยสับสนมาเหมือนกัน แล้วบางอย่างที่สำคัญ ก็คือ ไปเชื่อได้อย่างไรว่า หนังสือตำราโหราศาสตร์เล่มนั้น จะเขียนมาถูกต้อง และ เขียนใส่หลักวิชามาครบถ้วน หรือ คุณเข้าใจครบถ้วนแล้วหรืออย่างไร?อย่างบทเรียน บทแรกในทางตำราโหราศาสตร์แบบดั้งเดิมนั้น พวกครูโหรรุ่นเก่า (ก่อนปี ๒๕๑๐) จะสอนให้ย้ำเรียนเรื่อง ดวง ๔ ชั้นของดวงราศีดวงธาตุดวงโลกและดวงเกษตร ที่ต้องเรียนต้องทวนเรื่องนี้อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า ๒ เดือนเข้าไปแล้ว จะถูกครูคอยย้ำเตือนเสมอ จน กระทั่ง ซึมซาบขึ้นใจโดยอัตโนมัติในภายหลัง แต่ในทางตรงกันข้าม สังเกตดูแล้ว บรรดาตำราโหรช่วงหลังปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา มีน้อยเล่ม ที่จะสอนให้สนใจฝึกอ่านดวงพวกนี้ และไม่ได้มีการตีพิมพ์หลักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย ดังนั้น แค่นี้ ผู้อ่านหน้าใหม่ ก็ย่อมขาดหลักเบสิกที่จะใช้ในโหราศาสตร์แล้ว ...

เดี๋ยวนี้ พวกรุ่นใหม่กลับเอาเรื่องดวงแบบ ๔ ชั้นในหนังสือโหราปรัชญามาเปรียบเทียบกับจักรวาฬวิทยา อันนี้แสดงว่าน่าจะไม่ได้เคยศึกษาอ่านตำราโหรเก่าๆเช่นของอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว, ของคุณหญิงโภชากร(ชิต มิลินทสูต) อะไรพวกนี้ ฯลฯ ในสมัยก่อน ตอนที่เรียนโหราศาสตร์ ครูโหรรุ่นเก่าจึงมักจะพูดกันเสมอว่า ให้อ่านดวงให้ได้ ๓ ชั้นบ้าง ๔ ชั้นบ้าง หรือแบบเต็มที่ไปเลย คือ ๗ ชั้น (เคยเห็นท่านอ่านแค่แบบ ๓ ชั้นเท่านั้น) นี่ครับ คือ การใช้วิชาโหราศาสตร์ของโหรรุ่นเก่า ซึ่งอาตมาอาจจะเป็นผู้เข้าใจผิดพลาดไปก็ได้ แต่หลักข้อนี้อาจารย์ของอาตมาอย่างน้อย ๓ ท่านได้สอนย้ำเตือนมา ...

ขอให้พวกท่านลองสังเกตการอ่านดวงชะตาของอาจารย์สะพานเดินเรือ ดู ต้องขอประทานโทษที่พาดพิงถึงนะครับ แต่ในตอนบ่ายนี้ ท่านคงมาเล่าถึงเรื่องประสบการณ์ให้ฟัง ไปถามท่านดูนะครับ ท่านอ่านดวงชะตาทั้งจากลัคนาของดวงชะตาและจากจุดตั้งรับอื่นด้วย สิ่งหนึ่งที่มักขาดไม่ได้ ก็คือ การเปรียบเทียบกับดวงพื้นของดวงโลกนี่แหละครับ ...

...ข้อสรุปบางประการในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไทย ...

(๑) ศึกษานานแล้ว ยังทายไม่ได้ ก่อนอื่น ต้องสำรวจก่อนว่า ตัวเองอยากรู้โหราศาสตร์แบบไหน? โหรไทย แบบใช้ทักษา, โหรไทย แบบไม่ใช้ทักษา, โหรไทย แบบเกษตรเรือนเดียว ปฏิทินสุริยยาตร์, โหรไทย แบบเกษตรเรือนเดียว ปฏิทินสากล, แบบสิบลัคน์ดั้งเดิม (สาย อ.อรุณ),แบบสิบลัคน์ประยุกต์ (อ.จรณังกูร), โหรไทย ระบบเรือนชะตาสัมพันธ์, โหรสากลแบบดวงโปรเกรส, โหรสากลแบบยูเรเนียน, โหราศาสตร์จีน ฯลฯ ให้เลือกเอาสักแบบหนึ่งก่อน แล้วหาตำราในสายนั้นมาอ่าน ห้ามไม่ให้ไปอ่านตำราของแนวทางอื่นก่อนเดี๋ยวจะสับสน แล้วหาโอกาสไต่ถามผู้รู้ในสายนั้นๆ ...

(๒) ตำราเป็น ครู ดีจริงหรือ? ตำรานั้นสอนให้รู้ได้ แต่สอนให้สามารถไม่ได้ อันนี้หมายถึง ถ้าตำราที่เรานำมาเป็นครูนั้นดี ละเอียดมีเนื้อหาครบถ้วนนะ ซึ่งที่เห็นในปัจจุบันจริง ก็มีเพียงตำราโลกธาตุ และ หนังสือของหลวงวิศาลดรุณกร นั่นแหละที่ให้ A+ ได้เพราะค่อนข้างจะสมบูรณ์ มีหลักสำคัญเบื้องต้นครบทุกวิชา

ถัดมาเป็นแบบ ระดับ A- เช่น อ.เทพย์ สาริกบุตร, อ.สิงห์โต สุริยาอารักษ์, อ.พลูหลวง, อ.ทองเจือ อ่างแก้ว, อ.คุณหญิงโภชากร (ชิต มิลินทสูต), พระญาณเวท, อ.อายัณโฆษ, อ.จำรัส ศิริ, อ.เปี่ยม บุณยโชติ ฯลฯ นั้น ยังต้องมีคนช่วยแนะนำบ้างจึงจะดี ถัดจากนั้น ตำราโหราศาสตร์ที่พิมพ์มาทีหลัง หลังจาก พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา อาตมาว่า ต้องวัดดวงเอาเอง เพราะที่อ่านพบส่วนใหญ่แล้ว จะมีหลักเบื้องต้นไม่ครบ เมื่อหลักไม่ครบ คนอ่านก็พื้นฐานไม่แน่น แล้วต่อไปสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ เริ่มหาเอาหลักวิชาอื่นๆ มาขยำผสมปนเป ให้เป็นแนวโหราศาสตร์เฉพาะตัวขึ้นมา ซึ่งจะดีหรือไม่นั้น อาตมาไม่สามารถทราบได้อย่างถ่องแท้ ...

(๓) แล้วทำอย่างไร ถึงจะทายได้? ถ้าได้ศึกษามานานแล้ว และเข้าใจหลักโหราศาสตร์ส่วนใหญ่แล้ว ขอแนะนำให้หาท่านผู้รู้ในวิชาโหราศาสตร์สักคนสิครับ ไม่ว่า จะเป็นการพูดคุยกันหรือขอเรียนวิชากัน ก็ได้ ซึ่งที่จริงจะไม่ค่อยยากแล้ว เพียงแต่ต้องจัดระเบียบแนวความคิดในการพยากรณ์เสียใหม่ รู้ว่า หลักไหนควรใช้ หลักไหนไม่ควรใช้ สำหรับดวงชะตาในรูปแบบไหน ดังนี้เป็นต้น ...

(๔) ศึกษาโหราศาสตร์หลายๆแบบ ดีไหม? ดีครับ ถ้าศึกษาได้หลายๆแบบ จะเรียกว่า มีตัวคุม คือเมื่ออ่านดวงชะตาในแบบหนึ่งไปแล้ว ก้ลองอ่านด้วยอีกวิธีหนึ่งถ้า

เหมือนๆกัน เรียกว่า ใช้ได้ ถ้าแตกต่างกัน แสดงว่า มีหลักอันไหนผิดเข้าให้แล้ว ...

(๕) ผลเสียของการเอาตำราเป็น ครู ผลเสียของการเอา ตำราเป็นครู ก็คือ หลักวิชาและตำราหลายๆ อย่างจะสาบสูญไป เพราะ การจัดพิมพ์หนังสือย่อมมีการจำกัดเฉพาะหัวเรื่อง ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้กว้างขวางเช่นเดียวกับ การพูดคุยต่อหน้า ดังนั้น หลักต่างๆ ที่ไม่ได้จัดพิมพ์เอาไว้ ก็ย่อมสาบสูญไป ยิ่งกว่านั้น เมื่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ คนก็ย่อมสนใจเพียงแค่ ผลลัพธ์ของคำทำนายมากกว่า ศิลปะของการพยากรณ์ วิชาโหราศาสตร์จึงยิ่งเสื่อมโทรมเร็วขึ้น อาตมาขอยกหลัก ซึ่งมาจากการเรียนโหราศาสตร์แบบมุขปาฐะ ขึ้นมาพอเป็นตัวอย่างนะ โหรรุ่นครูเมื่อมีคนมาหาเพื่อขอรับคำพยากรณ์นั้น ท่านเพียงถามแต่วันเดือนปีเกิดพอสังเขปเท่านั้น เสร็จแล้วท่านก็ผูกดวงขึ้น แล้วก็ลองเช็คตรวจสอบพื้นดวงว่า ถูกต้องกับเจ้าชะตาไหม? แล้วก็มักจะบอกไปเลยว่า เจ้าชะตาต้องการทราบเรื่องอะไร? หรือเรื่องพวกนี้ใช่ไหม? ถ้าใช่ ก็ให้คำตอบเลย ...

ครูโหรท่านสอนอาตมาว่า ข้อแรก ดูกาลชะตาก่อน ข้อสอง พิจารณาดูบุคโลโหรา ข้อสาม ดูเรื่อง จากพื้นดวงเจ้าชะตานั่นแหละแล้วให้เอาหลักวิชาทั้งสามประการที่ประมวลได้ในใจนั้น ให้คำตอบกับตัวเจ้าชะตาไปเลย ไม่ต้องมัวเสียเวลา ไซโค หรือ จิตวิทยา อะไรทั้งนั้น รู้เห็นอะไรแค่ไหน ก็บอกไปเท่านั้น ตรงไหนอ่านไม่ขาด ก็ห้ามไม่ให้โกหก ให้หาทางเลี่ยงไปในรูปแบบอื่นแทน ...

… (อ้างอิงจาก งานบุญนักพยากรณ์เว็บพยากรณ์ดอทคอม ปี 2) ...

...อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...

... อ.ธนเทพ ปฏิพิมพาคม ...

...บทความนี้มีคุณค่าในทางโหราศาสตร์เป็นอย่างมาก ให้ข้อคิด ทัศนะคติ ต่อผู้ที่ศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นอย่างยิ่งยวด ...

...ผมขออนุโมทนากับ พระอภิญาโณ เป็นอย่างสูงครับ ...สาธุ ...